"BAY"สัมพันธ์แน่นแฟ้นGE คุมเข้มสินเชื่อโยงภาพเศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"แบงก์กรุงศรีฯ" ตอกย้ำ สายสัมพันธ์กับ "กลุ่ม จีอี" ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ยังเหนียวแน่น ยืนยันไม่เปลี่ยนนโยบายลงทุน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม โฟกัสไปที่ สินเชื่อรายย่อย เป็น 2-3 เท่าของ จีดีพี เพราะพอร์ตเพิ่งเริ่มตั้งไข่ ขณะที่สินเชื่อรวมจะผูกโยงไปกับภาวะเศรษฐกิจ และการบริหารความเสี่ยง แต่ยังขยายตัวตามปกติ...

สิ่งที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังต้องคอยย้ำกับสังคมอยู่เสมอ ในช่วงที่วิกฤตการเงินโลกตะวันตก กำลังเข้าสู่ยุคมืด ก็คือ ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ กลุ่ม "จีอี" ที่ยังอยู่ในภาวะปกติ

" เดือนตุลาคมที่แล้ว ประธานของจีอี ได้ออกมาพูดแล้วว่า นโยบายลงทุนในธนาคารกรุงศรีฯ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่มีแผนปรับเปลี่ยนการลงทุน เพราะจีอี แคปปิตอล หน่วยงานด้านการให้บริการการเงินของจีอี ยังคงให้ความสำคัญกับแบงก์กรุงศรีฯ เพราะมองว่าแบงก์มีการระดมทุนได้ด้วยตัวเองผ่านเงินฝาก"

ตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) สร้างความมั่นใจด้วย เรทติ้งของ GE อยู่ในระดับ AAA ถึงแม้จะไม่ได้เปรียบเทียบกันโดยตรง แต่ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วว่า เป็นระดับเดียวกับ AIG มีธุรกิจหลากหลาย ซึ่งไม่ต่างจาก AIG เช่นกัน แต่ GE ก็รอดมาได้

" เวลาตลาดตื่นตระหนก ก็มักจะเป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดกับ GE จึงไม่ต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆคือ มูลค่าทรัพย์สินด้อยค่า เพราะตลาดหุ้นมีอาการแพนิก"

GE กรุ๊ป คาดว่าปีนี้ ผลประกอบจะมีกำไรสุทธิ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 9,000 ล้านดอลลาร์ มาจากกลุ่มธุรกิจการให้บริการด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ 9 เดือนแรกจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ยังเชื่อว่าจะทำได้

"โชคดีที่เรามีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายคือ จีอี และ ตระกูลรัตนรักษ์ ซึ่งมีธุรกิจหลากหลาย เช่น มี บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ศรีอยุธยาประกันภัย ปูนซิเมนต์นครหลวง และทีวีช่อง 7 สี"

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ ธนาคารกรุงศรีฯ ที่ด้อยค่าลงก็เพราะไม่ใช่ภาวะปรกติ เพราะผู้คนหรือ นักลงทุนวิตก กังวล ขณะที่ธนาคารได้ทำกิจกรรมดีๆมากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครมองเห็นสิ่งดีๆที่ทำ

ตัน คอง คูน มองภาพรวมทั่วโลก หลังวิกฤตการเงินโลกตะวันตกจะเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อในตลาดต่างประเทศชัดเจน ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า บริษัทจำนวนหนึ่งจะหันมาใช้สินเชื่อในประเทศ อีกด้านหนึ่ง ถ้าเศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าเป้าหมาย ธนาคารก็จะลดเป้าหมายลงตามไปด้วย

โดยเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ได้มีการสรุปว่า การขยายตัวของธุรกิจและกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีฯจะไม่ต่างจากเดิม การปล่อยสินเชื่อจะ ขยายตัวอิงไปกับเศรษฐกิจประเทศ

ตัน คอง คูน คาดคะเนว่า สินเชื่อใน 3 กลุ่มหลัก สินเชื่อรายย่อยที่เพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน จะมีอัตราการเติบโตสูงกว่าสินเชื่อ องค์กรและเอสเอ็มอี คาดว่าจะเติบโต 2-3 เท่าของ จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลูกค้ารายใหญ่เติบโต 1-1.5 เท่าของจีดีพี ขณะที่ เอสเอ็มอี จะขยายตัวประมาณ 1.5-2 เท่าของจีดีพี

การขยายตัวของสินเชื่อในความหมายของตัน คอง คูน คือ ต้องผูกโยงกับภาวะเศรษฐกิจ เช่นจะชะลอแค่ไหน และนานเท่าไร ทั้งนี้ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการบริหารความเสี่ยง และบริหารสินเชื่อมากขึ้น โดยการเติบโตจะดูที่คุณภาพสินเชื่อและขบวนการติดตามสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

"ถ้าเศรษฐกิจไม่โต แบงก์ก็คงโตหลายเท่าตัวไม่ได้ การขยายสินเชื่อโดยอิงกับเศรษฐกิจจะไม่ถูกบีบว่าสินเชื่อจะโตเท่าไร แต่จะให้โตสะท้อนความเป็นจริง"

ตัน คอง คูน บอกว่า ธนาคารมีเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อ 7% แต่ก็ยอมรับว่า ในปี 2552 ภาพรวมผลกระทบจากต่างประเทศ และการเมืองจะส่งผลโดยตรงต่อ การท่องเที่ยวและภาคส่งออก แต่ก็มีจุดได้เปรียบเรื่องพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ หลังราคาน้ำมันต่ำลง รวมถึงวิทยาการทางการแพทย์ที่ไทยมีความสามารถแข่งขันได้

ขณะที่ภาคการเงิน สภาพคล่องจะตึงตัวมากขึ้น แต่ก็มีมากเพียงพอจะซัพพอร์ตการขยายตัวระบบเศรษฐกิจ หากเทียบกับเมื่อก่อน นอกจากนั้นหนี้เสียหรือ เอ็นพีแอล ย้อนไป 2-3 ปี ของธนาคารพาณิชย์ ได้แก้ไขจนลดลงมากพอควร

"ยังเชื่อว่า ธนาคารไทยยังแข็งแกร่ง ทางการเงินมากกว่าที่หลายคนคาดคิด ให้ดูที่ดัชนีตัวหนึ่งคือ อัตราการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS เฉลี่ยทั้งระบบสูงถึง 14-15% ขณะที่กฎเกณฑ์แบงก์ชาติอยู่ที่ 8.5% โดยแบงก์กรุงศรีฯสิ้น กันยายนอยู่ที่ 18%"

ตัน คอง คูน กล่าวถึง กลยุทธ์ แบงก์กรุงศรีฯ ว่า การแข่งขันตัดราคาคงไม่ใช่กลยุทธ์ แต่จะมีการออกสินค้าใหม่ๆ ขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น และเปิดศูนย์ เอสเอ็มอีในต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 17 แห่ง

" การให้บริการลูกค้าเอสเอ็มอีและรายใหญ่ จะให้คำแนะนำด้านการเงินในการวางแผนธุรกิจ นอกจากให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัย จะมีทีมวิจัยเศรษฐกิจ ทำข้อมูลซัพพอร์ต เวลาเจ้าหน้าลูกค้าสัมพันธ์ออกไปพบลูกค้า เพื่อให้ความรู้ในภาคอุตสาหกรรม"

ขณะที่ การขยายธุรกิจของแบงก์กรุงศรีฯ ยังมองไปที่การขยายตัวตามปรกติ และการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเริ่มต้นจาก การซื้อกิจการของ "GECAL" หรือ จีอี แคปปิตอล ออโตลีส ไปก่อนหน้านี้

ซึ่งการจะซื้อกิจการ ก็มี 2 ประเด็นต้องตัดสินใจคือ เหตุผลในการตัดสินใจ ว่าสอดคล้องกับธุรกิจหรือไม่ ราคาต้องดีและเหมาะสม นอกจากนั้นก็มีโอกาสเติบโตจากการซื้อกิจการหรือซื้อพอร์ต โดยต้องเตรียมพร้อมในการระดมเงินฝาก

โดยเฉพาะ การระดมเงินทุน ต้องทำเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ ในขณะที่ยังมีโอกาส...

โอกาสที่แบงก์ต่างๆจะต้องรีบฉกฉวยจังหวะ ระหว่างที่สภาพคล่องเริ่มตึงตัว และธนาคารต่างๆ เริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังมีอยู่สูงลิ่ว แม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่เป็นใจเลยก็ตาม....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.