|
รับสร้างบ้านปีหน้าโตสวนกระแสขยับแชร์กินรวบผู้รับเหมารายย่อย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดบ้านสร้างเองปีหน้าหดตัวต่อเนื่อง สมาคมรับสร้างบ้านฯ อาศัยวิกฤตเป็นโอกาส ใช้ชื่อเสียง-มาตรฐานเดินหน้ากินรวบแชร์รับเหมารายย่อย คาดเซกเมนต์ต่ำกว่า 2 ล้าน และ 5-10 ล้านหดตัว หลังกำลังซื้อลดลง จี้ภาครัฐผลักดันธุรกิจก่อสร้างเป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจ
สิ่งที่ธุรกิจรับสร้างบ้านต้องเผชิญในปีหน้าดูเหมือนไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ มากนัก นั่นคือ ปัจจัยลบของตลาดรวม ที่กำลังซื้ออยู่ในภาวะหดตัวอย่างรุนแรง หลังจากที่ส่งสัญญาณให้เห็นมาตั้งแต่ปีนี้ แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าของตลาดรับสร้างบ้าน คือ เป้าการขยับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 20% หรือ 10,500 ล้านบาท จากเดิม 18% หรือ 9,800 ล้านบาท ในขณะที่ภาวะตลาดบ้านสร้างเองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีหน้า สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคาดว่า จากกำลังซื้อที่ลดลง ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค และชะลอการตัดสินใจสร้างบ้าน จะทำให้มูลค่าตลาดจะหดตัวลงอีก 5% เหลือ 52,415 ล้านบาท จากเดิม 54,590 ล้านบาทในปีนี้
อย่างไรก็ตามโอกาสของธุรกิจรับสร้างบ้านที่จะเติบโตท่ามกลางวิกฤตถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะในช่วงวิกฤต ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทถือเป็นคีย์สำคัญในการตัดสินใจสร้างบ้านของผู้บริโภค ผู้รับเหมารายย่อยที่ไม่ปรับตัวจะเสียเปรียบกว่าบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีการพัฒนามาตรฐาน มีผลงานในอดีตการันตี และมีฐานะทางการเงินมั่นคง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะไม่มีการทิ้งงาน
เป้าหมายของธุรกิจรับสร้างบ้านที่ต้องการเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ สวนทางกับภาวะตลาดที่อยู่ในช่วงที่หดตัว ย่อมหมายความว่า จะต้องเข้าไปแย่งมาร์เก็ตแชร์จากผู้รับเหมารายย่อยมากขึ้น ทำให้แผนต่อจากนี้ของสมาคมฯ จะเน้นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งจะมีการออกบูธตามงานอีเวนท์มากขึ้น ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การจัดงาน Home Builder Focus เฉพาะสมาชิกสามัญของสมาคมฯ ช่วงเดือน ก.พ. 52 ที่เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว 2.การเปิดบูธในงานสถาปนิก’52 พื้นที่ 1,000 ตร.ม. ช่วงเดือน พ.ค. 52 ซึ่งงานนี้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างกว่าเดิม 3.การจัดงานรับสร้างบ้าน 2009 ในเดือน ส.ค. 2552 ซึ่งการจัดงานของสมาคมฯ ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี มียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี โดยงานรับสร้างบ้าน 2008 ล่าสุด เมื่อเดือน ส.ค. มียอดขายภายในงาน 1,500 ล้านบาท
พันธุ์เทพ ทานชิติกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า นโยบายในปีหน้าของสมาคมจะมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่ม โดยจะมีโครงการพัฒนาแรงงานช่างฝีมือด้านการก่อสร้างเพิ่ม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีแรงงานเข้าสู่ตลาด หลังจากแรงงานด้านนี้เริ่มขาดแคลน เนื่องจากคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง
ปราโมทย์ ธีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์พัฒนา จำกัด กล่าวว่า ตลาดรับสร้างบ้านในปีหน้าที่จะหดตัว คือ ระดับ 5-10 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการสร้างบ้านหลังที่ 2 หรือลูกค้าเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว คนกลุ่มนี้จะชะลอการตัดสินใจออกไป ส่วนกลุ่มบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้เงินสดเป็นหลัก และในช่วงนี้ที่ราคาวัสดุก่อสร้างปรับลดลง จะเป็นปัจจัยเสริมช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้ามากขึ้น ในขณะที่กลุ่มบ้านต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ ยอดขายจะหดตัวน้อยกว่ากลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ
ในขณะที่ศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ซีคอน จำกัด และบริษัท คอมแพคโฮม จำกัด เห็นว่า เซกเมนต์ที่จะหดตัวในปีหน้า คือ กลุ่มบ้านราคา 1-2.5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ในขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดในปีนี้หดตัวลงไปมาก เห็นได้จากมียอดขายต่อเนื่องหลังปิดงานอีเวนท์ลดลง หรือติดตามได้ยากขึ้น เนื่องจากลูกค้ายังไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี บริษัทฯ ต้องอัดโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อให้ได้ยอดขายตามเป้า และในปีหน้าสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายจนเป็นบวกต่อตลาด บริษัทฯ จะคงเป้ารายได้ของทั้ง 2 บริษัทไว้ 1,100 ล้านบาทเท่ากับปีนี้ ส่วนคอมแพค โฮม จะมีการปรับแบบบ้านให้ลงตัว เพื่อคุมราคาของแบบต่ำสุดให้เริ่มต้นไม่เกิน 800,000 บาท
ส่วนโฟร์พัฒนาในปีหน้าจะคงเป้ารายได้ไว้ที่ 505 ล้านบาทเท่ากับปีนี้เช่นกัน โดยบริษัทจะปรับมาทำตลาดดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการออกแบบตกแต่งภายในของบริษัทเพิ่มขึ้น จากเดิมมีเพียง 40% เพื่อสร้างรายได้ทดแทนยอดขายที่หดตัวลง กระตุ้นให้ลูกค้าทำสัญญาจ้างสร้างบ้านพร้อมตกแต่งภายใน และจัดสวนพร้อมกันเป็นแพคเกจ ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาก่อสร้างลงได้ 3-4 เดือน เพราะมีการออกแบบไว้เบ็ดเสร็จตั้งแต่แรก จากเดิมบางรายมีการเซ็นสัญญาเพื่อสร้างบ้านเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้จะเปิดรับงานก่อสร้างบ้านตามแบบที่ลูกค้าออกแบบไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสริมรายได้ของบริษัท
พันธุ์เทพกล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศทั้งหมด ทั้งการจ้างงาน และการผลิตวัสดุก่อสร้าง หากรัฐบาลให้ความสำคัญก็จะสามารถเป็นฟันเฟืองในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการบริโภค มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|