โสภณพนิชที่ 3 ในแบงก์กรุงเทพ ?


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ้นบุญ ชิน โสภณพนิช ยังไม่ถึงปีดี โชติ โสภณพนิช บุตรชายคนที่ 3 ของเขาก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพได้สำเร็จ โดยไม่มีใครทัดทานความประสงค์ของเขาอีกต่อไป ชาตรี โสภณพนิช พี่ชายคนที่ 2 ผู้ได้รับสืบทอดกิจการธนาคารกรุงเทพเป็นมรดกตกทอดมาโดยตรงจากผู้เป็นพ่อคงจะเบาใจขึ้นมากในการปูทางให้แก่ทายาทรุ่นที่ 3 ขึ้นมาสืบแทนเขาในอนาคตข้างหน้า แม้ ชาตรี จะยังไม่เคยพูดถึงเวลาเกษียณตัวเองและพูดถึงบุคคลที่จะมาสืบแทนตัวเขาไว้แน่นอน แต่ความเคลื่อนไหวในพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงของแบงก์กรุงเทพในวันนี้ น่าจะพอบอกถึงอนาคตได้แล้วว่าทายาทรุ่นที่ 3 ของเขาพร้อมบริวารนั้นคือใคร ขบวนการนี้ดูไม่น่าจะซับซ้อน แต่ก็มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างน่าติดตาม

คนรอบข้างของ ชิน โสภณพนิช เมื่อ 30 กว่าปีก่อนทราบดีว่าคนที่จะมานั่งแทนชินในแบงก์กรุงเทพเมื่อชินต้องจากไปนั้นคือ ชาตรี โสภณพนิช บุตรชายคนที่ 2 ของเขานับตั้งแต่วันรกที่ชาตรีเดินเข้ามาทำงานกับแบงก์เมื่อปี 2502 ซึ่งขณะนั้นชาตรีเพิ่งจะอายุเพียง 26 ปี จนชาตรีได้ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของแบงก์สมความมุ่งหมายขอผงู้เป็นพ่อตั้งแต่ปี 2523 หรือนับจากวันที่เขาเข้าทำงานในแบงก์ ก็กินเวลานานถึง 20 ปีเศษ

การถ่ายทอดอำนาจและกิจการจากคนรุ่นที่ 1 สู่คนรุ่นที่ 2 ของ "โสภณพนิช" ในแบงก์กรุงเทพดูค่อนข้างจะราบเรียบ คนเก่าคนเแก่ของแบงก์กรุงเทพบอกว่าเป็นเพราะความมีบารมีและบุญคุณน้ำมิตรของชินที่ผู้ร่วมงานล้วนแต่ซื้อสัตย์จงรักภักดีต่อเขาอย่างมาก แม้ยามเขาต้องระเห็จระเหินไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เพราะความผันแปรทางการเมืองเป็นเวลารวมกันถึง 6 ปีเต็ม

ดูเหมือน บุญชู โรจนเสถียร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพเป็นคนที่จดจำรายละเอียดของขั้นตอนการถ่ายทอดอำนาจและกิจการครั้งนั้นค่อนข้างดีกว่าคนอื่น ๆ

บุญชูกล่าวว่าเขาได้รับการฝากฝังโดยตรงจากชิน ให้ดูแลฟูมฟักชาตรีเป็นพิเศษ ทั้งการอบรมฝึกงานต่าง ๆ ภายในธนาคาร ชาตรีเริ่มงานที่ฝ่ายบัญชี ซึ่งมี สหัส มิลินทสูต เป็นหัวหน้าส่วน โดยให้ชาตรีนั่งในตำแหน่งผู้ช่วย เพราะชาตรีเคยผ่านงานทางด้านบัญชีมาแล้วจากบริษัทเอเชียทรัสต์ บริษัทส่วนตัวของชินอีกแห่งที่ร่วมกับ วัลลภ ธารวณิชกุล หรือ จอห์นนี่มาร์ ตั้งขึ้นทำธุรกิจโพยก๊วน

อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพูดถึงจดหมายของ ชิน โสภณพนิช ที่เขียนถึงเขาในเวลานั้นว่านอกจากจะเป็นการปรึกษางานของแบงก์ทั่วไปแล้ว ยังเน้นอยู่เสมอ ๆ ถึงการพัฒนาและวางแผนเส้นทางให้แก่ชาตรี

ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่สมัยนั้น บารมีของนายห้างชิ้น แผ่กระจายครอบคลุมกรรมการแบงก์ทุกคนอยู่แล้ว การขอเล่นแทนให้ลูกชายขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงย่อมทำได้ไม่ยากอะไร เพียงแต่อาศัยบารมีเท่านั้นก็พอ

"ผมได้ให้การอบรมแนะนำคุณชาตรีมาตั้งแต่เข้ามาใหม่ ๆ ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรตั้งแต่ต้น ตั้งใจที่จะให้ความรู้ เพื่อให้รับภาระรับผิดชอบแทนพ่อต่อไปก็มอบหมายให้เพื่อน ๆ ที่ทำงานในธนาคารให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ในการถ่ายทอดความรู้" บุญชู กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึง การยอมรับในบารมีของนายห้างชินขณะนั้น

ชิน โสภณพนิช เข้าครอบควบคุมการบริหารกิจการธนาคารกรุงเทพโดยเด็ดขาดในปี 2495 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยอาศัยช่วงจังหวะการบริหารสินทรัพย์ผิดพลาดจนธนาคารมีปัญหาของผู้บริหารชุดหลวงรอบรู้กิจ ผู้รู้เรื่องดีคนหนึ่งบอกว่า ผู้บริหารชุดเก่าเก็งกำไรเรื่องการค้าที่ดินผิดพลาด

ชินเพิ่มทุนแบงก์กรุงเทพทันทีจาก 4 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาทและ 50 ล้านบาทในเวลาไล่เลี่ยกันวัตถุประสงค์หลักในขณะนั้นก็คือเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีปัยหาเรื้อรังมานานตั้งแต่ผู้บริหารเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ชินได้รับทางอ้อมก็คือชินได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร

บุญชู โรจนเสถียร เจ้าของสำนักงานบัญชีกิจ ซึ่งได้เข้ามาดูแลงานบัญชีและตรวจสอบภายในของธนาคารอยู่เดิม ได้ถูกเชิญจากชินมาร่วมบริหารงานด้วย

พร้อมกันนั้นบุญชูก็ได้ดึงเอาดำรงค์ กฤษณามระกรรมการผู้อำนวยการแบงก์กรุงเทพคนปัจจุบันเข้ามาช่วยในฝ่ายบัญชีและตรวจสอบด้วย

ชิน โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีภาระหน้าที่ส่วนใหญ่คือติดต่อพ่อค้าพืชเกษตรส่งออกเพื่อดึงมาใช้บริการแก่ธนาคารส่วนบุญชู โรจนเสถียร เป็นรองรับผิดชอบงานเกี่ยวกับด้านการวางแผน การควบคุมและการวางแนวทางในการพัฒนาคน การวางแผนเพื่ออนาคตของธนาคาร

บุญชูบอกว่าในการนำคนเข้ามารับผิดชอบงานต่าง ๆ ในธนาคารมักมีความเห็นแตกต่างกันบ่อย ๆ กับชิน ในขณะที่บุญชูต้องการคนเข้ามาพัฒนาองค์กรในระยะยาว โดยพยาบาลเลือกสรรเอานักบริหารมืออาชีพ ส่วนชินนั้นมีวัฒนธรรมแบบคนจีนทั่ว ๆ ไป คือต้องการเอาเพื่อน ๆ พ่อค้าด้วยกันเข้ามา แต่ที่ผ่านมาก็สามารถผสมสานกันได้ดี

วิระ รมยะรูป กรรมการรองผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันเป็นคนเก่าแก่ของธนาคารที่มีความเกี่ยวด้องกับหลวงรอบรู้กิจ แต่ในเวลาต่อมาวิระก็เป็นคนหนึ่งที่ชินให้ความไว้วางใจอย่างมากถึงขนาดได้มาเป็นเลขาฯหน้าห้องอยู่หลายปี และปัจจุบันวิระได้กลายเป็นคนสนิทของครอบครัวโสภณพนิชเหมือนคนครอบครัวเดียวกันก็ว่าได้ เขามีส่วนสำคัญอย่างมากคนหนึ่งในการหนุนเนื่องการขึ้นมาและดำรงอยู่จนทุกวันนี้ของชาตรี

ประยูร วิญญรัตน์ ปิติ สิทธิอำนวย และประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ กรรมการ อดีตผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพปัจจุบันล้วนแต่เป็นคนที่เข้ามาในยุคของ บุญชู-ชิน ทั้งสิ้นและมีส่วนสำคัญอย่างมากในการหนุนเนื่องบัลลังก์ของชินติดต่อกันมาจนถึงยุคของชาตรี โสภณพนิช

เขาเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการปูเส้นทางให้ชาตรี โสภณพนิช ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นับตั้งแต่เขาเดินเข้ามาทำงานในแบงก์วันแรกจนถึงปัจจุบัน

คนใกล้ชิดชินคนหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ" ว่าแม้เส้นทางสู่การสืบทอดอำนาจของชินสู่ทายาทรุ่นที่ 2 นั้นเป็นที่รู้กันโดยทั่วอยู่แล้วว่าเป็นของชาตรี โสภณพนิช บุตรชายคนที่สองที่เกิดจากภรรยาคนแรกของเขา - ไว อิน อิง

แต่ชินก็ยังอดห่วงไม่ได้จึงมอบให้ ชาญกับโชติ โสภณพนิช บุตรที่ 1 และ 2 ที่เกิดจากภรรยาคนที่สอง บุญศรี โสภณพนิช ประกบคู่กันขึ้นมาแบบไม่ให้ทิ้งห่างกันมากนัก โดยเฉพาะโชตินั้นเป็นที่รู้กันภายในว่าชินเก็บสำรองไว้เผื่อว่าชาตรีเป็นอะไรปก่อนที่คนรุ่นที่ 3 จะโตทัน โชติจะได้รับช่วงงานแทนได้ทันที เพราะโชติอายุน้อยกว่าชาตรีถึง 10 ปี

บุญชู โรจนเสถียร กล่าวว่าลูก ๆ ของชินล้วนแต่ได้รับการศึกษามาสูง แต่มีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิดความอ่านและบุคลิกภาพ ซึ่งหากสามารถร่วมงานกันได้ก็จะเป็นการดีมาก ๆ เพราะจะได้เสริมในจุดอ่อนจุดแข็งของกันและกัน

บุญชูได้เข้ามานั่งแทนชินช่วงหนึ่งก่อนที่ชาตรีจะโต

นับตั้งแต่ชาตรี โสภณพนิช ได้ขึ้นมารับผิดชอบการบริหารสูงสุดในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ในขณะที่ชินยังนั่งเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารก่อนที่จะค่อย ๆ วางมือให้ ดร. อำนวย วีรวรรณ อดีตปลัดกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร ติดตามด้วย ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เข้ามาเป็นประธานกรรมการ ยิ่งดูเหมือนจะทำให้โชติเกิดความอึดอัดมากขึ้นเรื่อย ๆ คนใกล้ชิดโชติบอกว่าเขาอึดอัดมากยิ่งขึ้นเมื่อำนาจการบริหารเกือบทั้งหมดตกไปเป็นของพี่ชายของเขาและบริวาร

"แม้ระยะหลัง ๆ คุณชาตรีได้มอบงานทางด้านต่างประเทศและและวาณิชธนกิจให้ดูแล ก็ดูเหมือนความอึดอัดของคุณโชติยังไม่จางหายไป เพราะฐานปฏิบัติการจริง ๆ นั้นมีคนของชาตรีคุมอยู่เต็มเพียบไม่ว่าจะเป็นคุณภุชฌงค์หรือดร.วิชิต" คนในธนาคารกรุงเทพกล่าวถึงอดีต

โชติได้แจ้งความจำนงต่อพี่ชายหลายครั้ง ที่จะยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพ แต่ก็ถูกทัดทานจากผู้ใหญ่ในแบงก์ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็น ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ผู้เป็นเพื่อนรักของชินที่เข้ามาเป็นประธานกรรมการแทน หรือแม้แต่ดร.อำนวย วีรวรรณซึ่งถูกเพ่งเล้งว่าเขาเข้ามาแย่งอำนาจของโชติไป เพราะชาตรีได้มอบให้ดร.อำนวยดูแลกิจการด้านต่างประเทศด้วยในขณะนั้น

"นายห้างเองก็ไม่ต้องการให้คุณโชติออกจากแบงก์ไป" คนเก่าแก่ของแบงก์กรุงเทพบอกกับ "ผู้จัดการ" แต่หลังจากสิ้นบุญ ชิน โสภณพนิชแล้วก็ไม่มีใครทัดทานโชติไม่ให้ออกจากแบงก์อีกต่อไป

โชติเดินออกจากตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพเมื่อสิงหาคม 2531 ด้วยวัยเพียง 45 ปี ในขณะที่ชาตรีอายุได้ 54 ปีเศษนั่นหมายความว่าคนที่จะมาปิดตราทัพแทนชาตรีก่อนที่จะถึงทายาทรุ่นที่ 3 นั้นคงไม่ใช่คนในตระกูลโสภณพนิชเสียแล้วหรือ

เพราะชาติศิริ โสภณพนิชบุตรชายคนโตของเขาที่หมายมั่นกันว่าจะให้สืบทอดแทนพ่อนั้น เพิ่งย่างเข้าสู่วัย 30 ปีเท่านั้นเอง

ปี 2529 นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยแปลงในแบงก์กรุงเทพอย่างมีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อ ๆ มา นับตั้งแต่ ชาตรี โสภณพนิช ขึ้นคุมอำนาจสูงสุดในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่มาได้ 6 ปีเต็ม

ดำรง กฤษณามระ ลูกหม้อเก่าของแบงก์ได้รับแต่งตั้งจากกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปีของธนาคารกรุงเทพ โดยให้มีสิทธิอำนาจเท่าเทียมกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานกรรมการบริหารทุกประการ

"คือทั้งสามท่าน ดร.อำนวย คุณชาตรี และคุณดำรงค์ มีอำนาจตัดสินใจเท่าเทียมกันทุกอย่างเพียงแต่ในทางปฏิบัติก็แบ่งสายงานกันดูแล กล่าวคือดร.อำนวยดูแลสายต่างประเทศ คุณดำรงค์ดูแลสายอำนวยการและกิจการภายในประเทศ ส่วนคุณชาตรีนั้นดูแลทั่วไปทุกเรื่อง หมายความว่าในแต่ละสายงานนั้นแต่ละท่านตัดสินใจไปได้เลย หรือจะเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ได้หรือกรณีที่ท่านหนึ่งท่านใดไม่อยู่ท่านที่อยู่ก็เอามาตัดสินใจแทนได้ โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจทำการแทน เพียงแต่คุณชาตรีของสงวนเรื่องการพนักงานไว้เป็นผู้ตัดสินใจเอง หมายความว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ขอดูก่อนทุกครั้ง อันนี้พิเศษต่างหากที่คุณชาตรีขอไว้เพราะท่านเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งให้แบงก์กรุงเทพบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคราวนั้น

ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารซึ่งแต่เดิมให้นั่งเป้นรองประธานกรรมการจัดการซึ่งมีชาตรี โสภณพนิช เป็นประธานอยู่ด้วยนั้นก็ให้เป็นประธานกรรมการบริหารเพียงอย่างเดียวส่วนตำแหน่งรองประธานกรรมการจัดการซึ่งเดิมมี 3 คน รวมทั้ง ปิยะ ศิวยาธร จากกรรมการบริหารที่เคยมาเป็นรองอยู่ด้วยนั้นก็ถอนออกไปให้เหลือเพียงกรรมการผู้อำนวยการเพียงคนเดียวนั่งเป็นรองประธานกรรมการจัดการ

คณะกรรมการจัดการ เดิมประกอบด้วย วิระรมยะรูป โชติ โสภณพนิช ปิติ สิทธิอำนวย ภุชฌงค์ วงศ์วสุ ชัยรันต์ คำนวณ ธรรมนูญ เลากัยกุล เดชา ตุลานันท์ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย วิเศษ ศรีจันทร์ และพิพัฒน์ ปุสยานนท์ เป็นกรรมการและเลขานุการก็ได้มีการเพิ่มผู้ช่วยเลขานุการกรรมการขึ้นมาอีก 2 คนคือ สุรศักดิ์ นานานุกูล กับ ดร.สาธิต อุทัยศรี

สุรศักดิ์กับดร.สาธิตนั้นเติบโตมาทางด้านสายงานนโยบายและแผน ซึ่งทำงานป้อนข้อมูลการวิจัยและการวางแผนให้แก่กรรมการผู้จัดการใหญ่คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการจัดการมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชาตรีนั้นให้ความไว้วางใจแก่ทั้งสองมาก

คณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายการดำเนินกิจการของธนาคารส่วนคณะกรรมการจัดการมีหน้าที่นำนโยบายมาปฏิบัติ โดยจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นงานด้านปฏิบัติการอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรรมการชุดนี้ทั้งหมดรวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารด้วย

วิระ รมยะรูป กรรมการผู้จัดการใหญ่ดูแลงานด้านอำนวยการ อันประกอบด้วยสายงานสำนักผู้จัดการใหญ่มี ดร.สาธิต อุทัยศรี เข้ามาเป็นผู้จัดการแทน พิพัฒน์ ปุสยานนท์สายบัญชีการเงินและบริการกลาง ส่วนปิติ สิทธิอำนวยกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อีกคนดุแลงานด้านกิจการธนาคารในประเทศอันประกอบด้วยกิจการสำนักงานใหญ่ สาขาเขตนครหลวง และภูมิภาค สำนักควบคุมสินเชื่อ และสายอำนวยการสินเชื่อโดยมี เดชา ตุลานันท์ และ ธรรมนูญ เลากัยกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ทั้งสองช่วยดูแล

และ โชติ โสภณพนิช กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้นดูแลงานด้านกิจการธนาคารต่างประเทศกับด้านกิจการวาณิชธนกิจ ในตำแหน่งประธานกรรมการจัดการด้านกิจการธนาคารต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการจัดการด้านกิจการวาณิชธนกิจ ซึ่งมี ภุชฌงค์ วงศ์วสุ กับ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย สองผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เป็นผู้อำนวยการของแต่ละด้านตามลำดับ

มีการย้ายเอา ชัยรัตน์ คำนวณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ซึ่งเคยมีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้ดูแลสายกิจกรรมพิเศษและการประชาสัมพันธ์ สมัย บุญชู โรจนเสถียร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้ไปดูแลสายงานบัญชี การเงิน และบริการกลาง ขึ้นกับ วิระรมยะรูป โดยรับเอา สุภชัย มนัสไพบูลย์ เพื่อนสนิทของดร.สาธิต อุทัยศรี เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์แทน ประจวบ อินอ๊อด ผู้จัดการฝ่ายคนเดิมให้ไปนั่งเป็นผู้จัดการฝ่ายประจำสำนักผู้จัดการใหญ่

มอบให้ ดร.สาธิต อุทัยศรี รักษาการสำนักกิจกรรมพิเศษอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยให้สำนักนี้ขึ้นตรงต่อ ดร.อำนวยโดยตรง ในขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้นำไปฝากไว้กับสายงานพัฒนาธุรกิจ่ซึ่งมีสรดิษฐ์ วิญญรัตน์ เป็นคนดูแล ก่อนที่สรดิษฐ์จะย้ายเข้ามารับผิดชอบสายงานบัตรเครดิตซึ่งขึ้นต่อชาตรีโดยตรงในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

"ผมว่ามันหมายถึงการเริ่มลงมือจัดที่จดัทางของคุณชาตรีได้ค่อนข้างลงตัวทีเดียว นี่ถ้ามองในแง่ฐานอำนาจที่จะค้ำจุนหนุนเนื่องจากดำรงอยู่ของเขา" อดีตผู้บริหารระดับสูง่ของแบงก์กรุงเทพที่ลาออกไปแล้วกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"ดร. อำนวยนั้นถือว่าเป็นภาพพจน์ที่ดีของแบงก์ที่คุณชาตรี จะต้องให้อยู่ตราบเท่าที่ดรงอำนวยยังไม่เมื่อคุณดำรงค์นั้นก็เป็นนายเก่านายแก่ของคุณชาตรีทีรักองค์กรพอ ๆ กับชีวิตของท่านก็ต้องเอาให้ขึ้นไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสขยับขยายขึ้นมา คุณปิติก็เรียกว่าโตขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณชาตรีคุณวิระก็เป้นคนเก่าคนแก่ของแบงก์ที่ทุกวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนในบ้านของโสภณพินิชไปเสียแล้ว ส่วนระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ที่กำลังได้รับทบาทอันโดดเด่นไม่ว่าจะเป็น เดชา ตุลานันท์ ธรรมนูญ เลากัยกุล ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ก็ล้วนแต่เป็นคนฝีมือกันคนละด้านที่คุณชาตรีเขาให้ความไว้วางใจมาก ๆ" อดีตผู้บริหารแบงก์คนเดิมกล่าว

จากนั้นมาก็มีการเคลื่อนย้ายของผู้บริหารระดับรอง ๆ ลงมืออย่างซึมลึกและต่อเนื่อง เพื่อแต่งเติมฐานกำลังให้แน่นหนามากยิ่ง ๆ ขึ้นหลังจากที่ชิน โสภณพนิช ผู้สร้างแบงก์มาในยุคแรก ๆ ได้สิ้นบุญไปเมื่อต้นปี 2531 และโชติ โสภณพนิช ทายาทรุ่นที่ 2 ในแบงก์อีกคนหนึ่งได้ยื่นใบลาออกจนเป็นผลสำเร็จตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของโชติที่ว่างลง ชาตรีได้ดึงเข้ามาดูแลด้วยตัวเอง

"ยังไม่จำเป็นต้องรีบด่วนแต่งตั้งใครแทนในขณะนี้" ชาตรีพูดกับผู้สื่อข่าวในวันเดียวกับที่โชติยื่นใบลาออก

"เพราะจริง ๆ แล้วฝ่ายปฏิบัติการของสายต่างประเทศและสายวาณิชธนกิจล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดคุณชาตรีอยู่ก่อนแล้ว คุณชาตรีเพียงแต่เข้ามาเป็นประธานกรรมการจัดการด้านนี้ทแนที่โชติงานทุกอย่างก็เดินต่อไปได้สบาย ๆ อันนี้นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าโชติไม่มีเครื่องมือเป็นของตนเองเลย" คนในแบงก์กรุงเทพ

สรดิษฐ์ วิญญรัตน์ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเข้าไปห้ำหั่นฝ่ายประชาสัมพันธ์เรียบร้อยแล้วก็ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ พร้อมกับถูกมอบหมายให้ดูแลสายงานบัตรเครดิตให้โดดเด่นไปคนเดียวในเวลาพร้อม ๆ กัน สุรศักดิ์ นานานุกูลก็ได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ด้วยเช่นกันโดยให้ดูแลสายงานแผนพัฒนาและงบประมาณขึ้นตรงต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่

ทั้งสรดิษฐ์และสุรศักดิ์สองผู้ช่วยคนใหม่ก็เลยได้รับการบรรจุเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดการไปโดยปริยาย

ในช่วงเดียวกันนั้นก็ได้ดึงเอา ประยูร คงคาทองจากบริษัทเอสโซ่ประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อีกคนหนึ่ง เพื่อให้ดูแลสายงานด้านการตลาดธนาคารที่ตั้งขึ้นมาใหม่และได้รับแต่งตั้งให้เข้าเป็นกรรมการจัดการด้วยเช่นกัน

"สายงานที่โดดเด่นขึ้นมาทันทีนั่นก็คือสายงานด้านการตลาดธนาคาร ด้านกิจการต่างประเทศ ด้านวาณิชธนกิจ และด้านบัตรเครดิตธนาคาร เพราะล้วนแต่มีบุคคลที่มีฝีมือเข้ามารับผิดชอบและกรรมการผู้จัดการใหญ่เองก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่" คนในธนาคารกรุงเทพกล่าว

ซึ่งสอดคล้องกันอย่างเหมาะเจาะกับนโยบาย และเป้าหมายที่คณะกรรมการบริหารได้วางไว้ให้ธนาคารรุกหนักในด้านวาริชธนกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศ

เช่นเดียวกับด้านกิจการธนาคารต่างประเทศที่การนำเข้าส่งออกจะมีอัตราเร่งสูงขึ้นตามตัวเลขความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และสายงานด้านการตลาดจะเข้ามาเสริมช่องว่างการตลาดที่ทำอยู่เดิมเป็นการแบบคนจีนสมัยเก่าให้มีแผนงานการตลาดที่ชัดเจนขึ้น มีข้อมูลเพื่อการปรับปรุงบริการอันเป็นเสมือนตัวสินค้าของธนาคารในมีรูปแบบที่ดีขึ้น โดยพยายามหลีกเลี่ยงการแตะต้องโครงสร้างเก่าให้มาก จึงต้องเกิดสายงานด้านการตลาดและบัตรเครดิตขึ้นมา แต่ยังคงให้จินดารับผิดชอบงานอยู่เช่นเดิมกับลูกค้าเคยค้า

"ธนาคารมีเป้าหมายที่จะต้องทำรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในสัดส่วนที่สูงขึ้น ดังนั้นสายงานทางด้านบริการจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น" กรรมการผู้อำนวยการกล่าวถึงเป้าหมายของธนาคาร

มีการต่ออายุ ภุชฌงค์ วงศ์วสุ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ให้อยู่กับแบงก์ต่อไปหลังเกษียณอายุแล้ว พร้อมกับแต่งตั้งดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้าเป็นกรรมการบริหารในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่เพียงคนเดียวที่เป็นกรรมการบริหารและเป้ฯที่คาดหมายกันว่าดร.วิชิตนั้นคือคนที่จะขึ้นมานั่งตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่แทนที่ โชติ โสภณพนิช ในเวลาไม่ช้านี้อย่างแน่นอน

และถ้าจริง ดร.วิชิตก็จะเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ที่อายุน้อยที่สุด - ปีนี้เขาอายุ 14

"มันเป็นโฉมหน้าใหม่ของการจัดกองทัพในแบงก์กรุงเทพทีเดียว โดยมีการกระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์ เข้มแข็งหนักแน่นแล้วในขณะนี้ ซึ่งมันเดินสวนทางกับสุขภาพร่างกายของชาตรีที่นับวันอ่อนแอลง หมอต้องสั่งห้ามไม่ให้เขาทำงานหนัก" อดีตผู้บริหารระดับสูงของแบงก์กรุงเทพตั้งข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"

กล่าวกันว่าคนอย่าง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยในวันนี้นั้นก็คือ บุญชู โรจนเสถียร เมื่อ 20 กว่าปีก่อน สำหรับทายาทของ "โสภณพนิช" รวมทั้งเดชา ตุลานันท์ สรดิษฐ์ วิญญรัตน์ ธรรมนูญ เลากัยกุล สุรศักดิ์ นานานุกูล หรืออย่าง ประยูร คงคาทองหรือแม้แต่ ดร.สาธิต อุทัยศรี ก็ไม่ได้แตกต่างกันกับดำรงค์ กฤษณามระ วิระ รมยะรูป หรือ ปิติ สิทธิอำนวย เมื่อร่วม 20 ปีก่อน

เพียงแต่มีการแตกหน่อหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญมากขึ้นตามขนาดขององค์กรและเข้มข้นตามความรุนแรงของการแข่งขันในธุรกิจนี้มากขึ้นเท่านั้นเอง

ในการเปลี่ยนแปลงของชั้นบนนั้นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นล่าง ๆ ลงมาอย่างต่อเนื่องซึมลึก

เสียงกริ่งโทรศัพท์ที่ดังขึ้นในห้องผู้บริหารการเงิน การธนาคาร การค้าพณิชย์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศถูกต่อไปจากธนาคารกรุงเทพ พร้อมด้วยข้อเสนอ ข้อต่อรองทางธุรกิจระดับชาติในวันนี้ มันไม่ใช่เสียงคนรุ่นลายความอย่าง ดร.อำนวย วีรวรรณ ชาตรี โสภณพนิช ดำรง กฤษณามระ ปิติ สิทธิอำนวย และ ภุชฌงค์ วงศ์วสุ อีกต่อไปแล้ว แต่มันกลายเป็นเสียงของคนรุ่นหนุ่ม พูดจาคล่องแคล่วแหลมคม เชือดเฉือนรุกรับข้อต่อรองต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง และเจ้าของเสียงเหล่านั้นมักจะหนีไม่พ้นคนชื่อ ชาติศิริ โสภณพนิช ไชย ณ ศีลวันต์ และ อายุสม์ กฤษณามระ เจ้าหน้าที่บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการ (ASSISTANT VICE PRESIDENT) ที่พึ่งเข้ามาร่วมงานกับแบงก์เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ชาติศิริ โสภณพนิช หรือ โทนี่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่บริหารชั้นบริหาร (ICE PRESIDENT) โดยมี ประยูร คงคาทอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ทำหน้าที่รักษาการผู้จัดการฝ่ายคอยเป็นพี่เลี้ยงเขาอยู่ ซึ่งว่ากันจริง ๆ แล้วคนที่ทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายนั้นก็คือโทนี่นั่นเอง

สายการตลาดเป็นสายงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของแบงก์กรุงเทพ มีความสำคัญต่ออนาคตของแบงก์อย่างมาก เพราะเป็นงานที่จะต้องวิ่งหาลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาในแบงก์ โดยไม่จำกัดประเภท ตลอดทั้งทำหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ

ชาติศิริพึ่งเข้ามาร่วมงานกับแบงก์กรุงเทพเมื่อปี 2530 ที่ผ่านมานี่เอง เพียง 2 ปี เขามีโอกาสเรียนรู้งานไปแล้ว 2 สาย กล่าวคือเขาเริ่มงานที่สำนักจัดสรรเงิน โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสำนักค้าเงินตราต่างประเทศ และข้ามสายไปกินตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารชั้นรองผู้จัดการในเวลาเพียงปีเดียวต่อมา

ชาติศิริ เรียนจบปริญญาตรีมาทางด้านซิศวกรรมเคมี (เกียรตินิยม) จาก WARCESTER POLYTECHNIC INSTITUTE CAMBRIDGE USA. ปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก MASSACHUSETTS INSTITUTE OF TECHNOLOGY (MIT) CAMBRIDGE และปริญญาโทบริหารธุรกิจอีกสาขาหนึ่งจากที่เดียวกัน

แน่นอนทั้งคนในแบงก์และนอกแบงก์ต้องมองเขาว่าเขาได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเร็วเกินไปเพราะมีพ่อเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร

เช่นเดียวกับ ไชย ณ ศีลวันต์ ลูกชายคนเดียวของ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี และเป็นบุตรเขยคนเดียวของ ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารแบงก์ที่เขานั่งทำงานอยู่

ปีนี้ไชยอายุเพียง 31 ปี มากกว่าโทนี่เพียงปีเดียว เขาเข้าทำงานกับธนาคารกรุงเทพเมื่อปลายปี 2526 โดยเริ่มงานที่สำนักจัดสรรเงินเช่นเดียวกันกับโทนี่ โดยมี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นพี่เลี้ยง ไชยทำอยู่ได้ 8 เดือน ดร.วิชิตก็ดึงไปช่วยงานในสายกิจการต่างประเทศ ซึ่ง ดร.วิชิตดูแลอยู่เช่นกัน ไชยเป็น COUNTRY OFFICER ของสาขากัวลาลัมเปอร์ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ไชยได้เรียนรู้งานทางด้านกิจการธนาคาร และสาขาก็เปรียบเสมือนธนาคารเล็ก ๆ ธนาคารหนึ่งนั่นเอง

ไชยอยู่ด้านกิจการต่างประเทศได้เกือบปี ก็ได้ย้ายมาอยู่ด้านกิจการวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นงานที่ดร.วิชิตดูแลอยู่เช่นเดียวกัน และว่ากันจริง ๆ แล้วไชยเริ่มทำงานด้านวาณิชธนกิจให้แก่ ดร.วิชิตตั้งแต่วันแรกที่ไชยเดินเข้ามาในแบงก์เสียด้วยซ้ำ โดยมอบโครงการปู๋ยแห่งชาติให้ไชยทำให้ขณะนั้น

เขาเข้ามาอยู่วาณิชธนกิจจนถึงปัจจุบัน 4 ปีพอดีโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการรับผิดชอบงานโปรเจกต์ไฟแนนซิ่ง ร่วมกับ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ชาตรีเป็นคนดึงเข้ามาจากเปโตเคมีแห่งชาติ และก็ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

เช่นเดียวกับชาติศิริ งานของไชยหลัก ๆ ก็คือออกวิ่งติดต่อกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รับงานโครงการขายความเป็นไปได้ของโครงการที่ได้ศึกษาแล้วต่อสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่จะร่วมอันเดอร์ไรท์รวมทั้งเสนอโครงการต่อภาครัฐบาลและต่อรองเครื่องค่าธรรมเนียมกับลูกค้า

โดยเฉพาะงานทางด้านเปโตเคมีนั้นนับว่าทีมงานด้านกิจการวาณิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพเป็นทีมงานที่แข็งที่สุด จากโครงการเปโตเคมีทั้งหมด 6 โครงการ ปรากฎว่าธนาคารกรุงเทพเป็นผู้นำในการอันเคอร์ไรท์ไปแล้วถึง 5 โครงการไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มเปโตเคมีแห่งชาติ กลุ่มเอ็นทีซี กลุ่มเฮสเอ็มซีกลุ่มบางกอกแก๊ส และกลุ่มทีพีไอ มีเพียงโครงการของไทยโพลีแอทลีนของปูนซิดเมนต์ไทยเพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่พวกเขาดึงเข้ามาไม่ได้

โครงการล่าสุดที่ไชยภาคภูมิใจมากก็คือโครงการทางด่วนระยะที่ 2

ไชยจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาเขาได้เข้าไปฝึกงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.โฮฬาร ไชยประวัติ เป็นพี่เลี้ยงอยู่ประมาณ 6 เดือน และบวชให้แม่ซึ่งเสียชีวิตไประหว่างนั้นอีก 3 เดือนจึงได้เดินทางไปเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ในระหว่างเรียนเขาเข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายวันกับธนาคารเชสแมนฮัทตันที่นิวยอร์ก โดยได้รับมอบให้เป็นผู้วิเคราะห์และสร้างระบบวิเคราะห์กำไรของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ไชยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกมองจากทั้งคนข้างนอกและในธนาคารว่าเขาเร็วมาก ๆ

อายุสม์ กฤษณามระ ลูกชายคนเดียวของดำรงค์ กฤษณามระ กรรมการผู้อำนวยการแบงก์กรุงเทพคนปัจจุบัน ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในข่ายเดียวกันกับ ชาติศิริ และไชย เขาอายุมากกว่าไชยเพียงปีเดียวอายุสม์เริ่มงานที่ธนาคารกรุงเทพไล่เลี่ยกับไชยในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งขณะนั้น สุรดิษฐ์ วิญญรัตน์ เป็นผู้จัดการฝ่าย เจ้านานและพี่เลี้ยงคนแรกของเขาคือกุลธิดา ศิวยาธร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขณะนั้น

อายุสม์ดูแลลูกค้าสินเชื่อทางด้านอุตสาหกรรมเคมี เพราะเขาเรียกจบมาทางนี้ดดยตรง งานของอายุสม์ในระยะเริ่มต้นก็ไม่ได้แตกต่างกับชาติศิริและไชย แต่ในระหว่างที่ทำงานอยู่สายพัฒนาธุรกิจอยู่นั้นเขาได้ถูกส่งมาฝึกงานกับสำนักจัดสรรเงินอยู่หลายเดือน อายุสม์ชอบงานทางด้านการค้าเงินตราต่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อสิ้นระยะเวลาการฝึกงานแล้วก้ยังสนใจแวะเวียนมาดูงานอยู่ทุกวัน โดยอาศัยช่วงเวลาก่อนเข้าทำงานตอนเช้าและหลังเลิกงานในตอนเย็น บางวันก็อยู่ดึกถึง 4-5 ทุ่มจึงกลับบ้าน

3 ปีต่อมาเมื่อตำแหน่งในสำนักค้าเงินว่างลงปิติ สิทธิอำนวย ได้เรียกเขาขึ้นไปถามว่าชอบหรือไม่ ถ้าจะให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ว่างลง อายุสม์ก็รีบคว้าไว้ทันที โดยเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการ

หน้าที่ของอายุสม์ปัจจุบันก็คือทำงานแทนงานที่ชาติศิริเคยทำนั่นเอง ไม่ว่าจะติดต่อขายเงินกับลูกค้า กำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมบริการ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดคณะกรรมการจัดสรรเงินซึ่งมี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นที่ปรึกษา เขาและชาติศิริก็เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยในคณะกรรมการชุดดังกล่าว

คณะกรรมการชุดนี้จะกำหนดนโยบายและปริมาณการซื้อขายที่ควรจะทำให้แต่ละสัปดาห์ โดยวิเคราะห์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของโลก ส่วนอายุสม์รับนโยบายมาปฏิบัติแบบวันต่อวัน ซึ่งปกติก็จะมีการประชุมทีมงานกันอยู่ทุกเช้า

อายุสม์เรียนจบปริญญาตรีมาทางด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยที่เพนวิลวาเนีย เข้าฝึกงานกับบริษัทคอลเกตปาล์มโอลีฟประเทศไทยประมาร 7-8 เดือนก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดส์ลอส แองเจลิส ในระหว่างที่เรียนอยู่เปปเปอร์ไดส์เขาได้เข้าฝึกงานกับธนาคารกรุงเทพ สาขาลอส แองเจลิส อยู่ 9 เดือน และสาขาธนาคารกรุงเทพได้ส่งไปฝึกงานที่ธนาคารอื่นด้วยในเมืองเดียวกันนั้น

เขาก็เป็นบุตรชายของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของแบงก์ (ดำรง กฤษณามระ) จึงไม่ยกเว้นเช่นกันที่จะถูกกล่าวหาว่า โตเร็วเกินกว่าเกณฑ์ปกติ

ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ยกเว้นอภิชาติ รมยะรูป ลูกชายของ วิระ รมยะรูป กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ไปเลย แม้เขาจะเข้ามาทำงานแบงก์กรุงเทพเป็นเวลานาน และอายุของเขาขึ้นสู่เลข 40 แล้วในปีนี้

เพราะก่อนหน้านี้อภิชาติเข้ามาฝังตัวอยู่ในแบงก์เงียบ ๆ ตั้งแต่ปี 2523 การย้ายแต่ละครั้งก็ไม่ได้โดดเด่นหรือหวือหวาเหมือนสองปีที่ผ่านมา อภิชาติเติบโตมาทางสายกิจการสาขาทั้งในและต่างประเทศ เขาเคยถูกส่งไปทำงานที่สาขาสิงคโปร์ ก่อนที่จะกลับเข้ามารับงานในฝ่ายการพนักงาน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการและขึ้นเป็นรองผู้จัดการในฝ่ายเดียวกันตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น

แต่พอมาถึงปลายปี 2531 อภิชาติได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้จัดการ กินตำแหน่งผู้จัดการศูนย์บริการกลาง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นฝ่าย) ซึ่งเป็นงานดูแลความเรียบร้อยภายในแบงก์ที่ใหญ่มาก เขาขึ้นไปแทน จงจิตต์ จันทรมงคล เพื่อนรุ่นพี่ที่ชาตรีไว้ใจมากคนหนึ่งรับผิดชอบอยู่ก่อน

เพียงข้ามมากลางปีนี้ อภิชาติก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการสำนักผู้อำนวยการด้านกิจการต่างจังหวัด ขึ้นตรงต่อ ธรรมนูญ เลากัยกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่คนสำคัญคนหนึ่ง พร้อมกับให้รักษาการผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อเกษตรที่จะต้องบริหารยอดสินเชื่อกว่วา 10,000 ล้านบาทต่อปี

"แต่ความจริงนั้นย่อมปฏิเสธได้ยากว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เป็นการปูทางให้เหล่าทายาทน้อยรุ่นที่ 3 ได้ขึ้นไปเป็นผู้บริหารสูงสุดของธนาคารต่อไปในในอนาคต โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโสภณพนิชที่ชื่อโทนี่" อดีตเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของแบงก์เทพที่พึ่งลาออกไปกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความมั่นใจ

แต่ระยะทางก็ยังอยู่ยาวไกล กว่จะถึงเป้าหมายต้องใช้เวลาอีกร่วม 10 ปี ต้องผ่านความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมายที่อาจมากระทบความเป็นบริษัทมหาชนซึ่งต้องอ่อนน้อยมต่อสายตาคนและ 10 ปีนั้นมันอาจนานพอที่จะทำให้หัวใจของเหล่าขุนพลทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

มันผิดด้วยหรือที่ทายาทน้อยเหล่านั้นจะได้โอกาสดีกว่าคนอื่น ๆ ที่เขาเกิดมาในตระกูลซึ่งล้วนแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพในปัจจุบัน ไม่เฉพาะคนในตระกูลโสภณพนิช ซึ่งปู่ของเขาชิน โสภณพณิชผู้เริ่มต้นชีวิตจากเด็กรับใช้ในร้านขายไม้ สร้างเนื้อสร้างตัวเติบโตขึ้นจนเข้ากู้กิจการธนาคารกรุงเทพ จากแทบจะเรียกได้ว่าล้มละลายไปแล้วให้ฟื้นคืนมาจนกลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แล้วคนรุ่นพ่อก็ได้ร่วมกันสานต่อจนในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งคนอย่าง ดำรง กฤษณามระ ซึ่งทุ่มเทชีวิตความเป็นลูกจ้างอย่างเขาให้แก่ธนาคารจนกลายเป็นว่าเขารักอาชีพของเขามากกว่าชีวิตตัวเองเสียอีก หรืออย่าง วิระ รมยะรูป ที่รับใช้ธนาคารมาตั้งแต่มีพนักงานเพียง 20 กว่าคน จนปัจจุบันมีพนักงานกว่า 20,000 คนเข้าไปแล้ว และวันนี้คนรุ่นพ่อ ๆ ของเขาเหล่านั้นกำลังย่างก้าวเข้าสู่วัยชราอยู่ทุกขณะ

ไม่เฉพาะเท่านั้น ไชย ณ ศีลวันต์ ผู้ซึ่งเกิดนอกวงจรของธนาคารกรุงเทพอย่างเขา เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เข้ามาทำงานในธนาคารกรุงเทพและก็คงไม่เคยคิดอีกเช่นกันว่จะได้มาเป็นลูกเขยของดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งมีตำแหน่งถึงประธานกรรมการบริหารธนาคารที่บังเอิญได้เขามาทำงานอยู่ก่อนแล้ว

เหมือนกับจะรับรู้มาตั้งแต่ลืมตามาดูโลกกว่าเขาจะต้องเตรียมตัวรับภาระหนักแทนผู้เป็นพ่อในฐานะลูกชายคนโตของ ชาตรี โสภณพนิช ซึ่งปีนั้นก็เป็นปีที่พ่อของเขาเพิ่งจะเข้าเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพเป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2502 ชาติศิริ โสภณพนิช จึงได้ตั้งอกตั้งใจศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเคมี ที่พ่วงท้ายด้วย "เกียรตินิยม" นั้นคงยืนยันถึงความตั้งใจจริงของเขาได้

ปริญญาโทในสาขาเดียวกันก็ได้มาสมความตั้งใจของเขาอีกครั้งหนึ่ง แต่ในระหว่างจะเรียนต่อปริญญาเอกให้ได้ตามเป้าหมายของเขานั้น ผู้เป็นพ่อก็ได้แจ้งความประสงค์ต่อเขาที่จะให้กลับมาช่วยงานที่แบงก์ เขาจึงเปลี่ยนสายเข้าเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจอีกใบหนึ่ง เพื่อแสดงเจตนาสนองความต้องการของผู้เป็นพ่อเช่นลูกที่ดีควรจะเป็น

วิทยานนิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกันการค้าเงินตราต่างประเทศนั้นเท่ากับได้ตอกย้ำอีกครั้งถึงเจตนาของเขาที่มีต่อผู้เป็นพ่อ

มีการพูดกันทีเล่นทีจริงในหมู่เพื่อน ๆ ของชาติศิริว่าตอนที่โทนี่เรียนอยู่เมืองนอพ่อของเขาเคยท้าให้เพื่อนคนใดก็ได้พาลูกชายของเขาไปเที่ยวคลับเที่ยวบาร์บ้าง เขาจะตกรางวัลอย่างงาม แต่จนกระทั่งเรียนจบก็ยังไม่มีเพื่อนคนไหนพาชาติศิริไปเที่ยวตามคำท้านั้นได้สักคน

เมื่อต้องกลับมาช่วยงานผู้เป็นพ่อที่ธนาคารกรุงเทพ เขาได้ปฏิบัติตัวเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานทุกคน ไม่ใช่เพราะเขาเป็นลูกเจ้านายใหญ่จึงน่ารักไปเสียทั้งหมด แต่เขาน่ารักด้วยตัวของเขาเอง เขาเป็นคนนอบน้อยถ่อมตน ให้เกียรติคนอื่น เขายังคงเดินไปหาด้วยตนเองเมื่อเขาต้องการปรึกษางานกับใคร ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถใช้โทรศัพท์เรียกให้มาพอได้ทุกเมื่อ

ในขณะที่ความคิดความอ่านและฝีไม้ลายมือที่แสดงออกมาในงานที่เขารับผิดชอบนั้นน่าทึ่ง เขาเป็นคนที่ก้าวหน้าเรียนรู้งานได้เร็ว และแหลมคมอยู่ในที

"ผมไม่ต้องพูดอะไรมาก โทนี่เขาจับไปทำได้เลย" ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย พี่เลี้ยงของเขาพูดถึงงานที่มอบหมายให้รับผิดชอบ

ชาติศิริ หรือ โทนี่ จะเข้ามาถึงที่ทำงานตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า ถ้าเขาอยู่ในเมืองไทย และกลับดึกเกือบทุกวันแม้วันเสาร์เขาก็ยังมานั่งทำงานอยู่ที่แบง์

"โทนี่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่าตัว ผมคิดว่าเขาคงได้รับแรงกดดันมากจากการที่พ่อของเขาเป็นนายใหญ่ที่สุดที่นี่ เพราะถ้าเขาทำงานหนักเท่ากันคนอื่นแล้วได้ดีก็เพียงเสมอตัวทั้งที่เขามีความสามารถและทำงานหนักก็ยังหนีไม่พ้นถูกกล่าวหาว่าเขาคือโสภณพนิช เขาจะต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เขาได้มานั้นได้มาเพราะความสามารถและความเป็นตัวของตัวเอง ฉะนั้นเขาจะโกรธมากถ้าใครจะแนะนำตัวเขาเพียงว่าเขาเป็นลูกชายคุณชาตรีโสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ" คนที่ใกล้ชิดชาติศิริมากคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ถ้าในช่วงที่เขาไม่ได้อยู่ในเมืองไทย มีคนบอกว่าไม่อยู่ก็เหมือนอยู่ เพราะว่าเขาจะโทรติดต่อเข้ามาเช็คงานเป็นระยะ ๆ ถ้าเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก เขาก็จะส่งแฟกซ์มาถึงแบงก์ทุกเช้า ตามงานและสั่งงานมาเป็นข้อ ๆ ละเอียดยิบ

"ถ้าชาติศิริเขาไม่ทำอย่างนั้นซิ จึงสมควรประฌามว่าเป็นลูกอกตัญญู" ผู้ใหญ่ในแบงก์คนหนึ่งกล่าวอย่างเห็นใจ

สำหรับไชย ณ ศีลวันต์ กับ อายสม์ กฤษณามระ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน

เมื่อไชยเรียนจบบริหารธุรกิจ ธนาคารเชสแมนฮัตตันซึ่งเขาเคยทำงานอยู่ด้วยในสมัยเรียนหนังสือเสนองานให้เขาทำเชสที่สาขาเมืองไทย รวมทั้งธนาคารซิตี้แบงก์ก็อยากจะได้เขามาประจำสำนักงานที่เมืองไทย แต่เขายังไม่ตัดสินใจ เพราะยังไม่รู้จักมาก่อนว่าเชสและซิตี้แบงก์เมืองไทยเป็นอย่างไร

เขามาถึงกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเพทเสนอให้เขาเข้ามาร่วมงาน แต่เขาเลือกธนาคารกรุงเทพด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือชอบ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย หลังจากได้พูดคุยกันครั้งแรกทั้งที่เงินเดือนที่เขาได้รับนั้นน้อยกว่าที่ซิตี้แบงก์เสนอมากมายนัก

ไชยได้พบกับ รศนาภรณ์ วีรวรรณ ภรรยาของเขาครั้งแรกจากรูปถ่ายในบ้านของดร.อำนวย ในโอกาสที่พ่อของไชยไปเยี่ยมดร.อำนวยแล้วเอาเขาติดไปด้วย ขณะนั้นเขาทำงานที่แบงก์แล้วประมาณสองปี เมื่อฝ่ายหญิงปิดภาคเรียนกลับมาบ้านเขาจึงได้พบกับตัวจริง และในเวลาปีเศษเขาจึงได้ตัดสินใจแต่งงานกับเธอ

"ผมชอบเขาตั้งแต่เห็นรูป ชอบสายตาอขงเขาที่ดูดี มีคุณธรรม คือดูแล้วเย็นสบาย ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เมื่อได้เห็นตัวจริงก็อย่างที่เห็นในรูปจริง ๆ ผมถามคุณพ่อก็มีความเห็นตรงกับผม" ไชยพูดถึงเหตุผลที่ได้มาตกหลุมรักลูกสาวดร.อำนวยคนนั้น

ไชยบอกว่างานประจำไม่หนัก แต่จะเป็นงานด่วน ๆ บ่อย ๆ เพราะเขาต้องรับงานโดยตรงจากดร.วิชิต และชาตรี โดยเฉพาะงานในสายวาณิชธนกิจที่ตั้งเป้ารายได้ปี 2532 ไว้ 100 ล้าน เขาบอกว่าทำได้ทะลุเป้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ไชยบอกว่าทำงานกับดร.วิชิตแล้วสนุก ทำงานด้วยความคิดที่ตรงกัน เขาไม่ผิดหวัง และยอมรับว่าสิ่งที่เขาทุ่มเทลงไปก็เพราะเขาอยากได้ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของเขาที่ทำด้วย

มีคนบอกว่าเขานั้นทุ่มเทให้แบงก์มากเกินไป ไชยบอกว่าระหว่างความเสียหายที่อาจเกิดกับเขา แต่เพื่อแบงก์เขาจะเลือกเอาผลประโยชน์เข้าแบงก์

"จะว่าผมโตเร็ว ผมก็ยอมรับว่าเร็ว เพราะผมทำงานก็อยากจะก้าวหน้าในชีวิต ผมจึงทุ่มเทกับมันอย่างเต็มความสามารถแต่ถ้าบอกว่าผมได้ดีเพราะเป็นลูกเขยประธานกรรมการบริหารแบงก์นั้นไม่จริง เพราะบางโอกาสผมควรจะได้แต่ก็ไม่ได้ผมจึงกลับมีความรู้สึกว่าการที่ผมเป็นลูกเขยท่านยิ่งให้ผมพลาดโอกาสไป" ไชยพูดถึงความรู้สึกของเขาอย่างเปิดเผย

อายุสม์ กฤษณามระ หลังจากจบ ม.ศ. 5 จากโรงเรียนเตรียมอุดมแล้วก็ตั้งใจจะสอบเอ็นทรานซ์เข้าวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ เพราะเขามีความรู้สึกชอบสาขานี้มาก แต่ปรากฎว่าคะแนนไม่ถึงจึงตกมาได้ศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์

อายุสม์เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เพียงปีเดียวก็ขอพ่อไปเรียนสหรัฐอเมริกา จนจบวิศวเคมีสมความตั้งใจ

เขาเลือกเรียนวิศวเคมีเพราะเห็นว่าเป็นสาขาวิชาใหม่ ๆ เมื่อจบออกมาแล้วคงไม่ต้องไปแย่งงานกันทำ โดยเขามองจากการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเขาคิดว่าเรียกจบมาคงทันหางานพอดี

อายุสม์ไม่เคยคิดจะทำงานแบงก์ เพราะต้องการแหวกแนวออกไปจากคนโตตระกูลกฤษณามระที่อยู่ในแวดวงบัญชี การเงิน ธนาคารบ้าง

"การที่ผมตัดสินใจออกจากธรรมศาสตร์ก็ด้วยเหตุนี้ ถ้าขืนเรียนต่อไปก็คงหนีไม่พ้นธนาคารกรุงเทพแหง ๆ " อายุสมห์เผยถึงความพยายามหลีกเลี่ยงงานแบงก์ของเขา

อายุสม์เข้าเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจด้วยความคิดว่าถ้าเป็นวิศวกรอย่างเดียวทำงานถึงระดับหนึ่งแล้วตำแหน่งจะตัน ก็เลยต้องเรียนทางด้านบริหารด้วย เพราะสามารถเป็นวิศวกรที่ทำงานบริหารได้ด้วย

เขายอมรับว่าเมื่อเรียนบริหารธุรกิจและฝึกงานกับธนาคารแล้วทำให้ความคิดเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่คิดจะทำงานแบงก์

"พอกลับมาแล้วคุณชาตรีท่านทราบว่าผมยังไม่ได้รับงานที่ไหนไว้ท่านก็เลยชวนมาทำงานที่นี่หนีไม้พ้นแบงก์กรุงเทพ" เขาเล่าด้วยความขบขัน

ปิติ สิทธิอำนวย ซึ่งเป็นนายในสายงานพัฒนาธุรกิจที่เขาสังกัดอยู่บอกกับเขาว่าอย่าได้ท้อแท้ถ้าไม่ได้รับเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งตามที่ใจต้องการขอให้ทำงานให้มาก เรียนรู้งานให้ดี "คุณพ่อก็เคยบอกว่าอย่าน้อยใจที่ท่านไม่ค่อยได้เอาใจใส่ ซึ่งผมก็เข้าใจดี" อายุสม์กล่าว

อายุสม์ก็เหมือนพ่อของเขาที่สุภาพอ่อนโยนมีเมตตาและความเป็นกันเองกับคนทุกคน มีนิสัยเป็นคนติดงาน เขาจะต้องมาถึงแบงก์ตั้งแต่ 6 โมงเช้าเศษ ๆ กว่าจะกลับออกจากแบงก์ก็ร่วมสองสามทุ่มบางวันอาจจะเลยถึงสี่ห้าทุ่ม ถ้าไม่มีธุรกิจ เร่งด่วนไปไหน แม้วันเสาร์ก็มักจะมานั่งทำงานเหมือนกันกับชาติศิริ

"เรียกว่าผมมาเรียนรู้งานมากกว่า เพราะที่แบงก์มีงานให้เรียนมากมายเหลือเกิน" เขากล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมาทำงานตั้งแต่เช้าจนดึงหรือแม้แต่วันหยุดก็มาทำงาน

ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของเขาพูดถึงเขาอย่างเข้าใจว่าเขาเองก็คงกดดันไม่น้อยไปกว่าชาติศิริเท่าใดนักที่จะต้องทำงานให้มากกว่าคนอื่น ๆ

มันอาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับเขานัก ถ้าจะมองเพียงแต่ว่าเขาได้ดีเพราะเกิดมาเป็นลูกคนใหญ่คนโตในแบงก์ หรือถ้าจะมองอย่างนั้นก็คงช่วยไม่ได้อย่างที่มีคนเคยพูด

"คนไม่ผิด ผิดที่มีหยกอยู่ในครอบครอง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.