เลิกใช้สาร CFCs ใน 10 ปีข้างหน้าผู้ผลิตเครื่องเย็นสะเทือนหนัก

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายใน 10 ปีข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิต CFCs จะเลิกผลิตหมดทั่วโลก ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตตู้เย็น แอร์ คอมเพรสเซอร์ และชิ้นส่วนในบ้านเรา เตรียมตัวลงทุนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับอุปกรณ์การผลิตให้เข้ากับปฏิกิริยาทางเคมีของสาร HFC-134 A ที่จะมาแทน CFC-12 ที่ใช้อย่างแพร่หลายในแอร์และตู้เย็น

เวลาไปพักผ่อนชายทะเล คุณจะเห็นคนจำนวนมาก นิยมอาบแดด หรือเล่นน้ำทะเลกลางแดดเจิดจ้า ด้วยความเชื่อว่าแสงแดดจะทำให้สีผิวพรรณถูกแสงแดดจะทำให้สีผิวสวยงามและเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

หารู้ไม่ว่ายิ่งคุณปล่อยให้ผิวพรรณถูกแสงแดดแผดเผามากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสให้ผิวหนังเป็นมะเร็ง (SKIN CANCER) มากขึ้นเท่านั้น ความข้อนี้ได้ถูกสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯเมื่อปี 2517 ที่บอกว่า สาร CFCs (CHLORO FLUORO CARBONS) ที่อยู่ในบรรยากาศของโลกมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการทำลายชั้นโอโซนเนื่องจากโมเลกุลของคลอไรด์ที่อยู่ในสาร CFCs ที่ระเหยออกไป เมื่อลอยออกไปสู่บรรยากาศระดับความสูงพื้นผิวโลก 10 ถึง 24 กิโลเมตร จะไปทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศทำให้เกิดหลุมกว้างและเป็นช่องโหว่ให้แสงอุลตราไวโอเลต - บี ส่องผ่านมาสู่พื้นผิวโลกอย่างเต็มที่ และเมื่อมนุษย์บนพื้นผิวโลก ได้รับแสงแดดอุลตราไวโอเลต-บีนี้มาก ๆ จะเกิดอันตรายต่อเซลที่ผิวหนัง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลให้บริษัทผู้ผลิตสาร CFCs รายใหญ่ของโลก เช่น ดูปองต์ไอซีไอ เฮริกซ์ บาฟ (BASF) และอาซาฮีต้องทุ่มเทเงินทุนมหาศาลเพื่อวิจัยและพัฒนาสารตัวอื่นมาทดแทน

ที่ประชุมกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP) ได้ตกลงร่วมกันเมื่อ 16 กันยายน 2530 ที่กรุงมอนทรีออล แคนาดา (MONTREAL PROTOCOL) จะสั่งให้บริษัทผู้ผลิตในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเลิกผลิตสาร CFCs โดยเฉพาะ CFC-11, CFC-12 และ CFC-113 ในปี 2543 โดยก่อนหน้านี้จะค่อย ๆ ลดการผลิตและใช้สาร CFC-11, CFC-12 และ CFC-113 เป็นช่วง ๆ ไป

"การลดปริมาณการผลิตและใช้ CFC-11, CFC-12, CFC-113 จะยึดปริมาณการผลิตและการใช้ของปี 2529 เป็นเกณฑ์โดยกลางปี 2536 บริษัทผู้ผลิตจะลดการผลิตลงเหลือจำนวนเท่ากับ 90% ของปี 2529 และ 65% ของปี 2529 ในกลางปี 2541 จนกระทั่งยกเลิกผลิตไปเลยในปี 2543 ส่วนการใช้ กลางปี 2536 จะลดปริมาณการใช้ลงเหลือ 80% ของปี 2529 และ 50% กลางปี 2541 จนเลิกใช้ไปเลยในปี 2543" ข้อตกลงของ MONTREAL ROTOCOL ระบุไว้เช่นนี้

ประเทศผู้ผลิตสาร ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนีตะวันตก สหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างก็ได้ให้สัตยาบันแก่ UNEP ไปแล้วตั้งแต่ปี 2531 ขณะที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้ใช้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันแก่ UNEP แต่ได้ลงนามรับรองข้อตกลง MONTREAL PROTOCOL ไปแล้วเมื่อ 16 กันยายน 2531

ถ้าหากประเทศไทยไม่ให้สัตยาบันจะมีผลเสียหายแก่อุตสาหกรรมทำความเย็นและอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากเพราะสาร CFC-11, CFC 12 และ CFC-113 มีอัตราการเติบโตใช้ถึงปีละ 15% จากจำนวนการใช้ปี 2531 ตก 4,000 ตัน จะถูก UNEP บีบบริษัทผู้ผลิตห้ามขายให้กับประเทศไทยทันที

" CFC-11 เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสหกรรมประเภท AEROSOL พวกสเปรย์ฉีดผม สเปรย์น้ำหอม (AIR-REFRESHER) CFC-12 เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมประกอบตู้เย็น แอร์-คอนดิชันทั้งในบ้านและรถยนต์ และอุตสาหกรรมประกอบคอมเพรสเซอร์ ส่วน CFC-113 เป็นสารเคมีพวก SOLVENT ใช้ล้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์" ผู้บริหารตลาดกลุ่มสินค้า CFCs ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากบริษัทผู้ขาย ไม่ขายให้ประเทศไทย

ผลก็คือ อุตสาหกรรมผลิต/ประกอบตู้เย็น แอร์-คอนดิชั่น คอมเพรสเซอร์ ที่มีมูลค่าผลผลิตปีละ 5,000-5,100 ล้านบาท (ตัวเลขปี 2531) จะเสียหายทันที เนื่องจากขายไม่ออก เพราะผู้ซื้อในตลาดไม่รู้จะซื้อไปทำไม เนื่องจากไม่มีสารทำความเย็น

อุตสาหกรรมต่อเนื่องพวกชิ้นส่วนเช่น ท่อทองแดง MAGNET WIRE โฟมแข็ง RIGID FOAM ที่เป็นฉนวนกันความร้อนในตู้เย็นและเหล็กหล่อ ซึ่งมีมูลค่าผลผลิตปีละ 600 ล้านบาท (ตัวเลขปี 2531) จะได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่มีตลาดอุตสาหกรรมประกอบคอมเพรสเซอร์ ตู้เย็นรองรับ

"บริษัทสยามอิเล็คทริคซึ่งผลิต MAGNET WIRE บริษัทบางกอกโฟม ซึ่งผลิต RIGID FOAM บริษัทสยามนวะโลหะซึ่งผลิตเหล็กหล่อ ล้วนแต่มีตลาดอยู่ที่อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทำความเย็นพวกตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ แอร์-คอนดิชั่นได้รับความเสียหายแน่ ถ้าหากว่าไม่มีสาร CFCs ใช้" วิศวกรของบริษัทผลิตตู้เย็นรายหนึ่งปรารถกับ "ผู้จัดการ" ถึงผลกระทบของสาร CFCs ในอุตสาหกรรมของไทย

แม้ข้อตกลงที่มอนทรีออลจะระบุว่าห้ามใช้สาร ต่อประชากรเกิน 0.5 กก. และไทยมีอัตราใช้เพียง 0.03 กก./คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่ภายใน 10 ปีข้างหน้า (2543) ไม่ว่าไทยจะใช้ถึง 0.5 กก./คนหรือไม่ ก็จะไม่มีสิทธิ์ใช้สาร CFCs นี้ใช้อีกต่อไป

ปัจจุบันการใช้สาร ในไทยกว่า 70% เป็น CFC-11 และ CFC-12 อีก 25% เป็น CFC-113

"CFC-113 พวก SOLVENT ที่เป็น CLEANING AGENT ผู้ใช้รายใหญ่คือบริษัทประกอบชิ้นส่วนดิสก์ไดร์ฟอย่างบริษัทซีเกท, ไมโครโพลิส เอ็น.เอส. เซมิคอนดัคเตอร์ โรงงานประกอบรถยนต์นิสสันเอ็นเล็ด เอ็ลเท็ก เป็นต้น เขาใช้สารนี้พ่นล้างทำความสะอาดอุปกรณ์สินค้าพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การเติบโตการใช้เฉลี่ยปีละ 20% เป็นอย่างต่ำ" แหล่งข่าวในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ประเด็นที่สำคัญคือ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า บริษัทผู้ผลิตอย่างดูปองต์ซึ่งเป็นเจ้าตลาดและเจ้าของเทคโนโลยีสาร CFCs จะผลิตสารอะไรมาทดแทน CFCs โดยเฉพาะ CFC-11, CFC-12 และ CFC-113 โดยคงคุณสมบัติ 3 ประการไว้คือ หนึ่ง - ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ สอง - ไม่กัดกร่อนอุปกรณ์เครื่องใช้ สาม - ไม่ติดไฟ และที่มีคุณสมบัติเหนือกว่านี้อีก 2 ประการที่ CFCs ไม่มีคือ ไม่ทำลายชั้นโซน และทำให้ต้นทุนการปรับขบวนการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมทำความเย็นมีน้อยที่สุด

จากการสืบค้น "ผู้จัดการ" ทราบว่า ขณะนี้บริษัทดูปองต์ที่สหรัฐฯได้ลงทุนไปแล้วเฉพาะตัวโรงงาน 30 ล้านเหรียญเพื่อเป็น PILOT PLANT ในการผลิตสาร HYDRO FLUORO CARBONS (HCF) เกรด 134A เพื่อใช้ทดแทน CFC-12

"ความจริง CFC-12 สามารถใช้ CFC-22 มาใช้แทนได้คุณสมบัติมีครบทุกประการ แถมทำลายชั้นโอโซนน้อยมากเพียง 0.05 ส่วนต่อ BILLION PER VOLUME (PPV) เพียงแต่ว่า CFC-22 มีแรงอัด (PRESSURE) สูงกว่า CFC-12 เท่านั้น ซึ่งในแง่คุณสมบัติของสาร CFC-22 เช่นนี้ ผู้ผลิต/ประกอบอุปกรณ์ทำความเย็น อาจต้องเปลี่ยนขนาดของอุปกรณ์ (COMPONENTS) ใหม่ให้ทนทานต่อแรงอัดที่เพิ่มขึ้น" สุเมธ สิมะกุลธร ประธานกรรมการบริหารบริษัทผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น - กุลธร เคอบี้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่การเปลี่ยนสารทดแทน CFC-12 ทางดูปองต์คำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการเปลี่ยนขบวนการผลิตอุปกรร์เครื่องใช้ให้น้อยที่สุดมากเป็นอันดับสำคัญ เฉพาะในสหรัฐฯ มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวของกับความเย็นจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 135,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ต้องถูกดัดแปลงขบวนการผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับสารตัวใหม่ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ที่เวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถคำนวณตัวเลขเงินลงทุนใหม่ได้ว่าเป็นเท่าไร

"ที่รู้แน่ ๆ ในอุตสหากรรมคอมเพรสเซอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาดของวาล์วแบบ และขนาดลูกปั๊มและน้ำมันหล่อลื่นในกระบอกสูบต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ทางบริษัทเทคัมเช่ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอมเพรสเซอร์ระบบ HERMATIC จะเป็นผู้ออกแบบสเป็กเอง โดยจะกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น TEXAS INSTRUMENT, GENERAL MOTOR ผลิตตามแบบ" สุเมธ สิมะกุลธร ประธานกรรมการบริหารกุลธรเคอบี้กล่าว

บริษัทกุลธร เคอบี้ ประกอบอุตสาหกรรมด้านคอมเพรเซอร์ โดยใช้ KNOW-HOW จากเทคัมเช่ สหรัฐฯ ในลักษณะการเช่าสัญญาเทอมละ 5 ปี มาตั้งแต่ปี 2525 ผลิตคอมเพรสเซอร์ระบบ HERMATIC โดยใช้ LOCAL CONTENT ถึง 70% จำนวนปีละ 500,000 ลูก ป้อนให้อุตสาหกรรมห้องเย็นขนาดเล็ก, ตู้เย็นในประเทศ

สุเมธ สิมะกุลธร แห่งบริษัทกุลธรเคอบี้กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเครื่องทำความเย็นในบ้านเรามีแน่ แต่ผู้ผลิตก็ยังไม่สามารถเตรียมตัวทำอะไรได้มากนัก เพราะหนึ่ง - สเป็กแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่จะใช้ในตู้เย็นดี คอมเพรสเซอร์ก็ดี ทางเทคัมเช่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรอแบบทางเทคัมเช่ส่งมาให้ ทางผู้ผลิตไทยเป็นแต่เพียงผลิตตามแบบเท่านั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีถึงจะรู้ผล สอง - ผู้ผลิตไทยไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การผลิตอุปกรณ์ทำความเย็นใด ๆ เลย จึงไม่สามารถลงทุนทำการวิจัย และพัฒนาขบวนการผลิตอะไรได้

เหตุผล 2 ประการนี้ เมื่อโยงเข้ามาพิจารณาจากอุตสาหกรรมประกอบตู้เย็นซึ่งมีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่ลงทุนร่วมกับกลุ่มคนไทยอยู่ 4 กลุ่ม เป็นเจ้าตลาออยู่คือ เนชั่นแนล (กลุ่มมัตซูชิตะ) โตชิบา (ร่วมทุนกลุ่มสุริยะสัตย์) ชาร์ป (ร่วมทุนกับกลุ่มศรีบุญเรือง) ซันโย (ร่วมทุนกับกลุ่มโอสถานุเคราะห์) ก็เห็นชัดขึ้นในท่าที่ที่เหมือนกัน เพราะขนาดท่อทางเดินน้ำยาที่ติดอยู่หลังตู้เย็น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รับน้ำยาที่ติดอยู่หลังตู้เย็น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รับน้ำยาจากท่อทางเดินน้ำยาคอมเพรสเซอร์เข้าสู่ตัวตู้เย็น ยังต้องนำเข้าจากบริษัทผู้ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งตรงจุนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงแบบและขนาดของท่อใหม่ให้สามารถรับแรงดันจากน้ำยาความเย็น HCF-134 A ใหม่

"ชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบตู้เย้นเรายังต้องพึ่งชิ้นส่วนจากต่างประเทศประมาณ 40% ในประเทศ 60% ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบความเย็นทั้งหมดยังต้องนำเข้าถ้ามีการเปลี่ยนน้ำยาตัวใหม่แทน CFC-12 ระบบการผลิตก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะแบบและขนาดของชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบความเย็น ซึ่งจุดนี้ก็ต้องรอให้บริษัทผู้ผลิตทางญี่ปุ่นกำหนดสเปคมา เรามีหน้าที่ประกอบตาม" วิศวกรของบริษัทซันโย อิเล็คทริคผู้ผลิตตู้เย็นรายใหญ่ของไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงจุดที่ต้องปรับการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมประกอบตู้เย็น

ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท หาญเอ็นจิเนียริ่ง ผู้นำเข้าคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรมห้องเย็นขนาดใหญ่ ได้ยืนยันยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า เมื่อขบวนการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องทำความเย็น มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น แอร์ คอมเพรสเซอร์ ก็ต้องแพงขึ้น จุดนี้สอดคล้องกับผู้บริหารระดับสูงในดูปองต์ประเทศไทยที่กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า มันหลีกเลี่ยงได้ยาก ขนาดตัวน้ำยา HFC-134 A เอง ราคาก็แพงกว่า CFC-12 ถึงอย่างน้อย ๆ 4 เท่าตัวราคา CFC-12 ตกกิโลกรัมละ 70 บาท ถ้า HFC-134A แพงกว่า 4 เท่า ก็จะตกประมาณ ก.ก.ละ 280-300 บาท เหตุผลที่น้ำยาแพงกว่าก็เพราะคุณสมบัติมันดีกว่า ขณะที่ตลาดคือบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ความเย็นไม่มีทางเลือกที่จะใช้สารอื่นแทน

การปฏิวัติทางเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมทำความเย็นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของตลาดเป็นต้นเหตุ แต่มาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังตื่นตัวพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีเอาไว้

ในขณะที่ผู้ผลิตไทยยังไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพัฒนาอุตสากรรมทำความเย็นได้เอง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก จึงเป็นมิติใหม่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจในการลงทุนทางการผลิตอย่างช่วยไม่ได้

อุตสาหกรรมที่จะได้รับกระทบค่อนข้างหนักจากการเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิตด้วยสาเหตุนี้คงไม่ใช่อุตสาหกรรมผู้ประกอบเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์คอนดิชั่น เพราะเงินลงทุนต่ำเพียง 1-2 ล้านบาทก็สามารถทำอุตสาหกรรมประกอบแอร์ได้

แต่เป็นอุตสาหกรรมประกอบคอมเพรสเซอร์ และตู้เย็น ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงเป็นระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป ยกตัวอย่างบริษัทกุลธรเคอบี้ ลงทุนผลิตคอมเพรสเซอร์ระบบ HERMATIC ลงทุนไปแล้ว 500 ล้านบาท โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตทั้งหมดจากบริษัท เทคัมเช่โปรดักซ์ สหรัฐ

ขบวนการผลิตแต่ละขั้นที่นำมาประกอบเป็นคอมเพรสเซอร์ ขนาและแบบชิ้นสวนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในคอมเพรสเซอร์ต้องได้มาตรฐาน เพราะเป็นระบบไฮ-เทค

ดังนั้นการเปลี่ยนขนาดและแบบของอุปกรณ์ชิ้นส่วนจึงใช้เงินลงทุนสูงมากในการปรับปรุงระบบเครื่องจักรใหม่ให้เหมาะสมกับขนาด และแบบของชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้แล้ว บริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องาพวกชิ้นส่วนบางประเภทที่ใช้อุตสาหกรรมทำความเย็น เช่น ท่อทองแดง (MAGNETIC WIRE) เหล็กหล่อฉนวนความร้อน RIGID FOAM ที่มีผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ อย่าง สยามอิเล็กทริค สยามนวโลหะและบางกอกโฟม ก็ต้องลงทุนปรับระบบเครื่องจักรใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ มีขนาดและแบบตรงตามความต้องการสเปคของตลาดผู้ผลิตตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์ ยกตัวอย่าง MAGNET WIRE ต้องเปลี่ยนขนาดท่อให้ใหญ่ และมีขนาดยาวขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนสารเคลือบทองแดงใหม่ให้สามรถทนทานต่อแรงอัด (PRESSURE) ของน้ำยาตัวใหม่

สูญเสียเงินลงทุนปรับระบบการผลิตกันใหม่อีกเท่าไร่ เวลานี้ยังหาคำตอบไม่ได้ แม้แต่บริษัทดูปองต์ ซึ่งเป็นเจ้าต้นตำรับผลิตน้ำยา CFCs ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมทำความเย็นทั้งหลายจะใช้เงินลงทุนกันเท่าไร

การปฏิวัติทางเทคโนโลยีด้วยเหตุผล เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวแล้วมีผลย้อนมาเล่นงานอุตสาหกรรมทั้งหลายต้องให้มีการลงทุนปรับระบบการผลิตใหม่ เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดนักสำหรับนักอุตสาหกรรมทั้งหลาย

กรณีสาร CFCs ไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นกรณีศึกษาหรือบทเรียนสำหรับนักอุตสาหกรรมเครื่องเย็นในบ้านเรา ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันก็เจอมาแล้วในกรณีการลดสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.