นโยบายการให้เอกชนเช่าท่าเรือแหลงฉบังมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
และในยุคสมัยของรัฐบาลชาติชาย ก็มีนโยบายอย่างแจ่มชัดที่จะเปิดประตูให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าเรือพาณิชย์แห่งนี้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวคัดค้านของพนักงานการท่าเรือฯ ก็มีมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันตั้งแต่ปี
2530 แต่รัฐบาลยืนกรานตลอดมาว่าจะให้เอกชนเข้าบริหารเพื่อประสิทธิภาพ จนกระทั่ง
8-9 สิงหาคม 2532 พนักงานการท่าเรือหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์สองวันรวด
ซึ่งทำให้ท่าเรือกลายเป็นอัมพาตอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายแก่การท่าเรือฯเองและผู้เกี่ยวข้องเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
หลังจากนั้นข่าวการประมูลเข้าบริหารท่าเรือยังคงดำเนินต่อไป โดยที่บริษัทเอกชน
7 รายผ่านการพิจารณาขั้นต้น ซึ่งนิคม แสนเจริญ รมช.คมนาคมจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและดูแลพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
(กพอ.) ซึ่งพงส์ สารสิน เป็นประธานพร้อมทั้งชี้แจงว่าการให้เอกชนเข้ามาร่วมนั้นเฉพาะในสีวนการเป็นผู้ปฏิบัติงานหน้าท่าโดยรัฐบาลยังเป็นผู้คุมนโยบาย
13 กันยายน 2532 สหภาพทั้ง 6 แห่งของท่าเรือหยุดงานประท้วงอีกครั้งพร้อมประกาศปักหลักสู้ร่วมกับแนวร่วมกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ซึ่งนำโดยเอกชัย
เอกหาญกมลเลขาธิการกลุ่ม ออกมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ เรื่องราวทำท่าว่าจะยืดเยื้อบานปลาย
แล้วเรื่องที่ยืดเยื้อมานานนับปีก็จบลงง่าย ๆ ด้วยการอ่อนข้อของฝ่ายรัฐบาล
จากที่ประชุมกพอ. กล่าวคือ 1) ไม่มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นบริหารท่าเรือแหลมฉบัง
2) ให้คณะกรรมการบริหารการท่าเรือดูแลรับผิดชอบกิจการท่าเรือทั้ง 3 แห่ง
3) การปฏิบัติการท่าเรือฯให้เป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการการท่าเรือฯ
เฉพาะหน้านี้การให้เอกชนเข้าบริหารเป็นอันยุติไป แต่ท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังจะเสร็จท่าแรกปลายปี
2532 จะเป็นอย่างไรภายใต้การบริหารของการท่าเรือฯ ยังเป็นที่สงสัยอยู่ เพราะลำพังการบริหารงานในท่าเรือคลองเตยซึ่งมีปัญหาแออัดมาจนปัจจุบันก็ยังแก้ไม่ตก
คำปรามาสที่ว่าให้การท่าเรือฯ เข้าบริหารท่าเรือแหลมฉบังก็จะกลายเป็น "คลองเตยแห่งที่สอง"
จะเป็นจริงหรือไม่ นับว่าท้าทายความสามารถของผู้บริหารการท่าฯ ไม่น้อย