แนะกลยุทธ์ผ่าวิกฤต 3 บิ๊กเอ็กซเรย์ธุรกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

* เปิดมุมมองของ"ปตท.-เอไอเอส-พฤกษาเรียลฯ"
* ต่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์-การเมืองในปท.ระส่ำ
* ส่งผลกระทบต่อ 3 ธุรกิจชั้นนำของปท.
* "พลังงาน-อสังหาฯ-ไอที"เดินหน้าแก้โจทย์นี้อย่างไร..ตามไปดู...

แรงกระเพื่อมยังไม่หยุด ของวิกฤติสถาบันการเงินของอเมริกา ยักษ์ใหญ่ของโลก ประสานกับภาวะการเมืองในประเทศ ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะสั้น-ระยะยาวให้กับธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆกันถ้วนหน้า ภาวะดังกล่าวนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคาดการณ์ว่า ยังดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้าอย่างยากหลีกเลี่ยง

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัว รับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแต่เนิ่นๆ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้รวบรวม มุมมอง การวิเคราะห์ผลกระทบ และการปรับตัวอย่างมีกลยุทธ์ จาก 3 ผู้บริหารระดับซีอีโอและระดับชั้นแนวหน้าขององค์กร จาก 3 ธุรกิจตัวชี้วัดดัชนีเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วย ค่าย ปตท. จากธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์...และค่าย เอไอเอส จากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม" เพื่อรับมือกับโจทย์ใหญ่ของธุรกิจที่รออยู่ในขณะนี้และปีหน้า อย่างน่าสนใจ

ปตท.-ปิโตรเคมีกระทบ

ทางด้าน บริษัท ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หือ ปตท. โดยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ "เทวินทร์ วงศ์วานิช" บอกว่า ผลกระทบต่อธุรกิจในปีนี้ มีความเกี่ยวโยง 2 ด้าน หนึ่ง- ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจาก 80 เหรียญต่อบาเรลเพิ่มขึ้นเป็น 140 เหรียญต่อบาเรล และต่อมาลดลงเหลือ 60 เหรียญต่อบาเรล สอง- ด้านวิกฤติการเงินที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปและเอเชียบางส่วน

"ทั้งสองปัจจัยนี้ ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงานลดตัว ทำให้ต้องรัดเข็มขัด ความต้องการใช้น้ำมันลดลง อีกทั้งมีการผลักดันพลังงานทดแทนมาใช้แทนน้ำมันมากขึ้นในช่วงราคาน้ำมันสูง ขณะเดียวกัน เมื่อน้ำมันราคาลดลงก็ยังส่งผลกระทบเช่นกัน ต่อธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถยนต์กำลังหันไปติดตั้ง เพื่อใช้พลังงานทดแทน ก็เริ่มไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่"

ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกิจส่งออกสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศก็ยังได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ผู้บริโภคอยู่ในภาวะรัดเข็มขัด ทำให้ปริมาณการนำเข้าในแต่ละประเทศเกิดการชะลอตัว

ทั้งนี้ปตท.มีธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบพอสมควร ส่วนธุรกิจโรงกลั่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากความต้องการในประเทศและตลาดโลกชะลอตัวลดลง อีกทั้ง การแข่งขันจากโรงกลั่นในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มาร์จิ้นของธุรกิจโรงกลั่นอ่อนตัวลง ซึ่งจัดว่า เป็นช่วงแห่งภาวะความท้าทายของวงจรธุรกิจโรงกลั่นที่จำต้องผ่านพ้นวิกฤติเวลานี้ไปให้ได้

"บางช่วง เราอาจได้ยินว่า ค่าการกลั่นน้ำมันสูง ก็จะมีโรงกลั่นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่พอซัพพลายเพิ่มเข้ามาค่าการกลั่นก็ลดลง ซึ่งช่วงนี้จัดเป็นช่วงวงจรขาลงของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันหรือdown cycle ที่มาพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ระยะเวลาของผลกระทบนานพอสมควร อันส่งผลธุรกิจโรงกลั่นประสบปัญหาพอสมควร"

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นเองก็มีทางออก หากมีการสำรองน้ำมันและคาดการณ์ราคาตลาดไว้ล่วงหน้าก่อน โดยเฉพาะหลังจากต้นปีที่มีราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และต่อมาลดลง ก็อาจจำเป็นต้องประเมินเป็นผลขาดทุนล่วงหน้าไว้ก่อน (มิฉะนั้นผลประกอบการบริษัท จะได้รับมากกว่าในส่วนที่เป็นปริมาณสำรอง) อันเป็นภาวะผันผวนที่ผู้ประกอบการเองต้องประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอน วิธีการนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีผลกำไร

"ในส่วนการขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวรบใหม่ที่ต้องผลักดันเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ เพราะยังไม่มีปริมาณมากเพียงพอที่จะสำรองหรือจัดหาเป็นภาระที่บริษัทฯจะต้องมุ่งเสาะแสวงหาเพื่อเป็นปริมาณสำรองและเจ้าของร่วมในต่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประเทศไทยยังมีพลังงานสำรองใช้อยู่ แม้ว่าราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้นไปมากเพียงไรก็ยังมีปริมาณที่ต้องนำเข้าอยู่ ซึ่งขณะนี้ไดมีการดำเนินการเริ่มผลิตไปแล้ว ได้แก่ พม่า ลาว โอมาน และที่อิหร่าน แอลจีเรีย อยู่ระหว่างการสำรวจและผลิต ขณะที่ปตท.ที่ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องหรือดาวน์สตรีม ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการไปประเทศต่างๆเช่นกัน"

จัดทัพ 4 กลยุทธ์ผ่าวิกฤต

ทั้งนี้ กลยุทธ์ธุรกิจของปตท. เพื่อรับมือกับวิกฤติทีเกิดขึ้นในปีหน้า บอสใหญ่ บอกว่า เนื่องจากมีบทบาท 2 ด้าน คือ 1. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของพลังงานในประเทศ 2. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไร ซึ่งภายใต้กรอบดังกล่าวนี้ ปตท.ได้วางกลยุทธ์ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1. จัดหาและสำรองพลังงานพื้นฐาน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ให้เพียงพอในราคาเป็นธรรม 2.สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจในเครือให้ผ่านพ้นวิกฤติขาลงไปให้ได้ 3.ขยายธุรกิจทั้งไปในประเทศและต่างประเทศ 4.ส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้กับประชาชน

สำหรับการจัดหาพลังงาน เพื่อสำรองใช้อย่างเพียงพอในระยะยาวนั้น เขาบอกว่า สำหรับน้ำมัน หากมีงบประมาณก็สามารถจัดซื้อได้ แต่สำหรับก๊าซธรรมชาติจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดหาและเตรียมล่วงหน้า เพราะมีข้อจำกัดในการจัดหาและจัดส่ง ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ปัจจุบันมาจากอ่าวไทยอีกทั้งไม่สามารถซื้อหาในตลาดนเหมือนกับน้ำมันได้ทุกวัน

โดยล่าสุดได้เริ่มดำเนินการมองหาแหล่งซัพพลายก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียในพื้นที่คาบเกี่ยวกับไทย และพม่า ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติสำรองที่แหล่งเมาะตะมะ โดยมีบริษัทปตท.สผ.เข้าไปทำสำรวจเองด้วย ซึ่งคาดว่าก๊าซฯจากแหล่งที่ปตท.สผ.สำรวจได้จะผลิตออกมาใช้ได้ ภายในระยะเวลา 3.5 ปี อย่างไรก็ตามก๊าซธรรมชาตินำเข้าดังกล่าวจะมีราคาสูงขึ้นกว่าก๊าซฯที่มาจากอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย แนวโน้มอาจมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะราคาในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศอื่นๆมีสภาพเสถียรมากกว่ามาก โดยปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติในอเมริกา ญีปุ่นก็ปรับตัวและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม6เหรียญมาเป็น 13 เหรียญ ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 เหรียญ

"สิ่งที่ต้องเตรียมตัวและทำใจ คือ อนาคตเราต้องพึ่งพานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ราคาเฉลี่ยของก๊าซฯจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต่อไปค่าไฟฟ้าอาจต้องปรับราคาสูงขึ้นและค่าพลังงานพื้นฐานอื่นๆ อาทิ แอลพีจี เอ็นจีวี มีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย อันทำให้ค่าพลังงานปรับตัวขึ้นจากเดิมที่ผ่านมาราคาถูกกว่าน้ำมัน 2 เท่าอาจเหลือถูกกว่าประมาณครึ่งเดียวหรือกว่า 1 เท่าเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามราคาก็ยังถูกกว่าและช่องทางลดลงกว่าเดิม"

มุ่ง ควบรวม-ขยายตปท.

ในส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจในเครือ โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมี และพลาสติก บริษัทได้กำหนดแนวทางหลัก คือ การควบรวมกิจการ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันมีธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้หลายแห่งที่เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้าถือหุ้นเพิ่มทุน โดยล่าสุดจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ PTTAR ทำให้บริษัทนี้เข้มแข็งสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ระดับหนึ่ง และมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งนี้เมื่อจำต้องผ่านช่วงวิกฤติขาลงก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้

นอกจากนี้ ในส่วนบริษัทPtt Chemical ก็ได้มีการควบรวมจาก 2 บริษัท คือ บริษัท NPC กับ NOC ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่และเข้มแข็งขึ้น อันเป็นการผนึกกำลังให้ลดลง เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ผลกำไรอาจได้ไม่สูงนักก็ตาม

ทั้งนี้ในส่วนการขยายการลงทุนเน้นมุ่งไปต่างประเทศ อาทิ ประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาก ก็จะมีการดำเนินการหาและปักหลักลงทุนในแถบนี้ในระยะยาวมากขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นการเสาะแสวงหาปริมาณสำรองเพิ่มเติ นำรายได้เข้ามาในประเทศมากขึ้น

"จากภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาขณะนี้ ภาคการเงินอยู่ในภาวะตึงตัวทั้งในปีนี้และปีหน้า ทำให้เป็นไปได้ว่า จะมีธุรกิจที่เกี่ยวพันกับปตท.ประสบปัญหาธุรกิจ และเป็นโอกาสให้ปตท.เข้าไปซื้อธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นอีกทิศทางหนึ่งที่จะช่วยให้เติบโตได้ โดยจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะการจัดหาเงินในช่วงนี้ต้องรอบคอบ"

สำหรับด้านพลังงานทางเลือกให้ประชาชน เนื่องจากไม่แน่นอนว่า ราคาพลังงานจะผันผวนไปอย่างเช่นไร แต่สิ่งที่ชัดเจน คือ การจัดหาทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการที่ยังไม่พร้อมในปัจจุบัน สำหรับสถานีเอ็นจีวี ก็จำเป็นต้องขยายต่อไป และเครือข่ายจัดส่งก๊าซเอ็นจีวีไปยังสถานีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงตัวถังก๊าซ และหัวจ่ายให้สามารถทนทานต่อการใช้งานสูงได้ โดยปตท.ได้ทยอยปรับอย่างต่อเนื่อง

พฤกษาเรียลเอสเตท วิกฤติผู้ซื้อบ้านชะลอตัว

ขณะที่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท "ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์" วิเคราะห์ว่า จากวิกฤติการเงินในสหรัฐและการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหริมทรัพย์ในปีนี้ของบริษัทที่กำหนดตั้งเป้าหมายไว้ 2 หมื่นล้าน และรายได้กว่า 1.4 พันล้าน ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้โดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจที่อยู่อาศัยก็ได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า ทั้งนี้ สำหรับตลาดบ้าน ได้รับผลกระทบหลัก คือ การชะลอตัดสินใจของผู้ซื้อ ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศเองและการเมืองในประเทศ รวมถึงการส่งออก คาดการณ์กันว่า ในปีหน้าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

"เทรนด์สำหรับผู้ซื้อบ้านในปีหน้า ดาดการณ์ว่ายังคงชะลอตัวลง ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว กับภาวะดังกล่าว คือ จะทำอย่างไรให้บ้านถูกใจลูกค้า การบริหารจัดการที่จะต้องให้เกิดผลยอดเยี่ยมในใจลูกค้าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือตลาดระดับไหน ก็จะเป็นตัวแก้โจทย์สำคัญในภาวะที่ตลาดผู้ซื้อชะลอตัวลง เพื่อพยุงธุรกิจที่กำลังชะลอตัวให้มีลูกค้าเข้ามา" บอสใหญ่ค่ายพฤกษา แนะและบอกต่อไปว่า

ดังนั้น ควรต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการซัพพลายเชน (supply chain management) เพื่อให้สอดรับกับมาร์เก็ตเซ็กเมนต์แต่ละกลุ่ม ซึ่งก็เป็นแนวทางแก้ไขโจทย์วิกฤติในปีหน้าอีกตัวหนึ่ง

"การบริหารจัดการที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องเน้นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อทำให้ลูกค้าอยากจะซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในมาร์เก็ตเซ็กเม้นต์ของบริษัทปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ บน กลาง และล่าง โดยทั้ง 3 ตลาด โปรดักส์แต่ละตัว เช่น บ้านทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว ก็มีทั้ง 3 ตลาด หรืออาจเรียกรวมกันว่า เป็น 3 ช่องทาง ก็จะมีการสร้างผลผลิต หรือ Productivities ให้เกิดขึ้นอีกด้วย เพื่อให้ต้นทุนลดลง อันจะสามารถไปตอบสนองกับโปรดักส์ให้มีราคาตามที่เหมาะกับของผู้บริโภค "

ทั้งสิ่งกระตุ้นสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ซื้อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เขาบอกว่า หัวใจหลักของธุรกิจบ้าน ได้แก่ 1. ทำเลที่สะดวก 2. ดีไซน์ที่ตอบรับกลุ่มเป้าหมาย 3. ราคาที่สอดรับกำลังซื้อ

สำหรับบ้านหลังแรก โดยเฉพาะบ้านราคาระดับกลางลงมา ไม่ว่าจะเป็นประเภท ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว หรือคอนโดมีเนียม เป็นโปรดักส์ที่ไปได้ดี เพราะมีอัตราชะลอซื้อน้อยกว่า กลุ่มบ้านหลังที่สองที่มีราคาสูงประมาณ 7 ล้านบาทขึ้นไป ที่ต้องการขยายทำเลและปรับสภาพความเป็นอยู่เดิมให้ดีขึ้น

ประเมินแนวโน้ม-สู้ศึกตลาดปี 52

สำหรับแผนการลงทุนในปีหน้า บอสใหญ่บริษัท ในส่วนธุรกิจของบริษัทยังมีโอกาสขยายตัวในบางส่วนโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน โดยคำนึงปัจจัยหลักในการพิจารณาดังนี้ 1. แนวโน้มการแข่งขันทางธุรกิจ ขนาดตลาดคาดว่ามีแนวโน้มลดลง 2. แนวโน้มการปล่อยเงินกู้สินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทประมาณ 15-30 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ผ่านการกู้เงินของธนาคารพาณิชย์ไปสู่ขั้นตอนโอนบ้านของบริษัทได้ คาดว่าปีหน้าคงไม่แย่ไปกว่านี้

เขาบอกว่า สำหรับสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในกรุงเทพ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้ามีจำนวน 4.5 หมื่นหน่วยในปีนี้ก็มีปริมาณใกล้เคียงกัน อันนี้เนื่องมาจากมาตรการภาษีดังกล่าวนั่นเอง ทั้งนี้มาตราการดังกล่าวกำหนดสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า คาดว่า ถ้าหากรัฐบาลจะดำเนินการต่อเนื่องไปอีกก็จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่ง

"ปีนี้ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือที่อยู่อาศัยทั้งในด้านลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอน ค่าจำนอง และภาษีธุรุรกิจเฉพาะ ซึ่งได้รับการตอบรับอันดีจากลูกค้าปัจจัยดังกล่าวนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยรักษาสภาพธุรกิจในยังคงดำเนินการอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤต มิฉะนั้นอาจแย่กว่าเดิมมาก"

นอกจากนี้ มาตรการบีโอไอที่ดำเนินต่อเนื่องมานานนับปีของภาครัฐ ที่ส่งเสริมการลงทุนบ้าน 6 แสนบาทน่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 1 ล้านบาท เนื่องจากระยะเวลากว่า 16 ปีราคาวัสดุก่อสร้างได้มีอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างบ้านสูงขึ้น จึงจะสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและช่วยส่งเสริมการลงทุนได้ดี

" ในอัตราส่งเสริมลงทุน 6 แสนบาท มีส่วนช่วยกำลังซื้อของผู้ซื้อให้ถูกลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันถ้าหากเพิ่มเป็นจำนวน 1 ล้านก็จะทำให้อัตราดังกล่าวเพิ่มเป็นเท่าตัว อันช่วยให้กลุ่มกำลังซื้อมีศักยภาพดีขึ้น อีกทั้ง คาดว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ของรัฐคงเข้ามาเป็นผู้นำในตลาดในการปล่อยกู้ลูกค้าส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะช่วยพยุงตลาดได้อีกทางหนึ่งในปีหน้าได้"

AIS ธุรกิจเด่น-ได้อานิสงค์ คาดอนาคตแรงกระทบส่งผล

ทางด้านค่ายเอไอเอส โดยประธานกรรมการบริษัท บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น และซีอีโอ บริษัท แอดว้าน อินโฟเซอร์วิส " สมประสงค์ บุญยะชัย" ให้ข้อสรุปว่า สำหรับธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมของบริษัท ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนี้ จัดว่า ยังไม่ได้รับกระทบโดยตรงนัก ทั้งนี้ เพราะบริษัทสามารถรักษาระดับยอดขายไว้ได้ และคาดว่าเป็นเพราะธุรกิจเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบในชั้นที่ 2 หรือ (Substitute Products)

"เป็นไปได้ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี อาจทำให้คนชะลอการใช้รถหรือเปลี่ยนทางเลือกหันมาสื่อสารด้วยการใช้โทรศัพท์แทน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้บริษัทดีใจหรือลำพองตัว เพราะถ้าหากเศรษฐกิจชะลอตัว ยังสามารถรักษาระดับธุรกิจไปได้

แต่ในอนาคตต่อไปก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเติบโต เนื่องจากบริษัทเล็กๆปิดตัวไป หรือไม่มีบริษัทใหม่เกิดขึ้น หรือ บริษัทใหญ่ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ลดลง หรือ กระทั่งลูกค้ารายบุคคลก็อาจชะลอการซื้อโทรศัพท์เครื่องต่อไปมากขึ้น

"จากตัวเลขผลประกอบการบริษัทที่ประเมินตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ แม้ว่ายังไม่ได้รับผลกระทบนัก เพราะยังสามารถรักษาระดับไว้ได้ดี แต่ในปีหน้าก็ยังอดห่วงไม่ได้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี่ และพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการแข่งขันขนาดใหญ่ในธุรกิจสื่อสาร ซึ่งเป็นธรรมชาติธุรกิจทึ่ต้องลงทุนขนาดใหญ่

ซีอีโอจากค่าย AIS ให้ทัศนะต่อไปว่า ทั้งนี้เทคโนโลยี่ ถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการแข่งขัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการที่เดินตามไม่ทันเทคโนโลยี่อาจทำให้ไปไม่รอดในธุรกิจในที่สุด ส่งผลให้การลงทุนจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะการลงทุนเทคโนโลยี่มากก็มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันหากลงทุนช้าก็อาจไม่ทันการณ์ ส่งผลให้การแสวงหาจุดพอดีของการลงทุนจึงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้บริหารและบริษัท

"ธุรกิจการสื่อสารในอนาคต จะขยายตัวทั้งในมิติเทคโนโลยี่ และผู้บริโภค สำหรับเทคโนโลยี่ 3 จีจะต้องเกิดขึ้น หากไม่มีอาจเกิดผลเสียกับประเทศ เพราะต้นทุนต่อหน่วยธุรกิจหรือeconomy of scale ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่มาจากระดับโลก เพราะปัจจุบันบรรดาผู้ผลิตต่างๆเหล่านี้เคลื่อนตัวไปไปสู่เทคโนโลยี่ 3 จีไปแล้ว ดังนั้น หากเมืองไทยไม่มี ก็จะทำให้ไม่มี 2 จี อาทิ ระบบ อุปกรณ์ใช้ได้เช่นกัน มันจะเหมือนการเปลี่ยนผ่านยุคอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ทีเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่สามารถหาอุปกรณ์มารองรับหรือเชื่อมต่อเหมือนเดิมได้"

ปัจจุบัน อัตราโทรศัพท์จดทะเบียนของประเทศไทยมีจำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หรือ คิดเป็น 50 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ในส่วนกลยุทธ์ธุรกิจในปีหน้า บริษัท กำหนดมุ่งเน้นการขยายเครือข่าย และบริการเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนต่อเนื่องในเทคโนโลยี่ใหม่ 3 G อีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.