|
หุ้นเอเชียกอดคอดิ่งเหว
ผู้จัดการรายวัน(21 พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นทั่วเอเชียกอดคอกันร่วง หลังดัชนีดาวโจนส์รูดต่ำกว่า 8 พันจุด ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยตลาดหุ้นไทยปิดที่ 393.85 จุด ลดลง 14.66 จุด นักลงทุนต่างชาติยังทิ้งหุ้นอีก 1.8 พันล้านบาท ด้านบล.กสิกรไทย คาดการณ์ปี 52 เหตุการณ์เลวร้ายสุดจีดีพีโตได้แค่ 2% ฉุดกำไรบจ.หาย 50% โบรกเกอร์ สั่งจับตาเศรษฐกิจโลก-การเมืองอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (20 พ.ย.) ค่อนข้างเงียบเหงา ท่ามกลางปัจจัยลบเรื่องของความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้นักลงทุนรอดูท่าทีที่ชัดเจนรวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มส่งสัญญาณจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 400 จุดตั้งแต่เปิดการซื้อขายช่วงเช้า มีระดับราคาสูงสุดที่ 399.98 จุด หลังจากนั้นได้มีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงจนแตะระดับต่ำสุดที่ 390.17 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 393.85 จุด ลดลงจากวันก่อน 14.66 จุด หรือคิดเป็น 3.59% มูลค่าการซื้อขายรวม 8,901.93 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,824.13 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 131.83 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,955.95 ล้านบาท
สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) ราคาปิดที่ 142 บาท ลดลงจากวันก่อน 8 บาท หรือคิดเป็น 5.33% มูลค่าการซื้อขายรวม 1,376.49 ล้านบาท บมจ.บ้านปู (BANPU) ปิดที่ 167 บาท ลดลง 8 บาท หรือ 4.57% มูลค่าการซื้อขาย 727.28 ล้านบาท และบมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปิดที่ 84.50 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 2.87% มูลค่าการซื้อขายรวม 712.27 ล้านบาท
การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยครั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน อาทิ ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดที่ 12,298.56 จุด ลดลง 517.24 จุด หรือ 4.04% ดัชนีนิกเออิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดที่ 7,703.04 จุด ลดลง 570.18 จุด หรือ 6.89%
นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนไทย สู้ต่ออย่างไรให้พ้นวิกฤต” ว่า บริษัทประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 ในกรณีที่เลวร้ายสุดจะสามารถขยายตัวได้ 2% ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงจากปีนี้ประมาณ 50% และดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ระดับ 530 จุด
“ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 400 จุด แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเกิดความกังวลมากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่ในปีหน้าจะเป็นไปตามสมมติฐานในกรณีที่เลวร้ายสุดหรือไม่นั้น คงจะต้องติดตามดัชนีๆ ต่อไปว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเสียหายและสร้างผลกระทบลุกลามมายังเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด”
สำหรับการลงทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ นักลงทุนต้องหันกลับมาพิจารณาพอร์ตตัวเองว่า ถือครองหุ้นที่จะมีผลประกอบการติดลบหรือไม่ หากประเมินแล้วว่าเป็นหุ้นที่ไม่สามารถเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจได้แนะให้ย้ายกลุ่มหุ้นที่ลงทุน
อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ลงทุนระยะยาวในระยะ 12 เดือนข้างหน้านี้ ถือเป็นช่วงเหมาะสมเข้ามาทยอยลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีความปลอดภัย ในสัดส่วน 30-40% ของพอร์ต เช่นกลุ่มพลังงาน เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ราคาน้ำมันในช่วง9-12 เดือนข้างหน้าจะปรับขึ้นมาได้อีก ขณะที่นักลงทุนเก็งกำไรคงมีโอกาสทำได้ยาก จึงแนะนำให้ไปขายล่วงหน้า (ชอร์ต) ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(ฟิวเจอร์ส) แทน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนรวม กล่าวว่า ในภาวะที่ภาพรวมผลประกอบการบจ.ไม่ดี นักลงทุนควรมีหลักเกณฑ์การลงทุนโดยให้เลือกลงทุนในบริษัทที่ยังมีโอกาสจ่ายเงินปันผลในอนาคตที่ยังดีอยู่ เพื่อชดเชยในภาวะที่ยังไม่ได้รับผลตอบแทนจากราคาหุ้น โดยเลือกลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สื่อสาร ไฟฟ้า น้ำ ทางด่วน หรือรถไฟฟ้า รวมไปถึงกลุ่มหุ้นที่รับรู้ข่าวร้ายไปอย่างมากเช่นกลุ่มพลังงาน
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง จากนักลงทุนยังกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัว ยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจรวม ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียของเศรษฐกิจโลกที่ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น และเริ่มจะขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองได้ส่งสัญญาณความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการนัดรวมตัวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากไม่มีปัจจัยบวกมาสนับสนุนของนักลงทุน โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือสถานการณ์การเมืองและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการใดออกมาในระยะนี้เพื่อยับยั้งวิกฤตเศรษฐกิจจะลุกลามรุนแรงอีกหรือไม่ โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ประเมินแนวรับที่ 383-380 จุด และแนวต้านที่ 400-410 จุด
นายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลงต่ำกว่า 8,000 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และเป็นสัญญาณเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลจากข้อมูลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากภาคการเงินสู่ภาคการผลิตที่แท้จริงและภาคการจ้างงานที่อ่อนแอลงจากการปลดคนงานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ ดัชนีมีโอกาสรีบาวน์ทางเทคนิค ภายหลังจากปรับลงแรงในวันนี้ แต่มองว่าการปรับขึ้นครั้งนี้จะเป็นการขึ้นเพื่อลง เพราะในภาพระยะกลางยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเมืองในประเทศ ถือเป็นตัวแปรที่ถ่วงบรรยากาศการลงทุนอย่างมาก โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำหาจังหวะขาย ประเมินแนวรับ 380 จุด แนวต้าน 410 จุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|