เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา สมาคมเจ้าของเรือไทย จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง
"การประกันภัยที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้าของเรือไทย"
โดยจัดขึ้นที่โรงแรมอิมพีเรียล จุดประสงค์หลักนั้น เพื่อชี้แจงในสาระสำคัญของตัวกรมธรรม์ที่เกี่ยวกับการประกันภัยของเจ้าของเรือ
ปัญหาความไม่ชัดเจนของการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ เป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของเจ้าของเรือในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะภาระความรับผิดชอบที่เจ้าของเรือต้องเสียเป็นค่าใช้จ่ายนั้นเป็นจำนวนเงินมหาศาล
แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถเรียกเก็บเอาจากบริษัทประกันภัยได้ตามเหตุแห่งความเสียหายก็ตาม
ดังนั้นถ้าเจ้าของเรือมีความเข้าใจในตัวกรมธรรม์แต่ละชนิดอย่างถ่องแท้ การเรียกเอาประกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้นำสัมมนาในครั้งนี้เป็นตัวแทนขององค์กรต่าง ๆ ตามกระบวนการของการประกันภัย
และกระบวนการเรียกร้องความเสียหาย เริ่มตั้งแต่ พิชัย เมฆกิตติกุล จากบริษัท
โรยัล คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้ารับประกัน รุ่งโรจน์ สัตยสัณห์กุล
จากอาคเนย์ประกันภัย MR. CHRISTOPHER TANG จาก MANLEY STEVENS SINGAPORE
บริษัทผู้ประเมินความเสียหาย (ADJSTER) ตระกูล พุ่มเสนาะ เลขาธิการสมาคมเจ้าของเรือไทย
และบรรลือ คงจันทร์ กรรมการอนุญาโตตุลาการประจำสภาหอการค้าไทย
ส่วนผู้เข้าร่วมสัมมนา นอกจากจะเป็นสมาชิกของสมาคมเจ้าของเรือไทยแล้วก็มีเจ้าของไทยอื่น
ๆ ที่สนใจเข้าร่วม และอีกส่วนหนึ่งซึ่งจะขาดเสียมิได้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
รัฐวิสาหกิจ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้มีโอกาสร่วมสัมมนา
ชี้แจงมาตรการหรือเงื่อนไขบางอย่างที่ยังคลุมเครืออยู่ หากแต่ประเด็นสำคัญนั้นจะอยู่ตรงที่ว่า
ข้อเรียกร้องจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเรือไทย บริษัทประกันภัย
หรือแม้แต่บริษัทนายหน้ารับประกัน จะถูกเสนอขึ้นเพื่อให้ผ่านหูผ่านตาเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
งานนี้ทำไมจึงได้เน้นหนักไปที่เจ้าของเรือไทย ทั้ง ๆ ที่เรือขนสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น
ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรือของชาวต่างชาติ จุดนี้…มีความแน่นอนอยู่ประการหนึ่งสำหรับประเทศเรา
คือ เรือของต่างประเทศจะไม่เข้ามาทำประกันในประเทศไทย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตลาดประกันภัยในบ้านเรายังไม่ใหญ่ถึงขนาดร้อยล้านพันล้านเหมือนอย่างในต่างประเทศ
โดยเฉพาะมูลค่าเรือลำหนึ่ง ๆ นั้นตกหลายร้อยล้านบาท ถึงแม้ว่าระบบการประกันต่อซึ่งมีใช้อยู่ทั่วดลกจะสามารถลดภาระความรับผิดชอบแต่โดยลำพังได้
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตลาดประกันภัยจะบูมเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยแล้วคงไม่คาดหวังกันถึงขนาดนั้น
ดังนั้น กลุ่มเจ้าของเรือที่จะเป็นลูกค้าของตลาดประกันภัยจึงเน้นเฉพาะเจ้าของเรือไทย
สำหรับในกรณีประกันตัวเรือซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ๆ นั้น ย่อมต้องมีเบี้ยประกันในสัดส่วนที่สูงเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ถ้าสามารถดึงลูกค้าภายในประเทศไว้ได้ทั้งหมด เงินจากค่าเบี้ยประกันจำนวนหลาย
ๆ ล้านก็จะหมุนอยู่ในระบบประกันภัยภายในประเทศไทย การขอร้องให้ผู้ใช้ประกันได้ใช้บริการภายในประเทศ
จึงเป็นข้อเรียกร้องอันหนึ่งของบริษัทประกันภัย
ข้อดีสำหรับผู้ใช้ประกันภายในประเทศที่เห็นกันอย่างชัดเจน คือ เรื่องของความสะดวกในการให้และรับบริการ
เพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ในประเทศเดียวกัน
เหตุผลที่ว่าเงินตราจะไหลออกนอกประเทศในกรณีที่ทำประกันในต่างประเทศนั้น
เป็นเหตุผลที่ค่อนข้างจะมีน้ำหนักบางมาก ไม่ว่าบริษัทประกันภัย หรือเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดมาตรการ
หรือใครก็ตามที่จะให้เหตุผลเช่นนั้น
เพราะในแง่เทคนิค ระบบการประกันต่อเป็นเทคนิคที่บริษัทประกันภัยทั่ว ๆ ไปจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว
เมื่อของที่จะเอาประกันนั้นมีมูลค่าสูง เพราะฉะนั้นเรื่องที่เงินตราในส่วนนี้จะต้องไหลออกไปนอกประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ความจริงในปัจจุบันนี้ เจ้าของเรือไทยเกือบทั้งหมดก็ทำประกันไว้ในประเทศ
ส่วนน้อยที่จะไปทำประกันกับต่างประเทศโดยตรง แต่ส่วนน้อยนี้เองที่จะเป็นลูกค้าตัวหลักของตลาดประกันภัยภายในประเทศ
เพราะเป็นบริษัทเรือใหญ่ ๆ ที่วิ่งเส้นทางระหว่างประเทศ เช่น บริษัท ยูไนเต็ดชิปปิ้ง
จำกัด บริษัท ไทยพาณิชยนาวี จำกัด ไม่เหมือนกับเจ้าของเรือไทยเกือบทั้งหมดที่ว่า
ซึ่งจะมีเฉพาะเรือที่วิ่งตามชายฝั่งเท่านั้น มูลค่าที่แตกต่างกันของเรือ
จึงเป็นตัวชี้ชัดให้เห็นถึงความแตกต่างของของที่จะเอาประกัน ตลอดไปจนถึงเบี้ยประกันที่จะได้รับเข้ามาสู่ระบบ
พิชิต เมฆกิตติกุล จากบริษัท โรยัล คอนซัลแทนท์หนึ่งในผู้นำสัมมนาก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนในเรื่องนี้
พร้อมกับกล่าวถึงปัญหฟาที่เกิดขึ้นกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่นำมาติดตั้งอย่างถาวรในประเทศไทย ก็มักจะทำประกันไว้ในต่างประเทศเรียบร้อยแล้วตลาดประกันภัยภายในประเทศไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองลูกค้าประเภทนี้ได้เลย
และในสภาพปัจจุบันมูลค่าของตลาดประกันภัยในส่วนนี้มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้นข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งซึ่งไม่สามารถแสดงออกมาได้ชัดเจนนักคือ
การออกมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีทรัพย์สินอยู่ภายในประเทศต้องทำประกันภัยในประเทศเท่านั้น
วิธีการนี้อาจจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนระบบการประกันภัยภายในประเทศไทย
แต่ถึงอย่างไร นั่นก็เป็นทัศนะของบริษัทปะกันภัยเท่านั้น แต่เมื่อย้อนกลับไปถามบริษัทเรือถึงมาตรการที่จะต้องถูกบังคับอย่างนั้นแน่นอน
ความไม่พอใจย่อมต้องเกิดขึ้นในเมื่อมีความสามารถในการทำประกันโดยจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่าตลาดในประเทศได้ภาษีเบี้ยประกันที่จะต้องจ่ายประมาณ
3-4% ก็ไม่ต้องเสียและยังไม่ต้องเสี่ยงกับการจ่ายหรือไม่จ่ายของบริษัทประกันภัยภายในประเทศอีกด้วย
เรื่องนี้เป็นเรื่องของความคลางแคลงใจจากอดีตของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้เอาประกันและฝ่ายผู้รับประกัน
อย่างน้อยบริษัทประกันภัยก็ยังคงหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่รู้ว่าเจ้าของเรือจะแกล้งเอาเรือไปจมอีกเมื่อไหร่
แล้วสภาพของเรือไทยทุกวันนี้เฉลี่ยแล้วก็มีอายุเกิน 20 ปีทั้งนั้น สภาพเก่าทรุดโทรมเช่นนั้น
จะไม่ให้เรียกเก็บเบี้ยประกันแพง ๆ ดูจะเสี่ยงมากมายเกินไปหน่อย
ว่าไปแล้วกลุ่มผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันไทยและบริษัทเจ้าของเรือก็ล้วนแต่มีจุดอ่อนของตัวเองทั้งสิ้น
และเรื่องที่บริษัทประกันเรียกร้องก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ที่ยังแก้ไขไปไม่ได้ก็เพราะเมื่อช่วยหรือสนับสนุนฝ่ายบริษัทเจ้าของเรือไทย
บริษัทประกันก็จะเสียประโยชน์ หรือตงข้ามถ้าจะช่วยบริษัทประกัน บริษัทเจ้าของเรือไทยก็จะเสียประโยชน์ในแง่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันแพงกว่าตลาด
ก็ต้องพูดจากันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ