MFCทยอยถือหุ้นตปท.เพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.เอ็มเอฟซี จับจังหวะตลาดหุ้นโลกนิ่ง ขยับน้ำหนักลงทุนกองเอฟไอเอฟเป็น 55% จากสัดส่วนเดิมที่ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 30-35% ระบุไม่ใช่การปรับพอร์ตถาวร หากเห็นโอกาสทำกำไร ก็ขายออกมาก่อน เน้นประคองผลตอบแทนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ชี้เศรษฐกิจโลก เป็นตัวแปรสำคัญ จะกลับเข้าไปลงทุนได้เต็มพอร์ตอีกครั้งเมื่อไหร่ ประเมินไตรมาส 2 ของปีหน้า ได้เห็นกองทุนเอฟไอเอฟกองใหม่ แต่ยังต้องลุ้นว่าจะลงทุนแบบไหน หากตลาดหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงคอมมอดิตียังไม่ฟื้น

นายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศของกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30-35% นั้น ล่าสุด ขณะนี้ ได้เพิ่มน้ำหนักลงทุนกลับเข้าไปอีกครั้งเป็น 55% เนื่องจากช่วงระยะสั้นที่ผ่านมา หลายตลาดเริ่มนิ่ง และการที่ราคาหุ้นปรับลดลงไปค่อนข้างเยอะ จึงเป็นเหมาะกับจังหวะที่เราจะเข้าไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งนอกจากการกลับเข้าไปลงทุนดังกล่าวแล้ว กองทุนจะบริหารพอร์ตควบคู่ไปด้วย โดยหากดัชนีหุ้นปรับขึ้นมา กองทุนก็จะขายทำกำไรออกมาบ้าง

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงได้อีกหลังจากนี้ ตามสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากดัชนีหุ้นปรับขึ้นแบบรวดเร็ว เราคงจะไม่ตาม เพราะเราไม่คิดว่าราคาหุ้นจะวิ่งกลับไปที่ระดับเดิมในเร็ววันนี้ ในทางกลับกัน ตลาดยังมีโอกาสผันผวนต่อไปอีก และอาจแกว่งตัวลงไปได้อีก เพราะขณะนี้สภาพเศรษฐกิจโลกไม่ดีหมด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่

"ในช่วงนี้ตลาดยังมีความเสี่ยงเยอะพอสมควร ถึงแม้เราจะขยับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 55% แต่เราก็ยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ซึ่งการเพิ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนแบบถาวร โดยเราจะดูว่าจังหวะไหนควรจะลดถือต่อไป หรือจังหวะไหนที่เราควรจะลดสัดส่วนลง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรที่เรามั่นใจ"นายศุภกรกล่าว

ส่วนจะกลับเข้าไปลงทุนได้เมื่อไหร่นั้น นายศุภกรกล่าวว่า การกลับเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ มองว่าเศรษฐกิจโลกเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบนี้ เป็นภาพของเศรษฐกิจจริง ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่เป็นวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ก่อนจะก้าวข้ามไปสู่วิกฤตสถาบันการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสินทรัพย์ประเภทใดน่าลงทุนมากที่สุด เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี) ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์นั้น ราคาน้ำมันก็ยังสูงอยู่ แต่พอเกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย น้ำมันก็ลดลงทันที ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงสินค้าคอมมอดิตีหลายตัวปรับลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนต่างประเทศ เรามีเป้าหมายในการประคองผลตอบแทนของกองทุนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนของกองทุนติดลบหรือติดลบน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน หากสามารถทำกำไรในช่วงระยะสั้นได้ ก็จะพยายามทำไปก่อน เพราะมุมมองในระยะยาว เรามองว่าการลงทุนในหุ้นถือว่าน่ากลัวอยู่ ดังนั้น เราคงไม่เพิ่มสัดส่วนในจำนวนที่มากเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากนี้ ก็อาจจะมีการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศลงบ้าง

นายศุภกรกล่าวว่า ในมุมมองของเรา เชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกถดถอยจะยาวไปถึงไตรมาส 3 ของปีหน้า ซึ่งหลังจากนั้น จะเห็นความชัดเจนว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวได้หรือไม่ โดยเฉพาะจากนโยบายเศรษฐกิจของนายบารัค โอบามา ประธานาธบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะมีมาตรการใดเข้ามาบ้าง ซึ่งการที่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้จริงนั้น จะต้องมาจากการกระตุ้นการบริโภคในประเทศรวมถึงนโยบายด้านการลงทุน ซึ่งต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การลงทุนดังกล่าว จะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศยังมีแนวโน้มเหมือนกับไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า เพราะนักลงทุนยังกลัวความเสี่ยงทำให้ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน ซึ่งกองทุนใหม่น่าจะได้เห็นอีกครั้งประมาณไตรมาส 2 ของปีหน้า หรือจนกว่าจะมองเห็นโอกาสที่ต่างจากกองทุนที่มีมีอยู่เดิม ก็อาจจะมีกองทุนใหม่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนั้นแล้วก็ยังมองไม่ออกว่าอะไรจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจและลงทุนได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน ถ้าการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงคอมมอดิตียังไม่ฟื้น ซึ่งกองทุนที่จะออกมานั้น คงต้องเน้นการลงทุนที่มีกระแสเงินสดและมีความมั่นคงให้กับนักลงทุนเป็นหลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.