ลุยตปท.ระวังค่าเงิน หันซื้อหุ้นไทยดีกว่า


ผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท. แจงวงเงินลงทุนต่างประเทศล่าสุด ออกไปลงทุนแล้ว 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ระบุนักลงทุน ยังมีโอกาสลงทุนทั่วโลก แต่แนวโน้มหลังจากนี้ อาจจะชะลอลงหลังภาวะการลงทุนไม่เอื้อ ด้านผู้จัดการกองทุนย้ำ ต้องให้ความสำคัญกับค่าเงิน โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ ต้องเฮจด์อย่างน้อย 65% ป้องกันขาดทุน พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนทั่วโลก ต้องผ่านอีทีเอฟ และลงทุนตรงสำหรับภูมิภาคเอเชีย ส่วนนักลงทุนชื่อดัง ห่วงความเสี่ยงไม่คุ้มผลตอบแทน ชูตลาดหุ้นไทยน่าสนใจกว่า

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "การลงทุนในต่างประเทศ :หาโอกาสจากวิกฤต"ว่า ในปัจจุบันนักลงทุนไทยยังเหลือช่องทางที่จะเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้อีก 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ธปท.ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรรเงินลงทุนในวงเงินที่ธปท.กำหนด จำนวน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้ลงทุนทั้งบุคคลทั่วไปและบุคคลสถาบัน โดยพบว่าที่ผ่านมานักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศใช้วงเงินไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงมีโอกาสลงทุนอีก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่เหลือ

"ตั้งแต่ ธปท.ได้มีการผ่อนคลายกฎในการไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตั้งแต่กลางปี 2550 เป็นต้นมา ก็ทำให้วงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มจาก 3,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกลางปีก่อน เพิ่มมาเป็น 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน"

ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกมีมูลค่าตลาดรวมถึง 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าตลาดรวมของไทยคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าตลาดรวมโลกเท่านั้น ดังนั้น การลงทุนต่างประเทศจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน รวมถึงช่วยให้การไหลเข้าออกของเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยจะเป็นฝ่ายรับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีการไหลเข้าออกของเงินทุนก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มีกองทุนต่างประเทศหลายกองทุนต้องยกเลิกการระดมทุน อาจจะมีวงเงินกลับมาบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขว่ามีวงเงินกลับมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะทางก.ล.ต.เอง มีกำหนดระยะเวลาในการดึงเงินกลับคืนมา

"การลงทุนในต่างประเทศในช่วงนี้อาจจะชะลอตัวลงบ้าง เพราะปัจจุบันตลาดไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ดังนั้น ความสนใจในการลงทุนจึงอาจจะไม่สูงเท่าอดีตที่ผ่านมา"นางอลิศรา กล่าว

นายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด กล่าวว่า อยากให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของกองทุน โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งหากจะลงทุนจริง แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงอย่างน้อย 65% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา เช่นการลงทุนในพันธบัตรของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 6-7% แต่ปรากฏว่าค่าเงินของทั้งสองประเทศติดลบไปกว่า 30% แล้ว ดังนั้น ผลตอบแทนจึงไม่คุ้ม

อย่างไรก็ตาม หากสนใจลงทุนในหุ้นตอนนี้โดยเฉพาะหุ้นในอเมริกา อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะเชื่อว่าตลาดสหรัฐจะยังไม่ดี เนื่องจากเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของอเมริกาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะค่าเงินยูโร เงินปอนด์ และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงค่าเงินบาทด้วย ดังนั้น หากลงทุนในช่วงนี้ อาจจะได้กำไรจากค่าเงินเป็นของแถมกลับมา

นายศุภกรกล่าวว่า สำหรับคนที่ต้องการลงทุนต่างประเทศ ต้องเข้าใจก่อนว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด หรือลงทุนในประเทศใด ซึ่งข้อดีของการลงทุนต่างประเทศคือ มีทางเลือกการลงทุนที่มากกว่า เซกเตอร์การลงทุนที่มากกว่า และเมื่อรู้แล้วว่าจะลงทุนอะไร ก็ค่อยถามตัวเองว่าจะออกไปลงทุนตรงหรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำว่าถ้าหากต้องการลงทุนทั่วโลก ให้ลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟจะเหมาะสมกว่า ส่วนนักลงทุนที่จะลงทุนในเอเชีย ก็น่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง

สำหรับการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ที่นักลงทุนกังวลในช่วงนี้ เชื่อว่าเงินสำรองของเกาหลีใต้ยังเพียงพอกับการชำระหนี้ระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีขึ้นไปได้ มีเพียงหนี้ระยะยาวเท่านั้นอาจจะน่าเป็นห่วง ซึ่งกองทุนที่เปิดขายในบ้านเราเอง ก็มีอายุไม่ยาวมากนัก

นายนิเวศน์ เหมวชิรวราการ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชื่อดังของเมืองไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนต่างประเทศยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากกำไรที่เกิดจากการลงทุน รวมถึงต้นทุนที่ต้องจ้างโบรกเกอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงค่าเงินที่ต้องรับความเสี่ยงด้วย บางทีลงทุนได้กำไร แต่หายไปหมดหลังจากแลกเป็นเงินบาทแล้ว ซึ่งหากบุคคลธรรมดาจะออกไปลงทุน ต้องเจอข้อจำกัดเหล่านี้หมด และหากเทียบกับการลงทุนในประเทศแล้ว ยังเห็นว่าน่าสนใจมากกว่า

"การลงทุนต่างประเทศเหมือนการเก็บแบงก์ 20 บาท บนถนนวิภาวดีรังสิตที่มีรถวิ่งพลุกพล่าน มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะถูกรถชน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้มกับเงิน 20 บาท เช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศที่ดูจะเสี่ยงไปหมด เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้มา"นายนิเวศน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการลงทุนในต่างประเทศจะไม่น่าสนใจไปทั้งหมด เพราะการลงทุนในกองทุนรวมถือว่าช่วยลดความยุ่งยากให้ผู้ลงทุนได้ ภาษีก็ไม่ต้องจ่าย ขณะเดียวกันยังมีผู้จัดการกองทุนที่คอยดูแลการลงทุนให้ด้วย ทั้งนี้ หากในอนาคต มีการเปิดโอกาสการลงทุนในต่างประเทศที่มีข้อจำกัดน้อยลง ก็น่าจะเพิ่มความน่าสนใจได้มากขึ้น

นายนิเวศน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนทั่วโลกถือว่าน่าสนใจ แต่ตลาดหุ้นไทยเองก็ปรับลดลงมาแล้วถึง 50% ซึ่งแม้ว่าจะลงมากกว่าในสหรัฐ แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีรวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐเองเคยลดลงไปถึง 90% ถึงแม้วิกฤตครั้งนี้จะลงไป 30% ก็ตาม แต่เราก็คาดเดาไม่ได้ว่าจะลงไปอีกหรือไม่ ในขณะที่ตลาดหุ้นไทย เรารู้ข้อมูลการลงทุน ซึ่งการที่ตลาดลงไปถึง 50% แล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เยอะกว่า

"จริงแแล้วตลาดหุ้นไทยได้เปรียบการประเทศอื่นค่อนข้างมาก บ้านเราพึ่งพาน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้เราได้ประโยชน์จากราคาม้ำมันที่ลดลง ประกอบการบ้านเราไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้น คนที่ฟองสบู่แตกน้อยที่สุด คือคนที่เจ็บตัวน้อยที่สุด ซึ่งถ้านักลงทุนต่างประเทศเห็นเรื่องนี้ ก็จะกลับเข้ามา แล้วเขาก็จะเห็นว่าแท้จริงแล้วประเทสไทยไม่ได้เสียหายอะไรเลย เพียงแต่กลัวเท่านั้น"นายนิเวศน์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.