ชีวิตที่ยิ่งกว่านิยายของพงศกร


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

งานแถลงข่าวและเซ็นสัญญาเงินกู้ระหว่างบริษัทปลาทองกะรัต โดยพงศกร ญานเบญจวงศ์ กับสหธนาคารโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กรรการผู้จัดการใหญ่ จำนวนเงิน 380 ล้านบาท สำหรับโครงการแฟลตปลาทองกะรัตที่รังสิต เมื่อเย็นวันที่ 17 สิงหาคม 2532 ณ อาคารปลาทองกะรัต เป็นงานที่จัดขึ้นอย่างหรูหรามาก อาหารถูกสั่งจากครัวโอเรียนเต็ลดนตรีขับกล่อมตลอดงานทำให้งานคึกคัก มีวิทวัส สุนทรวิเนตร์ เป็นพิธีกร มีทีมข่าวสังคมธุรกิจของทีวีทั้ง 4 ช่องมาทำข่าวเป็นการเปิดฉากโฆษณาอย่ามโหฬารในอีก 20 วันต่อมา

คนที่เด่นที่สุดในงานซึ่งผู้สื่อข่าวล้อมหน้าล้อมหลังสัมภาษณ์มากที่สุดคือ พงศกร คนในวงการที่ดินและบ้านจัดสรรคงพอจะรู้จักเขาบ้าง แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จักเขาเลย ทั้ง ๆ ที่ขามีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันแล้วมี 9 โครงการแล้ว นั่นไม่ใช่เหตุผลเพียงเพราะว่าเขาเป็นหน้าใหม่ของวงการท่ามกลางโครงก่อสร้างมากมายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเขาเป็นคนเก็บตัวมาก ๆ โฆษณาที่ออกมามากมายก็จะเน้นที่ตัวสินค้าเป็นด้านหลักโดยจไม่พูดถึงเจ้าของโครงการเลย ด้วยความคิดของพงศกรที่ว่า "คนที่เก่งกว่าผมและเขาไม่เปิดเผยตัวมีมากมาย"

พงศกรหนุ่มใหญ่วัย 38 ปี เจ้าของแต่ผู้เดียวของบริษัทปลาทอง เป็นลูกชายคนเดียวของนายเทียม แซ่เลี้ยง ซึ่งมีโรงงานผลิตวุ้นเส้นตราปลาทอง และอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งทำเป็นอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีโรงงาน 10 กว่าโรงงาน สมัยเมื่อเยาว์พงศกร เป็นเด็กที่เกเรมาก หลังจากเรียนหนังสือจนจบ ม.3 ที่ศรีวิกรณ์แล้ว พ่อส่งเขาไปเรียนต่อด้าน MODERN ART ที่อังกฤษอยู่หลายปีแต่เขาก็เข้าเรียนแบบนับครั้งได้ หนักไปทางด้านเที่ยวเตร่มากกว่า ถ้าถามว่าไปเที่ยวอังกฤษแล้วถามว่าไปเที่ยวผับยไหนดีเขาจะตอบได้ดีกว่าเรียนที่ไหนดีเป็นแน่แท้ และยังไม่ทันจะเรียนจบอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็หนีกลับมาเที่ยวเมืองไทยด้วยความคิดว่าจะกลับไปเรียนต่ออีก บังเอิญพ่อเขารู้เข้าเสียก่อน พงศกรเลยถูกส่งไปคุมโรงงานวุ้นเส้นแห่งหนึ่ง แต่อยู่ได้ 8 เดือนก็หอบเสื้อผ้าออกจากบ้าน ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตที่จะไม่พึ่งพาเตี่ย ขณะนั้นเขาอายุเพียง 20 เศษ ๆ

ชีวิตในวัยเด็กของครอบครัวผู้มีอันจะกิน มิได้สุขสบายตามฐานะ เหตุเพราะแม่เขาเสียตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อของเขามีเมียใหม่เรื่องราวของเขาจึงไม่แตกต่างจากนิยายน้ำเน่าทั่วไป อาจจะเข้มข้นกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นเป็นส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เขาฮึดสู้ที่จะออกไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้ได้ จากลูกเศรษฐีที่เวลาไปไหนมาไหนคนก็เรียกว่าเสี่ย จึงกลายเป็นยาจกในชั่วข้ามคืน ต้องไปขอพักอาศัยที่บ้านพี่สาว ต้องขึ้นรถเมล์และเที่ยวตะลอนหางานทำ

พงศกรผ่านงานมาหลายประเภท อาทิ เป็นเซลส์ขายโฆษณาของหนังสือพิมพ์สยามรัฐผ่านงานบริษัทบีแอนซัน กระทั่งเมื่อ 9 ปีที่แล้วเขารวบรวมเงินที่สะสมได้แปดหมื่นบาทเช่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์ย่านลาดพร้าวซึ่งมีโชว์รูมขนาดใหญ่มากโดยใช้แนวคิด "ONE STOP SHOP" ซึ่งทำท่าว่าจะไปได้ดี

หลังจากนั้นไม่นานตึกเซ็นทรัลพลาซ่าก็เริ่มก่อสร้างขึ้น และมีโครงการที่จะเปิด FURNIMART โดยจะใช้พื้นที่เกือบ 3,000 ตรม. คือพื้นที่ทั้งฟลอร์เป็น ONE STOP SHOP ซึ่งพงศกรอดไม่ได้ที่หวั่นไหวต่อคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเซ็นทรัล ประกอบกับระยะนั้นมีการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย เขาจึงคิดจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจด้านอื่นที่น่าจะมีลู่ทางดีกว่า

นั่นคือที่มาของหมู่บ้านพงศกลวิลล่า 1 ลาดพร้าวซอยเดียวกับบ้านของอาภัสรา จิราธิวัฒน์ ในปี 2525 และต่อด้วยหมู่บ้านการ์เดนท์วิลล่า ถนนรามคำแหงในปีถัดมา สองโครงการแรกเป็นบ้านราคาล้านกว่าถึง 4 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว

โครงการที่ 3 จึงเกิดขึ้นในปี 2527 ในชื่อหมู่บ้านพงศกรวิลล่า2 ย่านลาดพร้าว ซึ่งพงศกรหมายมั่นปั้นมือว่าโครงการนี้จะทำกำไร 60 ล้านบาท แต่กลับต้องขาดทุนย่อยยับ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ด้านคือเกิดน้ำท่วมใหญ่ติดต่อกันหลายเดือน และกระหน่ำซ้ำเติมด้วยมาตราการจำกัดสินเชื่อ 18 เปอร์เซ็นต์ของธนาคารชาติ นับเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ในชีวิตของพงศกร!

คนหนุ่มอย่างพงศกรแม้จะทดท้อกับโชคชะตาอยู่บ้าง แต่เมื่อไม่สำเร็จย่อมต้องไม่เลิกลา ทำให้เกิดโครงการบ้านปลาทองกะรัต ย่านบางนา-ตราด กม.7 ซึ่งแถวนั้นใน พ.ศ.2529 เปลี่ยวมากยังไม่มีใครคิดที่จะไปทำบ้านจัดสรรที่นั่น กลุ่มเป้าหมายคือชนชั้นกลาง ราคาบ้านอยู่ในราว 7-8 แสนบาท ซึ่งหลังจากผู้ซื้อเข้าไปอยู่อาศัยแล้วเกิดกรณีพิพาทระหว่างคณะกรรมการหมู่บ้านกับเจ้าของงโครงการ ในเรื่องการอำนวยแก่ผู้อยู่อาศัย ซึ่ง "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้มีส่วนในการช่วยไกล่เกลี่ยโดยใช้สำนักงาน "ผู้จัดการ" ที่ถนนพระอาทิตย์เป็นสถานที่ในการเจรจากันอีกหลายรอบจนเรื่องราวยุติ ด้วยการที่เจ้าของโครงการยินยอมตามข้อเรียกร้องของกรรมการหมู่บ้านส่วนใหญ่

แต่ในปีเดียวกันนั้นเองหมู่บ้านปลาทองกะรัตก็ได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านดีเด่น ซึ่งกรมที่ดินจัดขึ้นเป็นปีแรก

พงศกรได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความสามรถทางด้านการตลาดมากคนหนึ่ง และงานที่เกิดจากมันสมองอันไม่หยุดนิ่งของเขาซึ่งเป็นที่ฮือฮาของวงการมากกว่าก็คือโครงการ "มินิออฟฟิตรัชดาคอมเพล็ก" ขึ้นเป็นครั้งแรก

รูปร่างหน้าตาของมันก็คือกลุ่มอาคารที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปนัก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เป็นการตกผลึกความคิดจากการค้นพบข้อด้อยของอาคารพาณิชย์ตึกแถวและคอนโดมิเนียมระฟ้า "มินิออฟฟิต" เป็นอาคารสูง 5 - 9 ชั้นมีที่จอดรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ เป็นอาคารที่สวยงามด้วยฝีมือการออกแบบของสำนักงานดีไซน์ 205 และแปลนอาร์คิเตค วึ่งเป็นสิ่งที่อาคารพาณิชย์ทั่วไปจะไม่มีและต่างจากคอนโดมิเนียมตรงที่เป็นเจ้าของตึกแต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมในด้านสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน จนเกิดปัญหาโต้แย้งเรื่องค่าบำรุงรักษากันอยู่เนือง ๆ

ผลงาน "มินิออฟฟิตรัชดาคอมเพล็ก" นอกจากจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจอย่างมาก ยังได้กลายเป็นแม่แบบที่มีคนเลียนแบบทำตามมาอีกหลายโครงการ แล้วยังได้รับการยอมรับจากแวดวงวิชาการในฐานะกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในระดับปริญญาตรีและโท จนกระทั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงลงมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจประจำปีการศึกษา 2531 ให้แก่พงศกร

พงศกรสร้างสถิตในการเป็นสามัญชนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับปริญญานี้เมื่ออายุเพียง 38 ปี นับว่าเป็นเกียรติยศด้านกลับจากคนที่ไม่เอาดีด้านการศึกษา แต่การสร้างสรรค์งานในโลกแห่งความเป็นจริงกลับได้รับการยอมรับยกย่องจากสถาบันการศึกษาระดับสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดสำหรับเขา

พงศกรยังคงเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งปี 2532 เขาประกาศจะขึ้นอีก 3 โครงการคือบ้านฉางเรสซิเดนท์ แอนท์คอมเพล็ก ที่ตำบลบ้านฉาง ระยอง โครงการเลเดียสรีสอร์ทคลับพัทยา พัทยากลาง และโครงการแฟลตปลาทองรังสิต

โครงการแฟลตปลาทองอยู่ริมถนนใหญ่ ห่างจากตลาดรังสิตไป 4 กม. ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ 72 ห้อง และแฟลต 130 อาคาร (7,280 ห้อง) บนเนื้อที่ 130 ไร่ แฟลตห้องหนึ่งราคา 1.89 แสนบาท กลุ่มเป้าหมายคือชนชั้นกลาง ลูกจ้างข้าราชการที่มีเงินเดือน 3-4 พันบาทซึ่งพงศกรวางแผนไว้ว่าจะต้องขายให้หมดในวันเดียวซึ่งเปิดจองในวันที่ 9 เดือน 9 (กันยายน) เขาทุ่มงบโฆษณาโดยใช้สื่อทุกประเภท หลังเปิดงานแถลงข่าว จนกระทั่งถึงคืนก่อนวันจองคือ 21 วัน ใช้เงินโฆษณาถึง 20 ล้านบาท

"ลูกเล่นของเราสำหรับสินค้าตัวนี้คือต้องวันเดียวหมด ถ้าเราไม่ขายวันเดียวหมด ถ้าเราไม่อยากขายวันเดียวมันไม่แรง จะรู้สึกไม่ตื่นเต้น ไปเมื่อไรก็มี จองวันเดียวมันรู้สึกกดึงดูดคนดี เราทุ่มโฆษณาทางทีวี 4 ช่อง หนังสือพิมพ์ บัฑซาวด์ วิทยุ บิวบอร์ด กลางคืนยังมีรถติดไฟวิงทั่งกรุงเทพฯอีก 40-50 คัน เหมือนรถหาเสียง เราลงทุนขนาดนี้ ราคาห้องถูกขนาดนี้ถ้าวันเดียวขายไม่หมดผมก็ไม่รู้จะเอาตำราที่ไหนมาทำแล้ว วันนั้นผมว่าจะมีคนมาเป็นหมื่นถ้าตี 5 คนมาน้อยกว่า 3 พันคน นี่แสดงว่านี่ผมล้มเหลวแล้ว" พงศกรกล่าวด้วยความเชื่อมั่น

ขณะที่ "ผู้จัดการ" ฉบับนี้ ถึงมือท่านผู้อ่าน เราคงทราบผล กันแล้วว่าเขาขายหมดภายในวันเดียวจริงหรือไม่ ซึ่งพงศกรบอกกับ"ผู้จัดการ" ว่าถ้าไม่หมดจริง ๆ ก็ค่อยว่ากันใหม่

พงศกรเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มักมีไอเดียแหวกแนวเสมอ ถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ โครงการต่อไปที่อยู่ในความคิดของเขา คือที่อยู่ของคนชั้นกลาง และล่าง เขาจะสร้างแฟลตที่ยิ่งถูกลงไปอีกในสนนราคา 6-7 หมื่นบาท สำหรับคนจนที่จะมีสิทธิ์มีที่อยู่ของตัวเอง กับโครงการสร้างคอนโดมิเนียมสำหรับชนชั้นกลาง แต่ไม่ทำหรูหราอย่างที่เห็นกันทั่วไป แต่จะทำในราคาถูก นอกจากเหตุผลด้านการตลาดแล้วเขายังคิดว่า "มันเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ให้โอกาสชนชั้นล่างและชั้นกลางมีสิทธิ์บ้าง" พงศกรนั้นด้านหนึ่งเป็นคนชอบใช้ชีวิตอิสระเสรีชอบเที่ยวเตร่ แต่อีกด้านหนึ่งเขาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่การทำงานหนักหลายครั้งที่ประสบวิกฤตการณ์เขาต้องใช้ความคิดเป็นอย่างหนักหน่วง วิตกกังวล นอนไม่หลับจนต้องหามเข้าโรงพยาบาลก็หลายครั้ง แต่เขาก็ภูมิใจที่สิ่งที่เขามีอยู่ในทุกวันนี้เป็นสิ่งที่เขาสร้างมันขึนมาเองด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเองที่ไม่ได้พึ่งพาอาศัยครอบครัวเลย

วันหนึ่งนายเทมียมบิดาอันเกิดเกล้า ได้เดินทางมาเยี่ยมชมตึกปลาทองกะรัตอันเป็นสำนักงานให้เช่าและที่ตั้งของบริษัทปลาทองกะรัต ซึ่งอยู่ด้านหน้า "มินิออฟฟิตรัชดาคอมเพล็ก" สิ่งที่หลุดออกมาจากปากของนายเทียมก็คือ "ไม่นึกเลยว่าลูกที่ทิ้งแล้วอย่างลื้อ จะทำได้ดีขนาดนี้"

เป็นคำพูดที่มีความหมายต่อพงศกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำพูดที่เขาอยากได้ยินจากปากพ่อเหลือเกิน และในที่สุดเขาก็ได้ยินจริง ๆ หลังจากนั้นเขาก็สั่งให้ติดป้ายภาษาจีน 4 คำ อันเป็นการให้เกียรติคุณพ่อของเขาอ่านเป็นภาษาไทยว่า"ไท้เฮง ไต่เห่" หรือ "อาคารไท้เฮง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.