นักคอมพิวเตอร์ช็อต ที่แบงก์กสิกรไทย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

การสร้างคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้อย่างมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ ไปซะแล้ว แต่การสร้างมนุษย์ให้ทำงานอย่างคอมพิวเตอร์นั้นอย่าพูดแต่ว่ายากเลย "เป็นไปไม่ได้" ดูจะเหมาะสมกว่าเสียด้วยซ้ำ

เพราะมนุษย์มีเลือดมีเนื้อ มีจิตวิญญาณ มีปัญญา และมนุษย์ที่เจริญแล้วนั้นย่อมมีทางเลือกได้มากกว่าที่จะนั่งเป็นคอมพิวเตอร์ให้มนุษย์ด้วยกันเองกดเอา ๆ เหมือนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

ข้อสรุปนี้ ธนาคารกสิกรไทยย่อมซาบซึ้งมากกว่าใครอื่น เพราะได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จากการที่ผู้บริหารเข้าใจว่าพนักงานจะต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และเวลาทำงานให้แก่ธนาคารชนิดที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผู้บริหารสั่งอย่างไรก็ต้องยอมรับทำให้ได้อย่างนั้น เสมือนเห็นพนักงานเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีจิตวิญญาณและขวัญกำลังใจเป็นองค์ประกอบสำคัญของมนุษย์เฉกเช่นมนุษย์ทั่ว ๆ ไปแล้วก็ต้องประสบกับการลาออกจากงานคนแล้วคนเล่า

คราวนี้เป็นที่เลื่องลือกระฉ่อนไปทั้งวงการมนุษย์คอมพิวเตอร์หรือคนที่ทำงานในแวดวงคอมพิวเตอร์ว่า เกิดคอมพิวเตอร์ช็อตที่ธนาคารกสิกรไทยอย่างช่วยไม่ได้

เมื่อวิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ กับ เสนอ ยอดพินิจ สองในสามรองผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์แบงก์กสิกรไทยต่างก็ยกทีมลาออกติด ๆ กัน

แหล่งข่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า วิลาวรรณลาออกได้ไม่นานลูกน้องที่ทำงานด้วยกันมานานปีก็แห่ลาออกตามไปอยู่กับเธอที่บริษัทสยามกลการร่วม 20 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่ฝึกปรือด้านคอมพิวเตอร์มาอย่างดีในช่วงที่เธอร่วมทำงานกับธนาคารกสิกรไทยเกือบ 15 ปี ในขณะที่ เสนอ ยอดพินิจ ได้ยื่นใบลาออกทิ้งช่วงห่างกับวิลาวรรณเพียงเดือนเศษ ไปอยู่ธนาคารแหลมทองซึ่งเสนอไปกินตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่าย

วิลาวรรณกับเสนอเริ่มงานที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์กสิกรไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ธนาคารเพิ่งจะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เฉพาะงานภายในที่จำเป็นเท่านั้น จนถึงยุคบุกเบิกและแข่งขันกันอย่างเมามันของธนาคารยุคไฮเทค ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็อยากจะเป็นธนาคารไฮเทคกับเขาด้วยเหมือนกันหลังจากธนาคารไทยพาณิชย์วิ่งรุดหน้าไปแล้วหลายขุม

ธนาคารพาณิชย์ไทยได้แข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้บริการลูกค้า ตั้งแต่การฝากถอน เงินด่วน การจ่ายเงิน ณ จุดขาย เทเลแบงกิ้ง และอีกมากมายในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา

"เรายังสนุกกับงาน และงานที่นี่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ก็เลยยังไม่คิดเรื่องแต่งงาน" วิลาวรรณ พูดกับ "ผู้จัดการ" เมื่อ 3 ปีก่อนสมัยที่เธอผลิตบริการใหม่ ๆ ออกมาบริการลูกค้าอยู่เรื่อย ๆ

เธอทำงานหนักบางครั้งก็อยู่ทำงานที่ธนาคารจนดึกดื่นเที่ยงคืนจึงได้กลับบ้าน แต่เธอบอกว่าสนุกสนานกับงาน นั่นคือในช่วงที่เธอหวานชื่นกับสถาบันที่เธอสังกัดอยู่และธนาคารกสิกรไทยกำลังอิ่มเอิบกับการแข่งขันประชาสัมพันธ์บริการใหม่อย่างคึกคัก

ส่วนเสนอนั้นค่อนข้างเป็นคนจริงจัง ช่างคิดแต่พูดน้อย สีหน้าเขาเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในผลงานของเขาที่ออกมาแต่ละครั้งอย่างเห็นได้ชัด

ช่วงที่เกิดวิกฤตข้อมูลเอทีเอ็มรั่ว ซึ่งอาจเกิดการจารกรรมทางเครื่องเอทีเอ็มได้เมื่อต้นปี 2531 เขาและเธอในฐานะที่เป็นผู้บริหารคอมพิวเตอร์ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มสยามเน็ทที่เกิดปัญหาข้อมุลเอทีเอ็มรั่วต้องอดตาหลับขับตานอนแก้ไขวิกฤตการณ์นั้น จนวิกฤตการณ์ผ่านไปด้วยความราบรื่นไม่มีใครได้รับความเสียหายเลย

"ผู้จัดการ" ยังจำใบหน้าที่อิดโรยและภาคภูมิใจระคนกันของเธอและเขาหลังจากเหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว !

"พวกเราทำงานคอมพิวเตอร์ต้องอดทนหนักแน่นและแม่นยำอย่างคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนปฏิมากรที่ต้องประดิดประดอยสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารในทุกด้าน พวกเราก็จำเป็นต้องรู้ เพื่อนำมาปรับเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ใช้ต่อไป บางครั้งทำงานกันจนดึกแต่ก็รู้สึกสนุกสนาน แต่บางครั้งก็เหนื่อยล้ามาก ผมจึงสั่งให้พักทันที ถ้าเห็นว่าลูกน้องผมกำลังเหนื่อยมาก ๆ ไม่งั้นคนจะพังก่อนเครื่องครับ" สหัส ตรีทิพยบุตร ผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์แบงก์กรุงไทย พูดถึงแง่มุมชีวิตของมนุษย์คอมพิวเตอร์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อไม่นานมานี้

ปัจจุบันการสร้างสรรค์งานคอมพิวเตอร์เพื่อบริการลูกค้าค่อนข้างลงตัวและจะค่อย ๆ หมดความสำคัญไป ฝ่ายคอมพิวเตอร์ดูจากภายนอกจึงเหมือนกับถูกลดบทบาทลงโดยปริยาย แต่ วิชิต อมรวิรัตนสกุล ผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศของธนาคารไทยพาณิชย์บอกว่า ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานภายในให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเก็บเล็กผสมน้อยจากข้อมูลที่ได้จากระบบที่บริการลูกค้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการเงิน การค้า สินเชื่อ เงินฝาก หรือแม้แต่เรื่องบุคลากร หรือที่รวมกันเรียกว่า ระบบเอ็มไอเอส. (ระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร) ซึ่งระบบพวกนี้จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ หาที่สิ้นสุดไม่ได้

"ธนาคารกสิกรไทยก็คงไม่แตกต่างไปจากธนาคารอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่นำคอมพิวเตอร์มาเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและธนาคารเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น และก็คงอยู่ในขั้นตอนเดียวกัน คือ พัฒนาระบบภายใน

จะว่าไปแล้วฝ่ายคอมพิวเตอร์ธนาคารกสิกรไทยดูเหมือนจะมีปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่การเลือกสรรคนเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย การตัดสินใจนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ผู้บริหารมีความขัดแย้งกันด้านแนวความคิดกับ ดร.ปัญญา เปรมปรีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน สมัยเมื่อยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ที่ธนาคารกสิกรไทยแล้ว ดร.ปัญญาก็อยู่ได้ไม่ถึงปีดีนักก็ลาออกมาอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย

"จุดขัดแย้งอยู่ที่ ดร.ปัญญา ต้องการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ค่อยเป็นค่อยไปแบบกระจาย แต่ผู้บริหารท่านอื่นต้องการระบบรวมศูนย์แบบทุ่มทีเดียว" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม วิลาวรรณกับเสนอยังอยู่กับกสิกรไทยมาด้วยความสนุกกับการทำงาน ครั้งหนึ่งเคยเอา บัณฑูร ล่ำซำ ลูกชายของ บัญชา ล่ำซำ มาดูแลและฝึกงานบริหารที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ และก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและจะต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าจะใช้หลักการบริหารเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่เขาและเธอนั่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายซึ่งก็คือทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนั่นเอง เพียงแต่จะตัดสินใจอะไรดูจะไม่สะดวกเหมือนผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

แล้ววันหนึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงก็เลือกเอาสมพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ จากฝ่ายจัดองค์การและระบบงานมานั่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่าย และเป็นที่รู้กันภายในว่า ให้มาดูงานระยะหนึ่งแล้วก็จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการ

"เพราะสมพันธ์เป็นลูกน้องเก่าของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้บังเอิญได้ดีอยู่ใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูง" แหล่งข่าวในธนาคารกสิกรไทยบอก "ผู้จัดการ"

สมพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ว่ากันที่จริงก็เป็นคนมีฝีมือคนหนึ่ง พอที่จะยกฐานะขึ้นเป็นฝ่ายได้ แต่ก็ไม่น่าจะมาลงที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ เพราะประการแรก สมพันธ์ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาเลย แม้จะเริ่มงานที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์มาก่อนเมื่อปี 2520 แต่ก็เป็นพนักงานธรรมดาและเวลานั้นระบบคอมพิวเตอร์ไม่ซับซ้อนเช่นปัจจุบัน ประการที่สอง วิลาวรรณกับเสนอนั้นเป็นรองผู้อำนวยการมานานร่วม ๆ 4 - 5 ปี อาวุโสและผลงานก็มากพอที่จะขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายได้

และประการสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อย่างวิลาวรรณกับเสนอนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจอย่างมาก การไม่ให้เขาและเธอขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเฉย ๆ เป็นเรื่องที่ทั้งสองทนได้ละทนมานานแล้ว แต่การที่ม่ให้เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแล้ว ยังเอาคนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์น้อยกว่าเขาและเธอมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนั้น ทำให้ทั้งสองตัดสินใจที่จะรับปากไปทำงานกับองค์กรอื่นนั้นง่ายขึ้น

"นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทยที่ไปเข้าใจว่า คนที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ไปเสียแล้ว" ผู้บริหารงานคอมพิวเตอร์ในวงการธนาคารคนหนึ่งให้ความเห็น

ต้องเหนื่อยถึงบริษัทไอบีเอ็มซึ่งเป็นคนขายเครื่องให้แก่กสิกรไทย ส่งคนเข้าไปคอยให้การช่วยเหลือจนกว่ากสิกรไทยจะหาทีมงานคนใหม่ได้ ยังดีทั้งวิลาวรรณและเสนอไม่ได้ไปอยู่กับธนาคารซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของกสิกรไทย

ไม่เช่นนั้นคงหนีไม่พ้นสภาพเดียวกันกับที่ธนาคารกรุงเทพปล่อย บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ มาอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ จนแบงก์กรุงเทพต้องจำขึ้นใจมาถึงปัจจุบันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.