หมอเลี้ยบ ฟันธง หุ้นกสท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปลายม.ค.47 ก่อนหน้า ทศท. หลังพบความไม่ชัดเจนหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนแบ่งรายได้,
ค่าเชื่อมโครงข่าย, ไทยโมบาย พร้อมเร่งโครงการโทรศัพท์ 5 แสนภายใน 3 เดือน ด้านกสท.ฝากอนาคตกับ
ซีดีเอ็มเอด้วยการประมูลซื้อโครงข่ายเอง ยันข้อเสนอนอร์เทลมีความเป็นไปได้
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวถึงแผนการนำบริษัท
ทศท คอร์ปอเรชั่นกับบริษัท กสท. โทรคมนาคมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า แผนเดิมที่คาดว่าทศท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในไตรมาส
4 ของปีนี้ คงไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะมีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง ในขณะที่กสท.มีความชัดเจนมากกว่า
"กสท.คงเข้าตลาดฯ ปลายเดือนม.ค.2547 ก่อนทศท.แน่นอน ถึงแม้ช่วงเดือนธ.ค.จะสามารถเข้าได้แต่คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม"
การเข้าตลาดฯของกสท.จะส่งผลดีหรือมีโมเมนตัมไปถึงทศท.เพราะจะทำให้หุ้นของทศท.ได้รับการสนใจมาก
เหตุผลที่กสท.เข้าตลาดฯได้ก่อนทศท.เพราะมีความชัดเจนในเรื่องส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานเมื่อเทียบกับรายได้รวมแล้วมีสัดส่วนที่น้อยมาก
ในขณะที่ทศท.มีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้มากถึง 1/3 ของรายได้รวม หมายถึงอนาคตในเรื่องส่วนแบ่งรายได้
ไม่เป็นผลกับรายได้รวมกสท. รวมทั้งแนวทางทำธุรกิจ ก็ชัดเจนว่าต้องมีการเปิดเสรีโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
หมายถึงกสท.ไม่สามารถวางแผนธุรกิจโดยคาดหวังให้โทรศัพท์ระหว่างประเทศเป็นตัวทำรายได้หลักอีกต่อไป
"กสท.สิ่งที่นักลงทุนสนใจคงเป็นเรื่องซีดีเอ็มเอ ถ้าอนาคตซีดีเอ็มเอชัดเจนก็จบเพราะโทรต่างประเทศก็ชัดเจนแล้วว่าเปิดเสรีมีคู่แข่งแน่"
ธุรกิจหลักของกสท.ในอนาคตเป็นบริการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ ซึ่งนโยบายนพ.สุรพงษ์ชัดเจนแล้วว่ากสท.ต้องทำเอง
คือ ประมูลซื้อโครงข่ายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคเอง และไม่ใช้วิธีการเช่าด้วย เพราะโครงการเดิมกฤษฏีกาตีความชัดเจนว่าเข้าข่ายพรบ.ร่วมการงานปี
2535 เพราะมีเอกชนเข้าร่วมด้วย
"เป็นเรื่องที่ผมต้องให้การสนับสนุนกสท. เพื่อรีบตัดสินใจเรื่องนี้โดยเร่งด่วน"
แนวคิดเขาคือกสท.ต้องเป็นจ้าของเน็ตเวิร์กเอง ส่วนงานด้านการตลาดหรือการขาย สามารถหาเอกชนเข้ามาร่วมด้วยได้
แต่หัวใจอย่างการวางแผนการตลาด กสท ต้องทำเอง ภายใต้ความเชื่อมั่นในศักยภาพ กสท
โทรคมนาคม หลังการแปรรูปแล้ว น่าจะทำได้ดี
"ผู้บริหารคนใหม่ ผมอยากได้ผู้บริหารที่มีความคล่องตัวและความคิดว่องไว
แข่งขันกับเอกชนได้"
หมอเลี้ยบสนนอร์เทล
สำหรับข้อเสนอของนอร์เทล ที่ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประมูล แต่โครงการต้องล้มเลิกไป
ได้เคยเสนอ 2 ทางเลือก ภายใต้หลักการว่ากสท.จะต้องซื้อเน็ตเวิร์กตรงจากซัปพลายเออร์
คือ1.นอร์เทล เสนออุปกรณ์ระบบ CDMA 1Xในลักษณะ Full Turnkey สำหรับ 1,000 สถานีฐานในราคาที่ต่ำกว่า
8 พันล้านบาท (ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจะจัดหาไฟแนนซ์ให้ด้วยเป็นระยะเวลา
6-7 ปี ติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน อุปกรณ์ที่กสท.จะได้รับรองว่าไม่ต่างจากข้อเสนอ
3.1 หมื่นล้านบาทคราวที่แล้ว แต่ตอนนี้ดีกว่าเก่าด้วยเพราะนอร์เทลจะแถมระบบ EV-DO
ให้ด้วยซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลได้ด้วยความเร็วเต็มที่ 2 เม็กในราคาเพียงไม่ถึง
8,000 ล้านบาท
หรือ 2.เพื่อให้กสท.ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น และสมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาด้านการตลาดประกอบกันคือ
ลงทุนเฟส 1 จำนวน 150 สถานีฐาน ใน 15 เมืองใหญ่ๆ ติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
ในวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท (25 ล้านเหรียญสหรัฐ)
นพ.สุรพงษ์กล่าวว่าข้อเสนอของนอร์เทลมีความเป็นไปได้ เพราะกลุ่มลูกค้าซีดีเอ็มเอน่าจะอยู่ในเมืองใหญ่
กสท.สามารถเริ่มที่เมืองใหญ่ได้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วเน็ตเวิร์กก็ต้องครอบคุบมีอีก
50 กว่า จังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่ใช้ได้ที่เชียงใหม่ พิษณุโลก อุบลราชธานี แต่พอมาที่น่านกลับใช้ไม่ได้
ลูกค้า ก็จะเกิดคำถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นจะเลือกระบบ ซีดีเอ็มเอทำไม "เรื่องซีดีเอ็มเอ
ผมจะพยายามให้เดินให้เร็วที่สุด"
ทศท.ภาพยังเบลอ
การที่ทศท.ต้องเลื่อนแผนเข้าตลาดฯไปภายหลังกสท.เป็นเพราะประเด็นหลักๆ 2-3 เรื่องที่ไม่ชัดเจน
คือ 1.เรื่องส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทาน ที่มีผลกระทบกับรายได้รวมของทศท.เป็นอย่างมาก
2.เรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเนกชั่น ชาร์จ ยังต้องศึกษาต่อยังไม่จบ
เพราะที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น
"จากเริ่มประชุมครั้งแรกปลายเดือนม.ค. ผมคิดว่า 3 เดือนน่าจะจบ แต่พอประชุมไปมันไม่จบ
เมื่อศึกษาเข้าไปในรายละเอียดมันมีปัญหาตามมายุบยับ ซับซ้อนเต็มไปหมด"
ปัญหาที่ตามมาระหว่างทางอย่างเช่นการเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจะเก็บกันอย่างไร
และเมื่อมีค่าเชื่อมโยงโครงข่ายแล้วค่าแอ็กเซ็สชาร์จ (ดีแทคและโอเปอเรเตอร์อื่นภายใต้สัมปทานกสท.เสียให้ทศท.เลขหมายละ
200 บาท/เดือน สำหรับลูกค้าระบบโพสต์เพด) จะมีอีกหรือไม่ และต่อไปส่วนแบ่งรายได้จะเป็นอย่างไร
หมายถึงจ่ายส่วนแบ่งรายได้แล้วยังต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายอีกใช่หรือไม่
"เรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเดินมาถึงจุดที่ทุกคนมองเห็นตรงกันบ้างแล้ว
ปีนี้ผมอยากให้ได้ข้อสรุป เรื่องเหล่านี้ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน"
3.ต้องศึกษาเรื่อง USO หรือ Universal Service Obligation ควบคู่ไปกับเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย
เพราะทศท.รับภาระค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลในการลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ห่างไกลที่ยากคุ้มค่าเชิงธุรกิจ
ในการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งรัฐจำเป็นต้องสนับสนุน รวมทั้งเรื่องแผนการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์หรือ
Numbering Plan ที่ต้องผ่องถ่ายออกมาให้หน่วยงานกลางซึ่งไม่ใช่ทศท.ซึ่งในระยะเปลี่ยนถ่ายคงเป็นกรมไปรษณีย์ฯ
รวมทั้งยังต้องมีการพิจารณาเรื่องเพดานค่าบริการ ว่าเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม โดยต้องเทียบเคียงจากประเทศต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ ซึ่งในช่วงระหว่างมี
2 ทางเลือกให้ประชาชนทดลองใช้ตั้งแต่ก.ย.-พ.ย.อย่างอัตรา โทรทั่วไทยนาทีละ 3 บาท
อาจเป็นแค่เพดานราคา ให้แต่ละผู้ให้บริการสามารถปรับลดลงได้ตามใจชอบ แล้วแต่แผนการตลาดและการแข่งขัน
"ต่อไปไม่ต้องนาทีละ 3 บาททั่วไทยเท่ากันทุกรายก็ได้ การแข่งขันจะเริ่มสนุกและประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้น"
เร่ง 5 แสนเสร็จใน 3 เดือน
นพ.สุรพงษ์เชื่อว่าในช่วงทดลองใช้ค่าบริการใหม่ ประชาชนจำนวนหนึ่งจะตอบรับบริการดังกล่าว
และมีความต้องการติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันเลขหมายโทรศัพท์ของทศท.มีความขาดแคลนมาก
ในขณะที่โครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมายต้องรีบเดินหน้า เพราะล่าช้าไปมาก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าจะประมูลอย่างไร
ให้เกิดประโยชน์กับทศท.สูงสุด เช่นให้ได้ใช้ของดี เต็มประสิทธิภาพในราคาถูกเท่าที่จะเป็นไปได้
"ผมเชื่อว่า 5 แสนต้องเดินให้เร็วต้องจบให้เร็วผมว่า 3 เดือนยังช้าไปด้วยซ้ำ"
ทศท.กำลังเร่งโปรโมตโทรศัพท์บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้อัตราค่าบริการใหม่จาก
2 ทางเลือก ซึ่งยังได้ให้นโยบายไปว่าให้ทำแคมเปญว่าโทรศัพท์บ้านเดี๋ยวนี้ไม่ได้แพงแล้ว
ซึ่งคนจะเริ่มใช้ และต้องการโทรศัพท์มากขึ้น
ไทยโมบายต้องแก้ 3 เรื่อง
ภายใต้ความไม่ชัดเจนของทศท.ยังมีเรื่อง ไทยโมบาย ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ
190 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งบริหารภายใต้กิจการร่วมค้าทศท.กับกสท.ในสัดส่วน 58/42 ซึ่งนพ.สุรพงษ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่าต้องทำ
3 เรื่องคือ
1.เรื่องความเป็นเจ้าของ ต้องทำให้ชัดเจนว่าจะให้ทศท.ทำต่อไปคนเดียว หรือให้กสท.อยู่ต่อไป
แต่จะต้องทำอย่างไรให้ความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมไม่ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานและการบริหาร
ซึ่งคำตอบมีอยู่ในใจแล้วกำลังศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม
2.เรื่องการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเดียวหรือ 2 เจ้าของ แต่เจ้าของทั้งหมดต้องปล่อยการบริหารจัดการ
เกิดขึ้นด้วยมือผู้บริหารไทยโมบาย ตามอำนาจหน้าที่ 100% มีหน้าที่ให้เงินมา ตั้งเป้าหมายในการบริหารให้
ทำไม่ได้ก็ออกไป ไม่ใช่ทุกเรื่องต้องขออนุมัติ 2 บอร์ดตลอดเวลา "คนมาบริหารไทยโมบาย
ต้องยอมรับว่า คุณมีเป้าที่ต้องทำให้ได้ หากทำไม่ได้คุณก็ต้องออก"
3.เรื่องยุทธศาสตร์ไทยโมบาย ต้องชัดเจนว่าเทคโนโลยีจะเป็นโทรศัพท์มือถือยุคที่3
หรือ 3G หรือเป็น 2G หรือ 2.5G และถ้าเป็น 3G จะเป็นระบบไหนและมีพาร์ตเนอร์หรือไม่
"ภายใน 3 เดือนต้องจบและชัดเจนทั้ง 3 ปัญหา"
นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท.จะครบกำหนดสัญญาจ้างในเดือนพ.ย.นี้ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการเลือกกรรมการสรรหา
ปัญหาเริ่มส่อเค้าขึ้นเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงไอซีทีและประธานบอร์ดทศท.ที่ไม่ต้องการให้
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่นมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการสรรหาคัดเลือกกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ทศท. เนื่องจากประธานบอร์ดทศท.ไม่พอใจสหภาพฯ หลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่สหภาพฯ มักแฉเรื่องความไม่ชอบมาพากลในเชิงความพยายาม
ทุจริตคอร์รัปชันในองค์กร หรืออาการปีนเกลียวระหว่างผู้บริหาร อันมาจากการขัดผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง
ซึ่งที่ผ่านมาประธานบอร์ดหลายยุคหลายสมัยต่างยอมรับในบทบาทสหภาพฯ และพยายามแก้ไขสิ่งที่เป็นกระจกเงาสะท้อนภาพองค์กร
แต่สำหรับคุณหญิงทิพาวดี ประธานบอร์ด กลับเห็นว่า บทบาทสหภาพฯเป็นการทำร้ายองค์กรมากกว่าความหวังดีที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ในทางที่ดีขึ้น เจตนาประธานบอร์ดต้องการกวาดขยะไปซุกไว้ใต้พรม ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามออกมาภายนอก
คนที่ปูดข้อมูลความไม่ชอบมาพากลเพื่อหวังให้เกิดการแก้ไขกลับเป็นที่รังเกียจมากกว่าผู้บริหารที่เป็นต้นตอความไม่ชอบมาพากลด้วยซ้ำ
ย้อนหลังไปบอร์ดนายศุภชัย พิศิษฐวานิช กลับเลือกให้มีตัวแทนสหภาพฯเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่
รวมทั้งไม่คิดปิดปากสหภาพฯ แต่เลือกที่จะใช้ข้อมูลสหภาพฯในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
นพ.สุรพงษ์กล่าวว่าหากสรรหาได้คนเก่งที่สังคมยอมรับ กรรมการสรรหามาจากที่ไหน ก็ไม่สำคัญ
เหมือนกรณีที่สิงเทลเลือกคุณชุมพล ณ ลำเลียง เป็นประธานบอร์ด ก็ไม่มีใครว่าเอา
คนไทยมาเป็นประธานบอร์ดได้อย่างไร
"ผมอยากได้คนเก่ง จะเป็นลูกหม้อหรือไม่เป็นก็ได้ ไม่สำคัญ แต่ต้องทำงานฉับไว
คล่องตัวเหมือนเอกชน เพราะต่อไปการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เราต้องชักชวนคนเก่งให้มาสมัครให้มากเพราะไม่เช่นนั้นเราอาจได้แค่คนที่อยากจะเป็น
แต่ไม่มีความสามารถก็ได้"