|
รีดเพิ่มภาษี'โค้ก-เป็ปซี่' คลังอ้างความเป็นธรรม
ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
“ระนองรักษ์” ทบทวนโครงสร้างจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ 11 รายการอีกครั้งหลัง รมช.พิชัย เสนอครม.เมื่อรัฐบาลที่แล้วพ้นตำแหน่ง ตั้งธงเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำดำอ้างเพื่อความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการ สั่งการกรมสรรพสามิตเตรียมพร้อมเก็บภาษีน้ำมันหลัง 6 มาตรการ 6 เดือนใกล้ครบกำหนดหวังดึงภาษีเดือนละ 5 พันกว่าล้านคืน
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีในบางรายการสินค้าเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บและสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการสินค้า ซึ่งในสมัยที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ เป็น รมช.คลัง กำกับดูแลกรมสรรพสามิตได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอีกจำนวน 11 รายการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่รัฐบาลชุดดังกล่าวที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีต้องหมดสภาพลง จึงต้องพิจารณาการปรับปรุงแก้ไขการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทั้ง 11 รายการที่นายพิชัยยื่นเสนอแก้ไขอีกครั้ง
โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มียอดขายสูง ได้แก่ น้ำดำยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งบรรจุขวดใหญ่ แต่จัดเก็บภาษีในอัตราต่ำทำให้น้ำดื่มน้ำดำอีกยี่ห้อที่บรรจุในขวดเล็กกว่าเสียเปรียบเพราะเสียภาษีในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการศึกษาว่าจะจัดเก็บภาษีจากน้ำดำอย่างไร อาจจะตั้งมิเตอร์วัดที่สายงานบรรจุขวดหรือคำนวณภาษีเป็นล็อตการผลิต
“สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่างๆ ต้องดูว่าจะปรับขึ้นหรือไม่อีกครั้งอย่างละเอียดต้องหารือกับกรมสรรพสามิตอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณา ทั้งน้ำหอม คริสตัล และจิวเวลรี่ก็สั่งการให้ปรับปรุงการจัดเก็บเช่นกัน แต่ส่วนนี้คงไม่เพิ่มรายได้เข้ารัฐมากนัก เพราะมีสัดส่วนน้อยหากเทียบกับสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่ ซึ่งอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ร.ต.หญิงระนองรักษ์กล่าว
โค้ก-เป็ปซี่เตรียมจ่ายภาษีเพิ่ม
แหล่งข่าวจากรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันกรมจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงน้ำอัดลม หรือน้ำดำ ในอัตรา 20% ของมูลค่า หรือ 37 สตางค์ต่อ 440 มิลลิลิตร ซึ่งถือเป็นการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าและปริมาณขึ้นอยู่กับว่าเม็ดเงินภาษีในแบบใดสูงกว่าจึงเสียภาษีตามนั้น ซึ่งผู้ค้ารายใหญ่ทั้ง 2 ราย คือ โค้ก และ เป็ปซี่ก็เสียในอัตราที่เท่ากัน เพราะมีมูลค่าและปริมาณการบรรจุขวดที่ไม่แตกต่างกัน
โดยน้ำอัดลมประเภทกระป๋อง 330 มิลลิลิตรจะเสียภาษีอยู่ประมาณ 1 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่น้ำอัดลมแบบขวดขนดา 440 มิลลิลิตรจะเสียภาษีประมาณ 2 บาท ขณะที่ขวดลิตรจะเสียภาษีประมาณ 6-7 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการบางรายที่พยายามที่จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำจึงได้นำบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่มาใช้ในการบรรจุน้ำอัดลมราคาถูก เพื่อให้การจัดเก็บภาษีไม่เข้าข่ายการเสียภาษีตามปริมาณ ที่ 37 สตางค์ ต่อ 440 มล. มาเป็นการเสียภาษี 20 % ของมูลค่าแทนโดยสำแดงมูลค่าต่ำกว่า 2 ยี่ห้อที่แพร่กลายในตลาด คือ โคก และเป็ปซี่ ทำให้เสียภาษีต่ำกว่ากันประมาณ 1 – 2 บาทต่อขวด และทำให้สามารถลดราคามาแข่งในตลาดได้ โดยเดิม น้ำอัดลมยี่ห้อ “โค้กบิ๊ก” ทำตลาดอยู่ทางภาคใต้ แต่เวลานี้เริ่มขยายเข้ามาสู่กรุงเทพและปริมณฑลแล้ว ซึ่งกรมก็พยายามที่จะจัดระเบียบในเรื่องการสำแดงมูลค่าให้อยู่ในมาตรฐาน เพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับสินค้าที่มีรายการเดียวกัน
สั่งสรรสามิตรับมือเก็บภาษีน้ำมัน
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเตรียมพร้อมจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเนื่องจากมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรวม.คลัง ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาที่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งหากคำนวณรายได้ของกรมที่สูญเสียไป 6 เดือนเฉลี่ยเดือนละ 5 พันล้านบาทจะสูญเสียรายได้ทั้งหมด 3 หมื่นกว่าล้านบาท
ซึ่งรายละเอียดในการจัดเก็บภาษีน้ำมันนั้นกรมสรรพสามิตจะต้องดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรสามิตน้ำมันทุกประเภททั้งเบนซิน แก๊สโซฮอลล์ อี 20 อี 85 ดีเซลและไบโอดีเซล แต่จะจัดเก็บในอัตราเท่าไรนั้นต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง
โดยเฉพาะการเก็บภาษีน้ำมันเบนซิน อี 85 เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการประหยัดพลังงานจะต้องหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานเพื่อขอความชัดเจนสำหรับแนวทางสนับสนุนการประหยัดพลังงานว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันอี 85 จะมีการนำเข้ามาปีละกี่คันต้องมีความชัดเจนในจุดนี้ออกมาเพราะหากสนับสนุนด้านภาษีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูความเป็นจริงในท้องตลาดว่าการใช้รถที่แท้จริงและการสนับสนุนของภาครัฐสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด
“เราไม่ทิ้งเรื่องภาษีอี 85 แน่นอนแต่ต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาว่าช่วงไหนที่เหมาะสมจะช่วยด้านภาษีแก่ใคร ต้องดูว่าตอนนี้สนับสนุนอีโคคาร์ดีกว่าไหม หรือสนับสนุนอี 85 ต้องดูให้รอบคอบ รวมทั้งดูวัตถุดิบที่จะมาสนับสนุนอี 85 ว่ามีความพร้อมหรือยังต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าเท่าไรและใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนเท่าไรจึงจะสนับสนุนศักยภาพในการแข่งขันและการประหยัดพลังงานได้” รมช.คลังกล่าว
เดินหน้าพัฒนาใต้ทางด่วน
ร.ต.หญิงระนองรักษ์กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะนำเรื่องโครงการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วน เพื่อให้ประชาชนมาขายสินค้าเข้าสู่การประชุมครม. เพื่อขออนุมัติในหลักการอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเดินหน้าในโครงการนี้ต่อไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาทางการเมือง เพราะเมื่อเปลี่ยนครม.ใหม่ เรื่องที่เสนอไว้ และเรื่องที่เป็นนโยบายต้องเสนอกลับไปให้ครม.พิจารณาอีกรอบ ในส่วนของบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่ดูแลเรื่องอยู่ ได้ศึกษาและเตรียมการไว้ตลอด หากครม.อนุมัติก็เปิดใช้ได้ทันที ซึ่งหลักการจะยังคงเดิม โดยจะเริ่มนำร่องใน 4 พื้นที่ใต้ทางด่วน คือ ใต้ทางด่วนรามอินทรา อนุสาวรีย์ชัย สีลมและสุขุมวิท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|