หุ้นไทยฝ่าวิกฤตไม่พ้นจับมือดิ่งพสุธา ปลายทางรอดพึ่งได้เพียงทุนต่างชาติ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวขึ้นลงตามทุนต่างชาติมาตลอด ยามใดที่ต่างชาติช้อนซื้อกระดานหุ้นจะแลเห็นสีเขียวเป็นทิวแถว หากเมื่อขายทิ้งสีแดงจะปรากฏชัด แถมด้วยการเจ็บของแมลงเม่านักลงทุนไทย จึงไม่แปลกที่จะพบข้อมูลที่รายงานว่าตลาดหุ้นไทยถูกแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอันดับ 3ของภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์ที่ปรากฏเช่นนี้สะท้อนภาพว่าการดึงตลาดหุ้นไทยขึ้นจากหลุมต้องพึ่งเม็ดเงินต่างชาติเป็นปัจจัยหลัก

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รุนแรงใกล้ตัวและลามมาเร็วกว่าที่คาดกันไว้มาก จากโลกซีกอเมริกาลุกลามไปสู่ยุโรป เข้าถึงเอเชีย และวิ่งต่อไปยังตะวันออกกลาง เรียกว่าวินาทีนี้ทุกส่วนของโลกโดนพิษวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กันถ้วนหน้า ความเชื่อมโยงถึงกันเหมือนดังปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและกระทบถึงตลาดทุน ซึ่งในวันนี้เข้าขั้นวิกฤติหนักไม่แพ้การล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่งในต่างชาติ อันมีต้นเหตุจากปัญหาซัพไพร์ม

ความจริงนักลงทุนต่างชาติจับสัญญาณได้ถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2551 ต่างชาติเริ่มเทขายหุ้นในภูมิภาคเอเชียทิ้ง เพื่อนำเงินกลับไปพยุงบริษัทแม่ที่ใกล้ล้มละลาย บางส่วนก็นำไปเติมสภาพคล่องกรณีที่เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด เพราะความวิตกกังวลในปัญหา เรียกได้ว่าทำทุกวิธีทางเพื่อความอยู่รอด

แต่ในท้ายแล้วการเทขายหุ้นออกไปก็ยังไม่สามารถรั้งชีวิตบางบริษัทได้จนต้อปล่อยให้ล้มละลายไป สำคัญไปกว่านั้นคือ นักลงทุนต่างชาติยังถือครองหุ้นในเอเชียอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งนั่นหมายความว่ายังมีโอกาสที่จะเห็นตลาดหุ้นในเอเชียดิ่งลงได้มากกว่าที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้

นักวิเคราะห์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาแล้วถึง 1.4 แสนล้านบาทซึ่งนับเป็นชาติอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียที่มีการเทขายแรงสุด

ความแรงของการเทขายยังมีอย่างต่อเนื่องเพราะความวิตกจากนักลงทุน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 51 ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเนื่องด้วยดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากดัชนีราคาปิดวันทำการก่อนหน้า 43.29 จุด คิดเป็น 10.00% อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเมื่อ

ระดับที่ 1 เมื่อดัชนีราคา SET Index ลดลงเท่ากับหรือมากกว่า 10% ของดัชนีราคาวันทำการก่อนหน้า จะหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที

ระดับที่ 2 เมื่อดัชนีราคา SET Index ยังคงลดลงจนถึงเท่ากับหรือมากกว่า 20% ของดัชนีราคาวันทำการก่อนหน้า จะหยุดทำการซื้อขายอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เพื่อพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเดือนต.ค.นี้ถึง 2 ครั้ง หลังดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรง 10% ขณะที่นับตั้งแต่เปิดทำการมา ตลาดหลักทรัพย์ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์รวมแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.49 ซึ่งดัชนีลดลง 74.06 จุด หรือ 10.14% เป็นผลจากความกังวลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% สำหรับการนำเข้า เงินทุนระยะสั้น ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีลดลง 50.08 จุด หรือ 10.02%ซึ่งตลาดหุ้นไทยปรับลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก จากความวิตกภาวะเศรษฐกิจโลก และครั้งที่ 3 เมื่อวานนี้ ดัชนีลดลง 43.29 จุด หรือ 10%

ปัญหาที่สะท้อนออกมาถามว่ารัฐบาลจะช่วยอย่างไร จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นหรือไม่ คำตอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "สุชาติ ธาดาดำรงเวช"ให้ความกระจ่างแล้วว่าจะไม่ตั้งกองทุนดังกล่าวแน่นอน เพราะจะทำให้กลไกตลาดบิดเบือน

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัญหาว่า เงินกองทุนพยุงหุ้นที่ว่าจะใช้เม็ดเงินถึง 1.4 แสนล้านบาทจะนำมาจากไหน มี 2 ทางคือเงินจากภาษีประชาชน หรือไม่ก็สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาหนุน แน่นอนว่าถ้าจัดตั้งขึ้นคงไม่เป็นการดีแน่ เพราะจะถูกข้อครหาว่าเป็นนโยบายที่ฝนตกไม่ทั่วฟ้าผู้ได้รับประโยชน์มีไม่กี่กลุ่ม ซึ่งโดยมากก็คือกลุ่มนายทุน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ เล่าว่า ปัจจัยภายนอกและภายในประเทศล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เมื่อนักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นย่อมทำให้มีการเทขายหุ้น ดังนั้นถ้าจะให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตื่นขึ้นมาได้นั้นจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

"แต่มากกว่านั้นสำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นสัมพันธ์กับเม็ดเงินต่างชาติ ทำให้กล่าวได้ว่าการฟื้นคืนตลาสดหุ้นไทยนั้นยังคงก็ต้องพึ่งพาอาศัยเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเช่นเดิม"

นั่นคือจุดอ่อนที่ทำให้ตลาดทุนไทยแกว่งขึ้นลงอย่างรุนแรง เพราะเมื่อใดที่ทุนต่างชาติถอนกระดานตลาดหุ้นจะกลายเป็นสีแดงเทือก และเมื่อใดเข้าซื้อกระดานหุ้นก็จะกลายเป็นสีเขียว และยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้กล่าวได้เลยว่าคงอีกนานที่ตลาดหุ้นจะตีกลับขึ้นมาได้ถึง 800 จุด เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่อำนวย ถมการเมืองในประเทศก็ยังไม่แน่ชัด

และในมุมลบจากโบรกเกอร์ที่มองว่ารุนแรงสุดนั้นคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยหลุด 300 จุดในช่วงระหว่าง ธันวาคม 2551และ มกราคม 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.