แล้วเมืองไทยก็มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง คราวนี้เป็นผลงานด้านวิชาการของเยาวชนไทยจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกครั้งที่
30 (INTERNATIONALE MATHEMATIK OLYMPIADE 1989) ที่เมือง BRAUNSCHWEIG ประเทศเยอรมนีตะวันตก
ผลที่ออกมาว่าประเทสไทยซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกมีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่
41 จากประเทศที่ร่วมการแข่งขัน 50 ประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับเหรียญรางวัล
1 เหรียญทองแดงกับอีก 2 รางวัลเกียรติคุณประกาศ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของวงการวิชาการไทยที่สามารถคว้ารางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกคณิตศาสตร์ที่มีประวัติยาวนานถึง
30 ปีตั้งแต่ปี 2502 ที่โรมาเนีย
เป็นความสำเร็จที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความเสียสละจากบางฝ่ายบางองค์กร ภายใต้บรรยากาศทางด้านวิชาการทางด้านคณิตศาสตร์ของบ้านเมืองเราที่เฉื่อยเนือย
และมีองคืกรน้อยองค์กรเต็มทีที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการนี้
ความสำเร็จที่ใคร ๆ ให้ความสนใจในปีนี้ ได้เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว เป็นการเริ่มต้นที่ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษาด้วยความคิดของบุญเริง
แก้วสะอาดา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ
"เราเห็นว่าการศึกษาของประเทศไทยก็จัดอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ว่าเราควรที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น
เราเชื่อว่าการเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการนี้น่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นเตือนวงการวิชการของไทยได้
อย่างน้อยเราจะไดรู้ว่า เด็กของเราเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว เราอยู่ในระดับไหนและจะพัฒนาไปในทิศทางใด"
บุญเริง กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงแรงจูงใจ
ด้วยประสบการณ์ในวงการวิชาการมานานร่วม 20 ปีของบุญเริง และยังทำงานให้กับองค์การ
UNESCO มานานร่วม 15 ปี จึงมีโอกาสที่ได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับโครงการทางวิชาการต่าง
ๆในต่างประเทศ รวมทั้งโครงการคณิตศาสตร์โอลิมปิกนี้ด้วยผนวกรวมกับความริเริ่มสร้างสรรค์จึงมาสู่การปฏิบัติ
บุญเริงได้มอบหมายให้ ยุคล พิริยะกุล หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ติดตอ่เพื่อขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกครั้งที่
29 ที่จัดขึ้นที่ประเทศออสเตรีเลียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อหนึ่งที่ว่าผู้ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันได้นั้นต้องเยผ่านการเข้าร่วมเกตการณ์ก่อนอย่างน้อย
1 ครั้ง
"โครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่และต้องออกไปทำการแข่งขันในต่างประเทศเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศ
เราต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคัดเลือกหาเยาวชนที่มีความสามารถ
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้เป็นพิเศษแก่เด็กเพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน"
บุญเริง เล่าถึงการทำงานในขั้นต่อไปของโครงการนี้
ดังนั้นการคัดเลือกเด็กเก่งจึงเริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือจากนักวิชาการที่เข้าใจกันดีเพราะเคยได้ร่วมมือกันมาหลายโครงการได้แก่
โครงการเยาวชนช้างเผือก, โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษ
ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและโครงการสอบแข่งขันทางคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์
โดยมีหน่ายงานที่รับผิดชอบคือศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา, สมาคมคณิตศาสตร์สมาคมวิทยาศาสตร์,
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกมาจากทั้ง 3 โครงการรวมทั้งสิ้น 12 คนและทำการคัดเลือกเหลือ
6 คนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน
การเข้ารับการเทรนเป็นเวลา 6 สัปดาห์จากผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการพาไปแข่งขันที่เยอรมนีตะวันตกอยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมคณิตศาสตร์
เยาวชนคนเก่งที่ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยทั้ง 6 ได้แก่ พัฒนพงษ์
เหล่าสุวรรณ จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น, สมพร ชาญประจักษ์วณิช
จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ, สุบิน เลี้ยงพันธุ์สกุล กับ ไพศาล
นาคมหาชลาสิทธุ์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา, ศิริพงศ์ อติพันธุ์
จากโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา และราชวัติ ดาโรจน์ จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมี ดร.ยติ กฤษณังกูรจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒและ รศ.ศักดา บุญโตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานระหว่างทำการแข่งขันอยู่เยอรมนีตะวันตก
รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กไทยเยาวชนไทยทางด้านวิชาการ อย่างน้อยที่สุดก็น่าที่จะเป็นการจุดความสนใจให้กับผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงให้หันมาสนใจอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
ให้การสนับสนุนและให้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงไม่ใช่เป็นเพียงการส่งเสริมหรือพัฒนาวิชาการไทยเพื่อการแข่งขันเท่านั้น
หากแต่เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์