คลังค้ำหนี้ธกส.งวดแรก2หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(21 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังได้ฤกษ์เซ็นค้ำเงินกู้ ธ.ก.ส. งวดแรก 2 หมื่นล้านบาทจ่ายเงินเกษตรกรโครงการรับจำนำข้าว สัญญาเงินกู้ 1 ปีครึ่ง ดอกเบี้ย 4.95% ระบุหากโครงการเสียหายจะต้องใช้เงินงบประมาณอุดหนุน เผยยอดรับจำนำข้าว ขาดดุลกลางปีดันยอดหนี้สาธารณะเป็น 38% จี้ธปท.สางหนี้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มความยืดหยุ่นหน่วยงานอื่นกู้เงินได้บ้างหลังพบงบชำระหนี้ใช้จ่ายแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทางธ.ก.ส.จะเบิกจ่ายเงินงวดแรก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่เริ่มรับจำนำไปแล้วตั้งแต่ 1 พ.ย.2551

ทั้งนี้ สัญญาเงินกู้มีระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 4.95% ตลอดอายุสัญญา โดยธ.ก.ส.จะเบิกจ่ายเงินตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลได้ให้นโยบายเร่งระบายขายข้าว เพื่อนำเงินมาใช้เงินกู้ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า การกู้เงินมีความโปร่งใส เนื่องจากมีการบันทึกเป็นหนี้สาธารณะทันที โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท หากมีการเบิกจ่ายเงิน 2 หมื่นล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และหากโครงการรับจำนำมีความเสียหายไม่สามารถขายข้าวมาใช้เงินกู้ได้ทั้งหมด ก็จะต้องขอเงินงบประมาณมาใช้แทน หรือใช้วิธีการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธ.ก.ส. ในฐานะรักษาการผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า การลงนามสัญญากู้เงินทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าโครงการดำเนินการได้ หลังจากที่มีการรับจำนำมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2551 แต่ยังไม่มีการโอนเงิน นอกจากนี้ ในแง่ของการตลาดจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น

โดยแผนเดิมจะมีการเบิกเงินกู้ในเดือนพ.ย. 2551 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท และเดือนต่อไปเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ต้องมีการปรับเพราะได้เงินกู้ช้า ดังนั้น เดือนพ.ย.นี้ จึงเบิกเงินเพียง 2 หมื่นล้าน และเดือนธ.ค. เบิก 3.6 หมื่นล้านบาท และเดือนต่อไปเฉลี่ยเดือนละ 1-2 หมื่นล้านบาท สำหรับการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 4.3 ล้านบาท จะต้องนำเงินมาใช้คืน ธ.ก.ส. ส่วนข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 จะต้องนำมาใช้หนี้ใหม่ โดยจะมีการแยกบัญชีอย่างชัดเจนว่าขายส่วนใดไปบ้างแล้ว

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย.51 มีจำนวน 3,408,231 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.22% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2.1 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 9.8 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.3 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะเพิ่ม 46,470 ล้านบาท โดยหนี้รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่ม 11,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่ม 11,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่ม 4,951 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่ม 1,304 ล้านบาท

ทั้งนี้แม้หนี้ปัจจุบันจะอยู่ที่ 36.22%ต่อจีดีพี อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกรอบวินัยทางการคลังที่สามารถเพิ่มหนี้ได้ถึง 50% ต่อจีดีพี แต่จากแผนก่อหนี้ปี 52 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท ยังมีหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 6 แสนล้านบาท ทั้งจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ งบขาดดุลกลางปีและโครงการรับจำนำข้าว จะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะในปีหน้าพุ่งขึ้นไปที่ 38%ต่อจีดีพี หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท แต่ในการตั้งงบชำระหนี้รัฐบาลจัดสรรไว้เพียง 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณ 11% จากกรอบวินัยการคลังที่ไม่ควรเกิน 15% โดยแบ่งเป็นภาระจ่ายดอกเบี้ยถึง 1.2 แสนล้านบาท และชำระต้นเงินกู้ได้เพียง 6 หมื่นล้านบาท แต่ในปีหน้าภาระหนี้ใกล้เคียงเพดานที่ 15% แล้วดังนั้นรัฐบาลจึงควรระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่มในปี 52 โดยเฉพาะไม่ควรเพิ่มการขาดดุลอีก เนื่องจากปีหน้าจะมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาระหนี้หลายประการ ทั้งจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ ค่าเงินเยนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาททำให้ยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้น และการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงการคลังได้มีนโยบายหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯชำระต้นเงินกู้จากที่มียอดรวมทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาทบ้าง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะให้หน่วยงานอื่นสามารถกู้เงินเพิ่มได้บ้าง อีกทั้งอาจต้องทบทวนกรอบวินัยทางการคลังที่ให้ก่อหนี้ได้ 50%ต่อจีดีพี ซึ่งจากหนี้ที่มีอยู่ปัจจุบันสามารถเพิ่มหนี้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เหมาะสมกับยอดหนี้ที่แท้จริง เพราะงบชำระหนี้แต่ละปีน้อยมากและส่วนมากก็ต้องนำไปชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จึงต้องดูว่าในต้นปี 52 รัฐบาลจะจัดสรรงบชำระหนี้เพิ่มให้อีกได้หรือไม่"นายพงษ์ภาณุกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลดภาระหนี้ส่วนหนึ่งจะทำได้จากรัฐบาลต้องเร่งขายข้าวจากโครงการับจำนำ เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณมากเกินไป รวมถึงสบน.ได้วางแผนทยอยแปลงหนี้เงินเยนเป็นเงินบาทเพราะปัจจุบันหนี้ต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท เป็นหนี้เงินเยนสูงถึง 80%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.