ผู้หญิงนี้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ชีวิตเธอจึงได้รับการฟูมฟักมาตั้งแต่เด็ก
ๆ ซึ่งคงมีผู้หญิงไม่มากคนนักในสมัยเมื่อ 40 กว่าปีก่อนจะโชคดีอย่างเธอ คนหลายคนรู้จักเธอแต่เพียงว่าเป็นผู้หญิงที่ร้องเพลงเก่ง
แต่น้อยคนจะรู้จักเธอว่าเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักคนหนึ่งไม่น้อยกว่าผู้ชายคนใดเลย
อายุเพียง 3 ขวบเธอก็ถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นดีของกรุงเทพฯ ST. JOSEPH'S
CONVENT และอายุเพียง 9 ขวบก็เดินทางไปเรียนชั้นมัธยมที่อังกฤษ FARRINGTON'S
SCHOOL CHISBHURST, KENT ENGLAND ก่อนที่ 4 ปีต่อมาเธอถูกส่งไปเรียนมหาวิทยาลัย
BOSTON, USA. ก่อนที่จะย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัย MIAMI, USA ในอีก 2 ปีต่อมา
และไปต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย COLUMBIA, USA เธอจบมาทางด้านอักษรศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
เมื่อเรียนจบแล้วเธอยังอยู่เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ UNIVERSITY OF MARYLAND
และ YALE UNIVERSITY อีกแห่งละ 2 ปีตามลำดับ
เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวของสมาชิก "กลุ่มใต้ถุน" ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ชายล้วน
ๆอย่างอาสา สารสิน บัณฑิต ปุณยปานะ ศิวะวงค์ จังคศิริ ทวีศักดิ์ เสตะเวช
ไพโรจน์ สุวรรณกร วาปี ภิรมย์ภักดี ชาติเชื้อ กรรณสูตร หรืออย่าง เฉลิมพันธ์ศรีวิกรณ์
และอีกหลายคนที่อาศัยใต้ถุนสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเป็นที่พักพิงหลับนอนเมื่อสมัย
พจน์ สารสิน เป็นเอกอัครราชทูตประจำอยู่ที่นั่น
ปัจจุบันนี้สมาชิกของกลุ่มใต้ถุนยังคงมีการพบปะสังสรรค์กันอยู่เป็นประจำทุกเดือน
จึงไม่น่าจะเป็นความผิดของเธอ ถ้าหากเธอจะพูดภาษาไทย 10 คำแล้วพูดภาษาฝรั่งเสีย
20 คำ จริง ๆ แล้วเธอพูดได้หลายภาษา นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ก็ยังมีภาษาฝรั่งเศส
เยอรมันหรือแม้แต่ภาษารัสเซียที่เธอเองบอกว่าไม่ค่อยชอบนัก แต่ก็พอพูดได้บ้าง
เพราะเธอเรียนมาทางนี้โดยตรง
และก็คงไม่ใช่ความผิดของเธออีกเช่นกันที่ความคิดและบุคลิกภาพของเธอจะออกไปทางฝรั่ง
เธอเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา มีเหตุมีผลและมีหลักอยู่ในตัวของมันเองเสร็จสรรพเพราะใช้ชีวิตอยู่กับฝรั่งเสียนานถึง
23 ปี เมื่อเทียบกับอายุของเธอขณะนี้ 47 ปี ก็เรียกว่าครึ่งชีวิตพอดี
นอกจากจะกระเดียดไปทางฝรั่งแล้วเธอยังออกจะเป็นผู้ชายเสียด้วยซ้ำ เพราะเธอเป็นลูกสาวคนโตของนายห้างกมลสุโกศล
ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจกมล สุโกศล มีเครือข่ายกิจการค้าครบวงจรทั้งอุตสาหกรรมการค้าการเงิน
และบริการ แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่รวยมาอย่างเงียบ ๆ ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถมาสด้า
แต่รับรองได้ว่าเธอไม่ได้เป็น "ทอม" เพราะขณะนี้เธอมีลูกสาวลูกชายที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วถึง
4 คน เกิดกับสามีซึ่งอยู่ด้วยกันมานานพอสมควร แต่ตอนนี้เธอเลิกลากันไปเสียแล้วหลายปี
ก่อนหน้านี้เธอเคยหมั้นหมาย (เตรียมการจะแต่งงานกันจริง ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย)
กันคนระดับปลัดกระทรวงในเมืองไทยปัจจุบัน แต่นั่นมันเป็นเหตุการณ์ที่สถานทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเมื่อ
20 กว่าปีก่อน โดย พจน์ สารสิน เป็นประธานให้อย่างสมเกียรติ
บนหน้าหนังสือสตรีและหรือคอลัมน์สังคมไฮโซไซตี้ เธอถูกถ่ายทอดสู่ผู้อ่านว่าเป็นศิลปินเพลงแจ๊สระดับแนวหน้าที่เล่นเปียโนและร้องเพลงเก่งเรียกว่าโชว์ตามโรงแรมหรู
ๆ ทั่วโลกได้สบาย ๆ
ก็จริง เธอคือเจ้าของเสียงเพลง PATAYA ที่ดังไปทั่วโลกในขณะนี้ และอีกหลายเพลงที่คนฟังได้ฟังแล้วประทับใจและรู้จักตัวเธอ
รู้จักเมืองไทยมากขึ้นเพลงเหล่านั้นถูกส่งไปเปิดในสถานที่ต่าง ๆ เช่นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน
บริษัททัวร์หรือสำนักงานการท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
"ดิฉันเล่นเปียโนเป็นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไม่รู้เป็นเพราะอะไรเหมือนกัน
มันชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจเป็นเพราะคุณพ่อคือนายห้างกมลท่านชอบฟังเพลง-เสียงดนตรี
ที่บ้านมีเปียโนดิฉันก็หัดเร็ว แต่เป็นเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ คนอื่นเห็นก็งง
คิดว่าเป็นเพราะพรสวรรค์มากกว่าแต่ก็ยังสู้เด็กฝรั่งไม่ได้ เขาเก่งกว่าเราแยะเลย"
กมลากล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เธอไม่ได้ร้องเพลงหรือเล่นดนตรีเป็นอาชีพ แต่สาธารณชนส่วนใหญ่รู้จักเธอในฐานะของนักร้อง
และก็บังเอิญเหลือเกินที่ชื่อเธอก็ไปพ้องเอากับชื่ออมรา อัศวนนท์ ดารา นักร้อง
นักแสดงมีชื่อของฟ้าเมืองไทยเมื่อร่วม 30 ปีก่อนและปัจจุบันก็มีชื่อติดอยู่บ้าง
ยิ่งทำให้คนที่ไม่รู้จักคนทั้งสองดีจำสับสนกันไปหมด
แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นนักธุรกิจที่ทำงานหนักมาก เธอให้คำนิยามแก่ตัวเธอเองว่า
"บ้างานหรือสนุกกับงาน" มากกว่าที่จะบอกว่าทำงานหนัก
"เพราะดิฉันเป็นคนที่ทำงานแล้วสนุก แม้จะงานมากมายแต่ก็ไม่เห็นว่ามันหนัก"
เธอพูด
กมลากลับมาจากเมืองนอกเมื่ออายุได้ 25 ปีพอดีก็เข้าทำงานกับกลุ่มธุรกิจของครอบครัวในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปบริษัทกมลสุโกศล
จนอีก 10 ปีต่อมาเธอจึงเข้าจับธุรกิจโรงแรมโดยการบังคับของผู้เป็นพ่อ
จนปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยมาร่วม 10 ปี นับได้ว่าเธอเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโรงแรมของกลุ่มจริง
ๆ และก็ดูแลรับผิดชอบเป็นงานหลักในปัจจุบัน ส่วนน้องสาวคนเดียวของเธอ กมลี
สุโกศล ปัจฉิมสวัสดิ์ ดูแลกิจการด้านรถยนต์มาสด้าเป็นหลัก
กงสีใหญ่ (โฮลดิ้งคัมปานี) มีผู้เป็นแม่และน้าสาวของเธอเป็นผู้รับผิดชอบแทนผู้เป็นพ่อ
ซึ่งล่วงลับไปนานแล้ว เลยกลายเป็นว่ากลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้หญิงล้วน
ๆ เพราะนายห้างกมลไม่มีทายาทเป็นผู้ชายเลย
"เราเริ่มต้นโรงแรมของเราที่พัทยา จากเมื่อ 15 ปีก่อน คุณพ่อซื้อที่ดินจากหลวงชำนาญมาทิ้งไว้เฉย
ๆ เกือบ 5 ปี ก่อนที่จะมาบอกให้ดิฉันทำโรงแรมท่านบอกว่าถ้าดิฉันไม่ทำ ท่านจะให้คนอื่นทำ
ดิฉันก็ต้องทำทั้งที่ใจจริง ๆ ไม่ชอบเลยคุณ" เธอย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ"
ฟังเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
กมลาทำ SIAM BAYSHORE RESORT HOTEL ได้อยู่พักหนึ่งก็เห็นว่ากิจการพอขยับขยายได้เพราะได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากลูกค้าย่านยุโรป
อเมริกาและก็เหลือที่ว่างเปล่าอยู่มากมาย จนในที่สุดก็เปิด SIAM BAYVIEW
HOTEL ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง และในปลายปีหน้านี้ก็จะเปิด SIAM RIVER KWAI ที่กาญจนบุรี
กับ SIAM CITY HOTEL กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จแล้วในขณะนี้
"จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ดีเลิศหรอก แต่ต้องเข้าใจว่าธุรกิจโรงแรมมันมีขึ้น
- ลงอยู่ตลอดเวลา แต่ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีส่วนหนึ่งก็คืนทุนแบงก์ไป แต่ส่วนหนึ่งเราก็เอามาขยายใหม่ออกไปเรื่อย
ๆ เดี๋ยวนี้เราเป็นกลุ่มชนโรงแรมของคนไทยที่เด่นข้นมาอีกกลุ่มนึ่ง ซึ่งเราใช้ชื่อกลุ่มว่า
"SIAM BAY & CITY HOTELS" เธอกล่าว
การก้าวย่างสู่ธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาวชื่อ SIAM CITY HOTEL บนถนนศรีอยุธยากลางเมืองบางกอก
ซึ่งต้องใช้ทุนกว่า 1,000 ล้านบาท และไม่มีผู้เป็นพ่อคอยบังคับแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเธออย่างมากเพราะกรุงเทพฯเวลานี้เต็มไปด้วยคู่แข่งขันที่น่ากลัว
อย่างน้อย ๆ ก็มีโรงแรมระดับเดียวกันไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง และกำลังจะเปิดเพิ่มขึ้นมาอีกไม่รู้กี่มากน้อย
แต่เธอก็บอก "ผู้จัดการ" ด้วยความมั่นใจว่าไม่หนักใจอะไรเลย
"คุณก็คิดดูว่าเราทำโรงแรมมานานนับ 10 ปีแล้ว มีลูกค้าที่ให้การสนับสนุนเราอยู่ทั่วโลกเรามีคนของเราซึ่งสะสมประสบการณ์มาพร้อมกันนับตั้งแต่ก่อตั้งอย่างพร้อมเพรียง
ไม่เคยหนีไปไหน เพราะเขารักองค์กรของเรา สิ่งที่เราคิดก็คือว่าเราจะทำให้โรงแรมของเราแปลกใหม่และดีกว่าที่มีอยู่อย่างไร"
เธอกล่าวด้วยความมั่นใจอีกเช่นเคย
"SIAM CITY HOTEL" เป็นโรงแรมเดอลุกซ์ขนาด 540 ห้องพัก มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์ให้ผสมกลมกลืนกันระหว่างรูปแบบศิลปไทยสมัยรัชกาลที่
5-6 กับรูปแบบของ "เดดโก้" ที่ยอมรับว่าเป็นศิลปะที่เก๋สง่าของยุโรป
เดิมทีเดียวที่ตั้งของ SIAM CITY HOTEL ปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมเจ้าพระยาของนงนุช
อัมพุช ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของกรุงเทพฯทีเดียว (ประมาณปี
2512) คเก่าแก่เล่าให้ฟังว่าที่นั่นคราคร่ำไปด้วยทหารอเมริกันที่เข้าพักผ่อนหลังจากเหนื่อยจากการรบพุ่งกับเวียดนาม
กิจการของโรงแรมเจ้าพระยาจึงนับว่าไปได้ดีพอสมควร จนเข้าสู่ปี 2518-2519
เมื่อทหารอเมริกันถอนทัพกลับ ทำให้ดูซบเซาลงไปมากและกิจการเริ่มขาดทุน
นายห้างกมล สุโกศล นักธุรกิจที่กำลังมือขึ้นและมีเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวเป็นชาวญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่จึงได้ชวนกันเข้ามาเช่าดำเนินกิจการต่อกิจการแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงแรมนิวอัมรินทร์
โดยมีนายโยซิฮิชะมาซือดะ เป็นหัวเรือใหญ่บริหารดูเหมือนกิจการจะไปได้ดี มีการต่อสัญญาเช่ากันถึง
3 ครั้ง นักท่องเที่ยวที่เคยเป็นทหารจีไอก็เปลี่ยนมาเป็นชาวซามูไรจากแดนอาทิตย์อุทัยแทน
มาจนถึงปลายปี 2526 กิจการก็เริ่มซบเซาลงไปอีก ประกอบกับค่าเช่าก็ขึ้นกันเรื่อย
ๆ จนถึงปี 2526 นั้นค่าเช่าขึ้นสูงถึง 30 ล้านบาท แล้วในที่สุดญี่ปุ่นก็ถอนตัวกลับหลังจากนายห้าองกมลเสียชิวตไปได้ไม่นาน
แล้วโรงแรมนิวอัมรินทร์ก็ปิดตัวเองลง เพราะทนสภาพการขาดทุนไม่ไหว
ส่วนที่ดินจำนวน 8 ไร่นั้นกมลา สุโกศล เธอบอกว่าเป็นที่ดินเก่าแก่ของคุณพ่อของเธอที่ซื้อไว้นานแล้ว
เมื่อถึงวันนี้ก็สมควรจะได้ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ให้สมกับราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นทุกวัน
จึงออกมาเป็น SIAM CITY HOTEL ที่พร้อมจะเปิดบริการในปลายปีหน้านี้แล้ว
ประสบการณ์ร่วม 10 ปีของเธอพอจะบอกได้ว่าเธอไม่ใช่เก่ง แต่ร้องเพลงอย่างเดียวซะแล้ว
และประวัติศาสตร์คงจะไม่ซ้ำรอยเดิมอีก