"สงบ พรรณรักษา ถึงคราวที่จะได้สงบ?"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

สงบเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของธนาคารกสิกรไทย หลังจากที่กลับจากสหรัฐฯ แล้วก็ทำงานที่กสิกรจนถึงปี 2522 ในตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็มาทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีอยุธยาหรือเอ๊ตโก้ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ปี 2526 เกิดวิกฤติการณ์บริษัทเงินทุน หลาย ๆ แห่งประสบปัญหาในกี่ดำเนินงานจนถูกกระทรวงการคลังควบคุม สงบได้รับการชักชวนจาก ธานี บรมรัตนธน ผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอ. ที. เอฟ. ในขณะนั้น ให้เข้าไปเป็นผู้บริหารในปี 2527 ซึ่งสงบตกลงพร้อมกับมีการทำสัญญาจ้างงานขึ้น

ตามสัญญา สงบจะได้รับเงินเดือนเดือนละ 200,000 บาท รวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ ทุก ๆ ปี จะต้องขึ้นเงินเดือนให้ 10% และเมื่อบริษัทมีกำไรจะต้องแบ่งให้สงบ 5-8% ของกำไรสุทธิ นอกจากนั้น อำนาจสูงสุดในการบริหารเป็นของสงบแต่เพียงผู้เดียว อายุของการจ้างยาวนานถึง 12 ปี ซึ่งหมายความว่าถ้าบริษัทเลิกจ้างก่อนครบ 12 ปี ก็จะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทางธานีเองก็หวังในชื่อเสียงและความสามารถของสงบที่จะกอบกู้ฐานะของบริษัท ส่วนสงบเองก็ต้องการหลักประกันและค่าตอบแทนที่คุ้มกับการต้องออกจากเอ๊ตโก้ที่มั่นคงอยู่แล้วไปอยู่ ไอ.ที.เอฟ. ที่มีอาการย่ำแย่

สงบเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า งานที่ ไอ. ที. เอฟ. หนักกว่าที่เอ๊ตโก้ 20-30 เท่า โดยเฉพาะในปี 2528 ที่ทางการฮ่องกงเข้าควบคุมธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ โอเวอร์ซีทรัสต์มีหุ้นอยู่ใน ไอ. ที. เอฟ. 9.9% ซึ่งจุดนี้สงบได้หยิบยกเอามาโฆษณาอยู่ตลอดเวลา เมื่อโอเวอร์ซีทรัสต์เกิดปัญหา ภาพของบริษัทเงินทุนที่ล้มระเนระนาดในปี 2526 ก็ทำท่าว่าจะเกิดขึ้นกับ ไอ.ที.เอฟ. สงบต้องติดต่อให้ทางแบงก์ชาติออกมาแถลงว่า การล้มของโอเวอร์ซีทรัสต์ไม่กระทบกระเทือนต่อ ไอ. ที. เอฟ. เพราะถือหุ้นอยู่เพียง 9% เท่านั้น ความเป็นสงบ พรรณรักษา ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่สกัดความแตกตื่นของผู้ฝากเงินกับ ไอ. ที. เอฟ. ไว้ได้

แต่การล้มของโอเวอร์ซีทรัสต์ ก็ทำให้สงบมีปัญหาในการเพิ่มทุนตามแผนการ ไอ. ที. เอฟ. ต้องลดทุนเพื่อตัดยอดขาดทุนสะสมและหนี้สูญ แล้วทำการเพิ่มทุนใหม่เพื่อความมั่นคงของบริษัทและเป็นฐานในการรายได้ ไอ. ที. เอฟ. ต้องการเงินทุนเพิ่มอีก 300 ล้านบาท ซึ่งโอเวอร์ซีทรัสต์คือเป้าหมายของสงบในการเพิ่มทุนนี้ แต่ทางผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งเป็นคนของทางฮ่องกงไม่เห็นด้วย สงบจึงต้องวิ่งเต้นอย่างเต็มที่ให้ทางโอเวอร์ซีทรัสต์เปลี่ยนใจ โดยขอให้ทางแบงก์ชาติช่วยอีกแรงหนึ่ง

สงบทำได้สำเร็จ กลางปี 2529 โอเวอร์ซีทรัสต์ ตกลงให้เงิน 150 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มทุนของ ไอ. ที. เอฟ. ที่เหลืออีก 150 ล้านบาทมาจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินของแบงก์ชาติ สงบทำการลดทุนเดิม 299 ล้านเหลือ 11.45 ล้านบาท แล้วเพิ่มทุนใหม่อีก 300 ล้านเป็นทุนจดทะเบียนรวม 311.45 ล้านบาท มากเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน

การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้แบงก์ชาติในนามกองทุนฟื้นฟูฯ และโอเวอร์ซีทรัสต์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ไอ. ที. เอฟ. รวมกันประมาณ 96% ทางแบงก์ชาติส่งตัวแทนเข้ามานั่งในคณะกรรมการบริษัท 2 คนและเชิญจากภาคเอกชนอีก 3 คน

ความขัดแย้งระหว่างสงบในฐานะผู้บริหาร กับคนของแบงก์ชาติและคนที่แบงก์ชาติเชิญมาในฐานะกรรมการบริษัทเริ่มก่อตัวขึ้นและถึงจุดแตกหักในอีก 9 เดือนต่อมา

ความไม่ลงรอยระหว่างสงบกับคณะกรรมการบริษัทมีเหตุมาจากแนวความคิดที่แตกต่างกันในการบริหารงาน ทางกรรมการต้องการให้ก้าวไปอย่างช้า ๆ โดยปรับปรุงบริษัทให้เข้มแข็ง ลดค่าใช้จ่ายลง ส่วนสงบต้องการขยายธุรกิจออกไปเพื่อหารายได้เข้าบริษัท ทางกรรมการหาว่าสงบไม่ยอมรับฟัง ทางสงบก็ถือว่าตัวเองมีอำนาจเต็มที่ตามสัญญา

เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง สัญญาการว่าจ้างสงบก็ถูกคณะกรรมการหยิบยกขึ้นมา โดยเรียกร้องให้ทางแบงก์ชาติทำการแก้ไขเพื่อลดทอนอำนาจของสงบ และแก้เงื่อนไข แต่ก็ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากผู้บริหารแบงก์ชาติทั้งตัวสงบเองก็ไม่ยอมแก้สัญญา กรรมการที่แบงก์ชาติเชิญมาสามคนขอลาออกเพราะเห็นว่าคงทำงานร่วมกันไม่ได้ สงบได้รับข้อเสนอให้ลาออกโดยจะได้รับค่าชดเชย 9 ล้านบาท สงบก็ปฏิเสธอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปะทะขั้นแตกหักก็เลี่ยงไม่ได้

วันที่ 30 เมษายน 2530 เป็นวันที่สงบต้องปิดฉากความเป็นมือปืนรับจ้างของตนเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญของ ไอ. ที. เอฟ. โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยในนามกองทุนฟื้นฟูและธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ของฮ่องกง มีมติ "เลิกจ้าง" สงบด้วยเหตุผลว่าเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับกรรมการบริษัท

โอเวอร์ซีทรัสต์นั้นไม่พอใจสงบอยู่ก่อนเพราะขอแก้เงื่อนไขในการลงทุนแต่สงบไม่ยอม

ในตอนแรกสงบมีทีท่าว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญา ซึ่งถ้าชนะสงบจะได้เงินประมาณ 25 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังไม่มีการฟ้องร้องแต่อย่างใด ตัวสงบเองหลังออกจาก ไอ. ที. เอฟ. แล้ว ก็ไปตั้งบริษัท สงบและวรรณาเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ และเป็นอาจารย์พิเศษในโครงการปริญญาโททางการบริหารธุรกิจอยู่หลายแห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ก็จะเป็นอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจของนิด้า ในตำแหน่งอาจารย์ซี 7 ชั้นพิเศษ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.