เบื้องหลังการเซ็นสัญญาร่วมทุนของเอเชียไฟเบอร์ที่เกาหลีใต้


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

10 โมงเช้าวันที่ 17 สิงหาคม ที่ห้องชาร์ลอตชั้น 35 โรงแรมลอตเต้กลางกรุงโซล ซึ่งคณะของรมว.กร ทัพพะรังสีและเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมด้วยภาคเอกชนที่เดินทางไปชักชวนนักลงทุนเกาหลีใต้มาลงทุนในไทยพักอยู่ มีการแจ้งล่วงหน้ากะทันหันว่าจะมีการแถลงข่าวเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างเอเชียไฟเบอร์ จำกัดผู้ผลิตสิ่งทอไนล่อนรายใหญ่ที่สุดของไทยกับบริษัทตงยางไนล่อน จำกัด ของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตไนล่อนรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้เพื่อลงทุนผลิต NYLON TYRECORD มูลค่าขั้นต้น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

งานครั้งนี้กร ทัพพะรังสี รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานด้วยพร้อมกับสถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน

ก่อนการแถลงข่าวครึ่งชั่วโมง โอฬาร วีรวรรณ ผู้จัดการใหญ่ของเอเชียไฟเบอร์ก็หอบเอกสารแถลงข่าวมาแจก พร้อมด้วยรายละเอยดและปูมหลังของตงยางไนล่อนซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในครั้งนี้ว่าเป็นใครมาจากไหน

"ที่จริงเราตกลงกันไว้ตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้วว่าจะลงทุนร่วมกัน มาครั้งนี้ก็เผิญรัฐมนตรีท่านมาพอดีในช่วงเวลาเหมาะสมชักชวนคนที่นี่ไปลงทุน ก็เลยถือโอกาสเชิญท่านมาเป็นเกียรติก็เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (MUTUAL INTEREST)" โอฬารกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แต่ไม่ยอมหใรายละเอียดมากกว่านี้

เบื้องหลังที่ "ผู้จัดการ" สืบเสาะมาได้ก็คือโครงการผลิต NYLON TYRE-CORD ของบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ยังมีปัญหาอยู่พอสมควรเนื่องจากการผลิตเป็น IMPORT SUBSTITUTION โดยมีลูกค้าได้แก่บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศอย่างกู๊ดเยียร์ บริดสโตนและยางสยามเป็นลูกค้าหลักเพราะแต่เดิมมานั้นเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้ามาทั้งหมด โดยที่ตงยางไนล่อนเองก็เป็นซัพพลายเออร์ให้บางส่วนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ตงยางไนล่อนเองนั้นถึงแม้ว่าจะมีสัมพันธ์ในแง่ที่ว่าเป็นซัพพลายเออร์ให้กับกู๊ดเยียร์และบริดจสโตนในสหรัฐฯและญี่ปุ่นมาแล้วหลายปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงงานผลิตในไทยจำเป็นจะต้องซื้อสินค้าตัวนี้จากโรงงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่เสมอไป

ปัญหาใหญ่ของบริษัทร่วมทุนก็คือจะทำอย่างไร ให้โครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างขอรับกาส่งเสริมจากบีโอไออยู่ประสบความสำเร็จในการอนุมัติสิทธิพิเศษ อาทิเรื่องเซอร์ชาร์จนำเข้าวัตถุดิบหรือการปกป้องจากคู่แข่ง เป็นต้น

โอฬารเองยอมรับว่าโครงการนี้จะมีการส่งออกบ้างไม่มากนักในกรณีที่มีผู้สนใจแต่ตลาดหลักก็ยังเป็นตลาดในประเทศ

สิ่งที่น่าคิดก็คือ โครงการร่วมทุนนี้ ถึงจะมีการเซ็นสัญญาโดยมีการ ทัพพะรัสีและสถาพร กวิตานนท์เป็น สักขีพยาน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านการอนุมัติจากบีโอไอหรือไม่ สถาพรเองก็กล่าวว่าบีโอไอเองไม่ได้มีคอมมิตเมนต์อะไรกับทางกลุ่มผู้เซ็นสัญยาอยากเซ็นไปไม่มีปัญหาเป็นคนละเรื่องกันกับการอนุมัติส่งสริมฯ

แต่ก็อย่างว่า ถ้าหากไม่มีการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างเอเชียไฟเบอร์กับตงยางไนล่อนคราวนี้งานชักชวนส่งเสริมการลงทุนที่กรนำทีมไปก็คงจะแห้งแล้งสิ้นดี และหาอะไรมาโชว์ในจอทีวี.เมืองไทยยากเหมือนกัน..

ถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าถ้าสมมุติบีโอไอเกิดใจแข็งไม่ยอมให้การส่งเสริมแล้ว โอฬาร์จะยังพูดคำว่า "MUTUAL INTEREST" ออกหรือเปล่า

อย่างไรก็ตามหลังจากเซ็นสัญญาเสร็จสรรพตามพิธีการมีการแลกเปลี่ยนเอกสารกันระหว่างวิทย์ ศิริเกียรติสูงรองประธานเอเชียไฟเบอร์จำกัดกับมร.KNONG JEONG KONG ผู้จัดการใหญ่ของตงยางไนล่อนต่อหน้ากรกับสถาพรแล้ว "ผู้จัดการ" เข้าไปถามคำถามกับโอฬารอีกครั้งว่า "อย่างนี้หุ้นเอเชียไฟเบอร์ก็ขึ้นแย่ละซีครับ"

"ไม่รู้ซี" โอฬารพูดพร้อมกับหัวเราะหึ ๆ

งานนี้คนในวงการอุตสาหกรรมด้วยกันต่างแอบยกนิ้วให้กับโอฬารกันพร้อมเพรียงว่าหัวไวดีแท้ "รู้ยังงี้ ผมเอามั่งดีกว่า ตกลงร่วมทุนไว้แต่ยังไม่เซ็นสัญญาแล้วก็ไปขอ บีโอไอทิ้งไว้ รอโอกาสดีก็จับมานั่งทำอย่างนี้ นักการเมืองได้หน้าเราก็ได้สิทธิ ไม่มีใครเสีย"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.