|
PTTCHหั่นรายได้เหลือ8.5หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.เคมิคอลหั่นเป้ารายได้ปีนี้ลดลงเหลือ 8.5 หมื่นล้านบาท หายไปเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท และเตรียมทบทวนเป้าหมายรายได้ปีหน้าลงด้วย หลังดีมานด์ช็อก ลูกค้าหยุดซื้อเม็ดพลาสติก ฉุดราคาหล่นวูบตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ คาดเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว เผยไตรมาสนี้หยุดซ่อมบำรุงโรงงานเร็วขึ้นทั้งโรงโอเลเฟล็กซ์และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกHDPE หวังเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตรับมือวิกฤตการเงินโลกในปีหน้า
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ลดลงจาก 9.97 หมื่นล้านบาทเหลือ 8.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากความต้องการเม็ดพลาสติกลดฮวบอย่างหนัก ขณะเดียวกันราคาโอเลฟินส์และเม็ดพลาสติกHDPE ปรับตัวลดลงอย่างด้วยตามทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว หากราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพหรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกก็จะฟื้นตัวขึ้นมา
นอกจากนี้ บริษัทฯเตรียมทบทวนปรับลดเป้าหมายรายได้ในปี 2552 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.22 แสนล้านบาท เนื่องจากปัจจัยลบภายนอก คงต้องมีการหารือกับคณะกรรมการบริษัทฯก่อน เพราะทิศทางราคาปิโตรเคมีในปีหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ตอบได้ยาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด และรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากมาร์จินปิโตรเคมีปรับลดลงมาก เชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็คงอยู่ได้ยาก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเนื่องจากสต็อกเม็ดพลาสติกลดมูลค่าลง และดีมานด์ช็อก ลูกค้าหยุดสั่งซื้อ ทำให้ผู้ผลิตที่มีสายป่านสั้นอยู่รอดได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมา หากส่วนต่างราคาโอเลฟินส์กับแนฟธาต่ำกว่า 250 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็จะมีการหยุดผลิต ทำให้ซัฟพลายหายไปช่วยดึงราคาขึ้นมา
ปัจจุบันราคาเม็ดพลาสติกHDPEได้ปรับลดลงอย่างฮวบฮาบอยู่ที่ 700เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากไตรมาส 3/2551ราคาเฉลี่ยตันละ 1,400-1,500 เหรียญสหรัฐ ฉุดให้ส่วนต่างราคาเอทิลีนกับแนฟธา(สเปรด)ปีนี้ลดลงอยู่ที่ 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน สเปรดโพรพิลีน 424 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสเปรดเม็ดพลาสติกHDPE อยู่ที่ 630 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ปิดซ่อมรง.เร็วขึ้นในQ4
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ผนวกความต้องการใช้เม็ดพลาสติกที่หดหายไปในช่วงนี้ บริษัทฯตัดสินใจเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานเร็วขึ้น โดยไตรมาส 4 นี้ จะหยุดซ่อมบำรุงโรง I1 โอเลเฟล็กซ์ ยูนิตเป็นเวลา 69 วัน โรงงานI4-1 อีก 62 วัน โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกHDPEทั้ง 2 แห่ง16-27 วัน ส่วนโรง I4-2 ปิดซ่อมตามปกติ 50วัน
ซึ่งการปิดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกHDPE ครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนผลิต รวมทั้งมีแผนจะใช้แนฟธาเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นขณะที่แนฟธาราคาถูกลงมาก แต่ทั้งนี้จะคำนึงถึงผลตอบแทนสูงสุด โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทใช้แนฟธาเป็นวัตถุดิบ 14%
" วิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถือเป็นปัจจัยภายนอกแต่ส่งผลกระทบทำให้รายได้หายไป ผู้ประกอบการที่อยู่ได้จำเป็นต้องมีต้นทุนต่ำ ภาระหนี้สินน้อย "
ส่วนแผนการลงทุนในปีหน้า ยังคงเดินหน้าสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามเดิมทั้งโรงโอเลฟินส์แครกเกอร์ 1 ล้านตัน โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก 3โรง ส่วนโครงการเล็กก็จะมีการทบทวน คาดว่าปี 2552 ใช้เงินลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท
นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นและการเข้าสู่วัฎจักรขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้โครงการลงทุนเอทิลีนแครกเกอร์แห่งใหม่ในตะวันออกกลางและจีนประกาศเลื่อนโครงการออก จากเดิมที่จะแล้วเสร็จในปีหน้าประมาณ 3 ล้านตัน โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกHDPE เลื่อนแล้วเสร็จในปี 2552 ออกไป 1.2 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยลดการแข่งขันที่รุนแรงลงระดับหนึ่ง
เสนอขายหุ้นกู้หมื่นล.1-3 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เสนอขายให้กับสถาบันและประชาชนรายย่อยขั้นต่ำ 1แสนบาท อายุหุ้นกู้ 5ปี และ 7ปี โดยจะทำบุคบลิวด์เพื่อจัดสรรวงเงินหุ้นกู้สำหรับสถาบันและรายย่อยเท่าไร รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ด้วย
หุ้นกู้ดังกล่าวจะเสนอขายผ่านธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย และบล.ทิสโก้ ในวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ โดยบริษัทฯได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ A+
ก่อนหน้านี้ บริษัทฯมีแผนจัดหาเงินทุนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้จะออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้านบาท และที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกู้เงินสถาบันหรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีหน้า ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะใช้ลงทุนโครงการตามแผนลงทุน 5ปีมูลค่า 1แสนล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|