น้ำมันลดกดเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ5.9-6.3%


ผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินเฟ้อต.ค. เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือแค่ 3.9% หลังราคาน้ำมันลดต่อเนื่อง และพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ผลิตลดราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน คาดทั้งปีขยายตัว 5.9-6.3% จากเป้าเดิม 6.5-6.9% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีคาดอยู่ที่ 2.2-2.7% ลดจากเป้าหมายเดิม 3-3.5% ปีหน้ายังพยากรณ์ไม่ได้ เหตุราคาน้ำมัน-ค่าเงินบาทยังผันผวน แต่มั่นใจลดลงจากปีนี้แน่

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนต.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2551 ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2550 สูงขึ้น 3.9% ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง และเมื่อเทียบดัชนีเฉลี่ยช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปีนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.3%

“เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงมาก เพราะราคาน้ำมันลดลง และยังได้ผลดีจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการต่างๆ ปรับลดราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน ทั้งน้ำมันพืช อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี เหล็ก และอาหารสำเร็จรูป ทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง และคาดว่าถ้าเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือยังคงลดลง เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 5.9-6.3% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 6.5-6.9%”นายศิริพลกล่าว

ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อปีหน้า คาดจะชะลอตัวลงจากปีนี้ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเท่าไร เพราะอยู่ระหว่างการดูตัวเลข ทั้งค่าเงินบาท ราคาน้ำมันโลก ซึ่งยังผันผวนอยู่ อีกทั้งยังจะเพิ่มสินค้ารายการใหม่ๆ เข้าไปในการคำนวณด้วย เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และสะท้อนค่าใช้จริงของประชาชนมากขึ้น คาดจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ราวสิ้นเดือนพ.ย.นี้

สำหรับเงินเฟ้อเดือนต.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2551 ที่ลดลง 1.2% นั้น เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.9% จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 12.1% และค่าโดยสารสาธารณะลดลง 0.4% ทั้งค่าโดยสารรถประจำทางธรรมดา-ปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรถร่วม ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก รวมถึงค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศในต่างจังหวัด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2551 แต่ค่ากระแสไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สูงขึ้น 0.7770 บาท/หน่วย ทำให้ค่าค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 5.4%

ประกอบกับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0..2% จากการลดลงของดัชนีหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ 1.2% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว รวมถึงการลดลงของผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และเครื่องประกอบอาหาร

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อเดือนต.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2550 เพิ่มขึ้น 3.9% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว จากเดือนก.ย.2551 ที่เพิ่มขึ้นถึง 6% เพราะดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2.4% จากการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 0.1% และหมวดเคหสถาน 7.6% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 14% จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

นายศิริพลกล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสด และพลังงาน ประจำเดือนต.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือยก.ย.2551 สูงขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2550 สูงขึ้น 2.4% และเมื่อเทียบเฉลี่ย 10 เดือนปีนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.4% ส่วนทั้งปีคาดอยู่ที่ 2.2-2.7% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดขยายตัว 3-3.5%

สินค้าคงคลังพุ่งจับตาอุตฯชะลอการผลิต

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ผลพวงจากวกฤติการเงินสหรัฐฯส่งผลให้สศอ.ต้องติดตามภาวะอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในช่วงไตรมาส 4 นี้โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูปคงคลังที่ล่าสุดพบว่ามีปริมาณที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนต.ค.เมื่อเทียบกับก.ย.และมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากไม่สามารถระบายการจำหน่ายออกสู่ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศตามเป้าหมายดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ภาคการผลิตจะชะลอการผลิตลงในช่วงสิ้นปีนี้

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(มูลค่าเพิ่ม)เดือนก.ย.อยู่ที่ 186.17 เพิ่มขึ้น 2.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมมียอดขายในประเทศและการส่งออกที่ลดลงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภทวัสดุก่อสร้างเช่น ปูนซิเมนต์ เหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

“สินค้าส่วนใหญ่มียอดส่งออกลดลงจากวิกฤติการเงินสหรัฐทำให้แรงซื้อลดต่ำ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่จัดเป็นประเภทฟุ่มเฟือยจะเห็นได้ชัด ซึ่งพบว่าการผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับลดลง ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ปัจจัยความผันผวนของราคาทองคำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้สินค้าในกลุ่มนี้ซบเซา “นายอาทิตย์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.