"สุนทร อรุณานนท์ชัย ช่างไม่สุนทรีเสียเลย!"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะนึกว่านักบริหารการเงินมือเซียนอย่างสุนทร อรุณานนท์ชัยจะต้องมาตกม้าตายในชั่วเวลาเพียง 10 เดือนที่เข้ามาทำงานในธนาคารมหานคร

ก่อนที่จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารแห่งนี้ สุนทรอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย ธนาคารมหานคร ก่อนที่สุนทรจะเข้าไปนั้นประสบกับความสูญเสียถึง 4,000 ล้านบาทจากฝีมือการบริหารของคำรณ เตชะไพบูลย์ เป็นความเสียหายจากการค้าเงินตราราว 1,000 ล้านบาทและอีก 3,000 ล้านเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียง 600 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องส่งคนเข้าไปดูแลและแก้ปัญหาด้วยสูตรยอดนิยมคือ ลดทุนแล้วเพิ่มทุนใหม่ ธนาคารมหานครลดทุนจาก 1,500 ล้านบาทเหลือ 68 ล้านแล้วเพิ่มทุนใหม่อีก 2,000 ล้านบาท โดยขายหุ้น 1.5 พันล้านบาท ยังเหลืออีก 500 ล้านบาทที่จะต้องขายให้ได้ก่อนวันที่ ในเดือนมิถุนายน 2530 ตามเงื่อนไขการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์ชาติ

สุนทรรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารมหานครเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2529 นอกจากการปรับปรุงโครงสร้างระบบการทำงานและการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาระเร่งด่วนคือ การขายหุ้น 500 ล้านบาท เดือนมีนาคม 2530 ธนาคารมหานครได้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซียเป็นผู้รับประกันการขายหุ้นร่วมกับบริษัทอื่นอีก 9 บริษัท จำนวนหุ้น 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.5 บาท ค่าตอบแทน 4% ด้วยความไม่มั่นใจว่าจะขายได้ทั้งหมดจึงมีการตกลงว่า สินเอเซียรับไปขาย 50 ล้านหุ้น ถ้าขายไม่หมดต้องซื้อเอง ที่เหลืออีก 50 ล้านผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 กลุ่มคือกลุ่มเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง, สมาน โอภาสวงศ์ และเจริญ ศรีสมบูรณ์นานนท์ จะรับผิดชอบเองในส่วนนี้ได้ให้พนักงานธนาคารช่วยขายโดยจ่ายคอมมิชชั่นให้ การขายเป็นไปตามแผนสามารถขายได้หมด แต่แล้วก็มีการโวยวายจากพนักงานค่าคอมมิชชั่นให้ การขายให้เป็นไปตามแผนสามารถขายได้หมด แต่แล้วก็มีการโวยวายจากพนักงานว่าค่าคอมมิชชั่นที่ได้แค่ 2% เท่านั้นไม่ใช่ 4% แต่กลับต้องเสียภาษีที่คำนวณจากรายได้ 4% คิดออกมาแล้วค่าภาษีมากกว่าค่าคอมมิชชั่นที่ได้ มาโนช กาญจนฉายา ประธานกรรมการบริหารจึงทำการสอบสวน สุนทรชี้แจงว่า ค่าคอมมิชชั่น 4% สำหรับหุ้น 50 ล้านหุ้นที่ผู้ถือหุ้น 3 รายรับมานั้น มีการตกลงกันว่า 2% เป็นของพนักงานที่ขายได้ อีก 2% ประมาณ 6 ล้านบาทเป็นของผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย แต่มาโนชและกรรมการอีกหลายคนบอกว่าไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาก่อน การทำเช่นนี้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากธนาคารที่ตัวเองเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ แถมยังมีข่าวว่า สุนทรได้รับค่าตอบแทนจากเรื่องนี้ด้วย มีลักษณะเป็นการรับสินบน แต่สุนทรปฏิเสธและบอกว่าเป็นเจตนาที่ดีที่ต้องการให้หุ้นแบงก์ขายได้ ในสายตาของแบงก์ชาติแล้วสุนทรเคลียร์ตัวเองไม่ได้ในเรื่องนี้ แม้จะเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยแต่ถือว่าผิดจรรยาบรรณ

สุนทรจึงต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2530

ไม่น่าเชื่อว่ามืออาชีพที่มีประสบการณ์เกือบ 20 ปี อย่างสุนทรต้องมาพังเพราะเรื่องแค่นี้ แต่ก็มีเสียงบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะสุนทรไม่ได้พังเพราะเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นแค่จุดปะทุ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.