ธนะสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ เขากับผมต้องตายกันไปข้าง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทพระนครก่อสร้างสมัย 10 ปีก่อน ยิ่งใหญ่ขนาดไหน คนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจก่อสร้างย่อมทราบดี ผลงานการก่อสร้างอาคารคณะแพทย์ศาสตร์และพยาบาลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตึกสุจิณโณและคารสำนักงานกระทรวงการคลัง ซึ่งแต่ละงานมีค่างานเกิน 200 ล้านบาททั้งนั้น ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีถึงความยิ่งใหญ่ของบริษัทแห่งนี้

พระนครก่อสร้าง เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2502 โดยพี่น้องฝาแฝดสมยศ-สมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ ตลาดงานแรก ๆ อยู่ที่โครงการก่อสร้างในกรมอาชีวศึกษา ด้วยบุคลิกที่เป็นคนอ่อนน้อม ใจนักเลงของสมศักดิ์ จึงไม่ยากเลยที่เขาจะสามารถจับหัวใจผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมฯมอบความไว้วางใจในงานก่อสร้างให้กับบริษัทของเขา

จึงไม่แปลกที่งานในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างอาคารเรียนและส่วนประกอบของวิทยาลัยครูต่าง ๆ เช่นที่ อุบลราชธานีและนครปฐม

ที่เห็นจะฮือฮามากก็ดูเหมือนจะเป็นงานก่อสร้างกระทรวงการคลังค่างาน 354 ล้านบาทเมื่อปี 2524 ที่สมศักดิ์ไปจับเส้นรมต.คลังสมัยนั้น (สมหมาย ฮุนตระกูล) ได้ถูก ประกอบกับราคาประมูลที่เสนอเข้าไปโดยวิชัย ศรีสอ้าน ผู้จัดการทั่วไปมือขวาของสมศักดิ์ขณะนั้น สามารถเอาชนะคู่แข่งได้สะดวก

"คนคิดว่าราคาที่เสนอเข้าไป 354 ล้านบาท เราคงขาดทุนแต่ความจริงไม่ เรากำไร ยกตัวอย่างลิฟต์ตอนประมูลเราคิดราคา 11 ล้านบาท แต่เวลาเซ็นสัญญาซื้อจาก SUPPLIER เราซื้อในราคา 10 ล้านบาท ไฟฟ้าตอนประมูลเปิดราคา 32 ล้านบาทเราไป SUB CONTRACT ให้คนอื่น 22 ล้านบาท" ธนะสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ ลูกชายคนเดียวของสมศักดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ธนะสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ อายุ 32 ปี จบ MBA จากบอสตันเขาเข้ามาในอาณาจักรธุรกิจครอบครัวนาสวัสดิ์เมื่อต้นปี 2526 ก่อนพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ปอดไม่นาน

เขาเป็นคนโชคร้าย พอพ่อเสียชีวิต (ปี 2526) ความเลวร้ายหลายอย่างก็ประดังเข้ามาเหมือนลูกคลื่น

บริษัทบางกอกรัษฎาและทรัสต์ แหล่งเงินสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มถูกกระทรวงการคลังควบคุม ทำให้พระนครก่อสร้าง ซึ่งมีเกียรติประวัติผลงานดีเด่นมาตลอดเกือบ 25 ปี ต้องกระเทือนอย่างช่วยไม่ได้

"ขาดสภาพคล่องในการเงิน" ธนะสิทธิ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพราะสมัยบริษัทรุ่งเรือง พ่อกับลุง (สมยศ) เอากำไรที่ได้ไปลงทุนซื้อที่ดิน แล้วเอาที่ดินที่ซื้อมาไปจดจำนองดูดเงินออกจากแบงก์มาหมุนต่อ

แบงก์ที่ว่า คือแบงก์กรุงไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่พระนครก่อสร้าง พระนครก่อสร้างเป็นลูกหนี้แบงก์ต่าง ๆ ทั้งในรูปเงินกู้และการเข้าค้ำประกันบริษัทในเครือเวลานี้ประกอบ 250 ล้านบาทแล้ว

เมื่อพ่อตาย บริษัทขาดสภาพคล่อง สมยศพี่ชายสมศักดิ์เป็นลุงของธนะสิทธิ์เวลานั้นเขาแทบไม่ได้สนใจอะไรในธุรกิจนี้เลย แถมไม่ยอมปล่อยให้หลานเข้าบริหารงานเองด้วย

"ลุงผม (สมยศ) เขามองว่าผมยังเด็กเกินไป ชั่วโมงบินน้อยและต้องการให้ผมเซ็นรับสภาพหนี้จำนวน 140 ล้านบาทที่เขาหาว่าพ่อกับแม่ผมเอาไปใช้เล่นการพนัน ซึ่งผมไม่ยอมเซ็น" ธนะสิทธิ์กล่าวถึงสาเหตุที่เขาต้องแตกหักกับลุงของเขา ดังที่เป็นข่าวใน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" เมื่อต้นเดือนที่แล้ว

ทำไมธนะสิทธิ์จึงต้องากรพระนครก่อสร้างไปทำเอง และทำไมสมยศจึงไม่ยอมให้บริษัทพระนครก่อสร้าง ก่อตั้งขึ้นมาด้วยทุน 15 ล้านบาท มีสมยศกับสมศักดิ์ถือหุ้นกันฝ่ายละ 49% ที่เหลือ 2% เป็นบุคคลภายนอกคือ น.พ.บุญสม มาร์ติน กับประดิษฐ์ หุตางกูร (เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2528) และญาติพี่น้องของธนะสิทธิ์

เมื่อสมศักดิ์ตายเมื่อปี 2526 สมยศในฐานะผู้จัดการกองมรดกก็ผ่องถ่ายหุ้นส่วนหนึ่งของฝ่ายสมศักดิ์ไปให้บุคคลภายนอกคือ น.พ.บุญสม กับประดิษฐ์ ทำให้เสียงในบอร์ดรูมของฝ่ายธนะสิทธิ์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกต่อจากพ่อมีน้อยกว่าฝ่ายสมยศ

"ผมขาดหุ้นอยู่ในมือ 206 หุ้น จึงสามารถกุมเสียงข้างมากได้ ผมได้พยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จที่จะเอาชนะเขาได้ ผมก็หาทางออกมาโดยไปคุยกับสมยศว่าให้เขาปล่อยให้ผมเถอะ ผมจะมาทำเองโดยให้เขาเป็นประธานควบคุมผมก็ได้ก็ไม่สำเร็จ เขาต้องการให้ผมไปช่วยทำในบริษัทในกลุ่มเหมือนเดิม เมื่อคุยไม่สำเร็จ ผมก็ลงทุนของเงินเดือน 50,000 สำหรับเงื่อนไขที่เขาเสนอ ก็ไม่สำเร็จอีกเพราะเขาอ้างว่ามันแพงเกินไป" ธนะสิทธิ์ระบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ว่ากันว่าธนะสิทธิ์ใช้เวลากว่า 2 ปี ที่จะขอพระนครก่อสร้างจากสมยศมาทำเองด้วยเหตุผลว่า หนึ่ง - เขารู้ดีว่าผลางานในอดีตของพระนครก่อสร้างมีค่าประเมินไม่ได้ สอง - เขาต้องการสืบทอดผลงานที่พ่อทำทิ้งไว้ตั้งเกือบ 300 ล้านบาท

แต่ความพยายามของเขาไม่สำเร็จ เมื่อสมยศบอกกับเขาว่า "ล้มเป็นล้ม" ธนะสิทธิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาเชื่อว่าเหตุที่สมยศไม่ต้องการให้เขาปั้นพระนครก่อสร้างต่อเพราะกลัวว่าเขาจะเข้าไปขุดคุ้ยทรัพย์สินที่ซุกซ่อนเอาไว้ หรือความไม่ชอบมาพากลในการบริหารทรัพย์สินของกองมรดกตอนที่สมยศเป็นผู้จัดการกองมรดกยศ-ศักดิ์ระหว่างปี 2526-30

เวลานี้ธนะสิทธิ์กำลังรอคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ในข้อหาที่เขายื่นฟ้องสมยศในสาเหตุยักยอกทรัพย์มรดกที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมสมศักดิ์-สมยศ ที่ตำบลหนองบอน พระโขนง เนื้อที่ 199 ตารางวา

ธนะสิทธิ์เปิดเกมต่อสู้กับสมยศในประเด็นทางกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2530 ทันทีที่เขาเป็นผู้จัดการกองมรดกต่อจากสมยศข้อหายักยอกทรัพย์สินกองมรดกที่เขาฟ้องสมยศ 3 คดีได้แก่ ขายที่ดินที่บางนา-ตราด บางปู 250 ไร่ ขายหุ้นเอ็มซีซีร่วมเสริมกิจ สินเอเซีย และโอนกรรมสิทธิ์เช่าที่ตึกแถวราชดำริจากสมศักดิ์เป็นสมยศโดยเขาในฐานะทายาทไม่ทราบมาก่อน "ผมต้องฟ้องเพราะเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันเข้ากระเป๋าสมยศ ไม่ได้ไปใช้หนี้ให้กับบริษัทอะไรเลย" ธนะสิทธิ์ให้เหตุผล

แต่เนื่องจากเขาขาดหลักฐานที่แจ่มชัด ทำให้ 3 คดีนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของธนะสิทธิ์

เขาแทบหมดแรง บริษัทพระนครก่อสร้างก็ไม่ได้ หนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมสร้างด้วยก็ถูกเจ้าหนี้เล่นงาน ในครอบครัวก็ขัดแย้งกับลุงคนเดียวที่มีอยู่อย่างรุนแรง จนแทบจะพูดได้ว่า ตายก้ไม่เผาผีกัน

อายุเขาเพียงแค่ 32 ปี ขณะที่สมยศ 57 ปี ทั้ง 2 คนในขณะนี้อยู่ในที่นั่งที่ถูกรุมเร้าจากแรงกกดดันหนี้สินที่ร่วมกันเซ็นค้ำประกันบริษัทในกลุ่มสมัยธุรกิจกำลังเดินอยู่ แต่ทำไมธนะสิทธิ์จึงต้องมาแบกรับแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่สมยศเขาหาทางออกให้กับตัวเองได้

"ผมเชื่อว่าเขายอมล้มละลายเพราะอายุเขามากแล้ว แต่คุณรู้ไหมตั้งแต่ปี 2528 เขาสามารถหาทุนมาตั้งบริษัทแอตแลนติกฟาร์มาซูติคอล เพื่อจำหน่ายยารักษาโรคให้กับลูกชายของเขาคือกุลวุฒิได้ โดยที่เขามีหุ้นอยู่เพียง 100 หุ้นเท่านั้นนอกนั้นเป็นของกุลวุฒิกับบุศรินทร์ ซึ่งเป็นลูกชายและลูกสาวของเขาสบาย ๆ"

ธนะสิทธิ์จะสู้กับสมยศต่อไปในเวทีของกฎหมายเพราะเขาเชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมานั่งแบบรับปัญหาเพียงลำพังต่อไป ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นโดยปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งเดินบนพรมได้อย่างสบายใจ

"สมยศกับผม ไม่ใครก็ใครต้องตายกันไปข้าง" ธนะสิทธิ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างหนักแน่นและจริงจังเหมือนกับเป็นการปิดบทสรุปของเหตุการณ์ฉากต่อสู้สงครามลุงกับหลาน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายหนในเวทีธุรกิจสังคมไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.