ขายบีเอไฟแนนซ์ยังไงก็ต้องมีวันนี้ของแบงก์อเมริกา


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ในอดีตที่รุ่งเรืองเมื่อหลายปีก่อน แบงก์อเมริกาเคยยืนอยู่ในแถวหน้าสุดของการจัดอันดับธนาคารชั้นนำในสหรัฐฯ วัดจากขนาดของสินทรัพย์ แต่หลังจากเกิดวิกฤติการณ์หนี้เสียของประเทศในโลกที่สามเมื่อต้นทศวรรษที่ 80 แล้ว อันดับของแบงก์อเมริกาก็กลับถูกซิตี้คอร์ปและเชสแมนฮัตตันเซงหน้าไป

อันที่จริงในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้เสียนั้น ธนาคารชั้นำในหสรัฐฯ ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพิ่งจะมาฟื้นตัวได้ก็ในช่วงปีสองปีให้หลังนี่เองโดยเฉพาะชิตี้คอร์ปซึ่งสามารถทำรายได้พุ่งทะยานขึ้นถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2531 และถูกจัดอยู่ในอันดับ 12 ในการจัดอันดับ 50 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกของนิตยสารฟอร์จูนโดย 10 อันดับแรกเป็นของธนาคารในญี่ปุ่นและอันดับ 11 เป็นของธนาคารในปารีส

ส่วนแบงก์อเมริกานั้นอยู่ในอันดับ 38 ด้วยรายได้ 726 ล้านดอลลาร์ซึ่งนิตยสารฟอร์จูนระบุว่าอยู่เหนือเกณฑ์รายได้เฉลี่ย และจัดว่าเป็นตัวเลขที่ไม่เลวนักสำหรับธนาคารที่ประสบภาวะการขาดทุนตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสืบเนื่องจากต้องมีการตั้งสำรองหนี้สูญเอาไว้สูงมาก

วิธีการแก้ปัญหนี้สูญและการขาดทุนอย่างหนักหน่วงของแบงก์อเมริกาก็คือลดค่าใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมากยุบหรือขายสาขาและสำนักงานตัวแทนของธนาคารรวมทั้งกิจการในเครือที่ไม่สามารถทำกำไรได้

นโยบายเหล่านี้มาจากเอ.ดับลิว.เคลาเซ่น ประธานคณะกรรมการธนาคารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารแบงก์อเมริกา ซึ่งหวนกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาทั้งหลายที่สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่เขาดำรงตแหน่งนี้ในสมัยที่ผ่านมาก่อนหน้าจะไปอยู่ที่ธนาคารโลก ทั้งนี้หนี้เสียทั้งหลายที่ปล่อยกู้กับประเทศในโลกที่สามเป็นผลงานในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ ดังนั้นเขาจึงต้องกลับมาชำระสะสางปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง

นโยบายของสำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานซิสโกเป็นนโยบายหลักที่สาขแาละสำนักงานทุกแห่งทั่วโลกต้องยึดถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ซึ่งในบางครั้งบางคราวก็เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับสภาพทางธุรกิจของสาขาและสำนักงานในต่างประเทศสักเท่าใดนัก

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บีเอไฟแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่แบงก์อเมริกาสาขาประเทศไทยถือหุ้น 100% เต็มและได้มีการขายให้กับกลุ่มศรีวิกรม์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติตามนโยบายใหญ่โดยเคร่งครัดแต่ดูเป็นเรื่องสวนทางกับตลาดของธุรกิจประเภทนี้ เพราะในวงการต่างรู้ว่าธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ในบ้านเรานั้นกำลัง "รุ่ง" ขนาดไหน

ซี.เค.ฮัน กรรมการผู้จัดการบีเอไฟแนนซ์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นบงล.ศรีธนา จำกัด เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่าการทีบีเอไฟแนนซ์ต้องยึดถือตามนโยบายหลักของสำนักงานใหญที่ซานฟรานซิสโกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา "มันต้องเป็นไปในรูปนั้นคอต้องมองภาพในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวม โดยที่ไม่สามารถคำนึงถึงตัวเองว่าทำแล้วมันจะกระทบถึงชื่อเสียงของตัวเอง ทำแล้วมันจะเล็กตลอด มันไม่สามารถทำอย่างนั้นได้"

หากย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของไฟแนนซ์แห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนซึ่งยังใช้ชื่อเดิมว่า "BAMERICAL" นั้นปรากฎว่ามีการทำธุรกิจเฉพาะด้านคอร์ปอเรท เลนดิ้งแต่เพียงอย่างเดียว โดยให้เป็นแหล่งรองรับลูกค้าที่แบงก์อเมริกาจะโอนมา

ทั้งนี้ได้มีการแบ่งประเภทของลูกค้าโดยทางแบงก์ฯจะดูแลลูกค้าในตลาดระดับสูงคือบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ เช่น สยามซิตี้ ซีเมนต์ สยามกลการ เป็นต้น ส่วนบีเอไฟแนนซ์ดูแลลูกค้าในตลาดระดับกลาง เช่น ทีโอเอบางกอกเคเบิ้ล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฮันจะมีประสบการณ์คุมแผนกสินเชื่อที่แบงก์อเมริกาสาขาประเทศไทยอยู่ 7 ปีเต็ม และมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการก่อนจะโอนมาเป็นกรรมการผู้จัดการที่บีเอไฟแนนซ์ แต่ประสบการณ์เหล่านี้ก็ไม่อาจจะช่วยหใบีเอไฟแนนซ์รอดพ้น่จากกาขาดทุนไปได้เมื่อประสบกับสภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงปี 2526-2529

ประกอบกับธุรกิจคอร์ปอเรท เลนดิ้งทำกำไรให้น้อยจึงได้มีการคิดแสวงหาผลกำไรด้านอื่น ๆ จนในที่สุดได้หันมาจับธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งฮันเคยมีความชำนาญจากประสบการณ์สมัยที่ทำงานระยะเริ่มแรกกับบริษัทสยามเครดิต

ธุรกิจเช่าซื้อของบีเอไฟแนนซ์สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ จากที่ประสบการขาดทุนอยู่หลายล้านบาท ก็ล้างได้หมดสิ้น และทำกำไรได้ 9 ล้านบาทในปี 2531

กิจการเช่าซื้อของบีเอไฟแนนซ์ยังไปได้ดี แต่ก็ไม่สามารถขยายตัวหรือมุ่งไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้ สาเหตุสำคัญมาจากนโยบายของบริษัทแม่คือแบงก์อเมริกาซึ่งฮันเล่าว่า "เขาอยากจะให้ทำเฉพาทะมีกำไรและปริมารธุรกิจไม่สูงนัก ซึ่งเมื่อมีการบังคับออกมาแบบนี้เราก็ต้องหาธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก แต่ให้ผลตอบแทนสูง"

มูลเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือนโยบายหลักของสำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานฯ ซึ่งต้องการขายกิจการในเครือออกไปและบีเอไฟแนนซ์ก็เป็นเป้าหมายอันหนึ่ง

กว่าที่แบงก์อเมริกาสาขาประเทศไทยจะขายบีเอไฟแนนซ์ได้นั้นก็ใช้เวลานานพอสมควรแม้จะมีผู้เสนอตัวขอซื้อหลายรายก็ตาม ทั้งนี้เพราะแบงก์ค่อนข้างพิถีพิถันในการคัดเลือกและด้วยความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน กลุ่มศรีวิกรม์จึงมีเงื่อนไขที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือโค้วยู่ฮะและบริษัทเอไอเอ ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตจากอเมริกาในไทย

ทั้งนี้กลุ่มศรีวิกรม์เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งของแบงก์อเมริกานี่เป็นเงื่อนไขที่ดีของกลุ่มศรีวิกรม์ กอรปกับกลุ่มก็เสนอรูปแบบการบริหารงานตามที่แบงก์ต้องการด้วย

รูปแบบดังกล่าวก็คือบงล.ศรีธนาอันเป็นชื่อใหม่ของบีเอไฟแนนซ์ยังคงทำธุรกิจเช่าซื้อเป็นด้านหลัก แต่จะมีการขยายตัวในเรื่องของเฮ้าส์ซิ่งโพรเจคท์และเรียลบเอสเตท ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่มศรีวิกรม์มีความเชี่ยวชาญอยู่

นอกจากนี้อาจจะมีการทำด้านรีเทล แบงกิ้งบ้าง ส่วนธุรกิจค้าหลักทรัพย์นั้นกำลังอยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาตจากแบงก์ชาติ เพราะที่ผ่านมาบีเอไฟแนนซ์ถูกจัดเป็นบริษัทต่างชาติซึ่งไม่สามารถประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์ได้

ฮันกล่าวว่าการซื้อขายบีเอไฟแนนซ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนมีความสุขกันอย่างถ้วนหน้า ตัวเขาเองก็เลือกที่จะทำงานในตำแหน่งเดิมที่ศรีธนาและพนักงานทั้ง 60 ชีวิตก็ยังคงยืนหยัดอยู่ด้วยกัน

การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นนโยบายบริหารรวมไปทั้งชื่อเสียงเรียงนาม ทำให้พนักงานยินดีไม่มีปัญหาอีกต่อไป และคงไม่มีใครคิดแต่งดำเพื่อเป็นสื่อการประท้วงนโยบายบริหารแบบเงียบ ๆ เฉกเช่นเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

นโยบายหลักจากสำนักงานใหญ่เพิ่งจะทำให้พนักงานของบริษัในเครือมีความสุขก็คราวนี้เอง

ฮันเปิดเผยให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่าก่อนหน้านี้บีเอไฟแนนซ์มีความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจหลายอย่างเพราะการจำกัดโดยนโยบายของสำนักงานใหญ่ เช่น ฮันเคยเสนอให้ทำธุรกิจไฟแนนซ์บ้านและที่ดิน แต่ช่วงนั้นแบงก์อเมริกาเพิ่งประสบการขาดทุนในธุรกิจนี้ที่แคลิฟอร์เนีย และยังมีปัญหาคาราคาซังที่ฮ่องกงอีก แม้ฮันจะอธิบายว่าประสบการณ์ของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน แต่ทว่าแบงก์ก็ไม่ต้องการที่จะเสี่ยง

หรืออย่างนโยบายที่ตายตัวในเรื่องของการจ้างงานด้วยระบบ HEAD COUNT หรือการควบคุมปริมาณคนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นกับระบบธนาคารแต่ใช้ไม่ได้ในธุรกิจเช่าซื้อของเมืองไทยที่มีการแข่งขันกันสูงมาก

กระทั่งกรณีเล็กน้อยในเรื่องของอุปกรณ์สำนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัทลูกอย่างบีเอไฟแนนซ์ก็ต้องรับซื้อต่อจากแบงก์ เมื่อแบงก์ต้องการเปลี่ยนไปใช้ของรุ่นใหม่ ๆ

เมื่อบีเอไฟแนนซ์ถูกขายเปลี่ยนมือมาเป็นศรีธนาแล้วนั้นหลายอย่างมีการเปลี่ยนใหม่และฮันก็ตั้งความหวังว่า "มันจะเป็นผลดีต่อเราที่จะมีโอกาสในการเจริญเติบโตและคิดว่าเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย"

แบงก์อเมริกาคงจะเป็นฝ่ายที่ยินดีไม่น้อยไปกว่าบรรดาพนักงานบีเอไฟแนนซ์ แม้ว่ามูลค่าการขายที่ได้มาราว 240 ล้านบาทจะคิดเป็นกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเทียบค่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.