ธุรกิจเครดิต การ์ด ตัดสินใจปรับตัวครั้งใหญ่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลกระทบของวิกฤติการซับไพร์ม (Sub Prime) ในสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของกองทุนรวมและสถาบันการเงินต่างๆ มีการด้อยค่าลงและประสบกับผลขาดทุน จนถึงจุดจบของกิจการธนาคารวานิชธนกิจชื่อดังนับร้อยปีอย่าง เลแมน บราเธอร์เท่านั้น

หากแต่ผลกระทบของวิกฤติการณ์สินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำ ยังทำให้กิจการธุรกิจบัตรเครดิตของโลกหันทบทวนบทบาทและกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนครั้งใหญ่ ซึ่งผลของการทบทวนดังกล่าว ทำให้เกิดแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ธุรกิจบัตรเครดิตของโลกจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปครั้งนี้อย่างแน่นอนแล้ว

การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจบัตรเครดิต คืออะไรกันแน่

ประการแรก ผู้ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบระดับรัฐบาลเป็นผลักดันหลัก และผู้บุกเบิกที่ออกมาให้นโยบายอย่างชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจด้านบัตรเครดิต ให้มั่นใจว่าจะยังคงเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคง ไม่ถูกสั่นคลอนจากปัญหาของลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตแล้วเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่าย จนนำสู่วิกฤติการณ์ซับไพร์ม 2

การตั้งป้อมประกาศใช้นโยบายการกำกับควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตที่เข้มงวดขึ้นดังกล่าว ทำให้ยักษ์ใหญ่ของวงการบัตรเครดิตอย่าง วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองตามอย่างเหมาะสม

ประการที่สอง พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมเครดิตการ์ด ที่ถูกโจมตีอย่างมากว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เป็นพฤติกรรมและวิธีปฏิบัติที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เช่น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยย้อนหลัง การทำธุรกรรมการ์ดทางการตลาดกับชนกลุ่มน้อย การออกเครดิตการ์ดให้กลุ่มลูกค้าซับไพร์มด้วยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรายปีที่สูงมาก การใช้วิธีปฏิบัติในการกำหนดวันครบกำหนดชำระ ที่มีแนวโน้มจะทำให้ลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตต้องจ่ายค่าเบี้ยปรับล่าช้าและค่าธรรมเนียมแปลกๆ

ประการที่สาม ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูง เพราะจากขนาดของธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องถือว่าเป็นขนาดธุรกิจที่อยู่ในระดับน้องๆ ของตลาดสินเชื่อบ้านแก่ลูกค้ากลุ่มซับไพร์ม การจะปล่อยให้เกิดเป็นวิกฤติการณ์อีกรอบจึงไม่อาจยอมรับได้

ประการที่สี่ การสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ได้พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจใหญ่น้อยในสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะหันมาพึ่งพาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในกิจการผ่านการใช้เครดิตการ์ดมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีนโยบายที่จะชะลอการปล่อยสินเชื่อระยะยาวลงไปอย่างเห็นได้ชัด

การศึกษาพบว่า กิจการธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ในสหรัฐฯราว 44% หันมาพึ่งหาแหล่งเงินทุนผ่านบัตรเครดิตเป็นแหล่บงเงินหลักของการประกอบการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเพิ่มความเข้มงวดของการทำธุรกิจบัตรเครดิต ย่อมจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้าในกลุ่มนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่าอาจมีกิจการขนาดย่อมประสบปัญหาทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

ผลกระทบอาจจะเกิดตั้งแต่ต้นทุนการใช้เครดิตที่เพิ่มขึ้น ลดโอกาสในการเข้าถึงตลาดเครดิตการ์ด วงเงินเครดิตที่ลดลงจากเดิม และเงื่อนไขการใช้ที่ยุ่งยากและลดความคล่องตัวมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.