ยนตรกิจพลิกนโยบายจับ3ยี่ห้อทำรถพาณิชย์


ผู้จัดการรายวัน(13 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มยนตรกิจปรับนโยบายครั้งใหญ่ เลิกฝากธุรกิจในมือไว้กับรถหรูเพียงอย่างเดียว เปิดโปรเจกต์ใหญ่สยายปีก รุกทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ หวังลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ด้วยการจับ 3 ยี่ห้อในเครือซีตรอง เปอโยต์ และเกีย ทำตลาดรถตู้อเนกประสงค์เล็ก และปิกอัพ เคาะราคาตั้งแต่ 5-6 แสนบาท โดยประกอบซีเคดีในโรงงานของกลุ่ม ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ผลิตป้อนทั้งตลาดในประเทศ และส่งออกภูมิภาคอาเซียน คาดจะเริ่มโครงการได้ในปีหน้า

นายวิเชียร ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารกลุ่มยนตรกิจ ผู้จำหน่าย รถยนต์ยุโรป และเกาหลี 7 ยี่ห้อ ได้แก่ โฟล์คสวาเกน ออดี้ เปอโยต์ ซีตรอง เซียท สโกด้า และเกีย เปิดเผยถึงทิศทางการทำธุรกิจของกลุ่มยนตรกิจว่า เดิมทิศทางการทำธุรกิจของกลุ่มยนตรกิจ จะเน้นที่การทำตลาดรถระดับหรูหราเป็นหลัก แต่ภายหลังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และได้ทบทวนสภาวะตลาดรถยนต์ที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับนโยบายการ ดำเนินธุรกิจของกลุ่มยนตรกิจใหม่

"การทำเฉพาะตลาดรถหรูเพียงอย่างเดียว หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง จะทำให้ธุรกิจสะดุดหมดทุกตัว แต่ถ้ามีรถยนต์ระดับล่างมาเสริม จะสามารถลดความเสี่ยงลงได้ เพราะรถกลุ่มนี้แม้ตลาดจะตกลง แต่ก็ยังประคองตัวไปได้ เหตุนี้กลุ่มยนตรกิจจึงได้มีนโยบาย ที่จะทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีระดับราคา 5-6 แสนบาท เพื่อเพิ่มความหลากหลายทาง ธุรกิจของกลุ่มยนตรกิจมากขึ้น"

ทั้งนี้การหันมาทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ถือเป็นโครงการใหญ่ของกลุ่มยนตรกิจ เพราะจะเป็นการดำเนินงานพร้อมๆ กันถึง 3 ยี่ห้อ ได้แก่ รถตู้อเนกประสงค์ ซีตรอง รุ่นเบอริงโก, เปอโยต์ รุ่นพาร์ทเนอร์ และปิกอัพเกีย K2700 โดยจะเป็นการประกอบ ในประเทศ (CKD) หมดทุกยี่ห้อ ที่โรงงานประกอบรถยนต์ของกลุ่มยนตรกิจ ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารบริษัทแม่ในระดับภูมิภาคของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ ได้เห็นด้วยในหลักการแล้ว เหลือเพียงการอนุมัติจากบริษัทแม่ในเดือนกันยายนนี้เท่านั้น และคาดว่าจะสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ ประมาณเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ พร้อมเริ่มประกอบได้ในปีหน้า

นายวิเชียรกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทมั่นใจว่า รถเพื่อการพาณิชย์ในโครงการใหม่ของ กลุ่มยนตรกิจจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากได้มีการทดลองทำตลาด โดยนำเข้ารถยนต์ ซีตรอง เบอริงโก ซึ่งเป็นรถตู้อเนกประสงค์ เครื่องยนต์ดีเซล 1.9 ลิตร และรถปิกอัพ เกีย K2700 มาจำหน่ายในงานยนตรกิจ มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าเบอริงโกที่ได้โควตา มาเพียง 100 คันในปีนี้ จำหน่ายหมดภายในงาน เช่นเดียวกับปิกอัพ เกีย K2700 ที่เดิมจะเอาเข้ามาโชว์เท่านั้น แต่เมื่อลูกค้าได้เห็นและสนใจขอซื้อ ทำให้ต้องเปิดรับจองภายในงาน และมียอดสั่งจองแล้วถึง 50 คัน

ในส่วนของเปอโยต์ รุ่นพาร์ทเนอร์ แม้จะยังไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในไทย แต่เป็นรถที่ใช้พื้นฐานเดียวกันกับซีตรอง เบอริงโก ดังนั้นจึงน่าจะได้รับการตอบรับเช่นเดียวกัน ที่สำคัญสามารถใช้ไลน์ผลิตร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นไลน์ผลิตใหม่ ขณะที่เกียซึ่งเป็นรถปิกอัพจะต้องขึ้นไลน์ผลิตใหม่ แต่ทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก เพราะแต่ละรุ่นไม่ใช่รถที่ใช้เทคโนโลยีสูง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการรถ เพื่อการพาณิชย์นี้ไม่เกิน 100 ล้านบาท

"สำหรับการผลิตรถยนต์ทั้งสามยี่ห้อ ไม่เพียงป้อนตลาดในประเทศเท่านั้น แต่จะส่งออก ไปจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนด้วย ภายใต้กรอบ ข้อตกลงทางการค้าเสรีในอาเซียน หรืออาฟตา โดยเฉพาะซีตรอง เบอริงโก และเปอโยต์ พาร์ทเนอร์ ที่จะส่งออกไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย" นายวิเชียรกล่าว

โดยปัจจุบันซีตรอง เบอริงโก มีจำหน่ายอยู่แล้วที่สิงคโปร์ ซึ่งกลุ่มยนตรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายที่นั้น และได้รับการตอบรับอย่างดีจาก ลูกค้าชาวสิงคโปร์ มียอดจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 คันต่อเดือน ขณะที่ตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กกำลัง เป็นที่นิยม ฉะนั้นเมื่อรวมกับยอดขายของซีตรอง และเปอโยต์ในประเทศประมาณเดือนละ 200 คันแล้ว น่าจะมียอดผลิตประมาณ 3-4 พันคันปี ซึ่งเป็นปริมาณที่คุ้มต่อการลงทุนประกอบซีเคดีพอสมควร

นายวิเชียรกล่าวว่า สำหรับรถซีตรอง เบอริงโก และเปอโยต์ พาร์ทเนอร์ จะผลิตออกมา 2 เวอร์ชั่น คือ เป็นรถตู้ทึบเพื่อใช้งานบรรทุก หรือ ขนส่งสินค้า ขณะที่อีกรุ่นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วน บุคคล มีที่นั่งด้านหลัง 2 แถว เหมือนรถมินิเอ็มพีวีทั่วไป

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของรถยนต์ทั้ง 3 รุ่น จะเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการใช้รถเพื่อทำธุรกิจหรือขนส่ง ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานในเมือง ดังนั้น จึงคาดว่ารถรุ่นนี้จะสามารถดึงลูกค้าที่ใช้รถปิกอัพในเมืองได้ ทั้งนี้คาดว่าจะมียอดจำหน่ายรถทั้งสองยี่ห้อในไทยประมาณเดือนละ 200 คัน

"กลุ่มยนตรกิจเคยมีประสบการณ์ทำตลาด รถปิกอัพเปอโยต์เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะตัวสินค้าไม่ดี ปัญหาสำคัญอยู่ที่ราคาอะไหล่แพง และต้องรอนาน ดังนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องทำให้ได้ ภายหลังจากตัดสินใจทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในครั้งนี้ คือ ราคาอะไหล่จะต้องเทียบเท่า หรือถูกกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ของญี่ปุ่นในขณะนี้" นายวิเชียร กล่าว

ทางด้านราคาจำหน่ายของรถยนต์ทั้ง 3 ยี่ห้อ ภายหลังจากประกอบซีเคดีแล้ว ซีตรอง เบอริงโก และเปอโยต์ พาร์ทเนอร์ น่าจะมีราคาประมาณกว่า 6 แสนบาท จากปัจจุบันที่ซีตรอง เบอริงโก รุ่นนำเข้ามีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 7.3-7.5 แสนบาท ส่วนรถปิกอัพเกีย K2700 จำหน่ายที่ราคาประมาณ 5.4 แสนบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.