ธุรกิจ "เหนือโลก" ของ ทักษิณ ชินวัตร

โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ชั่วเวลาเพียง 2 ปีหลังจากอำลาชีวิตตำรวจ ทักษิณ ชินวัตรสามารถก้าวทะยานมาเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว สินค้าของเขาหลายตัวคือภาพพจน์ของการแสวงหาและเริ่มต้นรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ ในเมืองไทย แม้ห้วงเวลานี้โดยแท้จริงคือระยะผ่านแห่งการสะสมบารมีและสายสัมพันธ์ แต่ถ้าเขาผ่านขวากหนามช่วงนี้ไปได้ เขาอาจไปเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด…..จับตาเขาไว้ให้ดี

"ผมเป็นคนราศีกันย์ ภาษาหมอดูเขาบอกว่าคนราศีนี้เป็นคนชอบทำการใหญ่" ทักษิณ ชินวัตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในงานเปิดตัว "เคเบิลทีวี" อีกธุรกิจหนึ่งที่เขาเป็นเจ้าของ

ทักษิณ ชินวัตร อายุ 41 ปี เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เติบโต และถูกหล่อหลอมมาในโลกที่แวดล้อมไปด้วยคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอันทันสมัย เขาซึมซับถึงความเจริญก้าวหน้านั้นและตระหนักว่า โลกในอนาคตคือโลกของคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่รุดหน้าโดยเฉพาะกับประเทศไทยซึ่งล้าหลังและมีช่องว่างมากมายที่จะให้เขากระโดดลงมาเล่น

ธุรกิจที่ทักษิณสร้างขึ้นหรือมีบทบาทเข้าไป ล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารแทบทั้งสิ้น ทั้งธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้การประมูลเข้าไปเป็นใบเบิกทาง และธุรกิจที่ทักษิณได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว ธุรกิจที่ว่านี้ นอกเหนือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเขาแล้ว ก็เป็นธุรกิจอื่นที่น่าสนใจไม่น้อย เช่น "เคเบิลทีวี" ที่ทักษิณพยายามผลักดันจนเปิดดำเนินการอย่างถูกกฎหมายเป็นคนแรก "บัสซาวน์" วิทยุบนรถเมล์, "เอส.โอ.เอส." เครื่องสื่อสารขอความช่วยเหลือจากตำรวจ, "ซิตี้คอลล์" วิทยุชาวบ้าน, "แพ็คลิ้ง" ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทักษิณก็เป็นตัวแทนของเอทีแอนด์ทีในการขอสัมปทานระบบ "ดาต้าคิต" จากองค์การโทรศัพท์ฯ ทั้งนี้ยังไม่รวมการเข้าไปมีบทบาทใน อ.ส.ม.ท. แบบหลังฉากอีกด้วย

ตระกูล "ชินวัตร" เป็นตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้บุกเบิกการค้าไหมอยางเป็นล่ำเป็นสัน และเติบโตเป็นบริษัทชินวัตรไหมไทย ที่มีกิจการค้าไหมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งขงประเทศ นอกจากนั้น ชินวัตรยังเคยเป็นกัมปะโดให้กับธนาคารนครหลวงไทยในอดีต เป็นเจ้าของกิจการและธุรกิจมากมายในเชียงใหม่ เช่น กิจการโรงเรียน กิจการโรงภาพยนต์ รถเมล์ ห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญตระกูลชินวัตรยังเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งโดยเฉพาะบริเวณบ้านสันกำแพง

คูชุ่นเส็ง เป็นต้นตระกูล "ชินวัตร" แต่ตระกูลนี้มาขยายตัวมากในรุ่นสองคือ เชียง ชินวัตร และพอในรุ่นที่สาม ตระกูลชินวัตรก็ยิ่งขยายตัวแตกกระจายมากขึ้น เพราะรุ่นลูกของเชียงมีด้วยกันหลายคน

พ่อเลี้ยงเลิศ ชินวัตรเป็น "ชินวัตร" อีกคนหนึ่งในรุ่นนี้ ซึ่งขยายบทบาทเข้าไปเล่นการเมืองด้วย เพราะพ่อเลี้ยงเลิศเคยเป็นส.ส.เชียงใหม่ เป็นเจ้าของธุรกิจในเชียงใหม่หลายประเภท เช่น บริษัทเฉลิมพลเดินรถ โรงภาพยนต์ชินทัศนีย์ โรงทอศรีวิศาล และเคยเป็นผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ พ่อเลี้ยงเลิศมีภรรยาชื่อยินดี และมีบุตรชายชื่อทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณสำเร็จการศึกษาจากมงฟอร์ดวิทยาลัย สอบเข้านักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 แต่แทนที่เขาจะได้เป็นทหารเขากลับไปสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 26 และจบออกมรติดยศนายร้อย ในปี 2516 ด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของรุ่น

ทักษิณออกมาเป็นผู้หมวดประจำกองกำลังการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. อยู่ได้ 6 เดือนก็ได้รับทุนจากกรมตำรวจในฐานะที่สอบได้ที่หนึ่งของรุ่น ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์น เคนตั๊กกี๊สหรัฐอเมริกา ที่นั่น ทักษิณเรียนได้ "เอ" ทุกวิชา และได้รับปริญญาโท M.S. (CRIMINAL JUSTICE) ในปี 2517 กลับมาติดยศ ร.ต.อ. เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนนายร้อยสามพราน หลังจากนั้นถูกดึงตัวไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ทำให้สัมผัสนักการเมืองมากมาย

ในเวลาเดียวนั้นเองทักษิณก็แต่งงานกับพจมาน ดามาพงศ์ลูกสาวของพลตำรวจโทเสมอ ดามาพงศ์ ซึ่งต่อมาทั้งคู่ได้มีส่วนสำคัญในชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก

ต่อมาทักษิณเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่แซมฮุสตันเสตท รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้รับ PH.D. (CRIMINAL JUSTICE) ในปี 2522

แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ เขาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์

ชีวิตหลังจากนั้น ทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้องคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจนในฐานะเป็นวิชาชีพ เขากลับมาเมืองไทยนั่งตำแหน่งรองผู้กำกับการศูนย์ประมวลข่าวกลาง (ศูนย์คอมพิวเตอร์) กรมตำรวจ จนเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรีในปี 2525 พอขึ้นปี 2527 เลื่อนยศเป็นพันตำรวจโท กระทั่งได้เป็นรองผู้กำกับนโยบายและแผนกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่พอมาปี 2530 เขาก็ลาออกจากชีวิตตำรวจ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจของเขาขยายตัวมากเกินกว่าที่จะเป็นงานพิเศษนอกเวลาไปแล้ว

ทักษิณเป็นตำรวจที่อยู่ในแวดวงคอมพิวเตอร์ ทำให้รับทราบความเคลื่อนไหวในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาทักษิณเริ่มทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ในปี 2526 ก่อนลาออกจากตำรวจ 4 ปีโดยการประมูลงานราชการสำคัญ ๆ สินค้าของเขาคือไอบีเอ็ม ว่ากันว่าในช่วงนั้นไอบีเอ็มกำลังประสบปัญหาที่วาไม่สามารถประมูลงานราชการได้เลย เพราะ "เข้าไม่ถึง" ระบบราชการแต่ทักษิณล้มล้างความล้มเหลวอันนี้ให้ไอบีเอ็ม และกลายเป็นตำรวจแทนจำหน่ายที่สำคัญในเวลาต่อมา

"ขายคอมพิวเตอร์มันไม่ต้องใช้เวลามาก ผมใช้ติดต่อโทรศัพท์เป็นหลัก และภรรยาผมเป็นคนดำเนินการ อีกอยางผมเลือกประมูลไม่กี่รายการ ปีหนึ่ง 3-4 รายการเท่านั้น" ทักษิณกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ทักษิณก็ยังร่วมประมูลในจำนวนครั้งเพียงเท่านี้

ในความเป็น "ชินวัตร" นั้นคือผู้ค้ากิจการผ้าไหมรายใหญ่ที่มีอายุยืนยาวกว่า 50 ปี แต่ทักษิณปฏิเสธที่จะทำธุรกิจนี้ ดูท่าทางเขาไม่ค่อยชอบธุรกิจนี้นัก แม้ว่าญาติผู้ใหญ่และพี่น้องของเขาจะทำธุรกิจนี้เกือบทุกคน มีเขาเพียงคนเดียวที่ออกมาอยู่นอกวงเขากล่าวอย่างขำ ๆ และสั่นศีรษะเล็กน้อย เมื่อรำลึกถึงความหลังว่าปู่บังคับให้พ่อของเขาลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาขายผ้าไหม

เท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจ พบว่าทักษิณมีธุรกิจอยู่ในเครือข่าย 11 บริษัท บางบริษัทมีบทบาทแท้จริง บางบริษัทตั้งไว้เฉย ๆ หรือรอดำเนินธุรกิจในอนาคต จำนวนบริษัทเท่านี้ ทักษิณก็ค่อนข้างจะไล่ไม่ถูกเหมือนกันเมื่อถูกตั้งคำถาม แต่บริษัทหลักของเขาจริง ๆ คือ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์และชินวัตรเทเลคอมมิวนิเคชั่น ส่วนบริษัทอื่น ๆ ก็เช่น บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้งดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวี, บริษัทซิสเต็ม เน็ทเวอร์ทำบัสซาวน์ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส ทำซิตี้คอลล์, บริษัทเซฟตี้ออร์เอร์ ซิสเต็ม ทำเครื่องเอส.โอ.เอส. บริษัทดิจิตอล เพจจิ้ง เซอร์วิสทำธุรกิจกับ ร.ส.พ.เป็นต้น นอกจากนั้นก็เป็นบริษัทที่ทักษิณกล่าวว่าเป็นธุรกิจเล็ก ๆ นอกเส้นทางที่เขาตั้งใจไว้ คือบริษัทยูเนียน เรียลเอสเตท ให้ขสมก.เช่าที่ดินทำอู่จอดรถที่หลักสี่, บริษัทพีทีคอร์เปอเรชั่น ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยเช่าที่ดิน, บริษัทวิดิโอลิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับฝรั่งช่วงแรกก่อนมาเป็นเคเบิลทีวี และห้างหุ้นส่วนจำกัดไอซีเอสไอ ซึ่งไม่ปรากฎชัดเจนว่าทำธุรกิจใด

ปัจจัยที่สามารถทำให้ทักษิณ ชินวัตรโดดเด่นและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้นมีด้วยกัน 3 ประการใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง - ความเป็นผู้นำด้านการตลาด สอง - การได้รับสัมปทานเพียงเจ้าเดียว สาม - สายสัมพันธ์

ในประการแรก เป็นความเฉลียวฉลาดของทักษิณที่รู้จักที่จะเลือกตัวสินค้ามาเสนอขาย โดยเฉพาะสินค้าหรือบริหารซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในสังคมที่กำลังพัฒนาไปสู่สังคมข่าวสารและข้อมูลมากเป็นลำดับ

ในความจริง ความเป็นผู้มาก่อนกาลของทักษิณเคยปรากฎนานแล้ว เมื่อเขากลับมาจากสหรัฐใหม่ ๆ เขาเตรียมทบโรงภาพยนต์ราชวัตรรามา ซึ่งเป็นมรดกที่เขาได้มาจากคุณพ่อเพื่อสร้างราชวัตรคอนโดมิเนียม ในยุคต้น ๆ ที่คนยังไม่ค่อยรู้จักคอนโดมิเนียมด้วยซ้ำว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ประสบปัญหาทางราชการห้ามก่อสร้างเนื่องจากจะกลายเป็นตึกสูงใกล้พระราชฐาน

แพ็คลิ้งที่แปซิฟิก เทเลซิส เอ็นจิเนียริ่ง นำเข้าในช่วงต้น ๆ ที่เริ่มปรากฏในเมืองไทยก็ผ่านมาโดยการร่วมทุนกับทักษิณ เพียงแต่ในช่วงหลัง ๆ ทักษิณเกิดแตกคอกับบริษัทดังกล่าว ด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏแต่ทักษิณกล่าวเพียงว่า ทนทำงานกับคนไทยในนั้นไม่ได้

เอทีแอนด์ทีนำเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ "ดาต้าคิต" มาเสนอขายองค์การโทรศัพท์ฯ ทักษิณก็รับเป็นตัวแทนจำหน่ายในนามของชินวัตรเทเลคอมมูนิเคชั่นและเข้าไปเจรจากับทศท.จนสำเร็จเมื่อไม่นานมาน้ ดาต้าคิตเป็นระบบการสื่อสารพร้อมเสียงและข้อมูลในเวลาเดียวกัน สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์ถึงกัน ซึ่งยังไม่มีใครทำในลักษณะนี้มาก่อนในไทย โดยทักษิณลงทุน 500 ล้านบาทเพื่อติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมกับคู่สายของทศท.บริการด้านการตลาด ประโยชน์ให้ทศท. 5 ปีแรก 10% ของรายได้ ปีที่ 6-7 เป็น 12% ปีที่ 8-10 เป็น 45% หลังจากนั้นจึงยกอุปกรณ์และสัมปทานคืนให้ทศท.

นั่นเป็นธุรกิจที่ทักษิณเป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย แต่ธุรกิจที่ทักษิณพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองที่น่าสนใจมี 4 ตัว ซึ่งในมุมมองนี้ "ผู้จัดการ" ให้ความสำคัญกับทักษิณในแง่ที่ว่า แม้ทักษิณจะไม่ใช่เป็นผู้ประดิษฐ์สินค้าหรือบริการนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกในโลก แต่ทักษิณเป็นผู้ค้นพบช่องทาง โอกาส และพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทยคนแรก และที่สำคัญมันเป็นที่ยอมรับและ "ขายได้"

"ผมเป็นคนชอบคิดในทางนี้ ผมเป็นคนชอบอย่างนี้ คืออะไรที่คนอื่นเขาทำกันแล้ว ผมก็พยายามคิดอะไรที่คนอื่นเขายังไม่ทำ" ทักษิณเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงลักษณะเด่นทางธุรกิจของเขา

สืบเนื่องมาจากแพ็คลิ้งและเพจจิ้งทำให้ทักษิณเริ่มตระหนักว่า "คลื่นความถี่วิทยุ" นั้นมีความสำคัญในแง่ของธุรกิจอย่างไร ทักษิณจึงเริ่มมาใช้กับบัสซาวน์อีกครั้ง

บัสซาวน์เป็นธุรกิจที่มาจากการติดต่อของประมุท สูตะบุตรอดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ซึ่งได้รับการติดต่อจากขสมก.ให้ไปช่วยทำวิทยุบนรถเมล์ให้ ซึ่งเป็นช่วงที่สมัคร สุนทรเวชเป็น รมต.คมนาคมอยู่พอดี ทักษิณจึงเข้าไปทำในปี 2530 หลังจากรอเรื่องอนุมัติอยู่นาน เขาลงทุนไปประมาณ 20 ล้าน แต่ถูกยับยั้งจากบว.เพราะคลื่นที่ทักษิณใช้นั้นเป็นคลื่นเอสซีเอซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน และเป็นคลื่นแทรกที่ควบคุมไม่ได้อันจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

แต่ไม่นานบัสซาวน์ก็กลับมาได้อีกด้วยการอ้างสถิติความต้องการของประชาชนที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่าประชาชนต้องการให้ติดตั้งบัสซาวน์ในรถเมล์สูงถึง 90%

แม้จะมีเรื่องวุ่นวายในช่วงต้นในเรื่องผู้จัดทำรายการและผู้หาโฆษณา ทักษิณก็ฟันฝ่ามาได้จนถึงวันนี้ และกล่าวอย่างสบายอารมณ์ว่า "รายได้ดี ๆ " โดยตามเป้าหมาย ทักษิณมีสัญญาทั้งสิ้น 5 ปี ต้องจ่ายให้กับขสมก.เดือนละ 1 แสนบาท

เอส.โอ.เอส.เป็นธุรกิจเอกเทศของทักษิณเองที่ใช้ชื่อดำเนินการโดยบริษัทเซฟตี้ ออร์เดอร์ ซิสเต็ม เอส.โอ.เอส. เป็นเครื่องมือเรียกความช่วยเหลือจากตำรวจ เป็นธุรกิจที่ต้องสร้างเครือข่ายกับกรมตำรวจอย่างแน่นหนาจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ ในช่วงแรกการตลาดของเอส.โอ.เอส.ไม่เฟื่องนัก จนได้บริษัทที.เอส.อีคอมมูนิเคชั่นของกำพล วัชรพลมาช่วยการตลาดให้เอส.โอ.เอส จึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่บูมมาก ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

"ซิตี้คอลล์" หรือวิทยุชาวบ้านที่ทักษิณกล่าวว่า เขาศึกษาตัวอย่างมาจากญี่ปุ่น และพบว่าประการแรก มันช่วยแก้ปัญหาวิทยุเถื่อนที่ประชาชนลอบใช้ ประการที่สอง มันเป็นตัวสอดแทรกระหว่างแพ็คลิ้งกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในตัวมันเองขณะที่แพ็คลิ้งสามารถส่งเพียงสัญญาณ แต่ไม่สามรถสนทนากันได้ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็กำลังประสบปัญหาช่องสัญญาณไม่ว่าง ทักษิณจึงมาเสนอซิติ้คอลล์แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย

ทักษิณเสนอเรื่องนี้ไปในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรมซึ่งมีสุรพันธ์ ชินวัตร อาของเขาเป็นรมช.คมนาคม จึงถูกโจมตีมากว่า ทักษิณใช้เส้นสายเพื่อผูกขาด และรัฐมนตรีพรรคชาติไทยเตรียม "ทิ้งทวน" ก่อนลงจากตำแหน่ง ด้วยกระแสการเมืองเรื่องนี้จึงถูกพับไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อย่างหนักหน่วง

"เคเบิลทีวี" เป็นธุรกิจอีกตัวหนึ่งที่อาจนับเป็นตำนานคลาสสิกของทักษิณก็ว่าได้ เพราะทักษิณต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการเป็นเวลาเกือบ 6 ปีกว่าเคเบิลทีวีจะเกิดขึ้นมาได้

แต่เดิมเรื่องนี้มาจากประมุท สูตะบุตร คนโตจากอ.ส.ม.ท.อีกเช่นกัน ประมุทไปชวนวิลเลียมมอนเซน จากบริษัทเคลีย์วิว อินเตอร์เนชั่นแนลสหรัฐอเมริกามาลงทุนทำเคเบิลทีวีในเมืองไทยตั้งแต่ราวปี 2525 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีเสียงคัดค้านเนื่องจากเป็นของใหม่ ทางคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาโดยรอบคอบ ต่อมาประมุทก็แนะนำให้มอนเซนรู้จักกับทักษิณ ชินวัตร ในปี 2528 โดยหวังว่าทักษิณจะสามารถช่วยเหลือโครงการนี้ผ่านออกมาได้

แม้ทางทักษิณจะสามารถขอคลื่นความถี่วิทยุมาได้แล้วก็ตาม เรื่องก็ถูกดองไว้อีกในสมัย รมต.ชาญ มนูธรรม ทักษิณพยายามผลักดันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนมีเสียงพูดกันว่าทักษิณเบื่อหน่ายเรื่องนี้มาก และมีแนวโน้มอาจจะเลิก ขณะเดียวกันทาง อ.ม.ส.ท.ก็ได้รับการติดต่อให้รับโครงการนี้ต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จอีก เรื่องนี้เงียบไปนานจนกระทั่ง เฉลิม อยู่บำรุง มาคุม อ.ส.ม.ท. นั่นแหละเคเบิลทีวีจึงฟื้นขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็ว โดยมีทักษิณเป็นผู้ได้รับสัมปทานไป

แต่เรื่องนี้คนที่แค้นมากที่สุดคือวิลเลียม มอนเซนเขาตำหนิทักษิณอย่างรุนแรงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอย่างสาหัสสากรรจ์ เพราะเขาคิดว่าเขาควรมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการนี้ต่อไปด้วย ในฐานะผู้เริ่มต้นแต่แรก ไป ๆ มา ๆ ทักษิณได้ไปคนเดียว รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องส่งที่มอนเซนอ้างว่ามีมูลค่า 5 ล้านบาท มอนเซนลงไป 2 ใน 3 ส่วน แต่ทักษิณกลับนำกลังตำรวจไปบุกออฟฟิศนำอุปกรณ์เหล่านั้นไปแถมยังฟ้องลูกน้องมอนเซนในข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็นความกันอยู่

ขณะเดียวกันทักษิณโต้ว่า สาเหตุที่เขาไม่ยอมสังฆกรรมกับฝ่ายมอนเซนเป็นเพราะตกลงในเรื่องการลงทุนไม่ได้ ทักษิณรู้สึกว่ามอนเซนเอาเปรียบและไม่มีหลักประกันที่น่าเชื่อถือ

"ตอนแรกที่ร่วมงานกัน เราก็ยอมเขา ตอนหลัง คุยกันยากเราะนึกว่าเพราะนึกว่าเราไม่เป็น เขาพยายามเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ผมก็บอกผมทำเอง แต่ให้เขาป้อนอุปกรณ์และโปรแกรม ก็ตกลงกันไม่ได้อีก เพราะเขาไม่มีหลักประกันอะไร ผมถามเขาว่า เขาเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุน เขาก็บอกว่ามาจาก PRIVATE INVESTOR ซึ่งในเมืองไทยเราเรียกว่า แลกเช็ค แล้วผมทำสัญญากับ อ.ส.ม.ท. ค้ำประกันตั้งร้อยกว่าล้าน แล้วถ้าเขาหนี ผมไม่ตายหรอก อีกอย่างสัญญากับ อ.ส.ม.ท.ก็ไม่ยอมให้ผมทำ SUBCONTRACT กับคนอื่นด้วย สรุปคือ หนึ่ง สัญญากับ อ.ส.ม.ท.ห้าม SUBCONTRACT ทำเองทั้งหมด เขาให้ผมแค่ 1.5% เท่านั้น" ทักษิณ โต้ตอบแบบร่ายยาว นอกจากนี้ แม้ทักษิณจะได้รับอนุญาติให้ดำเนินการได้ แต่ทางคุณหญิงสุพัตรามาศดิตถ์ รมต.สำนักนายกฯ ก็คัดค้านเรื่อยมา อีกทั้งคนในกระทรวงคมนาคมก็กล่าวว่า เรื่องนี้มันผิดขั้นตอนกันไปหมด ตั้งแต่เมื่อมติครม.ที่ว่าให้เปิดเคเบิลทีวีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่เอาเข้าจริงคำว่า "นักท่องเที่ยว" ก็ถูกตีความกว้างไปถึงตามบ้านเรือนทั่วไปอีกทั้ง ททท.ก็ไม่ได้มีแผนอะไรชัดเจน เรื่องกฎกระทรวงก็ยังไม่ได้ออกมาควบคุมอย่างชัดเจน

"เรื่องส่งเสริมต้องการอะไรก็บอกมา เราจะให้ใช้เวลาโดยไม่คิดว่าตอบแทนแล้วเรื่องเคเบิลทีวีก็ไม่ต้องผ่านกบว.อนุมัติหรอก เพราะเป็นไปตามมติครม. ปี 2529 และ 2532 และกฎกระทรวงที่จะออกมา 9 ฉบับนั้น ผมก็ดำเนินการไปตามนั้นอยู่แล้ว แม้จะยังไม่ออกมาเป็นทางการก็ตาม ในกฎกระทรวงบอกว่า ให้เซ็นเซอร์โดยกรมตำรวจ ก็มีแล้ว ให้มีผู้อำนวยการสถานีก็มีแล้ว คุหญิงสุพัตราไม่ได้ค้านว่าไม่ให้มีหรอก แต่ท่านอยากให้กบว.ควบคุม แต่คำถามก็คือ สถานีนี้เป็นของเอกชนหรือไม่ ไม่ เป็นของรัฐบาลใช่ไหม ใช่ เป็นของ อ.ส.ม.ท. หรือไม่ใช่ และ อ.ส.ม.ท.มีสิทธิ์ทำธุรกิจไหม มีและถามว่ามีการควบคุมโปรแกรมไหม ก็ควบคุม ควบคุมโดยอะไร ก็ควบคุมโดยกฎกระทรวงที่คุณหญิงเป็นคนร่างเองนั่นแหละ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถามว่าจะเอาอะไรกันอีก" ทักษิณ กล่าวอย่างเบื่อหน่าย

ซึ่งผลการต่อสู้ของทักษิณก็คือ เคเบิลทีวีเริ่มดำเนินการเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาเฉพาะตามโปรแกรม และตามบ้านก็เริ่มในเดือนตุลาคม

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ทักษิณสร้างขึ้นมา อาจจะเป็นธุรกิจที่บางคนคาดไม่ถึง ทุกตัวจะมีลักษณะเหมือนกันคือ ใช้ "คลื่นความถี่วิทยุ" ซึ่งต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติหรือกบว. ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะนำไปสู่ธุรกิจได้มากมายเท่าทักษิณได้ค้นพบ ซึ่งข้อนี้เองที่เป็นคุณสมบัติที่ได้เปรียบของทักษิณที่สำคัญมาก ๆ

ทักษิณจะหัวเราะทุกครั้งที่มีคนพูดว่า เขาเป็น "เจ้าพ่อคลื่นวิทยุ"

"ก็พวกหนังสือพิมพ์นั่นแหละตั้งให้ผม" ทักษิณกล่าวแต่ดูเหมือนจะในยุคปัจจุบันก็ยังไม่ใครค้นพบทรัพยากร และนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้มากมายเช่นเขา

ปัจจัยประการที่สอง ของความสำเร็จของทักษิณคือ การได้รับสัมปททานแต่เพียงผู้เดียวในธุรกิจที่เขาลงไปทำเป็นส่วนใหญ่ซึ่งหลายคนสรุปง่าย ๆ ว่า เขาพยายามใช้เส้นสายเข้าไป "ผูกขาด"

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทักษิณได้รับการโจมตีมากที่สุด แต่ก็เป็นลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของธุรกิจของเขาเช่นกัน โดยสังเกตได้เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เขาเป็นผู้บุกเบิก หรือแม้แต่ธุรกิจที่เขาเป็นนายหน้า เช่น ดาต้าคิต ก็เป็นลักษณะสัมปทานเช่นกัน

กรณีบัสซาวน์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดจะทำแข่งด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่ามันไม่คุ้มกับการลงทุน หรือต้องใช้เวลานานมากในการคืนทุน กับโดยลักษณะการบริหารงานกิจการรถเมล์ก็เป็นลักษณะผูกขาดโดยขสมก.อยู่แล้ว จึงไม่ต้องคิดเรื่องแบ่งโซนกันทำวิทยุบนรถเมล์ให้เปลืองสมอง

"บางทีก็ไม่ใช่เรื่องสัมปทานหรือผูกขาดโดยชัดเจนหรือเจตนา อย่างเช่น เรื่องเอส.โอ.เอส ใครเขาจะกล้าสู้คุณทักษิณคนที่มาแข่งจะต้องฝ่าด้านอะไรบ้างก็คิดดู อย่างแรกต้องขออนุมัติจากกบถ. (คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุ) ขอคลื่นมาให้ได้เสียก่อน ต้องสร้างเครือข่ายการประสานงานกับตำรวจให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แล้วยิ่งตอนนี้ เขาให้ไทยรัฐมาช่วยด้านการตลาด แค่นี้คุณก็จะเอาอะไรมาสู้" แหล่งข่าวในวงการสื่อสารให้ความเห็น

กรณี "ซิตี้คอลล์" เป็นกรณีที่ทักษิณไม่พออกพอใจมากที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาพยายามผูกขาดธุรกิจนี้เพียงคนเดียว

"อ้างเหตุผลไม่ให้ผมเข้ามาว่าเป็นเรื่องความมั่นคง แล้วที่เป็นทุกวันนี้คือคนมีความต้องการใช้วิทยุแบบนี้เยอะ คนก็ต้องเอาวิทยุเถื่อนเข้ามา เก็บภาษีก็ไม่ได้ ใต้โต๊ะกันมั่ง ใช้ประโยชน์กันไม่ได้ เพราะคลื่นมันแทรกเข้าไปในคลื่นทหาร ตำรวจ ก็ดักฟังกัน แล้วแบบนี้ไม่เรียกความมั่นคงหรือ พอผมพยายามทำให้มันถูกกฎหมาย ก็อ้างเรื่องความมั่นคง หากว่าผมเข้ามาคนเดียวตอนที่ผมคิด ทำไมไม่รู้จักคิดกัน คุณคิดกันซิ คิดมาแล้วประกาศออกมาซิ แล้วผมจะเข้าประมูลด้วย แล้วที่นี้พอผมคิดแล้ว ผมพาผู้ใหญ่ไปดูงานต่างประเทศ พอเห็นด้วยก็บอกว่าให้เอามาประมูล แล้วอย่างนี้มันถูกที่ไหน" ทักษิณกล่าวอย่างแค้นเคือง

พอถึงเวลานี้ เรื่องแต่ครั้งก่อนสงบลง "ซิตี้คอลล์" ก็ได้รับการรื้อฟื้อขึ้นมาใหม่ โดยมีเสียงทักท้วงน้อยมาก และดูเหมือนว่าทักษิณจะมั่นใจว่า ในเร็ววันนี้จะผ่านการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมอย่างแน่นอน

"อะไรที่มันใหม่เกินไป ก็ต้องพยายามทำให้คน่เข้าใจ บางครั้งต้องมีคนมองทั้งแง่ลบและแง่บวก มันต้องใช้เวลาสักพักถึงจะเข้าใจ" ทักษิณกล่าว ซึ่งนับเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของเขาคือใจเย็น อดทน รอคอย และมองโลกในแง่ดี เพราะธุรกิจของเขาล้วนต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น

กรณีเคเบิลทีวี ก็ดูเหมือนว่า หลังจากที่ทักษิณต่อสู้มาหลายปี ท่ามกลางเสียงทักท้วงตลอดเวลา แม้เวลานี้ก็ตาม ทักษิณก็เชื่อว่าจะไม่มีคู่แข่งโดยตรงในธุรกิจนี้ หรือมีบริษัทอื่นได้รับสัมปทานทำนองนี้อีก

ทักษิณให้เหตุผลในเชิงเทคนิคว่า กบถ. จัดสรรคลื่นมา 5 ความถี่ก็จริง เขาได้มาสามคลื่น ซึ่งก็เพียงพอแล้ว เพราะอีก 2 คลื่นจะไม่มีการให้คนอื่นเพราะจะเป็นการแทรกคลื่นกันไปภายหลัง เช่น เขาได้คลื่นหมายเลข 1, 3, 5 คลื่น และ 2 และ 4 ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะต้องเว้นระยะเพื่อไม่ให้คลื่นรบกวนกัน

อีกประการหนึ่งทักษิณอ้างมติครม.ที่ให้อ.ส.ม.ท.เป็นผู้ดูแลกิจการเคเบิลทีวีซึ่งแน่นอน และในแง่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจก็ไม่เอื้ออำนวยให้รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นทำธุรกิจประเภทนี้เพราะมี อ.ส.ม.ท. คอยควบคุมดูแลอยู่แล้วดังนั้นโดยการตีความของทักษิณเอง ธุรกิจเคเบิลทีวีจึงควรดำเนินการโดยบริษัทของเขาเพียงผู้เดียวภายใต้การปกป้องคุ้มครองจาก อ.ส.ม.ท.

ทักษิณกล่าวว่า ที่เขาเปิดตัวธุรกิจใหม่ ๆ มากมายในช่วงนี้ไม่ใช่เป็นการขยายตัว แต่เป็นเพราะเป็นเรื่องที่ขอมานานแล้วแต่อนุมัติมาในช่วงนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี ซึ่งเขากล่าวว่า มาพร้อม ๆ กันแบบนี้เขาเหนื่อยมาก แต่สายตา "ผู้จัดการ" แล้วเขาอาจจะเหนื่อยมากในการทำตลาดช่วง 5 ปีแรก แต่หลังจากนี้คือช่วงแห่งการเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ยาวนานเป็นสิบยี่สิบปีทีเดียว

ปัจจัยประการที่สาม คือ สายสัมพันธ์ ทักษิณกล่าวว่าเขาเป็นคนมีเพื่อนมาก

"ในสังคมไทย การรู้จักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่รู้จักกันต่างหากเป็นเรื่องผิดปกติ" ทักษิณกล่าวเปรียบเทียบให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

หน่วยงานที่เขาย่อมต้องมีสายสัมพันธ์ค่อนข้างดีคือ คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติหรือ กบถ. หน่วยงานนี้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้หน่วยงานรัฐและเอกชนไปใช้ เพราะคลื่นความถี่วิทยุก็เหมือนแนวถนนที่ต้องมีการวางแนว ปักกันเขตให้ชัดเจน เพื่อมิให้มีการล้ำแดนหรือเกิดคลื่นแทรกกัน บทบาทในการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ครอบคลุมคลื่นความถี่สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ วิทยุสื่อสารตำรวจวิทยุมือถือที่ได้รับอนุญาต วิทยุสื่อสารของเอกชน เช่น หนังสือพิมพ์ - ธุรกิจเอกชนใหญ่ ๆ รวมไปถึงแพ็คลิ้ง, เคเบิลทีวี, เอส.โอ.เอส., บัสซาวน์, ซิตี้คอลล์ เป็นต้น

กบถ.ประกอบด้วยคณะกรรมการ 12 คน ที่สำคัญคือรมต.คมนาคมเป็นประธาน รมช.คมนาคมเป็นรองประธาน หลายปีมานี้ ส.ส.จากพรรคชาติไทยมาคุมกระทรวงนี้สม่ำเสมอ ช่วงหนึ่งสุรพันธ์ ชินวัตรเคยเป็นรมช.และดูแลกบถ.อยู่ ซึ่งมีเสียงค่อนแคะไปถึงทักษิณว่า "อาย่อมต้องช่วยหลาน"

"ความเป็นชินวัตรไม่ได้ช่วยอะไรผมเลย ตอนที่อาของผมเป็นรมช. งานของผมก็ติดขัดไปหมด ผมกับอาไม่ได้มีธุรกิจเกี่ยวข้องกัน" ทักษิณมักย้ำคำนี้เสมอ

แต่เป็นที่รู้กันว่า เรื่องเคเบิลทีวีนั้น ที่เฉลิมให้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้งของทักษิณเป็นผู้รับสัมปทานไปเพราะมักจะกล่าวอ้างเสมอว่า บริษัทนี้ได้เคยลงทุนไปมากแล้ว และเป็นบริษัทเดียวที่มีคลื่นพร้อมสำหรับดำเนินการได้ทันที

ทั้งที่ในช่วงที่เฉลิมออกโรงมาหนุนทักษิณนั้น ก็ยังมีความสับสนอยู่ในกบถ.บางคน เพราะในสมัยรัฐบาลเปรมที่ยับยั้งเคเบิลไปแล้ว ก็มีการตีความว่า คลื่นที่ขอไว้เพื่อการนี้น่าจะยับยั้งไปด้วยเรื่องต้องนับหนึ่งกันใหม่ เจ้าหน้าที่บางคนถึงกับกล่าวว่าทักษิณจะกล่าวอ้างเรื่องนี้อีกไม่ได้ แต่ก็ไม่มีการท้วงติงเป็นเรื่องเป็นราวจนมติครม.อนุมัติให้ดำเนินการได้ ซึ่งอ.ส.ม.ท.และทักษิณก็ถือมติครม.นี้เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างเสมอมาและคลื่นความถี่ที่กบถ.ชุดล่าสุดอนุมัติให้อ.ส.ม.ท.ใช้กับเคเบิลทีวี 3 คลื่น ก็เพิ่งอนุมัติอย่างแท้จริงสิ้นสงสัย 10 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง

ธุรกิจอื่น ๆ ของทักษิณก็ใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นหลักเกือบทุกตัว กบถ.จึงเปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรที่มีค่าแต่ไม่ใครมองเห็น มีก็เพียงทักษิณเท่านั้นที่จับทิศทางของมันได้ ดังนั้นทักษิณจึงต้องมีความใกล้ชิดกันกรรมการกบถ.เป็นธรรมดากรรมการคนหนึ่งของบกถ.คือ ไกรสร พรสุธี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารความถี่วิทยุ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้มานานถึง 10 ปีรู้คุณค่าและประโยชน์ของคลื่นความถี่วิทยุนี้ดีต่อมาเขาถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจการประจำกระทรวง แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ อ.ส.ม.ท. ชุดล่าสุด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงสนับสนุนจาก ทักษิณ ชินวัตร

ประยูร จินดาประดิษฐ์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทักษิณอยู่มากประยูรสนิทกับตระกูล "ชินวัตร" ตั้งแต่ตัวเองอยู่ฝ่ายตรวจสอบของธนาคารชาติ เพราะประยูรเดินทางไปตรวจสอบธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ ซึ่งมีพอ่เลี้ยงเลิศ พ่อของทักษิณเป็นผู้จัดการ และต่อมาทักษิณก็มาเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทยช่วงที่ประยูรเป็นกรรมการผู้จัดการ ด้วยความผูกพันนับถือเป็นพ่อทักษิณจึงเชิญประยูรมาเป็นประธานกรรมการบริษัทเซฟตี้ ออร์เดอร์ซิสเต็ม

ประยูรกล่าวถึงทักษิณอย่างชื่นชมมากว่า ทักษิณ เป็นคนหนุ่ม ที่ฉลาดมาก และในสมองของทักษิณจะต้องคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา

"คุณคอยดูเขาให้ดีเขาจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้นำธุรกิจด้านการสื่อสารในเมืองไทยในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้านี้" ประยูรกล่าวถึงทักษิณอย่างเชื่อมั่น แสดงถึงหลักประกันให้แก่ทักษิณอย่างเต็มที่

ในงานเปิดตัวเครื่องเอส.โอ.เอส.เมื่อไม่นานมานี้ มีพลตำรวจเอกเภา สารสิน เป็นประธานและที่สำคัญกว่านั้นป๊ะกำพล วัชรพลเจ้าของไทยรัฐก็มาด้วยในฐานะประธานบริษัทที.เอส.อี.คอมมูนิเคชั่น ซึ่งรับจัดจำหน่ายและทำการตลาดให้เอส.โอ.เอส.

บางกระแสกล่าวว่า การสร้างสายสัมพันธ์กับป๊ะกำพลนี้ผ่านทางประยูร จินดาประดิษฐ์ แต่ทักษิณกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่เขารู้จักกับยุวดี บุญครอง ซึ่งคุมโฆษณาไทยรัฐเมื่อทักษิณทำบัสซาวน์ บริษัทมีเดียออฟมีเดียของยุวดีก็เป็นโบรกเกอร์หาโฆษณาให้ในระยะแรก แต่มาเลิกในภายหลังเพราะทักษิณต้องการจัดระบบการทำงานใหม่ในบัสซาวน์ เมื่อยุวดีมาอยู่ไทยรัฐแรงผลักดันที่จะดึงทักษิณเข้ามาร่วมธุรกิจจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกมากสำหรับไทยรัฐ ที่รับเป็นฝ่ายตลาดให้กับสินค้าที่ตนเองไม่คุ้นแบบนี้มาก่อน

การสร้างสายสัมพันธ์กับ "ไทยรัฐ" เป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคต ใคร ๆ ก็ย่อมรู้

ประมุท สูตะบุตรอดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นคนเก่งและเป็นคนที่รวดเร็วมากในการคิดวางแผนโครงการใหม่ ๆ เมื่อมาพบกับทักษิณจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมมาก ประมุทเป็นคนคอยเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจหลายอันให้ทักษิณ เช่น เคบิลทีวีและบัสซาวน์ ความสนิทสนมนี้ ทำให้ทักษิณเข้านอกออกใน อ.ส.ม.ท. ได้อย่างคุ้นเคย ทั้งในฐานะคนรู้จักผู้บริหารทุกระดับและคนค้าขายกับ อ.ส.ม.ท. ความสนิทสนอมเลยผ่านมาจนถึงยุคเฉลิมเรืองอำนาจ ทักษิณเป็นตัวเก็งคนหนึ่งที่จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.คนใหม่ แต่ทักษิณปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. สู้ทำการค้ากับ อ.ส.ม.ท.ไม่ได้ และที่สำคัญตาม พ.ร.บ. ห้ามผู้มีธุรกิจคล้ายคลึงกับ อ.ส.ม.ท.มาเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร อ.ส.ม.ท.

แต่ในช่วงที่ราชันย์ ฮูเซ็น เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ถึงกับมีการนินทากันว่า ผู้อำนวยการอ.ส.ม.ท.ตัวจริงคือทักษิณ จะติดต่อขอช่วงเวลา ขอรายการไม่ว่าโทรทัศน์หรือวิทยุให้ติดต่อได้ที่ทักษิณ

เฉลิม อยู่บำรุงเป็นอีกสายสัมพันธ์หนึ่งที่ทำให้ทักษิณสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในเรื่องเคเบิลทีวี เฉลิมหนุนแทบสุดตัวจนคิดว่าทักษิณเป็นคนของพรรคมวลชน แต่โดยแท้ที่จริงต้องตระหนักว่าทักษิณเป็นนักธุรกิจ สิ่งสำคัญคือไม่ควรไปผูกติดกับนักการเมืองคนใดหรือพรรคใดมากเกินไปเป็นอันขาด

ดังนั้นในช่วงมื้อเที่ยงของบางวัน หลายคนอาจจะมีโอกาสได้พบทักษิณ ชินวัตรที่ห้องอาหาร EMPRESS ในโรงแรมปริ๊นเซสกับปองพล อดิเรกสาร บางวันกับเฉลิม อยู่บำรุง นอกจกนี้ความสัมพันธ์แบบง่าย ๆ ก็เริ่มต้นได้กับนักการเมืองคนอื่น ๆ ณ ห้องอาการแห่งนั้นได้เช่นกัน

ความที่เขาเป็นเขยตระกูล "ดามาพงศ์" ก็ถูกเพ่งมองอยู่ไม่น้อย และเชื่อมโยงไปได้หลายระดับ ความสัมพันธ์นี้ไม่ชัดเจนนัก และไม่มีความจำเป็นที่ "ผู้จัดการ" จะต้องพิสูจน์ มีเพียงแค่ครั้งหนึ่งช่วงที่ทักษิณเซ็งสุดขีดกับเคเบิลทีวี อยากจะขายให้กับอ.ส.ม.ท.ไปให้หมดเรื่องหมดราว จิรายุ อิศรางกูร รมต.สำนักนายกฯ ขณะนั้นซึ่งต่อมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคนติดต่อประสานงานไปทางบุญเสริม วีสกุล รักษาการ ผอ.อ.ส.ม.ท.

ในท่ามกลางกระแสการเมือง ทักษิณถูกคัดค้านเรื่องเคเบิลทีวีอย่างหนักจากคุณหญิงสุภัตรา มาศดิตถ์ รมต. ซึ่งดูแลกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อถามว่าคุณหญิงคัดค้านเขาด้วยสาเหตุใด ทักษิณจะทำหน้างอน ๆ แหงนหน้ามองฟ้าแล้วตอบห้วน ๆ ว่า "ไม่รู้"

"ไม่รู้เป็นอะไร การเมืองมายุ่งทุกครั้ง แต่ตอนนี้ผมไม่ห่วงผมไม่เล่นการเมือง คือคนเราก่อนจะค้าน ต้องจิตให้ว่าง และพิจารณาเฉพาะเรื่องนั้นจริง ๆ อย่ามามองหน้าผม แล้วพิจารณาว่าเรื่องนี้เหมาะสมไหม อย่ามองหน้าผมว่าผมเป็นใคร และข้างหลังมีใครบ้าง" ทักษิณขอความเห็นใจ

หากใครได้มีโอกาสพบกับทักษิณ จะรู้ทันทีว่าทักษิณเป็นคนอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง แต่งกายดีมาก ๆ สูบไปป์ในบางโอกาส

เขาย้ำหลายครั้งว่า เขาเป็นคนมีเพื่อนมาก ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่าย ๆ และเขายังกล่าวด้วยว่า เขาเป็นคนเผชิญกับทุกสิ่งได้แบบ "ไม่มีปัญหา"

"ผู้จัดการ" ถามเขาว่า เท่าที่ทำโครงการมาทั้งหมด ชอบโครงการไหนมากที่สุด เขาตรึกตรองอยู่นานมากก่อนกล่าวว่าเขาเป็นคนเบื่อง่าย แต่ถ้าตอนนี้ก็คงต้องเป็น เคเบิลทีวี

ขณะนี้ทักษิณลงเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านสำหรับโครงการเคเบิลทีวี และค่าโปรแกรมอีกเดือนละ 4-5 ล้าน มีบางคนกล่าวว่า เคเบิลทีวีจะจำกัดตลาดเพียงแต่ตลาดระดับสูงหรือผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น และก็ไม่มีโฆษณา มีรายได้จากแค่ค่าบอกรับเป็นสมาชิก โดยสมาชิกประเภทโรงแรมเดือนละ 150 ต่อห้อง ส่วนสมาชิกตามบ้านเดือนละ 600 บาท

"อย่าประมาทโครงการนี้ มันก็คือสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นั่นแหละ อ.ส.ม.ท. เคยประเมินว่าโครงการนี้จะคุ้มทุนในช่วงแค่ 3 ปี ต่อจากนั้นคือกำไร ในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้คือเงินจำนวนมหาศาล…มหาศาลมาก" คนในวงการย้ำ

นอกจากนี้ต้องพิจารณาว่า ทักษิณได้สัมปทานโครงการนี้ถึง 20 ปี ความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชาชนยอมรับในวงกว้างมากที่สุดย่อมเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงรายได้อีกไม่รู้เท่าไร

"ความได้เปรียบของเคเบิลทีวีในอนาคตคือ ประชาชนจะไม่รู้สึกถูกยัดเยียดรายการทางทีวีเช่นเขารู้สึกทุกวันนี้ แต่เขาจะมีโอกาสเลือกรายการดีที่เขาอยากจะดูได้มากขึ้น พูดในแง่หนึ่งมันก็เป็นเสรีภาพในการรับรู้ แต่ทั้งนี้มันขึ้นกับว่าเคเบิลทีวีต้องมีรายการที่ดี ๆ ป้อนสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร ถ้ามีเงิน" คนในวงการทีวีให้ความเห็น

เรื่องเงินนั้นไม่ใช่ปัยหาสำหรับทักษิณอย่างแน่นอน มีบางคนกล่าวว่า ขณะนี้ทักษิณมีฐานะดีมาก ๆ เฉพาะแค่เงินที่ได้จากการประมูลต่าง ๆ ผลตอบแทนจาการลงทุนในสัมปทานต่าง ๆ ก็อาจมีตัวเลขนับพันล้านและรายได้ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตก็คงไม่ใช่น้อย

"ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่ผมคิดว่าปีหน้าจะพักผ่อนผมจะไม่ขยายตัวอีกแล้ว ที่ขยายตัวตอนนี้ก็เป็นเรื่องเก่าที่ค้างมา" ทักษิณกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต แต่ทักษิณซึ่งเป็นคนหนุ่ม คิดตรึกตรองตลอดเวลา จะใช้เวลหมดไปกับการหยุดอยู่กับที่คงไม่ใช่เรื่องปกตินัก

แต่ถ้าถามเขาเรื่องการเมืองที่มักมายุ่งกับเขา ทักษิณตอบแบบนักการเมืองอาชีพว่า "ตอนนี้ผมไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็อย่าเอาผมไปเกี่ยว ผมยังไม่คิดเล่นการเมือง แต่การเมืองเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องคิด เรื่องพรรคาไทยหรือพรรคมวลชนนั้น ผมไม่คิด ผมไม่มีพรรค ผมมีแต่พวก"

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ธุรกิจของทักษิณเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยระบบสัมปทาน ระบบนี้จะเฟื่องฟูช่วงหนึ่งและอาจมีความไม่แน่นอนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนนักการเมืองมากำกับดูแล ดังนั้นระบบสัมปทานนี้จะมั่นคนได้ก็ด้วยอำนาจทางการเมือง

ทักษิณอาจต้องเล่นการเมืองเต็มตัวเข้าสักวัน หรือไม่เช่นนั้นการเมืองก็เล่นเขา

เอาแค่ง่าย ๆ ถ้าวันข้างหน้า รมต.คมนาคมคนใหม่ขอให้กบถ.จัดสรรความถี่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสถานีเคเบิลทีวีทีจะเพิ่มขึ้นหรืออ.ส.ม.ท.เปลี่ยนนโยบายให้มีบริษัทที่สองมาทำธุรกิจเคเบิลทีวีก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้ารัฐมนตรีคุม อ.ส.ม.ท. คนใหม่ไม่ใช่เฉลิมเพียงเท่านี้การแข่งขันที่ดุเดือดก็เริ่มขึ้นโดยมีทักษิณเป็นเป้า

คนใกล้ชิดทักษิณกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ปีหน้าที่ทักษิณขอพักผ่อน ก็คือการกลับไปเชียงใหม่เพื่อปูคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นอกจากนั้นก็ต้องยอมรับว่า ทักษิณเป็นคนหนุ่มที่มีอนาคตไกล มีความคิดสร้างสรรค์ การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของเขาอย่างเต็มตัว อาจหมายถึงการได้ใช้ความรู้ความสมารถในตัวเขาให้มีพลังเปล่งประกายอย่างเต็มที่ก็ได้ โครงการอีกหลายโครงการในความคิดของเขา จะได้มีโอกาสแสดงถึงศักยภาพและคุณประโยชน์ให้ประจักษืแก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง

ดูเหมือนว่า ทุกสิ่งจะพร้อมสำหรับเขาหมดแล้ว ทั้เงินจากธุรกิจที่ปูทางไว้แต่บัดนี้ สายสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกระชับแน่นฐานทางการเมืองจากหลายพรรค และลีลาการพูดจาที่มีท่วงทำนองเหมือนนักการเมืองโดยเฉพาะการพูดแบบเฉลิม อยู่บำรุงเข้าไปทุกที

ก็ไม่แน่นัก เลือกตั้งสมัยหน้าเราอาจมีรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ชื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.