บบส.อ้อนคลังเปิดกว้างให้รับซื้อหนี้เสียเพิ่มเติม เล็งซื้อเอ็นพีแอลจากสถาบันการเงินของรัฐด้วยกันของธอส.,ออมสินหรือสถาบันการเงินอื่นๆ
เชื่อบบส.สามารถทำกำไรได้เพียบ โชว์ฝีมือช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ของระบบเศรษฐกิจได้อีกจำนวนมากจากการบริหาร
นายสิน เอกวิศาล กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้บบส.สามารถรับซื้อสินทรัพย์จากองค์กรต่างๆ เพื่อนำมาบริหารได้เพียง
3 ช่องทางเท่านั้น คือ การรับซื้อหนี้เสียจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
(ปรส.) องค์การบริหารสินทรัพย์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (อบส.) และสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ถือหุ้นอยู่
ซึ่งที่ผ่านมาในช่วง 6 เดือนแรก สามารถทำกำไรได้มากกว่า 1,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังแก้ไขพระราชบัญญัติของ บบส. เพื่อให้รับซื้อหนี้เสียได้มากกว่านี้
เช่นการอนุญาตให้บบส.เข้าไปรับซื้อเอ็นพีแอลจากสถาบันการเงินของรัฐด้วยกัน เช่นของธนาคารอาคารสงเคราะห์
(ธอส.) หรือของธนาคารออมสิน หรือสถาบันการเงินอื่นๆ เชื่อมั่นได้ว่าบบส.จะสามารถทำกำไรได้มากกว่านี้แน่นอน
และยังเป็นการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของระบบเศรษฐกิจได้อีกจำนวนมาก
รวมไปถึงสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงิน ที่ขณะนี้แต่ละแห่งมีเป็นจำนวนมาก
นายสิน กล่าวว่า ขณะนี้บบส.ได้ใช้กลยุทธ์เชิงรุกต่าง ๆ ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่รับซื้อมาจากปรส.
รวมถึงการมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการติดตามประมวลผล และมีระบบการทำงานที่ทันสมัย
จึงทำให้บบส.ประสบความสำเร็จมากและสามารถล้างขาดทุนสะสมได้สำเร็จตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
2546
กำไรครึ่งปีกว่า 1.5 พันล.
สำหรับผลการดำเนินงานประจำงวด 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2546 ว่า
บบส.มีกำไรกว่า 1,500 ล้านบาท และสามารถ ล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
2546 ซึ่งจะทำให้บบส.สามารถทำกำไรได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้
ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา บบส.มีรายได้รวมประมาณ 2,355 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย
รายได้จากลูกหนี้ใช้สิทธิซื้อคืน รายได้จากการให้เช่าซื้อ รายได้จากการบังคับคดี
และรายได้ อื่นๆ
สำหรับสาเหตุที่บบส. มีกำไรเพิ่มขึ้นนั้น สืบเนื่องจากความสำเร็จในการดำเนินงานด้านต่างๆ
เช่น การจำหน่ายทรัพย์สิน ซึ่งวางนโยบายเชิงรุกทุกรูปแบบ อาทิ ผู้บริหารระดับสูงเข้าพบลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรง
การขยายการแต่งตั้งตัวแทนขายรายใหญ่ และรายย่อยทั่วประเทศ การจัดการส่งเสริมการขายทรัพย์สินในราคาพิเศษ
และการช่วยออกบูธแสดงสินค้าในงานมหกรรมแสดงสินค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
ประกอบกับในช่วงต้นปี 2546 บบส.ยังได้เพิ่มช่องทางการพัฒนาและจำหน่ายทรัพย์สินด้วยกลยุทธ์รูปแบบใหม่ออกมา
คือ โครงการกิจการร่วมทำเพื่อการพัฒนาและจำหน่ายทรัพย์สิน ส่งผลให้บบส.ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายทรัพย์สินเป็นอย่างมาก
โดยผลการจำหน่ายทรัพย์สินล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2546 บบส.มียอดอนุมัติการจำหน่ายทรัพย์สินถึง
2,390 ล้านบาท ซึ่งสามารถทำยอดเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 960 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในครึ่งปีแรก
1,430 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายการขายทั้งปีไว้ 3,800 ล้าน บาท
ทั้งนี้ บบส.มีทรัพย์สินรอการขาย ณ 30 มิถุนายน 2546 คิดเป็นมูลค่ารวม 30,731
ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินเปล่ามูลค่า 18,279 ล้านบาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมูลค่า
6,088 ล้านบาท และสินทรัพย์อื่นๆ มูลค่ารวม 6,364 ล้านบาท
ธปท.นัดแบงก์เวิร์กชอปทุบเอ็นพีแอล
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมนัดธนาคารพาณิชย์ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อีกรอบหนึ่งเดือนพฤศจิกายน
โดยที่ผ่านมาธปท. ได้แยกกลุ่มลูกหนี้เป้าหมาย 3 กลุ่ม คือกลุ่มปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จแล้วอยู่ระหว่างผ่อนชำระ
มีการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จตามเป้าหมาย จากเดิมลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมูลหนี้เน่ารวมประมาณ 157,000 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
และยอด ณ เดือนมีนาคมปรากฏว่าลูกหนี้เหลือเพียง 38,898 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม
2545 ถึง 11,479 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่อย่ระหว่างเจรจา กลุ่มดังกล่าวมีมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้น
จาก ธ.ค.45 มูลหนี้ประมาณ 287,880 ล้านบาทจนถึงมี.ค. ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 311,135
ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไทย จาก 256,429 ล้านบาท ธ.ค.45
เป็น 287,297 ล้านบาทมี.ค.ปีนี้
กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการดำเนินคดีและบังคับคดี กลุ่มนี้ธปท.ได้ส่งหนังสือเพื่อขอให้ลูกหนี้สมัครใจเข้ามาเจรจา
ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเดือนเม.ย.จนถึงก.ค. เจ้าหนี้ทยอยส่งรายชื่อลูกหนี้ที่จะเจรจาด้วยมาแล้ว
2,217 ราย เป็นมูลหนี้ 18,507 ล้านบาท ขณะนี้ลูกหนี้ตอบรับเจรจาแล้ว 417 ราย มูลหนี้
5,758 ล้านบาท