R&Iยุ่นเพิมเครดิตไทย ชมฝีมือทักษิณ-ตราสารหนี้ระยะยาวดีขึ้น


ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เครดิตเรตติ้ง R&I จากญี่ปุ่น ปรับเพิ่มเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวไทยเป็น BBB+ ระบุ การบริหารของรัฐบาลไทย ส่งผลเกิดการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่อง ตลอดจนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งระดับหนี้สาธารณะลดลง แต่แนะไทยควรขยายฐานภาษี เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสังคมเพิ่ม ติงการปล่อยสินเชื่อแบงก์เอกชน ให้ภาคธุรกิจยังไม่ฟื้น แนะไทยเร่งปรับการแข่งขันเพิ่ม ไม่งั้นนักลงทุนยุ่นมีสิทธิซบปักกิ่งเพิ่ม คลังเตรียมออก บาทบอนด์ขายในเอเซียนบอนด์ฟันด์

ขณะที่คลังคาด S&P จากแดนมะกัน จะใช้เวลาตัดสินใจปรับเรตติ้งไทยเพิ่มอีกประมาณ 2 เดือน ส่วนฟิตช์ อิบคา จากอังกฤษ เตรียมเดินทางเก็บข้อมูลในไทยสิ้นเดือนนี้ ขณะที่มูดี้ส์ อีกเจ้าแดนมะกัน คาดเข้ามาใหม่ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า "สำนักบริหารหนี้สาธารณะ" มั่นใจ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ผ่านมา น่าพอใจ หลังเศรษฐกิจประเทศขยายตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาส

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (7 ส.ค.)ว่าภายในปลายเดือนนี้ตัว แทนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์ อิบคา จากอังกฤษ จะเดินทางเก็บข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศไทย ก่อนประเมินผลเพื่อปรับอัน ดับความน่าเชื่อถือไทย

ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P)จากแดนมะกัน คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะประกาศเป็นทางการ ส่วนตัวแทนมูดี้ส์ เพื่อนร่วมชาติมะกัน เดินทางเข้ามาแล้วต้นปีนี้ ซึ่งอาจกลับมาใหม่อีกครั้งภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

"แนวโน้มที่สถาบันเหล่านี้ จะปรับเครดิตของเราหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ โดยจะพิจารณาจากความต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศเราเป็นหลัก ซึ่งจากการชี้แจงข้อมูลในช่วงที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง มาตลอดในช่วง 3 ไตรมาส" นางพรรณีกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างประเทศเหล่านี้ ยังห่วงปัญหาการเงิน และสถาบันการเงินในประเทศ ซึ่งยังคงมีปัญหามาก โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคธุรกิจแท้จริงยังคงมีน้อย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว

อันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบัน 3 แห่ง คือ เอสแอนด์พี มูดี้ส์ และ ฟิตช์ อิบคา ยังคงจัดอันดับ ตราสารหนี้ระยะยาวของประเทศไทย BBB-

R&I เพิ่มเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวไทย

นางพรรณี เปิดเผยวานนี้ว่า บริษัท Japan Rating & Investment Information, Inc. (R&I) ประกาศผลวิเคราะห์เครดิตประเทศไทย โดยคณะกรรมการจัดระดับเครดิต (Rating Committee) ปรับเพิ่มระดับเครดิตตราสารหนี้ ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ( Foreign Currency Long Term Credit Rating ) จาก BBB เป็น BBB+ โดยมีแนวโน้มเครดิตระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ a-2

R&I ให้เหตุผลปรับเพิ่มระดับเครดิตดังกล่าว จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ในไทย ภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งผลเกิดการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศอย่างรวดเร็ว เก็บรายได้ของภาครัฐสูงขึ้นมาก หนี้สาธารณะลดลงเห็นได้ชัด และระบบการเงินประเทศมีเสถียรภาพ

R&I เชื่อว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยภายนอกจะมีผลน้อยลง อีกทั้งเสถียรภาพการเมือง ทำให้การดำเนินนโยบายมีประสิทธิภาพ ประเทศไทย ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งช่วยส่งเสริมการกู้เงินภายในประเทศ และทำให้การก่อหนี้ต่างประเทศลดลง

แนะขยายฐานภาษี-เพิ่มความสามารถแข่งขัน

R&I ให้ความเห็นว่า ไทยควรขยายฐานภาษี เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสังคมที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบประกันสังคม ส่วนการขจัดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ระบบสถาบันการเงินไทย ถือว่าเกือบสมบูรณ์ แล้ว

แต่การปล่อยสินเชื่อธนาคารเอกชนให้ภาคธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร R&I ให้ข้อสังเกตว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทย ประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับมาเลเซีย เพราะขาดอุตสาหกรรมก่อเกิดมูลค่าเพิ่มสูง ดังนั้นระยะยาว การลงทุนจากต่างประเทศ เช่น จากญี่ปุ่นจะกระจุกตัวที่จีน หากไม่เร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

"กระทรวงการคลังเห็นว่า การปรับระดับเครดิตโดย R&I ครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนในตลาด เงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น มีความเชื่อมั่นในเครดิตของประเทศไทยสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนการกู้เงินในตลาดเงินทุนต่างประเทศ เพราะอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าระดับเครดิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" นางพรรณีกล่าว

คลังเตรียมออกบาทบอนด์ขายในเอเซียนบอนด์ ฟันด์

นางพรรณีกล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดจะออกตราสารหนี้สกุลเงินบาท เพื่อเสนอขายเอเซียน บอนด์ ฟันด์ ความเป็นไปได้ อาจกู้เพื่อชดเชยความ เสียหายกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนระยะเวลาแน่นอน ขึ้น กับการประชุมผู้นำกองทุนฯนี้ ว่าจะมีความคิดเห็น เช่นไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.