วิกฤต ‘การเมือง-ศก.’ฉุดไทยดิ่งเหว แบงก์งดปล่อยกู้-SMEsเจ๊ง2.3ล้านราย!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาอุตฯเผยเศรษฐกิจไทยหัวทิ่มต่อเนื่อง เหตุจากปัจจัยภายใน-นอกกระทบรุนแรง ขณะที่สถาบันการเงินกีดกัน SMEs ไม่ปล่อยกู้ หวั่น 2.3 ล้านรายเจ๊งกันทั่วประเทศ ส่วนนักวิชาการจี้ภาครัฐอุ้ม SMEs ใช้กลไกผ่านงบประมาณ-สถาบันการเงินของรัฐปล่อยกู้แก้ไขสภาพคล่องแทน ชี้วิกฤตการเมืองหากถึงขั้น “นองเลือด” ทำศก.พังพินาศ.!

เหลืออีกเพียง 2 เดือนเท่านั้นที่ “ปีหนูไฟ”จะผ่านพ้นก้าวสู่ศักราชใหม่ปี 2552 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาในปี2551 นั้นมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกเข้ามากระทบซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมไม่ขยายตัวตามเป้า อีกทั้งสถาบันการเงินก็ไม่ปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขยาดย่อมอย่าง SMEs อาจจะเจ๊งก่อนจะถึงปีใหม่นี้ รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ร่อแร่เพราะแบงก์ไม่เชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อทั้งผู้ประกอบการและรายย่อย

รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองที่ง่อนแง่นที่หลายฝ่ายเดินมาถึงทางตันและทางออกแห่งปัญหาอาจจะถึงขั้น“นองเลือด” วิกฤตเศรษฐกิจปลายปีนี้อาจจะชี้เป็น-ชี้ตายเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ขยายกิจการ-ลงทุนใหม่สะดุด.!

ไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งค้าขายกับสหรัฐฯย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบไปด้วยโดยเฉพาะจากการส่งออกซึ่งต้องไปเริ่มกันใหม่ที่ต้นปี 2552

ขณะที่การขยายกิจการหรือการลงทุนใหม่ในภาคอุตสาหกรรมต้องยอมรับเกิดขึ้นยากในช่วงนี้เพราะจากสถานการณ์การเมืองภายในและภายนอกที่รุมเร้าให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังรอดูทิศทางการแก้วิกฤตของสหรัฐฯ และรอดูสถานการณ์ในเมืองไทยว่าจะคลี่คลายได้แค่ไหนก่อนจะตัดสินใจลงทุนหรือขยายกิจเพิ่มเติม

“ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขยายกิจการเพิ่มเติม หรือลงทุนใหม่เพราะทั้งจากวิกฤตภายในและวิกฤตสหรัฐยังไม่รู้ว่าจะกินเวลานานเท่าใดจึงทำให้ผู้ประกอบการยังไม่ตัดสินใจทำอะไรใหม่ๆในช่วงนี้ แค่ประครองกิจการให้ผ่านปี 2551 ก่อนจะไปว่ากันใหม่ในปีหน้า”

ทว่าที่หลายฝ่ายเกรงว่าวิกฤตทางการเมืองของไทยเริ่มเข้ามุมอับและกำลังเดินไปสู่จุดแตกหักนั้นจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินทรุดหนักไปกว่าเดิม รองประธานส.อ.ท.ยังเชื่อว่าจะไม่รุนแรงแบบ 14ตุลาฯ 16 หรือ 6 ตุลาฯ 19 เพราะทุกฝ่ายที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาย่อมทราบดีว่าผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ถึงจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิมแต่เชื่อว่าคงจะไม่ถึงกับเป็นสงครามกลางเมืองแน่นอน

“ตอนนี้ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารยังไม่มีปัญหาด้านสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ธุรกิจกลุ่มอาหารยังถือว่าปกติดี” ประธานกลุ่มอุตฯอาหารระบุ

SMEs เจ๊งระนาว สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้.!

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก “ธนิต โสรัตน์” ประธานกลุ่มบริษัทV-SERVE ซึ่งเป็นผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร และให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศ (ส.อ.ท.) มองว่า จากที่ภาครัฐอัดเงินเข้าสู่ระบบ 1.22 ล้านล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น ภาคเอกชนเห็นด้วย ซึ่งให้ธนาคารพาณิชย์ขยายสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยกู้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นห่วงว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะเข้าถึงแหล่ง เงินทุนได้ยาก เพราะการปล่อยกู้ของธนาคารมีเงื่อนไขซับซ้อน อาทิ ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วธุรกิจ SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ที่มูลค่าสูงมากพอ จึง น่าจะผ่อนปรนให้สามารถใช้หลักประกันอื่นๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า สต๊อกสินค้า ใบแจ้งหนี้ที่รอเก็บเงินจากลูกค้า มาประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ของธนาคารแทน

“ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนจะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แต่ต้องกำหนดแนวปฏิบัติด้วยเพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินการของธนาคาร”

นอกจากนี้ยังพบว่าในอดีตกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีวงเงิน 5,000 ล้านบาท สามารถปล่อยกู้ได้เพียง 900 ล้านบาท เนื่องจากมีปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เมื่อรัฐตั้งใจจะดูแลสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการก็ควรมีแผนนำไปสู่การปฏิบัติจริง

2.3ล้านรายรอความหวัง.!

ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้ออกมาจะทำให้ภาคธุรกิจขาดเม็ดเงินไปเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่กว่า 2.3 ล้านรายขณะนี้การส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป หรืออียู และญี่ปุ่นชะลอตัวส่วนตลาดใหม่ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด

“หากยังเชื่อว่าSMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่จะพัฒนาในด้านต่างๆ จำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ก่อน” นายธนิต ระบุ

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับกับมุมมองของ “ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์” นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) อธิบายเพิ่มเติมว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐทำให้สถาบันการเงินในต่างประเทศเกิดความไม่แน่ในใจในเรื่องปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหม่หรือรายเก่า เพราะไม่อยากแบบรับความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสีย แต่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่น้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสถาบันการเงินในประเทศก็ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงเช่นกันทำให้ปล่อยกู้ยากขึ้น อีกทั้งระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามากำกับสถาบันการเงินของเอกชนอีกทีทำให้สถาบันการเงินยิ่งปล่อยกู้ลำบากมากยิ่งขึ้น

จี้ภาครัฐออกมาตรการอุ้มSMEs

ส่วนแนวทางแก้ไขคือใช้ธนาคารที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังเช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)เป็นต้นเข้ามาดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่รอดได้

นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถสนับสนุนผ่านงบประมาณปี 2552 ที่ตั้งงบประมาณขาดดุลเอาไว้ กว่า 249,000 ล้านบาทอาจจะเอาเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้หากการแก้ไขปัญหายังไม่สามารถผลักดันได้อย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐต้องใช้กลไกที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กก่อน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะมีเงินหมุนหมุนเวียนในธุรกิจได้อยู่แล้ว”

ดร.มนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาจากภายนอกประเทศถึง 70% และจากภายในประเทศเพียง 30% และหากการส่งออกมีปัญหาก็เท่ากับว่าประเทศไทยต้องเจอมรสุมครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดีต้องรอดูมาตรการของสหรัฐฯที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าจะช่วยอุ้มเศรษฐกิจของเขาได้มากน้อยแค่ไหนแล้วจึงมาประเมินอีกครั้ง

หวั่น “นองเลือด” ธุรกิจเจ๊งทั้งระบบ

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะขั้นนองเลือด นักวิชาการนิด้าฯมองว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่างชาติที่จะลดฮวบทันทีที่มีเหตุการณ์รุนแรงการค้าขาย-ติดต่อต่างชาติจะชะงักทั้งหมดยิ่งภาคการส่งออกไม่สามารถขับเคลื่อนได้ แต่ยังมีปัญหาภายในมากดทับเข้าไปอีกเชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้นประเทศไทยจะลำบากมากที่สุด

ขณะนี้แนวทางหรือวิธีลดความขัดแย้งทางความคิดที่ดีที่สุดคือ การพูดคุยกันและการเจรจาเพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน แต่หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็ต้องทำใจ แต่อยากให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พึงระลึกไว้ว่าประเทศเป็นของเราทุกคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเราน่าจะมีส่วนในการแก้ปัญหาร่วมกันได้

ดังนั้น 2 เดือนจากนี้ไปหลายคนบอกว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ปีใหม่นักธุรกิจหลายคนเคยเก็บเงินในช่วงนี้เพื่อใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าแค่ประครองตัวให้พ้นจากปีนี้ไปได้โดยได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด นั่นคือแนวทางที่นักธุรกิจหลายคนมองหา ซึ่งปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากันใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.