โครงการบ้านนายพลส่วนผสมของธุรกิจกับสวัสดิการ

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

จากจิตสำนึกอันแรงกล้าของนักการทหารอย่าง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องการให้ทหารหาญของกองทัพนี้มีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองเมื่อยามแก่เฒ่า เข้ามาผนวกผสมกับความสำนึกอันเสียสละสูงส่งของนักธุรกิจอย่าง วิชัย กฤษดาธานนท์ ได้ก่อให้เกิดโครงการ "บ้านนายพล" ขึ้นมาเป็นรูปร่าง อันเป็นการผสมผสานกันระหว่างธุรกิจกับสวัสดิการเพื่อให้เป้าประสงค์ของทั้งสองฝ่ายบรรลุผล และจะได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทหารกับนักธุรกิจนั้นเข้ากันได้อย่างกลมกลืนแค่ไหน การขึ้นมาเป็นผู้นำของกองทัพของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดในห้วงสองปีเศษได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกองทัพไม่น้อยทีเดียว

ไม่เฉพาะด้านยุทธศาสตร์และการปรับปรุงกองกำลังเท่านั้น ด้านขวัญกำลังใจและสวัสดิการของเหล่าทหารที่นอกเหนือไปจาก "สิทธิกำลังพล" ซึ่งได้รับเป็นปกติ เช่นข้าราชการทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลฟรีทั้งครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตรธิดา และบ้านพักหรือค่าเช่าบ้านในกรณีที่ไม่มีบ้านพักเป็นต้น

พลเอกชวลิตยังได้พยายามสรรหาเพิ่มเติมให้เกิดความเพียงพอในส่วนที่ขาดวิ่นไป โดยวิธีการที่จะรบกวนงบประมาณของรัฐให้น้อยที่สุด

"คุณก็รู้ว่าสวัสดิการสำหรับข้าราชการนั้นมันกระท่อนกระแท่นเหลือเกินเพราะข้อจำกัดในด้านงบประมาณของรัฐ" นายทหารระดับเสนาธิการคนหนึ่งเอ่ยกับ "ผู้จัดการ"

ความพยายามที่จะไม่รบกวนงบประมาณของรัฐนั้น พลเอกชวลิตได้นำรูปแบบของธุรกิจเอกชนเข้ามาใช้ผสมผสานให้กลมกลืนกันที่สุดกับรูปแบบของสวัสดิการ ความหมายก็คือว่าลดการการค้าเอากำไรตามแนวทางธุรกิจของผู้ประกอบการลงมาพบกับการยอมเสียสละส่วนของตัวเองบ้างของข้าราชการ เพื่อแลกกับสวัสดิการที่จะได้มาก ต่างกับสวัสดิการที่ให้กันฟรี ๆ

การจัดทำโครงการประกันชีวิตทหารขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มความคุ้มครองการสูญเสียของทหารหาญขึ้นมาให้มากกว่า "สิทธิกำลังพล" โดยปกติ โดยให้เอกชนเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงในรูปแบบของการประกันชีวิต และกองทัพเองก็ต้องยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันไปบ้างตามสัดส่วนที่เหมาะสม

แม้จะดูเหมือนว่าบริษัทผู้รับประกันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับการรับประกันอย่างเป็นกอบเป็นกำสมน้ำสมเนื้อ นั่นยังไม่รวมถึงคุณค่าแห่งความเสียสละที่บริษัทได้รับยกย่องจากองทัพและประชาชนจากภาพพจน์ที่ออกมาซึ่งประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้

โครงการบ้านนายพลก็ถูกตั้งแท่นขึ้นมาภายใต้แนวคิดพื้นฐานเดียวกัน เพียงแต่เจาะเฉพาะกลุ่มนายพลและได้ขยายแนวกว้างออกไปสู่นายพลตำรวจด้วย

"หนึ่งในปัจจัย 4 นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตรับราชการทหารของพวกเราก็คือที่อยู่อาศัย ซึ่งทุก ๆ คนปรารถนาที่จะมีให้แก่ครอบครัว ภายใต้ความจำกัดทางด้านงบประมาณของกองทัพที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะจัดหาและตอบสนองเรื่องที่อยู่อาศัยของทางราชการให้แก่กำลังพลทุกนายให้ครบถ้วนได้ ถึงแม้จะตอบสนองได้เกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่ครอบครัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามใกล้เวลาเกษียณอายุราชการด้วยความเป็นห่วงครอบครัวย่อมต้องคิดและมีความปรารถนามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกในด้านขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง ในชีวิตรับราชการของผมที่ผ่านมานั้น ผมได้ตระหนักและคิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ได้ตั้งปณิธานและความปรารถนาของตนเองไว้ว่า หากบุณพาวาสนาส่งให้ผมได้มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องที่อยู่อาศัยของลูกหลานในอนาคต" ผลึกความคิดของผู้บัญชาการทหารบก และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ถูกถอดออกมาเป็นวาจาในโอกาสกล่าวเปิดโครการบ้านนายพลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่สำหรับคนที่ตีปณิธานของ พลเอกชาวลิต ยงใจยุทธ ไม่แตกกลับมองว่า พลเอกชวลิตพยายามชักนำธุรกิจเข้ามาพัวพันกับทหาร กระแสที่โจมตีมักจะกล่าวว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของการออกมาชักนำทุนเข้าสู่วงจรอำนาจของพลเอกชวลิต ซึ่งเป็นรูปแบบของการแสวงหาผลประโยชน์สู่การเกื้อกูลการดำรงอยู่ในอำนาจของตนสืบไป

พลเอกชวลิตเองก็รู้เรื่องราวที่ถูกกล่าวโจมตีนี้ดี ซึ่งก็ได้แต่กำชับกับคนใกล้ชิดด้วยความห่วงใยว่าห้ามไม่ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เข้าไปแตะต้องกับผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และพยายามแบ่งขอบเขตการประสานงานและระบบการทำงานให้รัดกุมที่สุด

"ขอบเขตของเรามีแค่เพียงเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างเจ้าของโครงการกับนายพลที่มีสิทธิ์ซื้อเท่านั้นหน้าที่ตรง ๆ ก็คือขายที่ดินที่เขาจัดสรรให้และขายในราคาที่กำหนดเท่ากันทุกคน" นายทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบโครงการนี้คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มอบหมายนโยบายให้ตั้ง "ศูนย์ประสานงานโครงการบ้านนายพล" ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ที่ผ่านมา โดยมี พลโทสพรั่ง นุตสถิตย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยนายทหารระดับนายพลอีกหลายคนเป็นกรรมการ และให้ พลตรีเชื่อมศักดิ์ จุละจาริตต์ เป็นเลขานุการศูนย์ฯ

ส่วนผู้ปฏิบัติการตามโครงการนี้จริง ๆ คือ พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์

ศูนย์นี้มอบให้เป็นงานฝากชั่วคราวในสำนักงานเสนาธิการกองทัพบกซึ่งมีพลเอกจรวย วงศ์สายัณ เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

"ตอนนี้ผมก็ยังไม่ทราบเลยว่าตัวโครงการหมู่บ้านซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกฤษดานครนั้นไปถึงไหนแล้ว เพราะเราเองจะเข้าไปแตะต้องมากไม่ได้ ประเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าทางเรามีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่ในส่วนของเราที่มีหน้าที่ในการจัดสรรส่วนที่ได้มาให้แก่ผู้ซื้อที่เป็นนายพลนั้นเรียบร้อยกันหมดแล้ว รอแต่ทางกฤษดานครว่าจะพร้อมโอนกันเมื่อไหร่เท่านั้นเอง" พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการกับ "ผู้จัดการ"

วิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานกลุ่มกฤษดานครปฏิเสธที่จะคุยเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" แต่เท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ของโครงการจริง ๆ นั้นยังไม่ได้พัฒนาไปมากนัก เมื่อเทียบระยะเวลานับแต่วันเปิดโครงการมากกว่าเดือนเศษและการโหมกระหน่ำโฆษณาตั้งแต่ก่อนเปิดโครงการเสียอีก

แม้ในส่วนที่เปิดขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเจ้าของโครงการเป็นผู้รับผิดชอบขายเองนั้นได้มีคนมาลงชื่อจองไว้แล้วจำนวนค่อนข้างมาก นั่นคงได้เงินมัดจำไปจำนวนไม่น้อยทีเดียว

โครงการบ้านนายพลกับโครงการกฤษดานคร 25 เป็นเจตนาของเจ้าของโครงการที่จะใช้ชื่อทั้งสองควบกันเพื่อผลทางด้านการตลาด เจ้าของโครงการคือบริษัทเคหภูมิจำกัด ซึ่ง วิชัย กฤษดาธานนท์ ซื้อบริษัทนี้มาจาก ดร.อำนวย วีรวรรณ กับกลุ่มตระกูลสารสินเมื่อต้นปีมานี้เอง

บริษัทเคหภูมิจำกัด เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะก่อตั้งขึ้นมากันจริง ๆ ตั้งแต่กลางปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจที่ดินกำลังบูมเป็นผีพุ่งใต้

ในระหว่างการเตรียมการนั้นดูเหมือนเกริกชัย ซอโสตถิกุล แห่งเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างจะเป็นผู้วิ่งเต้นทั้งหมดรวมทั้งแอบกว้านซื้อที่ดินในย่านมีนบุรีไว้อย่างเงียบ ๆ โดยผู้ร่วมมือกับเกริกชัยนั้นคือ พิศณี มนตรีวัต ทายาทของขุนวิชัยและขุนธรรมพินิจ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเศรษฐีที่ดินย่านมีนบุรีคนหนึ่งทีเดียว

เมื่อกว้านซื้อที่ดินได้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่แน่ชัดว่าเท่าใด แต่มั่นคือที่ดินบริเวณที่จะขึ้นโครงการบ้านนายพลอันโด่งดังนั่นเอง แต่ตามเอกสารที่สืบค้นได้พบว่าซ้อมาด้วยเงินทั้งหมดกว่า 226 ล้านบาท โดยได้ยื่นขอวงเงินกู้จากธนาคารจำนวน 212 ล้านบาท ก่อนที่จะตั้งบริษัทขึ้นมารับโอนและจดจำนองในเดือนมีนาคม 2532 ที่ผ่านมานี้นี่เอง

ซึ่งถ้าคำนวณจากข้อมูลที่นักค้าที่ดินบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าที่ดินในย่านดังกล่าวนั้นซื้อมาจากต้นมือจริง ๆ ไม่น่าจะเกินไร่ละแสนบาท เพราะที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นบ่อที่เกิดจากการขุดหน้าดินขายไปแล้วอย่างมาก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเงินจำนวน 200 กว่าล้านบาทก็น่าจะซื้อที่ดินได้ร่วม ๆ 3,000 ไร่ทีเดียว แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกลุ่มกฤษดานครให้ข้อมูลใกล้เคียงกันอีกว่าวิชัยซื้อที่ดินแปลงนี้มาในราคาเพียงไร่ละ 120,000 บาทเท่านั้นเอง

ข้อต่อช่วงนี้ขาดหายไปอย่างน่าเสียดายข้อจำกัดของ "ผู้จัดการ" ที่ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ ดร.อำนวย วีรวรรณ แล้วแต่เลขาฯ บอกว่าท่านไม่ว่าง

เพราะเพียงข้ามเดือนต่อมาหลังจากตั้งบริษัทแล้วถึงเดือนพฤษภาคม 2532 กลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าทั้งหมดได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ โดยอ้างว่าได้โอนขายหุ้นให้แก่ วิชัย กฤษดาธานนท์ ไปหมดแล้วพร้อมกับการเข้ามาเป็นกรรมการใหม่แทนของกลุ่มกฤษดานคร แต่ตามรายงานเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ยื่นไว้ต่อกรมทะเบียนการค้าล่าสุดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ข้อมูลจึงยังไม่ชัดเจนว่า "โครงการบ้านนายพล" นั้นแท้ที่จริงแล้วได้มีการตั้งแท่นขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันวงในว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ ก็เป็นนักธุรกิจวิชาการคนหนึ่งที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ๆ และข่าวเรื่องการตั้งโครงการบ้านนายพลก็มีมานมนานตั้งแต่ปีที่แล้ว

หรือว่าการโอนกิจการบริษัทเคหภูมิจากกลุ่มดร.อำนวยมาเป็นกลุ่มวิชัยยังมีอะไรมากกว่าที่ปรากฎให้เห็นออกมา

แหล่งข่าวที่รู้เรื่องการเริ่มต้นโครงการบ้านนายพลดีคนหนึ่งพูดเป็นนัย ๆ กับ "ผู้จัดการ" ว่าเดิมทีเจ้าของโครงการฝ่ายเอกชนเสนอมาว่าส่วนที่จะขายให้แก่นายพลของกองทัพนั้นตกไร่ละ (หนึ่งแปลง) 800,000 บาท แต่ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกว่าเกินกำลังที่นายพลจะซื้อได้ วิชัยซึ่งเป็นผู้เสนอราคาขายเพียง 550,000 บาทต่อไร่จึงเข้ามาซื้อกิจการนี้ไป

ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน

แต่นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายที่ดินคนหนึ่งให้ข้อสังเกตอย่างน่าฟังว่าน่าจะเป็นการซื้อขายกิจการกันจริง ๆ เพราะดูจากลักษณะการทำธุรกิจของวิชัยแล้วไม่ปรากฎว่าเขาดำเนินธุรกิจในรูปแบบเป็นตัวแทนให้คนอื่น โดยที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของเองทั้งหมด เพียงแต่วิธีนี้เป็นวิธีการซื้อ-ขายที่ดินที่ประหยัดภาษีและค่าธรรมเนียมมากที่สุดเท่านั้นเอง กล่าวคือดูผิวเผินจะเหมือนกับการซื้อ-ขายที่ดินกันนั่นเองเพราะบริษัทไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจหรือสินทรัพย์อื่นเลยนอกจากที่ดินที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น

"วิธีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนและภาษีให้แก่กรมที่ดิน ซึ่งจะปรากฎเห็นกันมากในเมืองไทยในสองสามปีที่ผ่านมา" นักกฎหมายคนเดียวกันกล่าว

เนื้อที่โครงการบ้านนายพลทั้งหมดมากกว่า 3,000 ไร่ ในเขตมีนบุรีที่ติดกับตำบลลำลูกกาเลยโครงการเสมาฟ้าครามไปไม่มากนัก นับว่าเป็นโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้

ภายในโครงการประกอบด้วยสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม 72 พาร์ ระยะทาง 7,200 หลา บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่และสปอร์ตคลับที่กินเนื้อที่อีกถึง 60 ไร่ ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำ 2 สระแบบมาตรฐานโอลิมปิกและแบบธรรมดา สนามเทนนิส 10 สนาม สนามแบดมินตัน 6 สนาม ทั้งกลางแจ้งในร่ม สนามควอช 4 คอร์ตห้องสนุกเกอร์ ห้องอบซาวน่า สระน้ำวนสกีน้ำ วินด์เซิร์ฟ ศูนย์การค้าครบครันที่เปิดบริหารเฉพาะสมาชิกหมู่บ้านเท่านั้นนับเป็นเมืองสวรรค์ของผู้มีระดับโดยแท้ทีเดียว

นอกจากส่วนประกอบของโครงการที่กล่าวแล้ว พื้นที่ของโครงการถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนระหว่างส่วนที่จะขายให้แก่ประชาชนผู้มีระดับกับนายพลทั้ง 5 เหล่า

ด้านหน้าโครงการเนื้อที่ประมาณไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ ถูกออกแบบอย่างสวยงาม ด้านหน้าติดสนามกอล์ฟ ด้านหลังติดบึงน้ำจืดเกือบทุกแปลง ส่วนนี้จัดไว้ขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ด้านหลังตั้งแต่บริเวณสปอร์ตคลังเป็นต้นไป จนถึงท้ายสุดของโครงการเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ถูกแบ่งออกเป็นแลงละ 1 ไร่ จัดไว้ขายให้กับนายพลผู้ทรงเกียรติ โดยศูนย์ประสานงานที่ดินบ้านนายพลเป็นผู้จัดสรรให้แก่แต่ละเหล่ามากน้อยตามกำลังพลให้เป็นผู้จัดสรรกันเองอีกชั้นหนึ่ง

กองทัพบกซึ่งมีกำลังพลมากกว่าใครได้รับส่วนแบ่งไป 300 แปลง รองลงมาจัดสรรให้กับท่านนายพลในกองทัพเรือกับกองทัพอากาศเหล่าละ 100 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 100 แปลงแบ่งกันเหล่าละครึ่งระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุดกับนายพลของกรมตำรวจ

วิชัย กฤษดาธานนท์ บอกกับคนใกล้ชิดว่า เนื้อที่จำนวน 600 ไร่ที่เขาเสียสละให้กับกองทัพนั้น เขาต้องขาดทุนไปทันที 300 ล้านบาท ซึ่งคนในวงการที่ดินช่วยคำนวณให้ "ผู้จัดการ" ดูแล้วบอกว่าคงจะหมายถึงขาดทุนในส่วนกำไรที่เขาควรจะได้มากกว่าการขาดทุนจกาต้นทุนจริง ๆ

"ที่ดินที่เขาแบ่งขายให้กับนายพลในกองทัพตามโครงการนี้ตกประมาณแปลงละ (1 ไร่) 550,000 บาท รวมทั้งหมด 600 แปลงเขาก็จะได้เงินเฉพาะส่วนนี้ประมาณ 330 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าพอคุ้มทุนทั้งค่าที่ดินและค่าพัฒนา" ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินคนเดียวกันกล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามถ้านายพลท่านใดต้องการเป็นสมาชิกกอล์ฟด้วยแล้วก็จะต้องจ่ายค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 200,000 บาท (มีกำหนดอายุ 40 ปี) ต่อการซื้อที่ดินหนึ่งแปลงรวมเป็น 750,000 บาท

อย่างไรเสียก็ยังเป็นความสมน้ำสมเนื้อและสมประโยชน์ตามปณิธานของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ได้เปิดช่องทางให้นายพลซึ่งท่านเชื่อวามีน้อยคนนักที่จะมีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็อยู่บานหลวงในเวลานี้ได้มีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเองในราคาซื้อขาย พอที่ข้าราชการซึ่งมีชีวิตอย่างสมถะมาตลอดจนเกือบเกษียณอายุนั้นสู้ราคาได้

ทั้งนี้ วิชัย กฤษดาธานนท์ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารมหานครซึ่งมี เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกิจการเหล้าแม่โขง-หงส์ทอง และเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพมาก ๆ คนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยเปิดรับผ่อนชำระค่าบ้านจากท่านนายพลเป็นระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 12% ซึ่งโดยปกติเงื่อนไขการกู้เงินซื้อบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปนั้นจะกำหนดอายุของผู้กู้ต้องไม่เกิน 60 ปี เมื่อรวมระยะเวลาการผ่อนชำระเดือนละประมาณ 6,000-9,000 บาท

แม้ทางกฤษดานครจะบอกว่าขาดทุนทันทีถึง 300 บาท จากโครงการนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้กันว่าก็ได้รับกลับมาทันทีในเกียรติคุณสรรเสริญจากผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดในความเสียสละ

"โครงการที่ดินบ้านนายพลนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างจริงจังและจริงใจของ คุณวิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการบริษัท กฤษดานคร ซึ่งได้ทุ่มเทและยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้กับโครงกาที่ดินและบ้านแห่งนี้ น้ำใจไมตรีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคุณวิชัยในครั้งนี้จะจารึกอยู่ในความทรงจำของผมและพวกเราทุกคนตลอดไป" ถ้อยคำหวานส่วนหนึ่งในการกล่าวเปิดโครงการของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คุณค่าทางเกียรติยศเช่นนี้ยากยิ่งที่จะประเมินเป็นค่าเงินได้ ยังไม่รวมถึงชื่อโครงการบ้านนายพลซึ่งคงไม่มีใครจะใช้ชื่อเช่นนี้ได้อีกแล้ว และกำไรจากการค้าขายปกติจากส่วนที่เขาจัดไว้ขายให้แก่ประชาชนผู้มีระดับที่ใคร่จะเป็นเพื่อนบ้านกับท่านนายพลอีกนับไม่ถ้วน

เขาโฆษณาขายโครงการนี้ให้แก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ยังไม่มีการเปิดกันอย่างเป็นทางการ จากพื้นที่ทั้งหมดมีคนจองไปแล้วค่อนข้างมาก แม้ว่าจะขายในราคาที่สูงลิบลิ่ว

เนื้อที่อีกประมาณ 1,500 ไร่ บริเวณรอบ ๆ สนามกอล์ฟ และบึงน้ำจืดอันกว้างใหญ่ ทางกฤษดานคร แบ่งเป็นแปลงละหลายขนาดตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไปในสนนราคาตารางวาละ 1,200,000 บาทขึ้นไป ยังไม่รวมค่าสมาชิกกอล์ฟอีกต่างหากประมาณ 600,000 บาท

รวมรายได้ที่กฤษดานครจะได้จากโครงการนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 6,900 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการรับจ้างสร้างบ้านอีกในราคาสนนราคาหลังละ 2-20 ล้านบาท แล้วแต่ความชอบของผู้ซื้อว่าจะเลือกชอบแบบแพงแค่ไหนให้สมเกียรติ

กฤษดานครใช้คำว่า "บ้านนายพล" เป็นจุดขายจนบางครั้งก็ทำให้คนในกองทัพสยิวใจเหมือนกัน โดยเฉพาะการลงภาพแบบบ้านราคาเรือน 10 ล้านในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ 2 หน้าเต็ม ทำให้คนที่ไม่ทราบรายละเอียดเที่ยวถามใครต่อใครว่านายพลเมืองไทยที่รวยขนาดนี้เชียวหรือนี่

แต่คนในกองทัพที่รู้รายละเอียดดีก็ชี้แจงอะไรมากไม่ได้

"ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เราจะทำอะไรเขาได้ เขาเป็นผู้ลงทุนเราพยายามจะแตะต้องเขาให้น้อยที่สุดนะครับไม่ยุ่งไม่เกี่ยว บางครั้งก็ต้องยอม ๆ เขาไปบ้าง แต่ผมอยากจะให้ประชาชนเข้าใจความจริงว่าจริง ๆแล้วโครงการนี้ทั้งโครงการเราได้รับส่วนแบ่งมาขายให้เราเฉพาะที่ดินแปลงละไร่เท่านั้น ส่วนบ้านใครจะปลูกอย่างไรก็ตามแต่ฐานะของแต่ละท่านไปพูดก็พูดท่านเหล่านั้นไม่มีเงินขนาดจะสร้างบ้านกันคนละสิบล้านยี่สิบล้านหรอกครับ เว้นแต่บางคนมีเมียรวย "นายพลท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แบบติดตลกในตอนท้าย

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเรื่องนี้เล่าให้ฟังอีกว่าการเอาต้นฉบับคำกล่าวเปิดโครงการของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไปลงในเนื้อที่โฆษณาเมื่อไม่นานมานี้ทางกฤษดานครก็ทำไปโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าตัวมาก่อนตอนหลังจึงมีคนไปกระซิบบอก วิชัย กฤษดาธนานนท์ ไม่ให้เอาลงจึงหยุดไป

มันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ยากนัก ในเมื่อจุดขายของทางกฤษดานครนั้นคือ "หมู่บ้านของเหล่านายพล" ผู้ทรงบารมีมากล้นแต่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ทรงเกียรติด้านฐานะอย่างที่ใช้ในคำโฆษณาว่า "ผู้มีระดับ" เข้าไปเป็นเพื่อนบ้านท่านนายพลได้อย่างสมเกียรติ ซึ่งมีที่เดียวเท่านั้นในประเทศไทย

แต่ในความปรารถนาดีของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นั้นคนใกล้ชิดทุกคนเชื่อว่าเขามีความบริสุทธิ์ใจที่จะสรรหาสวัสดิการให้แก่กองกำลัง ซึ่งนอกจากบ้านนายพลแล้วยังจะมีสำหรับนายทหารระดับรองลงมาอีกเรื่อย ๆ แม้บางครั้งจะต้องสูญเสียความเป็นทหารลงไปบ้างท่านก็ต้องยอม

"อย่างที่ท่านกำชับมากก็คือ ท่านห่วงใยในปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนจึงมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการทุกอย่าง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นและขอร้องท่านทั้งหลายที่ซื้อไปแล้วก็อยาได้ขายให้แก่บุคคลอื่น ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องขายจริง ๆ เพราะรับภาระไม่ไหวก็ขอให้ขายคืนให้แก่กองทัพเพื่อกองทัพจะได้นำไปขายให้แก่นายพลคนอื่นที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเองต่อไป" พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์ พูดกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความระมัดระวัง

แต่แม้จะมีความพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ตามที่จะผสมผสานระหว่างธุรกิจ ซึ่งเคยมีแต่คำว่ากำไรเข้ากับคำว่าสวัสดิการ ซึ่งมีแต่เคยให้กันฟรี ๆ ให้ดูกลมกลืนที่สุดของนักการทหารที่ชื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กับนักธุรกิจอย่าง วิชัย กฤษดาธนานนท์

บางคนก็ยังอดไม่ได้ที่จะออกความเห็นบ้างว่าขุนศึกหรือจะสู้พ่อค้าได้ เพราะนี่มันคือสนามธุรกิจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.