หนังทีวีเรื่องโปรดของ ศจ.จิตติ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

บางครั้งบางคราวในชีวิตการทำงานของคนบางคนก็อยู่ในฐานะที่หยุดไม่ได้ แม้ว่าวัยจะล่วงเลยเกณฑ์เกษียณมานานกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม และที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่การทำงานเพื่อปากท้องตัวเองหรือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่เป็นการทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ นักกฎหมายอาวุโสที่ลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมกันจัดงานวันคล้ายวันเกิดให้ที่หอประชุมธรรมศาสตร์ และที่โรงแรมดุสิตธานีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น มีอายุครบ 81 ปีแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานและหลักวิชาทางด้านกฎหมาย ทำให้ชีวิตการทำงานยังคงดำเนินต่อไปเป็นกิจวัตรประจำวันเหมือนที่ผ่านมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นั่นคือในฐานะที่ปรึกษาของลูกศิษย์ลูกหา เป็นอาจารย์ปู่ของนิสิตนักศึกษามีตำแหน่งเป็นกรรมการในหลายสังกัด และเป็นหนึ่งในคณะองคมนตรีที่เพียบพร้อมทั้งชื่อเสียง เกียรติยศและศักดิ์ศรี

"อยากหยุดทำงานเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าเขายังอยากให้ผมช่วย และผมยังทำได้ ผมก็ทำ" ศจ.จิตติกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เมื่อถูกถามว่าทำไมยังคงทำงานตลอดมาโดยไม่หยุดหย่อนเป็นเวลาร่วมครึ่งศตวรรษแล้ว

ศจ.จิตติมีวิถีชีวิตที่เคี่ยวกรำกับงานทางด้านกฎหมายมาโดยตลอดสำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2470, นิติศาสตร์มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์ปี 2485 และสำเร็จ Master of Laws (magna cum laude) จากมหาวิทยาลัย Southern Methodist University สหรัฐอเมริกา

ชีวิตการทำงานอันยาวเหยียดเริ่มด้วยการเป็นพนักงานอัยการ ที่กรมอัยการ ในปี 2471 และมีตำแหน่งสุดท้ายในกระทรวงยุติธรรมคือผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ในปี 2512 หลังจากนั้นจึงลาออกมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจนกระทั่งเกษียณอายุ 65 ปี ในตำแหน่งทางด้านอื่น เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากนั้นยังเคยเป็นประธานวุฒิสภาอีกด้วย

ด้วยวัยสูงอายุ 81 ปี หลายคนคงไม่ทราบว่าทุกวันนี้ ศจ.จิตติยังคงตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี 5 และมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนอบรมวิชาทางด้านกฎหมายให้กับนักกฎหมายให้กับนักกฎหมายรุ่นหลานและบางวันอาจารย์จิตติก็ต้องไปประชุมในที่ต่าง ๆ ตามบทบาทของคณะกรรมการและองคมนตรี

"โดยส่วนใหญ่แล้วผมก็จะมีประชุมแทนทุกวัน อย่างวันอังคารและวันศุกร์ก็จะเป็นการประชุมแทบทุกวัน อย่างวันอังคารและวันศุกร์ก็จะเป็นการประชุมของคณะองคมนตรี ซึ่งจะมีรถจากสำนักราชเลขาธิการมารับตั้งแต่เช้าเพื่อไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนพอตอนสายใกล้จะถึงเวลาประชุมประมาณ 10 โมงเช้าก็ไปประชุม" อาจารย์จิตติเล่าถึงกิจวัตรการทำงานในฐานะองคมนตรีให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เป็นเรื่องน่าแปลกที่คนระดับนี้แล้ว การกินอยู่ดูเรียบง่ายไปหมด ศจ.จิตติจะมาทานอาหารเที่ยงที่สโมสรอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประจำแทบทุกวัน ไม่ว่าจะมีประชุมที่ไหน

"ก็สะดวกดี ผมไม่ได้เลือกรับประทานอาหารอะไรมากมายนัก ทานที่นี่ทุกวันจนเคยชินแล้ว ทานพอประมาณไม่อยากจะให้เกินความต้องการของร่างกาย การทานที่เห็นแก่ปากแก่ท้องมากนักมันก็ไม่ดี" ศจ.จิตติเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเรียบง่ายสมถะในการใช้ชีวิตของนักกฎหมายอาวุโสท่านนี้ได้อย่างดี

ชีวิตการทำงานในแต่ละวันของศจ.จิตติจะหยุดพักลงในตอนเย็นประมาณ 5 โมงเย็นที่บ้านพักในซอยสีเผื่อนข้างคลองประปา ประชาชื่น บ้านที่อาจารย์กับคุณหญิงตลับ ผู้เป็นภรรยาวัย 70 กว่าปี อยู่ด้วยกันกับลูกสาวคนเล็ก พิรุณา ติงศภัทิย์อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลอด 5 วันต่อสัปดาห์ การทำงานของ ศจ.จิตติ ยังคงเป็นไปทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น สำหรับในช่วงสุดสัปดาห์ก็มักที่จะเป็นการพักอยู่กับบ้าน เว้นแต่ว่ามีช่วงจังหวะที่ว่างพอก็พาครอบครัวไปพักผ่อนต่างจังหวัดและที่แห่งเดียวที่จะไปก็คือที่วัดสวนโมกขพลาราม

"เป็นการไป พักผ่อนธรรมดาเป็นที่สงบ ๆ ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้" อาจารย์จิตติกลาวถึงรูปแบบการพักผ่อนที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

ถึงแม้ว่าการทำงานที่ดูจะหนักเกินวัยแต่ทุกเย็น ศจ.จิตติก็ใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่บ้านอย่างมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ได้ชมรายการโทรทัศน์รายการโปรดทางช่อง 9 ในช่วง 6 โมงเย็น คือ "หนูน้อยคอมพิวเตอร์" ที่ลงทุนชักชวน "ผู้จัดการ" ไปร่วมดูด้วยกันก่อนแล้วจึงค่อยมาสัมภาษณ์กันใหม่ต่อไป…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.