ดุลยเดช บุนนาค"ผมไม่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ทิพย์แล้ว"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

พันธุ์ทิพย์พลาซา ศูนย์การค้าเจ้าปัญหาในวันนี้ตกเป็นสมบัติในมือของยอดนักซื้ออย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลือควันหลงประปรายให้พาดพิงไปถึงคนที่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยในกาลต่าง ๆ กัน

ดุลยเดช บุนนาค เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นที่แม้จะเลิกราจากพันธุ์ทิพย์ไปหลายปีแล้ว ก็ยังถูกจับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นไปของศูนย์การค้าแห่งนี้ในบทบาทที่เขาบอกว่า คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่

ดุลยเดชเข้าไปในพันธุ์ทิพย์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทไพบูลย์สมบัติ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารทรัพย์สินของตระกูลบุนนาคให้ออกดอกออกผล ไพบูลย์สมบัติ เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับบริษัททิพย์พัฒนอาเขตที่ ศรายุทธ อัศวไพบูลย์ เป็นเจ้าของโครงการในเวลานั้น

"ผมเข้าไปทำด้านการตลาด" เลือดเนื้อเชื้อไขชั้นที่สี่ของเจ้าพระยาพิชัยญาติพูดถึงบทบาทของตน

หลังจากพันธุ์ทิพย์พลาซา เปิดดำเนินการได้เพียง 5 - 6 เดือนก็ประสบปัญหาขาดเงินทุนที่จะทำกิจการต่อ เจ้าของโครงการเดิมมีความคิดว่า จะเลิกล้มรามือไป ทางไพบูลย์สมบัติก็เลยเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัททิพย์พัฒนอาเขต ด้วยเหตุผลที่ดุลยเดชบอกว่า "กลัวเขาจะทรุดลงไปมากกว่านี้ ก็เลยเข้าไปซื้อทั้ง ๆ ที่ถ้าเราไม่เข้าไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร"

ดุลยเดชในฐานะผุ้บริหารคนหนึ่งของไพบูลย์สมบัติก็เคยควบฐานะผู้บริหารของทิพย์พัฒนอาเขตเข้าไปอีกบทบาทหนึ่งด้วยลำดับความเป็นมาเช่นนี้ ด้วยฐานะของผู้บริหารคนหนึ่ง เมื่อมีการพูดถึงพันธุ์ทิพย์พลาซาคราใดจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีชื่อของเขาเข้าไปพัวพันอยู่ด้วย แต่หลาย ๆ ครั้งบทบาทนี้ถูกขยายเลยไปถึงการเป็นผู้ค้ำประกันฐานะทางการเงินของบริษัททิพย์พัฒนอาเขตต่อบรรดาเจ้าหนี้

"ผมไม่ได้เซ็นค้ำประกันใด ๆ ทั้งสิ้น" เป็นคำพูดที่ดุลยเดชขอประกาศให้รู้กันตรงนี้ และยืนยันให้ชัดเจนกันอีกว่า ณ วันนี้ ตัวเองปลอดจากพันธะและความสัมพันธ์ใด ๆ กับพันธุ์ทิพย์พลาซา "ผมลาออกเมื่อสี่ปีที่แล้ว"

สาเหตุที่จำต้องเลือกทางของตัวเองนั้นก็เพราะแผนการแก้ปัญหาที่เขาเสนอเข้าไปในขณะนั้น ไม่ได้รับการสนองตอบและดำเนินการอย่างจริงจังในจุดที่เป็นต้นตอของปัญหา ดังเช่นนโยบายแนวความคิดที่ต้องทบทวนกันใหม่หรือการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเขาเห็นว่าจะกอบกู้ฐานะของพันธุ์ทิพย์พลาซาขึ้นมาได้

"อยู่ที่ว่าทำกันจริง ๆ จัง ๆ หรือเปล่า การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องการไปทาสีตึกใหม่ หรือเปลี่ยนตัวคนบริหารซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น"

เส้นทางใหม่หลังจากโบกมืออำลาพันธุ์ทิพย์พลาซาของดุลยเดช คือ การทำธุรกิจของตัวเองด้วยความรู้ทางด้านบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และประสบการณ์ในบริษัทไพบูลย์สมบัติ ซึ่งทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ด้วยชักนำให้เขาเข้าไปสู่ธุรกิจที่เป็นกระแสนิยมของการลงทุนในบ้านเรา คือ ธุรกิจเรียลเอสเตทด้วยการก่อตั้งบริษัท นิว เรียลเอสเตท ขึ้นพัฒนาโครงการที่พักอาศัยราคาแพงสำหรับผู้มีอันจะกิน

ดุลยเดชปักหลักโครงการของตนอยู่ที่หัวหินเสียเป็นส่วนใหญ่ เริ่มกันจากโครงการบ้านเฉลียงลมซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศจำนวน 30 ยูนิต ในวงเงินลงทุน 150 ล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียมบ้านชมวิวจำนวน 53 ยูนิต มูลค่าเท่า ๆ กับโครงการแรก และที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง คือ โครงการบ้านทิวคลื่น ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมเช่นกันจำนวน 64 ยูนิต

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีนี้มา วงการธุรกิจและสถาบันการเงินจะเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตของธุรกิจคอนโดมิเนียมว่า จะสดใสเหมือนที่เคยวาดภาพกันเอาไว้แต่ก่อนหรือไม่ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของซัพพลายเป็นจำนวนมาก จนเกรงกันไปว่า กำลังซื้อจะไม่เพียงพอ แต่ดุลยเดชเป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นสวนทางกับข้อสังเกตนี้ เขายังเชื่อว่า กรุงเทพฯ กำลังขยายตัวเติบโตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบ แนวความคิดใหม่เน้นความสะดวกสบายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

"อยู่ที่ว่าเราทำโครงการออกมาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราหรือไม่" นี่เป็นจุดสำคัญที่เขาเชื่อว่า เป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละโครงการอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการที่หัวหินซึ่งขายไปได้เกือบหมดแล้วในทุกโครงการ คงจะเป็นสิ่งสนับสนุนความมั่นใจเช่นนี้ ดุลยเดชยืนยันความเชื่อมั่นด้วยแผนการลงทุนใหม่กับโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 200 ล้านใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้างปลายปีนี้ และอีกสองโครงการ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการวางแผนขั้นสุดท้าย

พันธุ์ทิพย์พลาซาในวันนี้ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน แม้จะหาคำตอบสำหรับหนทางข้างหน้าของตัวเองได้ชัดขึ้น ในขณะที่ผู้ตัดสินใจแยกทางออกมาก่อนกำลังเดินหน้าไปบนเส้นทางใหม่อย่างราบรื่น วันนี้ของดุลยเดชเป็นผลของการตัดสินใจเมื่อสี่ปีที่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.