สิ้นปีนี้ ตลาดหุ้น จะมีซัพพลายเพิ่มขึ้นประมาณ 30% และในปลายปี 2533 ตลาดหุ้นไทยจะเริ่มระบบการซื้อขายหุ้นแบบใหม่โดยใช้คอมพิวเตอร์แทนการเคาะกระดานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มันเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วชนิดที่โบรกเกอร์ส่วนมาก ยังตั้งตัวไม่ค่อยจะติดทำไม
และเบื้องหลังของรายการนี้คืออะไรและมีผลอย่างไรต่อการซื้อขายหุ้น ความคิดที่จะใช้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยคอมพิวเตอร์ในตลาดหลักทรัพย์ไทยเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว
แต่เมื่อจะเริ่มมีการเปลี่ยนระบบการซื้อขายเข้าจริง ๆ กลับใช้เวลาในการตัดสินใจเลือกระบบในช่วงเวลาไม่กี่เดือน
ข้อสงสัยจึงย่อมเกิดขึ้นในใจของคนเป็นจำนวนมากในวงการ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายในวงการให้มาร่วมพิจารณาโดยมีมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาชุดหนึ่งเป็นเกณฑ์วัดก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯเร่งรัดให้บริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ทั้งหลายตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า
(SOFTLOAN & GRANT) จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐฯ (EXPORTIMPORT
BANK หรือ EXIM BANK) เพื่อใช้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์โดยให้เวลาพิจารณาเพียงเล็กน้อย
มันจึงยิ่งเป็นการสร้างความอึดอัดใจและคลางแคลงใจให้แก่บรรดาโบรกเกอร์เพิ่มมากขึ้น
ทำไมความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตธุรกิจการค้าหลักทรัพย์จึงใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจอย่างรวดเร็วและรีบร้อนปานฉะนี้
ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ระบบใหม่จะยังรักษาความยุติธรรมในการดำเนินธุรกิจไว้ได้อย่งเดิมหรือดีกว่าจะแก้ไขจุดอ่อนทั้งหลายในระบบเดิมได้หรือไม่
โฉมหน้าใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นอย่างไร
ระบบการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯใช้อยู่ในปัจจุบันเรียกว่าระบบเคาะกระดานหรือตามศัพท์ฝรั่งเรียก
OPEN AUCTION คือการประมูลแบบเปิด ซึ่งมีหลักการอยู่ที่ว่า ผู้ที่ซื้อคือผู้ที่เสนอซื้อในราคาสูงที่สุดและผู้ที่ขายก็คือผู้ที่เสนอขายในราคาต่ำสุด
ระบบนี้นำมาจากฮ่องกงและเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2518 เมื่อเปิดตลาดฯทำการซื้อขายเป็นครั้งแรก
ในระบบนี้จะมีการแต่งตั้งโบรกเกอร์เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์แทนนักลงทุนซึ่งมีจำนวนมากมายเป็นแสนเป็นล้านคน
ดร.วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่าระบบโอเพ่น ออคชั่นเป็นระบบที่ทางตลาดฯมีความพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นระบบที่ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายทั้งในแง่ของนักลงทุน
โบรกเกอร์และตลาดฯ แต่เมื่อตลาดฯขยายตัวมาถึงจุดหนึ่ง ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
แต่ก็พยายามที่จะคงหลักการที่ยุติธรรมนี้ไว้ให้มากที่สุด
มูลเหตุสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบการเคาะกระดานมาใช้คอมพิวเตอร์
ซึ่ง ดร.วีรศักดิ์เล่าให้ฟังคือเรื่องการเพิ่มปริมาณหุ้นอย่างมาก และภายในเวลาอันรวดเร็ว
บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในสิ้นปีนี้จะมีอย่างน้อย 200
บริษัทขณะที่ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2531 มีบริษัทจดทะเบียน 141 บริษัท และมีหลักทรัพย์ทำการซื้อขาย
165 หลักทรัพย์ หรืออีกนัยหนึ่งเพิ่มขึ้น 30%
การมีปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นมากในสัดส่วนเช่นนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในอีก
2 ปีข้างหน้ากระดานที่ใช้เขียนราคาซื้อขายหุ้นจะไม่เพียงพอกับหลักทรัพย์ใหม่
ๆ ที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขายกัน
นอกจากนี้เมื่อเทียบสัดส่วนของพื้นที่ในห้องค้าหลักทรัพย์ซึ่งมีอยู่ประมาณ
688 ตารางเมตรปริมารหลักทรัพย์ 165 ตัวกับจำนวนเทรดเดอร์ที่ตลาดฯอนุญาตให้เข้ามาปฏิบัติงานในห้องค้าฯได้โบรกเกอร์ละไม่เกิน
20 คน ซึ่งโดยส่วนมากก็ส่งมาเต็มตามจำนวน รวมกับเจ้าหน้าที่ของตลาดฯ ก็คาดว่ามีคนในห้องค้าฯอยู่ประมาณ
8-900 คน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางเมตร ขณะทีตามมาตรฐานแล้วควรจะมีพื้นที่
1.5 ตารางเมตรต่อคน
ความแออัดยัดเยียดในห้องค้าฯ กอปรกับอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะ
และถึงขั้นจะวางมวยก็มีหลายครั้งหลายคราในหมู่เทรดเดอร์ด้วยกัน
แน่นอนว่าเมื่อเลิกการเคาะกระดานแล้วหันมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แทนนั้น
ความจำเป็นที่จะต้องใช้เทรดเดอร์ถึง 20 คนต่อโบรกเกอร์ 1 แห่งก็เป็นอันหมดไป
กระดานาขนาดกว้างเพื่อบรรจุรายชื่อหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อชายก็ไม่จำเป็นด้วยเช่นกัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นแทนภาพห้องค้าฯ ที่มีเทรดเดอร์วิ่งวุ่นใน 2 ชั่วโมง การซื้อขายคือ
บอร์ดอีเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่มีรายชื่อหลักทรัพย์ทั้งหมดพร้อมราคาเสนอซื้อขายล่าสุด
และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยเมื่อมีการคีย์คำสั่งเข้ามาจากโบรกเกอร์ เทรดเดอร์ทั้งหลายจะกลับไปประจำที่จอมอนิเตอร์ตามบูทของแต่ละบริษัท
มูลเหตุประการต่อมาที่ระบบการซื้อขายด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้คือจุดอ่อนบางประการในระบบการเคาะกระดาน
ดร.วีรศักดิ์กล่าวว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญนัก มันเป็นจุดอ่อนที่สามารถแก้ได้หากมีระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์
นั่นคือเรื่อง FRONT RUN หรือในความหมายที่ว่าการชิงตัดหน้า ปัญหานี้เกิดจากการที่เทรดเดอร์
ซึ่งไม่เกี่ยวกับโบรกเกอร์ตั้งตัวเป็นกลุ่ม เมื่อรู้ว่าใครจะเข้ามาซื้อ เช่น
ฝรั่งจะเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้ ๆ ก็รีบมาซื้อไว้ก่อน ดังนั้นจึงสามารถปั่นหุ้นได้
ปัญหาเรื่อง FRONT RUN นี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯและโบรกเกอร์เองก็มีการตรวจสอบ
แต่ยังมีจุดอ่อนที่ให้เทรดเดอร์เข้าไปทำได้ อย่างไรก็ดี เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ในการซื้อขายแล้ว
ปัญหานี้จะหมดไปโดยอัตโนมัติ เพราะเทรดเดอร์จะนั่งประจำอยู่ตามบริษัทของตนและคีย์คำสั่งซื้อขายตามคิว
(QUEUING) การจะแทรกคำสั่งทำให้ยากมาก
ในประการสุดท้ายคือปัญหาเรื่องการควบคุมให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อขายและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ
เพราะในการซื้อขายจะมีการกำหนดบัญชีของลูกค้าที่ทำคำสั่งซื้อขายและรายละเอียดต่าง
ๆ เกี่ยวกับลูกค้า เมื่อทำคำสั่งซื้อขายและเทรดเดอร์คีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว
คำสั่งนั้น ๆ จะดำเนินไปตามลำดับขั้น โดยไม่มีการสะดุดชะงักหรือถูกแทรก
นอกจากนี้ เทรดเดอร์ยังไม่สามารถรวมคำสั่งซื้อขายหุ้นตัวเดียวกันของลูกค้าหลายรายเข้าไว้ด้วยกันได้
เพราะแต่ละรายจะมีหมายเลขบัญชีของตัวเองชัดเจน (ACCOUNT NUMBER) และในกรณีนี้ตลาดกำลังพิจารณาอนุญาตให้ทำคำสั่งขายได้ไม่เจ็บ
BOARD LOT เพื่อที่จะให้กฎเกณฑ์ในการซื้อขายนี้เข้าได้กับระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์
ส่วนบรรดานักลงทุนต่างจังหวัดนั้นก็จะได้รับความสะดวกและยุติธรรมเท่าเทียมกับนักลงทุนในกรุงเทพฯ
เพราะไม่ว่าโบรกเกอร์จะตั้งบูทตรงไหนเทรดเดอร์ก็สามารถทำคำสั่งซื้อขายเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์มาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จากทุกจุดในประเทศไทย
มีข้อแม้ก็แต่เพียงว่าโบรกเกอร์ต้องไปขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดสาขาในต่างจังหวัดให้ได้
ซึ่งปัญหานี้ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังเจรจาต่อรองกับธนาคารชาติอยู่
อย่างไรก็ดี ดร.วีรศักดิ์ได้กล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่ามูลเหตุ 2 ประการหลังนี้ถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าประการแรก และการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในส่วนของการซื้อขายหลักทรัพย์
ซึ่งถือว่าเป็น front office ก็จะยิ่งทำให้เกิดการประสานงานกันได้มากขึ้นกับส่วนงาน
BACK OFFICE อันได้แก่ระบบชำระราคาและส่งมอบหุ้นศูนย์บริการรับฝากใบหุ้น
งานทะเบียนหุ้น ฯลฯ ซึ่งได้นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในก่อนหน้านี้แล้ว
แนวคิดที่จะใช้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยคอมพิวเตอร์มีมาหลายปีแล้ว
แต่เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ก็เมื่อต้นปี 2530 เมื่อคณะอนุกรรมการประกวดราคาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ได้เดินทางไปดูระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้นไต้หวันซึ่งเป็นแบบโอเพ่น
ออคชั่น เหมือนของไทยโดยใช้ระบบแทนเด็มของฟิลิปส์ ในครั้งนั้นไต้หวันเสนอที่จะให้ซอฟแวรืการซื้อขายหลักทรัพย์ฟรีหากไทยจะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้จริง
แต่ปรากฎว่าซอฟท์แวร์ของไต้หวันมีช่องโหว่ที่คณะอนุกรรมการฯไม่พอใจ ดร.วีรศักดิ์เปิดเผยว่าระบบของไต้หวันต้องใช้คนทำหน้าที่จับคู่คำสั่งซื้อขายหุ้น
(MATCHING) คือเมื่อมีคำสั่งซื้อขายเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งทำหน้าที่จับคู่คำสั่งซื้อหรือขายตามราคาที่ต้องการ
ระบบซอฟท์แวร์ของไต้หวันยังไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้
เปรียบไปก็คล้ายกับภาษี SAITORI MEMBER CLERKS คือกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในการจับโบรกเกอร์ผู้ซื้อ
และโบรกเกอร์ผู้ขายมาแมชท์กัน โดยในตลาดหุ้นโตเกียวจะมี SAITORI MEMBER อยู่
4 บริษัท
สุทธิชัย จิตรวาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯเล่าว่าระบบซื้อขายที่มี
SAITORI ถือเป็นประเพณีและวัฒนธรรมการซื้อขายที่เริ่มมานานแล้วเมื่อก่อนมี
SAITORI MEMBER ถึง 12 บริษัท แต่ปัจจุบันลดลงแล้ว ตลาดหุ้นโตเกียวก็มีวิธีซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ได้ในกระดานที่สอง
แต่การจะยกเลิก SAITORI นั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะจต้องมีการต่อด้านเกิดขึ้นเป็นแน่
ดังนั้น แม้จะได้ซอฟท์แวร์ฟรี แต่ว่าเป็นระบบที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่คณะอนุกรรมการฯต้องการคณะอนุกรรมการฯ
จึงประกาศชักชวนให้บริษัทซอฟท์แวร์และตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาประมูลเพื่อสร้างระบบการซื้อขายตามที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยต้องการ
ในช่วงแรกที่เปิดให้เสนอการประมูลเมื่อราวเดือนเมษายน 2532 มีหลายกลุ่มให้ความสนใจคือกลุ่ม
ของ MIDWEST STOCK EXCHANGE หรือ MSE ประกอบไปด้วยบริษัทดิจิตอล (ประเทศไทย)
และบริษัทไมโครเนติค ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ DEC
ของดิจิตอล และรับผิดชอบด้านการติดตั้งและการสื่อสารข้อมูลด้วยระบบ VAX
MSE มีข้อได้เปรียบกว่าเพราะเคยเข้ามาศึกษาระบบค้าหลักทรัพย์ของตลาดหลายครั้ง
และระบบที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์มิดเวสต์ก็ทำให้ตลาดแห่งนี้เพิ่มปริมาณการซื้อขายมากจนกลายเป็นตลาดที่คึกคักรองลงมาก็เพียง
NEW YORK STOCK EXCHANGE ระบบของ MSE ยังนำไปแก้ไขและใช้งานที่ AMSTERDAM
STOCK EXCHANGE ด้วย
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีบริษัท SCT จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยเป็นแกนนำ
ร่วมกับบริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท TCAM ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์
เฮ้าส์ ที่เป็นผู้ออกแบบซอฟท์แวร์เพื่อการค้าหลักทรัพย์ให้กับ VANCOUVER
STOCK EXCHANGE
นอกจาก 2 กลุ่มหลักนี้แล้ว ก็มีบริษัทอื่น ๆ อีกกระเส็นกระสาย รวมถึง TANDEM
ของไต้หวัน JARDINE LOGICA และ SGVN-ARTHUR ANDERSEN ซึ่งล้วนแต่มีข้อเสนอที่ยังไม่ชัดเจนและขอเวลาในการศึกษาทำข้อเสนออีกระยะหนึ่ง
ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงตกรอบไปโดยปริยายเมื่อมีการเปิดซองประมูลในวันที่
20 เมษายน ซึ่งเหลือเพียง MSE กับ SCT เท่านั้นที่มีคุณสมบัติตามที่คณะอนุกรรมการกำหนด
อย่างไรก็ดี การเปิดประมูลในวันนั้นไม่อาจทำได้สำเร็จ เพราะไม่สามารถมีมติที่เอกฉันท์ได้และแม้จะมีการสรุปผลการประมูลต่อที่พัทยาในวันที่
22 เมษายน ก็ยังจะต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบระบบที่ MSE กับ SCT เสนออีกครั้งหนึ่ง
รวมทั้งให้มีการสาธิตจริงให้ชมกันอีกในเดือนพฤษภาคมถัดมา
แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการบรรยายสรุปที่พัทยานั้น ปรากฏว่ามีการพรรณาถึงคุณสมบัติของระบบที่
MSE กับ SCT เสนออย่างเหลื่อมล้ำกัน โดยดร.สุรัตน์ พลาลิขิต หนึ่งในอนุกรรมการและผู้จัดการโครงการระบบซื้อขายหลักทรัพย์
โดยคอมพิวเตอร์ของตลดาหลักทรัพย์ฯบรรยายถึงคุณสมบัติที่เหนือกว่าของเครื่องไอบีเอ็มและระบบของ
SCT และคำบรรยายนี้ได้โน้มน้าวให้คณะอนุกรรมการฯเห็นชอบด้วยในตอนแรก จนคะแนนเสี่ยงในส่วนของอนุกรรมการที่มาจากโบรกเกอร์เป็น
5 ต่อ 3
ครั้นวิโรจน์ นวลแข นายกสมาคมโบรกเกอร์และกรรมการผู้จัดการบงล.ภัทรธนกิจ
ขึ้นมาบรรยายสนับสนุน MSE บ้างแล้ว ปรากฏว่าเสียงออกมาเป็น 4 ต่อ 4 ในที่สุดจึงไม่สามารถหาข้อยุติได้
ความเห็นขัดแย้งในเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์เกิดจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
และโบรกเกอร์ใช้คอมพิวเตอร์ต่างระบบกันตลาดหลักทรัพย์ฯและบงล.ภัทรธนกิจใช้เครื่องและระบบคอมพิวเตอร์
"VAX" ของ DEC เพียง 2 เจ้าเท่านั้นในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ส่วนโบรกเกอร์รายอื่น
ๆ มีใช้ NEC, IBM, WANG และ PC NETWORK ปะปนกันไป และมีบางรายที่ไม่ได้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นใช้เลย
ซึ่งมีผลทำให้ติดตามการเจรจาเรื่องนี้ได้ช้ากว่าโบรกเกอร์อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ยืดเยื้อและไม่ลงรอยกันมาพักหนึ่งจนต้องส่งเรือ่งให้คณะกรรมการการตลาดหลักทรัพย์ฯพิจารณา
และคณะกรรมการฯกลับส่งเรื่องกลับมาให้คณะอนุกรรมการฯชี้ขาดอีกครั้งหนึ่งนั้น
MSE กับ SCT ต้องทำการสาธิตวิะการใช้คอมพิวเตอร์แทนห้องค้าให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาตัดสินเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่โรงแรมรีเจ้นท์
ครั้งนี้ ปรากฏว่า MSE สามารถเอาชนะใจอนุกรรมการฯได้ ด้วยประสิทธิภาพ ความชำนาญสนนราคาที่ต่ำกว่า
และระบบการบริการฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งนี้แหล่งข่าวให้ความเห็นว่าการเอาชนะใจครั้งนี้
MSE ต้องยอมขาดทุนเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว เพราะเสนอราคาต่ำกว่า SCT อย่างมาก
ๆ "MSE เสนอราคา 180 ล้านบาท รวมทุกอย่างขณะที่ SCT เสนอราคาสูงกว่า
180 ล้านบาท และไม่รวมทุกอย่างเป็น PACKAGE เหมือน MSE" แหล่งข่าวในตลาดหลักทรัพย์บอกกับ
"ผู้จัดการ"
เมื่อคณะกรรมการฯคัดเลือกเอาระบบของ MSE นั่นหมายความว่าตลาดหลักทรัพย์ฯและโบรกเกอร์ต้องทำการปรับเปลี่ยนระบบของตัวเองให้ใช้งานเข้ากันได้ด้วยระบบของ
MSE เช่นกัน ในการนี้ตลาดฯจะใช้ระบบ VAX 6410 และ MICROVAX 3800 และอีกส่วนหนึ่งใช้ระบบ
COMPUTER TO COMPUTER INTERFACE หรือ CTCI
โบรกเกอร์ที่ใช้ไมโครแวกซ์ 3800 จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นระบบเดียวกับของตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
ส่วนพวกที่ใช้ระบบซีทีวีไอนั้นจำเป็นที่จะต้องมีโมเดมตัวหนึ่งเพื่อใช้เป็นตัวส่งผ่าข้อมูล่จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของโบรกเกอร์เข้าสู่ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากนั้นระบบ GMX บนเครื่อง VAX 3800 ที่ตลาดฯจะทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
และส่งให้ระบบค้าหลักทรัพย์บนเครื่อง VAX 6410 ทำงานต่อไป
การที่โบรกเกอร์เลือกใช้ไมโครแวกซ์ 3800 กับระบบซีทีซีไอแตกต่างกันไป ก็เพราะเหตุที่ว่าแต่ละรายมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในขั้นตอนที่ไม่เท่ากัน
และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งมาจากความรู้สึกอึดอัดที่ถูกบีบบังคับจากตลาดในหลาย
ๆ เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้
หลังจากที่โบรกเกอร์รู้แน่แล้วว่าจะต้องปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของตนด้วยเครื่องไมโครแวกซ์ที่ผลิตโดยบริษัทดิจิตอล
แม้จะมีความไม่พอใจอยู่ลึก ๆ ในบางราย แต่ก็ยังยอมรับได้เพราะยังมีความเชื่อมมั่นวางใจในคณะอนุกรรมการฯซึ่งเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก
กอปรกับมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง
ความไม่พอใจอย่างรุนแรงของเหล่าโบรกเกอร์มาเกิด และปะทุขึ้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯส่งจดหมายเวียนเรื่องโครงการเงินช่วยเหลือ
และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐฯ (เอ็กซิม
แบงก์) เพื่อนำมาปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ในครั้งนี้
ตลาดหลักทรัพย์ฯให้เวลาโบรกเกอร์เพียง 2-3 วันเท่านั้นในการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมในโครงการหรือไม่
หากไม่ให้คำตอบในเวลาที่กำหนดก็จะต้องไปหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ปรับปรุงเอาเอง
โบรกเกอร์จำนวนมากเกิดความไม่พอใจบางรายถึงกับสงสัยว่าเรื่อง "ลับลมคมใน"
อะไรหรือ
ดร.วีรศักดิ์กล่าวอย่างเปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่าเรื่องเงินช่วยเหลือและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเอ็มซิม
แบงก์นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯก็เพิ่งรู้ว่ามันจะหมดอายุภายใน 30 กันยายน ซึ่งเผอิญมันเข้ามาในจังหวะที่ตลาดฯพยายามหาทางเลือกให้กับโบรกเกอร์
และมันก็กลายเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วไปโดยปริยาย
"ความจริงซอฟท์โลนอันนี้นี่ มีโครงการหลายอันที่เสนอเข้ามาให้ธนาคารกรุงไทยพิจารณาอนุมัติแต่โครงการของตลาดหลักทรัพย์ฯนี่มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ทางกรุงไทยก็เลยขออนุมัติจากเอ็กซิมแบงก์ให้กับเราเป็นพิเศษ เขายื่นมาครบวงเงินกันแล้วแต่เรายื่นไปทีหลังแล้วกรุงไทยเห็นว่าโอเคสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
จึงช่วยเรา"
ดร.วีรศักดิ์กล่าวว่า "เราเห็นใจโบรกเกอร์มากที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนี้
เวลา 3 วันนี่ถ้าถามว่าพอไหม มันก็ไม่พอ แต่มันก็เหมือนระบบก่อสร้างของคนไทย
คือถ้าให้เขา 10 วันเขาก็นั่งคิดไป ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่จะตอบคำถามนี้อย่างไร
เพราะว่างานนี้ไมได้เหมือนการซื้อสินค้าสำเร็จรูปที่วางไว้มันเป็นงานที่ทำแล้วเราต้องพัฒนาให้สำเร็จ
แล้วเรายังไมารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเห็นใจเขา จึงบอกให้เขาเลือก ถ้าเขาจะคอยเขาก็ต้องตัดสินใจไม่เอา"
ปรากฏว่ามีโบรกเกอร์ที่เข้าร่วมในโครงการซอฟท์โลนจากเอ็กซิม แบงก์รวม 19
แห่ง ต้องใช้งบประมาณ 169 ล้านบาท ได้รับเงินจากโครงการฯ 32.35 ล้านบาท อีก
15 แห่งที่เหลือยินดีที่จะใช้ระบบซีทีซีไอ คิดเป็นมูลค่า 10.40 ล้านบาท แต่ไม่รวมอยู่ในโครงการฯ
วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้จัดการบงล.พัฒนสินให้ความเห็นในเรื่องนี้กับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "การที่จะให้ตัดสินใจทันทีภายใน
2-3 วันว่าจะใช้เครื่องของใครนี่ ผมคิดว่ายากที่ใครจะตัดสินใจได้ เพราะต้องดูว่ามันมี่ทางเลือกอะไรอีกบ้าง
ในแง่ของพัฒนสินนั้น เมื่อมีการกำหนดมาอย่างนี้ ผมก็ไม่ใช้เอ็มซิม แบงก์
ผมคิดว่าให้เวลาผมมาพิจารณาประมวลดูว่าควรที่จะทำแบบไหนแล้วค่อยตัดสินใจ
ดีกว่าที่จะถูกบีบบังคับให้ต้องตัดสินใจภายในเวลาอันรวดเร็ว"
ทั้งนี้พัฒนสินนับเป็นโบรกเกอร์ที่มีขั้นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่ล้ำหน้ารายหนึ่ง
มีการพัมนาซอฟท์แวร์ของตัวเองขึ้นใช้มาหลายปีแล้วซึ่งมีชื่อว่าระบบเลือกข้อมูลหุ้น
(ELECTORNIC SECURITIES BULLETIN หรือ ESB) และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำกระดานอิเล็กทรอนิกส์ในห้องค้าของบริษัทเพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายหุ้นได้อย่างรวดเร็ซ
และนับเป็นรายแรกที่ริเริ่มทำแบบนี้ (อ่าน "พัฒนสินฯกับ ESB โฉมหน้าใหม่ของข้อมูลการลงทุน"
ใน "ผู้จัดการรายเดือน" ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนมีนาคม 2530)
พัฒน่สินอาจจะมีข้อได้เปรียบในแง่ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว
แต่สำหรับโบรกเกอร์อีกบางรายที่ร่วมอยู่ในระบบซีทีซีไอได้ให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่ายังไม่มีความมั่นใจในระบบ MSE ซึ่งใช้เครื่องแวกซ์สักเท่าใด
และโดยเฉพาะในเรื่องการแปลงสัญญาณให้คอมพิวเตอร์ต่างยี่ห้อพูดจากันรู้เรื่อง
ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะแก้ไขอย่างไร มีการเตรียมการรองรับสถานการณ์อย่างไรหรือไม่
ปัญหาที่โบรกเกอร์สะท้อนนับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและไม่อาจละเลยได้
แต่เมื่อถามขึ้นมาในจังหวะเวลานี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ "ดี
ๆ" ให้ได้เหมือนกัน
ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "ตัวหลักที่เราเน้นคือ MSE นั่นหมายความว่า
MSE รับเป็นผู้บริหารโครงการนี้ทั้งหมด โดยจะมีการเซ็นสัญญาระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯกับ
MSE ในต้นเดือนตุลาคมนี้ MSE จะส่งคนมานั่งทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเราจะมีระบบควบคุมในเรื่องการจ่ายเงินการปรับปรุง
อะไรต่ออะไร เราทำสัญญากับ MSE เพราะว่าเราต้องการให้มีคนรับผิดชอบและป้องกันการเกี่ยงความรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลังไม่ว่าจะด้านฮาร์ดแวร์
ซอฟท์แวร์รวมทั้งปัญหาในเชิงเทคนิคอื่น ๆ อันจะเกิดขึ้นได้"
ในการเปลี่ยนแปลงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ครั้งนี้
ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ทุกฝ่ายต่างเห็นสอดคล้องกันว่าสมควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
และต่างมองเห็นว่าระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยแก้ไขปัญหาหลาย ๆ จุดที่มีอยู่ในระบบเก่า
โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือการจัดการกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล
ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ระบบ QUEUING การมีบัญชีลูกค้าจะช่วยกำจัดระบบกลุ่มของเทรดเดอร์ปัญหาการกักหุ้น
การชิงตัดหน้าซึ่งเป็นลักษณะการปั่นหุ้นแบบหนึ่งลงได้ระดับหนึ่ง เพราะจะหวังให้ระบบซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์สมบูรณ์ที่สุดนั้น
คงจะไม่ได้แม้ในตลาดหุ้นที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์มานานแสนนานก็ยังเกิดปัญหาการปั่นหุ้นขึ้นได้
หรือการที่ดัชนีหุ้นมีราคาผันผวนอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากใช้โปรแกรมสั่งซื้อ
- ขายด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตลดาหุ้นคอมพิวเตอร์ไทยเป็นสิ่งที่ต้องเกิดในเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนชัดเจนถึงแม้จะมีความไม่พอใจในขั้นตอนการปฏิบัติหลาย
ๆ อย่างก็ตามที แต่ในเมื่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนา ก็สมควรที่จะมีการโอนอ่อนผ่อนปรนให้แก่กันได้บ้าง
เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯโบรกเกอร์และนักลงทุนก็ล้วนแต่มีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนี้อย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่าย