แฉเบื้องลึกค่าโง่โฮปเวลล์ ร.ฟ.ท. ดิ้นสู้หวั่นซ้ำรอยทางด่วน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

*เปิดเบื้องหลังสัญญาอัปยศ ร.ฟ.ท.-โฮปเวลล์ เมื่อ 16 ปีก่อน
*ต้นเหตุเกิดอนุสาวรีย์ตอม่อย่านวิภาวดี ประจานรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณยันรัฐบาลชวน หลีกภัย
*ใครผิด-ใครถูก รอศาลปกครองชี้ชะตา

กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง และเงินค่าตอบแทน รวมทั้งเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน เป็นจำนวนกว่า 11,800 ล้านบาท ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังถูก ร.ฟ.ท.บอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครหรือโครงการโฮปเวลล์ในปี 2541 ซึ่งปัญหาดังกล่าวคล้ายคลึงกับค่าโง่ทางด่วนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเกือบจะต้องเสียให้กับเอกชนเมื่อหลายปีก่อน

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งหาหลักฐานมาพิสูจน์ตามข้อกฎหมายว่าใครเป็นผู้ผิดสัญญา เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว ทั้งกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. อาจจะกลายเป็นหน่วยงานภาครัฐรายล่าสุดที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการเสียค่าโง่ให้กับเอกชนอีกครั้ง

เตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

ยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้รายงานให้บอร์ดรับทราบรายละเอียดในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว โดยที่ประชุมเห็นว่าควรคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว เพราะขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเสนอรายละเอียดประเด็นในการคัดค้านไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทำเรื่องอุทธรณ์คัดค้านที่ศาลปกครองต่อไป โดยต้องทำเรื่องอุทธรณ์คัดค้านภายใน 90 วัน หลังได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 51

“ข้อพิพาทดังกล่าวคงไม่กระทบกับการตัดสินใจของผู้รับเหมาในการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 ก.ม.ที่จะใช้โครงสร้างเสาตอม่อในโครงการโฮปเวลล์ เพราะเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ ร.ฟ.ท. จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการก่อสร้าง และขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่า ร.ฟ.ท. จะต้องจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้บริษัทโฮปเวลล์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายจากการที่โครงการไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเช่นกัน” ยุทธนากล่าว

ชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ประธานกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้หารือร่วมกันและเห็นว่าต้องคัดค้านคำชี้ขาดดังกล่าว โดยฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายในการคัดค้านต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ร.ฟ.ท.ไม่ควรจะต้องจ่ายเงินให้ เพราะบริษัทโฮปเวลล์ไม่สามารถบริหารโครงการได้ตามสัญญา

ทั้งนี้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระบุว่า การที่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เพราะไม่อาจบอกเลิกสัญญาตามสัญญาสัมปทานข้อ 27 ได้ เพราะระยะเวลาที่จะดำเนินการตามสัญญาสัมปทานข้อ 27 ได้ผ่านพ้นไปแล้วถึง 3 ระยะนั้น คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้คู่สัญญาอีกฝ่ายเลิกจ้างได้ตามกฎหมาย และการกระทำนั้นไม่ใช่เหตุเลิกจ้างตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเท่านั้น เหตุเลิกจ้างแม้เป็นเหตุตามกฎหมาย ถ้าคู่สัญญาทำข้อตกลงกันไว้ให้อยู่ในบังคับเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย ข้ออ้างของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้

เป็นผลให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ร่วมกันคืนเงินให้บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,800 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี แบ่งเป็น 1.ค่าตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้ ร.ฟ.ท. จำนวน 2,850 ล้านบาท นับแต่วันที่ได้รับเงินในแต่งวด 2.ค่าก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000 ล้านบาท นับแต่วันชี้ขาด และ 3. เงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน คิดถึงวันเสนอข้อพิพาท จำนวน 38.74 ล้านบาท นับแต่วันที่บริษัทได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแต่ละงวดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และให้คืนหนังสือค้ำประกันให้บริษัทด้วย

ด้านสุพจน์ ทรัพย์ล้อม กรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. กล่าวว่าการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองภายในเดือนหน้า ในกรณีคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้มูลว่า ร.ฟ.ท.จะต้องเสียค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการกว่า 11,800 ล้านบาทให้กับบริษัท โฮปเวลล์นั้น ร.ฟ.ท.จะอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่อนุญาโตตุลาการตัดสินว่าเป็นการบอกเลิกโดยปริยายเลยคืนสู่สภาพนั้น ในความเป็นจริงเป็นเพราะบริษัทโฮปเวลล์ ดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่ได้ทำไว้ในสัญญา

“เห็นได้จากระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2541 นานรวมระยะเวลา 8 ปีนั้น เห็นผลงานเพียงแค่เสาตอม่อเท่านั้น นอกจากนี้ผู้รับเหมายังวางแผนการทำงานค่อนข้างผิดพลาด เพราะไปเริ่มก่อสร้างในบริเวณสถานีหัวลำโพงและมักกะสันก่อน ทำให้เข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงอ้างว่า ร.ฟ.ท.เวนคืนที่ดินให้ล่าช้า เป็นเหตุให้หยุดการก่อสร้างและละทิ้งงานตามมา ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะระบุในคำค้านดังกล่าว โดยจะเรียกร้องค่าเสียโอกาสจากการที่โครงการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเป็นเงิน 2 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้บริษัทโฮปเวลล์ยังมีประวัติเบี้ยวเงินผู้รับเหมารายย่อยหลายราย ซึ่งสามารถกันบริษัทเหล่านั้นมาเป็นพยาน ได้ ส่วนประเด็นในข้อกฎหมายนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ อาจจะเสียรูปคดี อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.เร่งรวบรวมรายละเอียดโครงการโฮปเวลล์ทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นมา จนถึงสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญา ให้เสนอมาโดยเร็วที่สุด เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับฝ่ายกฎหมาย และหาแนวทางต่อสู้คดีต่อไป

ทั้งนี้โครงการโฮปเวลล์เป็นโครงการในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการผลักดันให้มีการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งสัญญามีผลบังคับในวันที่ 6 ธ.ค. 35 กำหนดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แต่โครงการดังกล่าวกลับยกเลิกสัญญาสัมปทานในสมัยสุเทพ เทือกสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 41 เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงานและก่อสร้างงานไม่ได้ตามแผน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศ รัฐบาล และ ร.ฟ.ท. มหาศาล เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง ถือว่าเป็นผลงานที่สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลชาติชายและรัฐบาลชวนเป็นอย่างมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.