มหันตภัยโลกการเงิน!แมงเม่าเสี่ยงซื้อหุ้นกู้เอกชน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

* หุ้นกู้เอกชนดาหน้าฉกเงินออมประชาชน
* ส่งตรงความเสี่ยงสู่ภาคบุคคล
* ชูดอกเบี้ยสูงล่อใจ
* ขณะที่ทุนใหญ่-สถาบันมีอำนาจต่อรองสูง
* เงื่อนไข-สิทธิประโยชน์เหนือกว่ารายเล็ก ๆ
* เซียนแนะเทคนิคเลือกซื้อหุ้นกู้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายใหม่...

วันนี้โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งประเภทธุรกิจและหนังสือพิมพ์ทั่วไป เราคงได้เห็นโฆษณาที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง โดยเฉพาะโฆษณาของสถาบันการเงินที่เดิมจะเน้นแจ้งโปรโมชั่นเงินฝากรูปแบบต่าง ๆ ที่ให้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติ แต่วันนี้เราได้เห็นธนาคารพาณิชย์เริ่มประกาศขายหุ้นกู้มากขึ้น ไม่เพียงสถาบันการเงินเท่านั้น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งก็ได้ลงโฆษณาขายหุ้นกู้เช่นเดียวกัน

ความน่าสนใจของโฆษณาดังกล่าวอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยที่เสนอให้กับผู้ที่สนใจ หุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์บางแห่งเสนอสูงถึง 5% ต่อปี หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ออกหุ้นกู้เสนออัตราดอกเบี้ยสูงถึง 6.5% เช่นหุ้นกู้อายุ 2 ปีของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) เมื่อนำมาเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาพาณิชย์ที่ 2-3% ต่อปี นับว่าดึงดูดใจผู้มีเงินออมไม่น้อย และโฆษณาลักษณะนี้ก็จะออกมาอย่างต่อเนื่อง

หุ้นกู้เป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่เสนอขายกันมานาน ส่วนใหญ่การซื้อขายจำกัดเฉพาะนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากการกำหนดราคาขายขั้นต่ำในอดีตเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มของนักลงทุนประเภทสถาบันเช่น ธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันชีวิตเป็นหลัก หลังจากที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลขึ้นมา ตราสารหนี้ชนิดนี้ก็ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จักตราสารหนี้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล ส่วนตราสารหนี้ที่เป็นของเอกชนที่เรียกกันว่าหุ้นกู้นั้นการเข้าถึงเป็นไปได้ยาก แต่เริ่มรู้จักกันบ้างผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้แต่ก็อยู่ในวงจำกัด

แต่วันนี้หุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนเริ่มรุกเข้ามาสู่ประชาชนมากขึ้น มีการเสนอขายโดยตรงและวงเงินขั้นต่ำก็การซื้อก็ลดลงมามาก บางแห่งเริ่มต้นที่หลักหมื่นหรือหลักแสนก็เป็นเจ้าหนี้บริษัทเหล่านี้ได้แล้ว

นี่คือการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการเงินที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าประเภทบุคคลมากขึ้น หลังจากที่ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ประกันชีวิตและกองทุนรวมรุกตลาดลูกค้าประเภทบุคคลจนประสบความสำเร็จมากแล้ว

แม้แต่รัฐบาลก็เปลี่ยนแนวทางจากเดิมที่มุ่งขายพันธบัตรรัฐบาลให้กับนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก วันนี้ก็ได้มุ่งจับลูกค้าประเภทบุคคลเช่นกัน พันธบัตรรัฐบาลเริ่มต้นขายขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่ได้ผลตอบรับที่ดี พันธบัตรที่ดอกเบี้ยสูง ๆ ขายหมดภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น

ดังนั้นบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาศัยความได้เปรียบตรงที่มีชื่อเสียงจึงโดดเข้ามาแย่งเงินออมจากภาคประชาชนโดยตรง

หุ้นกู้ทางรอดยุคนี้

แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้กล่าวว่า การที่บริษัทเอกชนมุ่งเสนอขายหุ้นกู้ต่อประชาชนมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากเหตุผลหลายประการ เริ่มจากบริษัทเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากตลาดหุ้นที่ทรุดตัวลงพร้อมกันทั้งโลก เป็นผลมาจากวิกฤติการเงินในสหรัฐที่ลามไปยังทุกประเทศ

พวกเขาไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้เหมือนช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินไม่ว่าจะใช้เพื่อขยายกิจการหรือแก้ปัญหาสภาพคล่องภายในบริษัท ก็จำเป็นต้องหาเงินด้วยวิธีอื่น

“จริง ๆ แล้วบริษัทเหล่านี้มีทางเลือกอื่นเช่นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินก็ทำได้ แต่ปัญหาในเวลานี้ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งเข้มงวดในเรื่องการปล่อยกู้ หากร้อนเงินจริง ๆ ดอกเบี้ยที่ประกาศกันที่ 7-7.5% ก็อาจต้องมีการบวกเพิ่ม นั่นหมายถึงต้นทุนของเงินกู้ผ่านธนาคารนั้นอาจสูงถึง 8-9% เป็นอย่างต่ำ”

ทางเลือกที่เหลืออยู่คือการออกหุ้นกู้ ที่จะได้ต้นทุนของเงินต่ำกว่ากู้จากธนาคารพาณิชย์ ปกติหุ้นกู้ของบริษัทเหล่านี้มักได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่ระยะหลังมีหุ้นกู้ของบางบริษัทที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา ทำให้ตลาดหุ้นกู้เริ่มซบเซา หุ้นกู้ของบางบริษัทขายไม่หมด ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่รับประกันการจัดจำหน่ายก็ต้องแบกรับหุ้นกู้ของลูกค้ารายนั้นไปเสียเอง

ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่รวมถึงแนวโน้มในปีหน้า นักลงทุนสถาบันพยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนที่อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น หุ้นกู้จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันน้อยลง

ขายบุคคลทำง่ายกว่า

เมื่อกฎเกณฑ์การออกหุ้นกู้เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จึงลงมากวาดลูกค้าในภาคบุคคลแทนลูกค้ากลุ่มสถาบัน

“เงิน 1 หมื่น 5 หมื่นหรือ 1 แสนบาทก็ซื้อหุ้นกู้ได้แล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ต้อง 5 ล้านถึง 10 ล้านบาทขึ้นไป บรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายที่เคยเป็นผู้ซื้อหุ้นกู้ก็เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็นผู้ให้บริการแทน กินค่าธรรมเนียมจากการขายผ่านสาขา ได้เงินแน่นอน ไม่มีความเสี่ยง”

การหันมาจับลูกค้าประเภทบุคคลแทนลูกค้ากลุ่มเดิมนั้น เนื่องจากลูกค้าประเภทสถาบันจะมีการเข้าถึงข้อมูลได้ลึกกว่า และมีวงเงินในการซื้อที่มาก ทำให้มีการต่อรองกับผู้ออกหุ้นกู้ได้มาก บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจของผู้ซื้อ นั่นหมายถึงต้นทุนในการกู้ยืมย่อมต้องสูงขึ้น

เทียบกับการขายให้กับภาคบุคคลแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้อำนาจต่อรองไม่มาก การเข้าถึงข้อมูลมีน้อย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยทำเพียงแค่ให้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารระดับหนึ่ง ก็ได้รับการตอบรับที่ดี

“พูดง่าย ๆ คือขายคนทั่วไป ไม่เรื่องมากเหมือนพวกสถาบัน ไม่ซักถามอะไรมาก ดอกเบี้ยที่เสนอให้ก็ไม่ต้องสูงเหมือนกับให้พวกสถาบัน ใช้อันดับความน่าเชื่อถือที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างทริสเรทติ้งหรือฟิทช์เรทติ้งมาเป็นตัวยืนยันก็จบ”

ชิงขายก่อนพันธบัตรออก

จากนี้ไปจะมีหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนเสนอขายต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ตลาดต่างประเทศปิด นักลงทุนต่างประเทศมีกำลังซื้อลดลง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเขา หรือความกังวลในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในอนาคต

สภาพคล่องในประเทศที่ลดลงจากการถอนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจที่ต้องการเงินหมุนเวียนต้องเร่งระดมเงิน เมื่อพิจารณาถึงคู่แข่งเช่น ธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มกลับมาออกโปรโมชั่นในการระดมเงินฝากกันอีกรอบ เช่น ธนาคารกรุงเทพที่ให้ดอกเบี้ยพิเศษ 4 เดือน 3.5%

ยิ่งในช่วงปลายปีถือเป็นเทศกาลของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่ต้องกระตุ้นทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมให้ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐบาลได้เพิ่มการหักลดหย่อนภาษีเป็น 7 แสนบาทต่อกอง

รวมถึงกลุ่มประกันชีวิตที่ต้องเร่งหาลูกค้า เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีที่รัฐเปิดให้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท จากเดิมที่หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ขณะที่ยังมีรายใหญ่ที่จ่อคิวเสนอขายพันธบัตรอย่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยอีกหลายแสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างเตรียมการขาย ช่วงนี้จึงเป็นช่องว่างให้หุ้นกู้เสนอขายได้โดยไร้คู่แข่งโดยตรง

ไม่นับรวมภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงปลายปี ต้องพยายามกระตุ้นให้ประชาชนซื้อสินค้าของตน หรือกิจการบางแห่งที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปประสบปัญหาและต้องหันมาทำตลาดในประเทศแทน

ดังนั้นการแย่งชิงเงินสดจากภาคประชาชนในระยะต่อจากนี้จะดุเดือดมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการออกหุ้นกู้ต้องชิงเสนอขายหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยต้องจูงใจพอที่จะดึงความสนใจของคนมีเงินออมให้มาซื้อหุ้นกู้ของพวกเขาให้ได้

ความเสี่ยงส่งตรงถึงบุคคล

นักการเงินรายหนึ่งมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการหาทางออกให้กับบริษัทในตลาดหุ้น หลังจากที่ช่องทางในการหาเงินของบริษัทเหล่านั้นแคบลง แต่กลับเป็นการส่งความเสี่ยงมายังประชาชนทั่วไปโดยตรง

ขนาดนักลงทุนสถาบัน ที่มีข้อมูลมากกว่าคนทั่วไป มีทางออกในยามที่เกิดปัญหายังพยายามลดความเสี่ยงจากหุ้นกู้ แล้วคนทั่วไปเป็นใคร รู้จักหุ้นกู้ดีพอหรือไม่ มีทางออกได้ก่อนที่จะมีปัญหาเหมือนนักลงทุนสถาบันหรือไม่ ท่านต้องลองไปคิดดู

เดิมการขายหุ้นกู้มักจะเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน เพราะทำได้ง่ายกว่า ขั้นตอนไม่มากนัก เมื่อผู้ขายนำเสนอสถานะของบริษัท ที่มาของเงินในอนาคตให้กับลูกค้าได้รับทราบ และกำหนดอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจ แค่นี้ก็ขายได้หมด แต่วันนี้ผู้ออกหุ้นกู้กลับยอมเสียเวลาขายให้กับนักลงทุนรายย่อยแทน

“เราไม่ได้มองว่าหุ้นกู้ทุกตัวจะสร้างปัญหา แต่เราอยากให้คนที่มีเงินออมต้องการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีควรเลือกลงทุนให้เป็น ยอมรับกับระดับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เท่านั้น”

อยากลงทุนต้องทำการบ้าน

นักการเงินรายเดิมให้คำแนะนำว่า อันดับแรกผู้มีเงินออมจะต้องทำความเข้าใจกับหุ้นกู้ก่อนว่ามีกี่แบบ ในแต่ละแบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะในทางกฎหมายนั้นคำว่าเจ้าหนี้มีสิทธิในมูลหนี้ที่แตกต่างกันไป เช่นหุ้นกู้มีประกัน ไม่มีประกันหรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ โอกาสการได้รับการชำระหนี้ก็ต่างกันในกรณีที่บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

หนังสือชี้ชวนในการเสนอขายหุ้นกู้นั้นต้องอ่านให้ละเอียด เมื่อสงสัยให้สอบถามไปยังผู้ออกหุ้นกู้หรือดีที่สุดสอบถามไปยังหน่วยงานที่เป็นกลางอย่างบริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ เพราะหุ้นกู้บางตัวจะมีเงื่อนไขอื่น ๆ พ่วงเข้ามา เช่น สิทธิในการซื้อคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนด กรณีนี้จะทำให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ขาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในอนาคต

จากนั้นมาดูรายละเอียดของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือว่า สถานะทางการเงินและธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างไรภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดมาให้นั้นสูงพอกับความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกที่จะไม่สามารถชำระหนี้เราได้หรือไม่

อันดับเครดิตสำคัญ

หากสนใจที่จะลงทุนในหุ้นกู้จริง ๆ แล้ว ต้องรู้ก่อนว่าผู้ออกหุ้นกู้เป็นใคร อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้เป็นเรื่องสำคัญ หุ้นกู้ที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปนั้นอันดับความน่าชื่อถือต้องอยู่ที่ระดับ BBB ขึ้นไป หากจะให้มั่นคงมากก็ต้องระดับ AAA

ความแตกต่างของระดับ BBB กับ AAA นั้นจะอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย ส่วนใหญ่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำมักจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือสูง ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพตลาดในเวลานั้นด้วย เช่น พันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีในช่วงที่ผ่านมาเคยเสนอผลตอบแทนสูงถึง 5.5% หรือหุ้นกู้บางบริษัทอันดับความน่าเชื่อถือสูงระดับ AA กลับให้ดอกเบี้ยสูงหรือใกล้เคียงกับอันดับเครดิตระดับ BBB ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางการเงินในขณะนั้นว่า มีการแข่งขันกันสูงหรือไม่ เม็ดเงินในตลาดเหลือน้อยหรือไม่ แต่ถ้าขายในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าย่อมต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

“โฆษณาขายหุ้นกู้ตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้น มักจะให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะบอกเพียงชื่อของผู้ออกหุ้นกู้ อายุและอัตราดอกเบี้ย หากไม่มีการบอกอันดับความน่าเชื่อถือ เราต้องสอบถามไปยังผู้ออกหุ้นกู้ว่าอยู่ที่อันดับใด ดีที่สุดคือการไปขอหนังสือชี้ชวนนำมาศึกษาให้ละเอียด โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ”

นอกจากนี้ท่านต้องพิจารณาด้วยว่า หุ้นกู้ที่สนใจอายุกี่ปี ยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มั่นใจว่าจะถือได้ครบตามกำหนดหรือไม่ เพราะหากจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมาก ท่านต้องนำไปขายลดราคา อาจทำให้ต้องขาดทุนในบางส่วน ดังนั้นเงินที่จะใช้ซื้อหุ้นกู้นั้นควรเป็นเงินที่ได้กันออกจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว

สิ่งที่ผู้ลงทุนพึงทราบนั่นคือหากบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีปัญหาทางการเงิน ผิดนัดชำระหนี้ตามกำหนด ถ้าถึงขั้นล้มละลาย ท่านจะต้องรอให้มีการขายทอดทรัพย์สินออกมาก่อนแล้วจึงจะได้รับการชำระเงินตามสิทธิของหุ้นกู้แต่ละประเภท นั่นหมายถึงโอกาสที่จะได้รับชำระเงินเต็มจำนวนนั้นมีความเป็นไปได้น้อย

พันธบัตรปลอดภัย

หากท่านต้องการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นควรเลือกลงทุนหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง ๆ หรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำมากแทนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องแลกกับการได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน

หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้แทนก็ได้ กรณีนี้เป็นการให้ผู้ที่มีความชำนาญเข้ามาลงทุนแทนเรา แต่อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างคือเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าผู้บริหารกองทุนรวมจะลงทุนในหุ้นกู้ที่เราสนใจอยู่หรือไม่

ผู้ลงทุนทุกรายอยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องประเมินด้วยว่าท่านได้ผลตอบแทนสูงแล้วท่านต้องมากังวลและต้องลุ้นว่าหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงที่ท่านถืออยู่นั้นจะได้เงินคืนหรือไม่ เทียบกับลงทุนที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าแต่สบายใจกว่าเช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลค้ำประกันเงินฝากเต็มจำนวนนั้น ท่านก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

อันดับเครดิตช่วยได้แค่เบื้องต้น

การเสนอขายหุ้นกู้โดยตรงต่อประชาชนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ก.ล.ต.พยายามออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อด้วยการบังคับให้ต้องผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือก่อนเสนอขาย แต่การจัดอันดับดังกล่าวเป็นการพิจารณาจากข้อมูลในอดีตเป็นหลัก เรื่องอนาคตที่ประเมินให้นั้นเป็นการคาดการณ์ทั้งสิ้น

ปัญหาคือไม่มีใครรู้ว่าอนาคตเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ มากแค่ไหน แต่ที่เราเห็นได้คือมีหลายกิจการที่ต้องปิดตัวลง เลิกจ้างพนักงาน อีกทั้งโลกการเงินปัจจุบันการถอนเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศออกจากประเทศต่าง ๆ ทำได้ภายในเสี้ยวนาที กำลังซื้อของคนในประเทศที่หดตัวลง นั่นก็ถือเป็นความเสี่ยงอีกประการหนึ่งของผู้ที่คิดจะลงทุนในหุ้นกู้

เพราะผู้ที่จะออกหุ้นกู้นั้นต้องมั่นใจว่าสถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อขายหุ้นกู้ได้เงินไปใช้ในกิจการแล้ว เมื่อขายสินค้าและบริการได้จะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาเพียงพอต่อการชำระหนี้ แต่ถ้าลูกค้าของกิจการเหล่านั้นหดหายไป ยอดขายลดลง ย่อมกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้เช่นกัน

อดีตมีผิดนัดชำระ

ที่ผ่านมาการลงทุนในหุ้นกู้ของนักลงทุนสถาบันก็เคยประสบปัญหามาแล้ว หุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของบางบริษัทก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนด บริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงบางแห่งขาดสภาพคล่อง บางแห่งถึงขั้นล้มละลายก็มี เช่นเดียวกับสถานการณ์ในสหรัฐที่เป็นอยู่ในเวลานี้

บ้านเราหุ้นกู้บางตัวก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อหุ้นตกหนักมากอย่างนี้ลูกค้าที่กู้เงินไปก็ไม่มีความสามารถที่จะนำเงินมาชำระคืน ส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นกู้ตามไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้บริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ได้ทบทวนและปรับลดความน่าเชื่อถือลงมา

หลายคนอาจย้อนถามกลับว่าแล้วอันดับความน่าเชื่อถือช่วยไม่ได้หรือ ต้องลองกลับไปดูว่าตราสารหนี้ในสหรัฐฯ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ผ่านสถาบันจัดอันดับที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างมูดี้ส์หรือเอสแอนด์พี ก็ประสบปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารทางการเงินนั้นเป็นการวัดในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แม้จะมีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์บ้างเช่นทุก 6 เดือน แต่บางครั้งก็ไม่ทันกับโลกการเงินปัจจุบันที่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน

คุณเป็นเจ้าหนี้ระดับไหน

ในวงการตราสารหนี้ผู้ที่สนใจลงทุน ควรทราบถึงความหมายของตราสารหนี้แต่ละประเภทให้ถ่องแท้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุน เนื่องจากตราสารหนี้แต่ละประเภทจะมีระดับของสิทธิในความเป็นเจ้าหนี้(ผู้ซื้อ)ที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนที่ผู้ออกตราสารกำหนด เริ่มจาก

ตราสารหนี้ (Debt Instrument) คือ ตราสารที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างกัน หรือการกู้ยืมเงินชนิดหนึ่งที่มีความเป็นมาตรฐาน โดยผู้ออกตราสารเป็นผู้กู้หรือลูกหนี้ ในขณะที่ผู้ให้กู้เป็นผู้ซื้อหรือเจ้าหนี้ โดยผู้กู้หรือผู้ออกตราสารมีข้อผูกพันที่จะต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้หรือผู้ถือตราสารตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ตราสารหนี้ที่ถือเป็นหลักทรัพย์จะมีคุณสมบัติที่สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ ที่เท่าๆ กันได้โดยมีผลตอบแทนเท่ากันทุกหน่วย และมีคุณสมบัติที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้

ตราสารหนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามประเภทของผู้ออก เช่น

พันธบัตร (Bond) เป็นตราสารที่ออกโดยรัฐบาลซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำมาใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนภาระขาดดุลงบประมาณ ดังนั้น รัฐบาลจึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ ส่วนผู้ที่ถือพันธบัตร ได้แก่ ประชาชน สถาบันการเงิน หรือองค์กรต่างๆ ก็จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ตราสารดังกล่าวเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล ตราสารชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ (Default Free) เนื่องจากรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาตามการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงมีอยู่ ส่วนพันธบัตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางออมของประชาชนทั่วไปเรียกว่า พันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า พันธบัตร และ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ T-Bill) เป็นตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกับพันธบัตรรัฐบาลคือ ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น วัตถุประสงค์เพื่อบริหารเงินระยะสั้นในบัญชีเงินคงคลัง ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารประเภทที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า Zero Coupon Bond โดยจะออกขายในราคาที่หักส่วนลดจากมูลค่าหน้าตั๋ว เมื่อครบกำหนดอายุจะได้รับการไถ่ถอนตามราคาที่ตราไว้ของมูลค่าหน้าตั๋ว

หุ้นกู้ (Debenture) เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ หุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนมักมีเงื่อนไขรายละเอียดของการออกในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นของบริษัทผู้ออกนั้นๆ รวมถึงเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งทำให้มีการแบ่งหุ้นกู้ออกเป็นประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย หากเป็นหุ้นกู้ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เช่นไม่เกิน 9 เดือนจะเรียกว่า หุ้นกู้ระยะสั้น ในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกเพื่อการกู้ยืมระหว่างกันในวงแคบและมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยของตราสารโดยไม่มีความเป็นมาตรฐานเหมือนหุ้นกู้จะเรียกว่า ตั๋วเงิน หรือ ตั๋วบีอี (Bill of Exchange – B/E)

การลงทุนในหุ้นกู้นั้น นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นซึ่งขึ้นอยู่กับความมั่นคงและฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออก

ประเภทของหุ้นกู้ภาคเอกชนมีหลากหลายทั้งที่แบ่งตามการค้ำประกัน สิทธิในการเรียกร้อง และแบบอื่นๆ ตัวอย่างหุ้นกู้ภาคเอกชนที่แบ่งตามการค้ำประกัน เช่น

หุ้นกู้มีประกัน หมายถึง ตราสารที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน หรือสินทรัพย์ในโครงการที่กำลังระดมทุน มาเป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น ทั้งนี้มีข้อบังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วย ใช้ในกรณีที่บริษัทเอกชนนั้นๆ อาจมีฐานะทางการเงินที่ไม่ดีพอที่จะดึงดูดนักลงทุน

หุ้นกู้ไม่มีประกัน หมายถึงตราสารที่ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ โดยผู้ถือตราสารชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หรืออาจเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ต่ำกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หมายถึงตราสารที่ผู้ถือจะมีสิทธิได้รับชำระเงินคืน

ภายหลังจากเจ้าหนี้ทั่วไปและภายหลังหุ้นกู้ชนิดอื่นในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ

หุ้นกู้แปลงสภาพ หมายถึง ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้ในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตราราคาแปลงสภาพและเวลาที่กำหนดไว้ หุ้นกู้ประเภทนี้มักได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี

หุ้นกู้ที่แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ คือหุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยผู้ออกจะมีกระแสเงินสดที่ได้จากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นที่สามารถนำไปชำระดอกเบี้ย ตัวอย่างสินทรัพย์ที่นำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อผ่อนบ้าน เป็นต้น หุ้นกู้ประเภทนี้ช่วยให้สินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ยากกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินที่นำสินทรัพย์มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อลดภาระการดำรงเงินกองทุน และเพิ่มเงินสดสำหรับใช้ในกิจการ

เครื่องมือวัดความเสี่ยง

ในการตรวจสอบระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่จะนำมาเสนอขายต่อประชาชนนั้น ได้มีหน่วยงานทริสเรทติ้งและฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงของหุ้นกู้ก่อนที่จะนำมาเสนอขาย

ทริสเรทติ้งใช้สัญลักษณ์ตัวอักษรแสดงผลการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวจำนวน 8 อันดับ โดยเริ่มจาก AAA ซึ่งเป็นอันดับเครดิตสูงสุด จนถึง D ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด โดยตราสารหนี้ระยะกลางและยาวมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และแต่ละสัญลักษณ์มีความหมายดังนี้

AAA อันดับเครดิตสูงสุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุด บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงสุด และได้รับผลกระทบน้อยมากจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

AA มีความเสี่ยงต่ำมาก บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงมาก แต่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่าอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับ AAA

A มีความเสี่ยงในระดับต่ำ บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูง แต่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่าอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า

BBB มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ที่เพียงพอ แต่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่า และอาจมีความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า

BB มีความเสี่ยงในระดับสูง บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับปานกลาง และจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เพียงพอ

B มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำ และอาจจะหมดความสามารถหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

C มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด บริษัทไม่มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นตามกำหนดอย่างชัดเจน โดยต้องอาศัยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างมากจึงจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้

D เป็นระดับที่อยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด

อันดับเครดิตจาก AA ถึง C อาจมีเครื่องหมายบวก (+) หรือลบ (-) ต่อท้าย เพื่อจำแนกความแตกต่างของคุณภาพของอันดับเครดิตภายในระดับเดียวกัน ตามมาตรฐานสากลอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA ถือว่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB ลงไป มักเป็นหุ้นกู้ในระดับที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Speculative)

สำหรับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default Probability) เป็นสำคัญโดยมิได้คำนึงถึงระดับของการชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ (Recovery After Default) แต่อย่างใด โดยตราสารหนี้ระยะสั้นมีอายุต่ำกว่า 1 ปี สัญลักษณ์และนิยามอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นจำแนกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

T1 ผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะทั้งทางด้านการตลาดและการเงินที่แข็งแกร่งในระดับดีมาก มีสภาพคล่องที่ดีมาก และนักลงทุนจะได้รับความคุ้มครองจากการผิดนัดชำระหนี้ที่ดีกว่าอันดับเครดิตในระดับอื่น ผู้ออกตราสารที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับดังกล่าวซึ่งมีเครื่องหมาย "+" ด้วยจะได้รับความคุ้มครองด้านการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงยิ่งขึ้น

T2 ผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะทั้งทางด้านการตลาดและการเงินที่แข็งแกร่งในระดับดี และมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นในระดับที่น่าพอใจ

T3 ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นในระดับที่ยอมรับได้

T4 ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นที่ค่อนข้างอ่อนแอ

D เป็นระดับที่อยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนีไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด

อันดับเครดิตทุกประเภทที่จัดโดยทริสเรทติ้งเป็นอันดับเครดิตตราสารหนี้ในตระกูลเงินบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารโดยไม่รวมความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้จากสกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังกำหนด "แนวโน้มอันดับเครดิต" (Rating Outlook) เพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอันดับ เครดิตของผู้ออกตราสารในระยะปานกลางหรือระยะยาว โดยทริสเรทติ้งจะพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคตของผู้ออกตราสารที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตที่ออกให้แก่หน่วยงานหนึ่งๆ จะเทียบเท่ากับความสามารถในการชำระหนี้ของหน่วยงานนั้นๆ แนวโน้มอันดับเครดิตแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

Positive หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับขึ้น
Stable หมายถึงอันดับเครดิตอาจไม่เปลี่ยนแปลง
Negative หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับลดลง
Developing หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับขึ้น ปรับลดลง หรือไม่ เปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตดังนั้นนับว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการลงทุนได้ตรวจสอบได้ว่าหุ้นกู้ดังกล่าวนั้น อยู่ในระดับที่นักลงทุนยอมรับได้หรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.