ถึงคราวแบงก์กรุงไทย ต้องขายของเก่ากิน


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ประมาณการกำไรขาดทุนประจำปี 2532 ที่ธนาคารกรุงไทยเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการนำหุ้นเข้าไปขายให้แก่ประชาชนทั่วไปซื้อในราคาหุ้นละ 120 บาทนั้นคาดกันว่าสิ้นงวดบัญชีนี้จะมีกำไรประมาณ 308 ล้านบาท แต่วันนี้ดูเหมือนราคาหุ้นกรุงไทยที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ สูงสุดเพียง 116-117 ล้านบาท ผู้ที่ซื้อไว้ก่อนหน้าเข้าตลาดก็ขาดทุนไปทันที 3-4 บาทต่อหุ้น

ความเชื่อมั่นตามประมาณการที่ธนาคารเสนอนั้นดูจะไม่มีเอาเสียเลย แม้ตัวเลขสินเชื่อจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขการเร่งรัดหนี้ที่คั่งค้างมานาน ซึ่งคาดว่าจะตามมาให้ได้ถึง 3,000 ล้านบาท ดูจะน้อยลงไปทุกทีเมื่อเวลาสิ้นงวดบัญชีคืบคลานเข้ามาทุกขณะ

โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่อย่าง สุระ จันทร์ศรีชวาลา สว่าง เลาหทัย และพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ แม้ข่าวของธนาคารเองจะระบุว่า เร่งรัดมาได้แล้ว 500 กว่าล้านบาทนั้นก็ยังนับไม่ถึงครึ่งของที่ตั้งเป้าไว้

รายการเชือดเนื้อเถือหนังจึงเริ่มต้นขึ้น

คณะกรรมการธนาคารมีมติให้ธนาคารขายคลังสินค้าของธนาคารออกไป 3 แห่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 แห่ง คือ คลังสินค้าสำเหร่ คลังสินค้าวัดพระยาไกร และคลังสินค้าบางปะกง ด้วยวิธีประกวดราคา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการเผยแพร่ข่าวออกมาให้กว้างขวาง เพื่อให้คนที่สนใจเข้าแข่งขันกันประมูลจำนวนมาก ๆ อย่างที่คนอื่นเขาทำกัน

แอบทำกันอย่างเงียบ ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อขายคลังสินค้าทั้ง 3 แห่งแล้ว ธนาคารจะมีรายได้เป็นเงินสด ๆ เข้ามาไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เพราะคลังสินค้าแต่ละแห่งล้วนแต่ตั้งในทำเลทองกันทั้งนั้น

คลังสินค้าสำเหร่ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่กว่า 14 ไร่ ธนาคารกรุงไทยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ 440 ล้านบาท คลังสินค้าวัดพระยาไกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน เนื้อที่รวมกัน 3 ไร่ครึ่ง กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ 90 ล้านบาท และคลังสินค้าบางปะกงที่บางปะกงเนื้อที่รวมกัน 10 ไร่เศษ ตั้งราคาขั้นต่ำไว้ 18 ล้านบาท โดยกำหนดยื่นซองและเปิดซองประมูลกันในวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

คลังสินค้าริมฝั่งเจ้าพระยาทั้งสองแห่งนั้น เดิมทีเป็นโรงแป้งมันของ สุริยน ไรวา เจ้าของธนาคารเกษตรก่อนที่จะถูกยึดและมารวมเป็นธนาคากรุงไทยในปัจจุบัน

คลังสินค้าที่เคยเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของสุริยนได้ถูกยึดมาด้วย เมื่อธนาคารเกษตรถูกสั่งให้รวมกับธนาคารมณฑล เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทยก็เลยได้รับมรดกตกทอดของเก่าสองชิ้นนี้มาด้วยเป็นช่วง ๆ

คลังสินค้าเหล่านี้ถูกปล่อยไว้นานจนทรุดโทรม ไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าใดนัก

"คลังสินค้าของธนาคารก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของงานสินเชื่อธนาคาร โดยเฉพาะการปล่อยกู้โดยการรับจำนำสินค้า นอกจากจะให้ความสะดวกทั้งฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้ว ธนาคารเองก็ยังมีรายได้โดยตรงจากธุรกิจคลังสินค้าอีกต่างหาก ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกมาก ความต้องการด้านคลังสินค้าก็มีสูงตามไปด้วย เช่น ลูกค้ารายย่อย ๆ ที่ไม่มีกำลังพอที่จะสร้างคลังสินค้าของตัวเองขึ้นมา" คนในวงการค้าให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

อุปมาคลังสินค้าก็เหมือนแขนเหมือนขาของธนาคารนั่นเอง !

ในขณะที่ประยูร ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งรับนโยบายนี้มาจากคณะกรรมการธนาคารบอกว่า ปัจจุบันธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องมีคลังสินค้าของตนเองมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มักจะมีคลังสินค้าของตนเอง สำหรับลูกค้ารายย่อยก็มีคลังสินค้าที่รับบริการอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และการรับจำนำสินค้าก็ไม่จำเป็นต้องเอาสินค้ามาไว้ที่คลังสินค้าของธนาคาร

"หรือถ้าจำเป็นต้องใช้คลังสินค้าของแบงก์จริง ๆ ของเราเองก็ยังเหลือคลังสินค้าอีกตั้งสองแห่งเพียงพอที่จะใช้อยู่แล้ว" ประยูรกล่าว

มนัส รัตนรุกข์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดประมูล บอกว่า เหตุที่ขายคลังสินค้าครั้งนี้ เพราะขณะนี้ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และบางแห่งก็ทรุดโทรมมาก รายได้ที่ได้ไม่คุ้มกับค่าภาษี และค่าบำรุงรักษา ซึ่งเงินที่ได้จากการขายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้มากกว่าและถ้าลูกค้าต้องการเช่าคลังสินค้า เพื่อนำสินค้ามาจำนำเพื่อกู้เงินหรือทำแพ็คกิ้งเครดิต ธนาคารก็ยังมีคลังสินค้าที่ราษฎร์บูรณะให้เช่าอยู่

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป้าหมายหลักในการขายของเก่าของธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ก็คือ รายได้ 550 ล้านบาทนั้น

แต่น่าเสียดายที่แม้แต่การขายของเก่ากินก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะข่าวการประมูลไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างเท่าที่ควรจะเป็น ในวันเปิดซองแม้ "ผู้จัดการ" จะไม่ได้รับการยืนยันว่า มีใครบ้างที่เข้ายื่นซองแข่งด้วย แต่แหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า มีกันไม่ถึง 10 ราย

ต่างกับการประมูลขายที่ดินของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แบงก์ และของกลุ่มศรีวิกรม์เมื่อกลางปีชนิดที่เรียกว่า หน้ามือกับหลังมือ

รายงานล่าสุดทราบเพียงแต่ว่าคลังสินค้าวัดพระยาไกรนั้น คนที่ได้ไปคือ บริษัทผาแดง อินดัสตรี้ เป็นผู้ประมูลชนะไปในราคาที่เสนอสูงสุด 112 ล้านบาท จากที่ธนาคารกรุงไทยตั้งราคาขั้นต่ำไว้เพียง 90 ล้านบาท

ส่วนคลังสินค้าบางปะกง แหล่งข่าวในธนาคารกรุงไทยบอกว่า คนที่เสนอราคาสูงสุด คือ บริษัทเพลา แต่ยังไม่เปิดเผยว่า ราคาที่เสนอนั้นเท่าใด ซึ่งอาจจะมีการประมูลใหม่อีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับคลังสินค้าสำเหร่ ซึ่งไม่มีใครเสนอราคามาแข่งขัน อาจจะเป็นเพราะว่า ราคาที่ตั้งไว้สูงเกินกว่าคนเพียงไม่กี่รายจะมาประมูลแข่งกันได้

ความหวังที่จะได้เงินสด ๆ เข้ามาปิดบัญชีอีก 500 ล้านบาท ก็คงต้องยืดออกไปอีกระยะ "ถ้าอยากได้ราคาดี ๆ ก็น่าจะเปิดประมูลในวงกว้างให้มากกว่านี้" แหล่งข่าวที่เป็นคนในกรุงไทยเองให้ความเห็นก่อนที่จะกล่าวเสริมว่า การแอบทำกันเงียบ ๆ แม้จะเจตนาบริสุทธิ์ และระแวดระวังมากเกินไปก็ไม่วายคลายความสงสัยของคนที่แอบรู้มาไม่ได้

และที่สำคัญราคาหุ้นวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะขึ้นถึง 120 บาทเท่าทุนที่ถูกยัดเยียดให้ซื้อมาจากโบรกเกอร์ที่อันเดอร์ไรท์เลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.