นกแอร์ผนึกพันธมิตรหนีตายคุยสิ้นปีนี้ใช้หนี้ก.คลังได้หมด


ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

นกแอร์ได้อานิสงส์ น้ำมันลดราคา พลิกธุรกิจฟื้น คุย ต.ค.เดือนเดียวมีกำไร 20 ล้านบาท หวังใช้หนี้กระทรวงคลังหมดสิ้นปีนี้ ล่าสุดจับมือ พีบีแอร์ ทำโคชแชร์ รุกธุรกิจการบินในยุควิกฤตเศรฐกิจ

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ผลประกอบการของนกแอร์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีกำไรจากผลประกอบการ 20 ล้านบาท จากที่ ครึ่งปีแรกบริษัทประสบภาวะขาดทุน เพราะการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ประกอบกับ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และ การลดเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด ทำให้ ดีมานด์และซัพพลายเกิดความสมดุลย์ แต่บริษัทยังไม่มีนโยบายปรับลดค่าตั๋วโดยสารและฟิวเซอร์ชาร์จ เพราะเชื่อว่าราคานำมันอาจผันผวนได้ในอนาคต

โดยในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผลกำไรอีกไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท จากอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 85-90% สูงกว่าที่ตั้งเป้าว่าจะได้ที่ 75-80% ทำให้สิ้นปีนี้ บริษัทสามารถทยอยชำระหนี้ วงเงิน 200 ล้านบาท แก่กระทรวงการคลังได้ ซึ่งเป็นหนี้จากการคืนเครื่องบินก่อนหมดสัญญารวม 8 ลำ เป็นลดต้นทุนบริหารจัดการ

ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลก จะกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวตลาดไกล ดังนั้นกลยุทธ์ธุรกิจของนกแอร์ จึงเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดในประเทศ กระตุ้นคนไทย และคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้เดินทางมากขึ้น เพราะเส้นทางบินของนกแอร์เป็นในประเทศเป็นหลัก ลูกค้า 70% เป็นคนไทย อีกเกือบ30 % เป็นต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังใช้กลยุทธ์หาพันธมิตรร่วมทำธุรกิจ

ล่าสุด จับมือกับสายการบินพีบี แอร์เปิดเที่ยวบินร่วม (Code share) เพื่อจำหน่ายบัตรโดยสารพีบีแอร์ ผ่านช่องทางของนกแอร์ ขณะที่นกแอร์ก็จะได้ประโยชน์จากการมีเส้นทางที่ให้บริการแก่ลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 6 เส้นทางที่พีบีแอร์บินอยู่ ได้แก่ ลำปาง น่าน สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และ บุรีรัมย์ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน การรวมกลุ่มธุรกิจ จะสร้างพลังในการดำเนินธุรกิจ ให้มีเครือข่ายครอบคลุม ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ และ ทำให้อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 80% ตลอดปี

ทางด้านนายเฮอริเบอร์ต กัตซ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาสินค้า สายการบิน พีบีแอร์ กล่าวว่า มีแผนเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพ-ชุมพร ไตรมาสแรกปีหน้า เพราะเห็นศักยภาพ กลุ่มเป้าหมายคือนักธุรกิจท่องเที่ยว นักศึกษา ข้าราชการ และ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะพงัน โดยจะร่วมกับบริษัทนำเที่ยว โรงแรม จัดทำแพคเกจทัวร์โปรโมต นอกจากนั้นมีแนวคิดเพิ่มเครื่องบินอีก 1 ลำจากที่มีอยู่แล้ว 2 ลำ เพื่อ มารองรับตลาดที่เติบโต เป็นขนาด 50 ที่นั่ง เท่ากับที่ใช้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ 80% ของลูกค้า พีบี แอร์ เป็นนักธุรกิจ จึงไม่อ่อนไหว เหมือนตลาดนักท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า บริษัทก็ต้องปรับลดต้นทุนดำเนินงาน เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปีหน้า ที่อาจทำให้ธุรกิจไม่เติบโต โดยพร้อมทำตลาดเชิงรุก มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง

"พีบีแอร์ บินเส้นทางรองเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ต้องแข่งขันกับใคร เราเน้นที่จะรักษาฐานลูกค้าเก่า และเพิ่มลูกค้าใหม่ การร่วมมือกับนกแอร์ จะทำให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น เพราะสามารถหาซื้อตั๋วโดยสาร พีบีแอร์ได้สะดวกจากช่องทางเดียวกันกับนกแอร์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.