เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งออกปี’52‘รัฐ-เอกชน’ประสานเสียงเดินหน้าบุกตลาดใหม่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งออก รอพิมพ์เขียวเสร็จเดินหน้าไตรมาส 1 เห็นผล ชี้เป้า “รัสเซีย-CIS” ตลาดใหม่อนาคตส่งออกไทย พร้อมตั้ง “ฮับภูมิภาค” หนุนการส่งออกปี’52 เต็มตัว ขณะที่สภาอุตฯหนุนรัฐเดินหน้ายุทธศาสตร์ แนะเป้าเพิ่ม “อาหรับ-อาเซียน” ไม่ควรมองข้ามมูลค่าค้าขายเพิ่มทุกปี ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเกษตรฯปีหน้า พร้อมแนะ 8 ตลาดใหม่รองรับ

ดูเหมือนว่าเป็นที่รับรู้กันแล้วว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้น้อยกว่าหลายๆปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมียุทธศาสตร์ที่แน่ชัดว่าจะเดินไปในแนวทางใด เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้เพราะตลาดส่งออกของไทยอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ ยุโรป (อียู)ได้รับผลกระทบจากวิกฤตจากการล่มสลายของสถาบันการเงินในสหรัฐฯทำให้ออเดอร์หรือความต้องการซื้อของจากไทยลดน้อยลง เอกชนและภาครัฐจึงต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ร่วมกัน ว่าจะหาตลาดใหม่ที่มีอนาคตมาชดเชยการส่งออกที่ลดฮวบจากตลาดหลักได้อย่างไร

เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งออก

ไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงการออกยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนภาคการส่งออกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างยุทธศาสตร์การส่งออกซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะเสร็จและมีผลบังคับใช้ได้ทันทีโดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะอันสั้นคือภายในไตรมาส 1 ของปีหน้าจะเริ่มเห็นผล

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสามารถบอกได้ว่าสินค้าชนิดไดเหมาะกับประเทศใดรวมถึงโอกาสในการส่งออกโดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการส่งออกเร่งทำโรดโชว์และจัดงานแสดงสินค้าไทยในประเทศเหล่านั้น และเชิญผู้ประกอบการมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย รวมทั้งจะให้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักของต่างชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขณะที่ตลาดในในเอเชียด้วยกันอย่างประเทศจีนและอินเดียก็ไม่ถูกมองข้ามเพราะมูลค่าการค้าขายที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีทำให้มีความหวังจะสามารถชดเชยตลาดหลักได้มากก็น้อย

ชี้“รัสเซีย-CIS”ตลาดดาวรุ่ง

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ตั้งฮับภูมิภาคขึ้นอีก 1 แห่ง คือรัสเซียและกลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต (ซีไอเอส) โดยมีที่ปรึกษาการพาณิชย์เป็นหัวหน้าฮับจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 8 ภูมิภาค คือ อาเซียน, เอเชียตะวันออก (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน), อินเดีย, จีน, ตะวันออกกลาง, อเมริกาเหนือ, สหภาพยุโรป (อียู) และแอฟริกา และได้มอบหมายให้ฮับอเมริกาเหนือรับผิดชอบภูมิภาคละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีรัสเซียและซีไอเอส เป็นตลาดใหม่ ที่ไทยต้องการเจาะตลาด และยังมีที่ว่างอีกมากสำหรับสินค้าไทย เพราะมีความต้องการสินค้าใหม่ๆ ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกในภูมิภาคนี้ จะเป็นส่วนช่วยเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่องอกในภาพรวมของไทยในปีหน้าให้ขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

สำหรับฮับภูมิภาคต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น มีหน้าที่เพื่อช่วยเสริมการทำงานของกรมส่งเสริมการส่งออกในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2552 ให้บรรลุตามเป้าหมายเบื้องต้นที่คาดขยายตัว 10% มูลค่าประมาณ 197,000 ล้านเหรียญสหรัฐโดยจะใช้งบประมาณในการทำงานของฮับภูมิภาคสำหรับปีงบประมาณ 2552 ทั้งสิ้น 180 ล้านบาท

“ได้ให้นโยบายแก่ข้าราชการในกระทรวงรวมถึงทูตพาณิชย์ทั้ง 53 แห่งตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ เมื่อเกิดวิกฤตในสถาบันการเงินสหรัฐฯเข้ามาอีกจึงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะถือว่าเราดำเนินนโยบายนำหน้าประเทศอื่นมา 1 ก้าวและมีความพร้อมมากกว่า” รมว.พาณิชย์ ระบุ

ส.อ.ท.แนะ “อาหรับ-อาเซียน”

ด้านภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโดย (ส.อ.ท.) “สันติ วิลาสศักดานนท์” ประธานส.อ.ท.ก็มองสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ว่า รัสเซียและยุโรปตะวันออกน่าจะเป็นตลาดอนาคตของไทยได้เช่นกันเพราะสินค้าไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเมื่อมีการไปโรดโชว์ในสถานที่ต่างๆ แต่ก็ยังมีปัญหาเล็กน้อยในการค้าขายระหว่างกันคือไม่มีความเชื่อมั่นในการจ่ายเงินระหว่างกัน

ขณะที่อีกกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่น่าจะอนาคตคือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางหรือกลุ่มอาหรับเพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวมีเงิน และกำลังซื้อสูงซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้ส่งออกรถยนต์ (กระบะ) อัญมณี เสื้อผ้า แต่กลุ่มดังกล่าวจะมีคู่แข่งจากประเทศจีนและเวียดนามที่แข่งขันกับไทยด้วย

ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันก็ไม่ควรละเลยเพราะมีการส่งออกได้ถึง 20% ของการส่งออกทั้งหมดโดยส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และ ผ้าผืน ที่ประเทศเพื่อนบ้านซื้อเพื่อนำไปประกอบและส่งออกอีกทีหนึ่ง

ประธานส.อ.ท.ระบุอีกว่ากระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการส่งออกต้องกระตุ้นผู้ประกอบการโดยออกโรดโชว์ร่วมกันยังต่างประเทศเพราะกรมฯมีข้อมูลในแต่ประเทศมากกว่าภาคเอกชนและทูตพาณิชย์ทั้ง 53 แห่งก็ต้องช่วยภาคเอกชนในการหาตลาดใหม่ๆ เพราะลำพังเพียงเอกชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในตลาดใหม่ๆได้เลย

ในส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมได้พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แล้ว แต่กลุ่มสินค้าเกษตรของไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งจากภาวะวิกฤติภาคการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยอย่างชัดเจนในปี 2552 ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้นได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นตัวช่วยประคองให้ภาคการส่งออกโดยรวมไม่ตกต่ำลงมากนัก ดังนั้นบรรดาผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต้องเร่งปรับตัว

ชี้ 4 ความเสี่ยงสินค้าเกษตรฯ

โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เพื่อรับมือวิกฤตดังกล่าวว่า 1.จับตาดูท่าทีของลูกค้าว่าจะมีรายใดส่งสัญญาณตัด/ลดคำสั่งซื้อออกไปบ้าง เพื่อจะได้เจรจาต่อรองในการรักษาคำสั่งซื้อไว้ 2.จับตาดูประเทศคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะเวียดนาม และจีน เนื่องจากกำลังผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการหดตัวลง ซึ่งจะเกิดการแย่งตลาดมากขึ้น 3.ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบของวิกฤติการณ์ในครั้งนี้จะอยู่ตลอดปี 2552 และอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนค่อนข้างมาก 4.ติดตามผลกระทบวิกฤติในสหรัฐฯว่าจะลามไปประเทศใดบ้างที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

ในรายงานของศูนย์วิจัย ยังได้ชี้ทางออกไว้ด้วยว่าต้องออกไปหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน อินเดีย และแอฟริกา โครเอเชีย หมู่เกาะมัลดีฟ หรือหมู่เกาะอื่นๆที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ที่มีความต้องการสินค้าอาหารค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัว

ขณะเดียวกันทรวงพาณิชย์มีนโยบายผลักดันให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ 8 กลุ่ม คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศในลาตินอเมริกา ประเทศในยุโรปตะวันออก ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ ประเทศจีน(ไม่รวมไต้หวัน/ฮ่องกง/มาเก๊า) และมองโกเลีย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้

หากภาคเอกชนและภาครัฐดำเนินนโยบายสอดคล้องกันเชื่อว่าปัญหาที่ว่ากันว่าหนักในปีหน้าอาจจะผ่อนคลายมากกว่าที่ตั้งไว้ก็ได้ อีกทั้งนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐรวมทั้งการสนับสนุนที่ต่อเนื่องฝันร้ายที่กำลังย่างกลายอาจจะค่อยๆจางหายไปก็ได้!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.