|
ศก.ไทยยังไม่พ้นวิกฤต แนะกระจายส่งออก-คลอดมาตรการดึงทุนนอก
ผู้จัดการรายวัน(5 พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.ภัทร ชี้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโดดเด่น แต่มีจุดอ่อนการส่งออกชะลอตัวจากได้รับกระทบเศรษฐกิจโลกถดคอย-ปัญหาความแตกแยกของคนในประเทศ “ บรรยง” ชี้จุดต่ำสุดตลาดหุ้นไทย 350 จุด แจงเม็ดเงินต่างชาติเหลือเงินเทรดหุ้นไทย 9 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 9 หมื่นล้านบาท พร้อมไม่เห็นด้วยตั้งกองทุนพยุงหุ้นควรปล่อยตามกลไกตลาด ด้านประธานสภาอุตสาหกรรม มองปีหน้าอุตสากรรมไทยย่ำแย่หลังคำสั่งซื้อเริ่มลดลงแล้ว พร้อมแนะเน้นกระจายการส่งออก และเจาะลูกค้าของจีนที่กำลังประสบปัญหา ด้านบล.ทิสโก้ แนะรัฐบาลเร่งดำเนินนโยบาย สร้างความมั่นใจต่างชาติลงทุน
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA ในฐานะ วตท. รุ่นที่ 5 กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “มองวิกฤต ... เพื่อโอกาส?” ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ว่า วิกฤตสถาบันการเงินโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในปี 2552 ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีสถานการณ์เงินแข็งแกร่ง ทุนสำรองสูง และภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
“ผมเชื่อว่าวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้ระบบทุนโลกาภิวัฒน์อวสาน ระบบการเงินโลกไม่ล่มสลายและจะไม่รุนแรงเหมือนกับดีเปรสชั่น เพราะดูจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมา แม้ช่วงแรกจะช่วยอะไรไม่ค่อยได้ แต่สักระยะจะมีความเข้าใจปัญหาและกลไกลต่างๆ ความผันผวนจะเกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้วจะค่อยมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายบรรยง กล่าว
สำหรับประเทศไทยถือว่ามีเศรษฐกิจที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งจากมีทุนสำรองของประเทศที่สูง มีหนี้ต่างประเทศเพียง 20% ของทุนสำรองของประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นมีสัดส่วนที่สูง เช่น เกาหลีมีหนี้ต่างประเทศถึง 90% และหนี้สาธารณะเพียง 30% ขณะที่สหรัฐฯ มี 70% ญี่ปุ่น 130% ของทุนสำรองประเทศ มีหนี้ภาคครัวเรือน 55% ซึ่งมีศักยภาพในการกู้ได้อีกจำนวนมาก และเงินเฟ้อในปีหน้าจะลดลงเหลือ 3% สินค้าโภคภัณฑ์ลดลงทำให้ไทยนำเข้าน้ำมันลดลง แต่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% จากในปี 2539 ที่มีเพียง 32% ซึ่งอาจจะทำให้กระทบต่ออัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ประกอบกับไทยมีการลงทุนต่ำมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเพียง 20-24% ของจีดีพี จากก่อนวิกฤตนั้นมีการลงทุนถึง 32% ของจีดีพี ซึ่งบล.ภัทร คาดว่าปีหน้า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโต 3.3% ซึ่งถือว่าเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุด
“ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องความแตกแยกของประชาชนในสังคม ซึ่งหากไม่สามารถที่จะหาทางประนีประนอม จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยให้ได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีที่จะให้เกิดการประนีประนอมเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อไปได้”
นายบรรยง กล่าวว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถือว่าตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรงมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่ 14 จากตั้งแต่มีแต่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) ซึ่งคำถามต่อมาทำไมถึงเดือนนี้ผลกระทบรุนแรงมากจากที่เหตุการณ์ผ่านมาถึง14 เดือนแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงมากกว่า 15%
สำหรับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม คงเหลืออยู่ในตลาดหุ้นไทยประมาณ 9 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 9 หมื่นล้านบาท เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบอก โดยพอร์ตดังกล่าวยังไม่รวมกับเม็ดเงินต่างชาติที่ถือหุ้นเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติยังคงมีแนวโน้มขายหุ้นต่อไป แต่จะมีสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งจากแรงขายของต่างชาติตั้งแต่ต้นปีนั้นทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ลดลงเหลือ 3 ล้านล้านบาท จากต้นปีที่ 6.6 ล้านล้านบาท เกิดจากโครงสร้างตลาดทุนไทยมีการพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างชาติมาถึง 15 ปี
“ผมไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะการที่หุ้นลงเกิดจากต่างชาติจำเป็นต้องขายหุ้นออกโดยไม่คำนึงถึงราคาขาย หากตั้งกองทุนดังกล่าวจะทำให้ต่างชาติมีการขายได้สะดวกมากขึ้น แม้ตั้งกองทุนมา 1 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถรองรับแรงขายที่มีจำนวนมากได้ จึงควรที่จะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกและเมื่อถึงจุดต่ำสุดราคาก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเอง ซึ่งผมมองว่าจุดต่ำสุดของดัชนีหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ 350 จุดเท่านั้น” นายบรรยง กล่าว
อุตสาหกรรมไทยปี 52 ย่ำแย่หนัก
นายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะวตท.รุ่นที่ 7 กล่าวว่า ปี 52 ภาคอุตสาหกรรมไทยจะเข้าสู่ภาวะยากลำบากทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกที่จะได้รับผลกระทบมาก จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดลงต่ำกว่าปี 2551 จากประเทศไทยยังมีตลาดหลักในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น สัดส่วนสูงถึง 30-40%ของการส่งออกทั้งหมด แต่ธุรกิจขนาดเล็กถือว่าน่าเป็นห่วงมากจากมีเงินทุนที่ต่ำ กู้เงินยาก ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปาง พบยอดคำสั่งซื้อลดลงแล้วกว่า 30%
“ปีหน้าผู้ส่งออกในปีหน้าจะต้องมีการเตรียมตัวรับมือที่ดี โดยควรหันส่งออกสินค้าในอาเซียนมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกเพียง 20% เท่านั้น รวมถึงกรณีที่จีนได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพสินค้านั้นไทยควรที่จะมีการส่งออกไปประเทศกลุ่มลูกค้าของจีนแทน ในสินค้าอาหาร ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว มองว่าไม่ควรพึ่งพาภาครัฐมากเกินไป แต่ควรมีเป้าหมายเชิงรุกมากขึ้น และควรใช้ประโยชน์จากการทำ FTA ที่ทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ”
สุรพลฟู้ดส์แนะกระจายส่งออก
นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSF ในฐานะ วตท.รุ่นที่ 6 กล่าวว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องกระจายการส่งออกไปประเทศต่างๆ ซึ่งบริษัทมีการส่งออกกระจายไป 24 ประเทศทั่วโลก และควรที่จะกระจายการขายสินค้าไปทุกสกุลเงินไม่ควรผูกติดกับสกุลใดสกุลหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรวางแผนการดำเนินงานระยะยาวมีควรคำนึงความยั่งยืนของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้หรือกำไรในขณะนี้ และที่สำคัญทุกบริษัทจะต้องรักษากระแสเงินสดของบริษัทไว้ให้มากที่สุดจะลงทุนจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
สำหรับรัฐบาล ควรสร้างความชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงินทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย รวมถึง ควรสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยมีจำนวนในตลาดน้อยลง และเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรเปลี่ยนบทบาท มาเป็นผู้นำพานักธุรกิจไปประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยมากขึ้น
จี้รัฐอุ้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะวตท.รุ่นที่ 4 กล่าวว่า ระบบการเงินของประเทศไม่มีปัญหาเพราะไม่ต้องตั้งสำรองจากการเกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ถือว่าระบบการเงินมีผลกระทบน้อย ต่างจากวิกฤตทางการเงินเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่มีทุนเนื่องจากไม่ทราบถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างแท้จริง ประกอบกับภาคการลงทุนที่แท้จริงประสบกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้น สาเหตุจากการกู้ยืมที่เกินตัวทำให้กระทบต่อสภาพคล่องของโลกและส่งผลกระทบต่อไทย
ทั้งนี้ ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านจุลภาคมากกว่า คือ วงเงินสินเชื่อที่ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เสนอทางการให้เปลี่ยนมุมมองจากการรวมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ให้เปลี่ยนมาเป็นธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแทน เช่น การอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Soft Loan) ทำให้ภาครัฐไม่ต้องเข้ามาพยุงหรือช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ SME Bank แทน รวมถึงด้านการส่งออกควรที่มองวปัยหาที่จะเกิดระยะไกล ไม่ควรกังวลว่าผู้สั่งสินค้าจะไม่มีเงินจ่ายให้รัฐค้ำประกันสินค้าเพื่อให้ผู้ส่งออกไม่ได้รับความเสียหาย
ทิสโก้ แนะรัฐออกนโยบายดึงทุนต่างชาติ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะวตท.รุ่นที่ 4 กล่าวว่า การขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้ขายสุทธิกว่า 1.4 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งการขายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการขายของกองทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) เป็นส่วนใหญ่ หากเมื่อเทียบกันแล้วนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้ขายเพียงอย่างเดียวแต่ก็มีแรงซื้อเข้ามาด้วย โดยแรงซื้อที่มีเข้ามาประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับแรงขายแล้วมีแรงขายมากกว่า ดังนั้นควรหาวิธีที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนหรือซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้ามาลงทุนไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัญหาแต่มีความกังวลกับนโยบายของภาครัฐที่ไม่มีความแน่ชัดมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องหาวิธีเพิ่มนักลงทุน และภาครัฐควรมีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อการสื่อสารข้อมูลกับนักลงุทนและระหว่างหน่วยงาน
“นักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นออกมาส่วนใหญ่เป็นเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งขณะนี้เม็ดเงินที่มีอยู่ในตลาด คือ 9 แสนล้านบาท เพราะหากคิดจากสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ทำการซื้อขายในปัจจุบันนี้ประมาณ 30% ของมูลค่าตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป ดังนั้นเม็ดเงินที่ลงทุนในหุ้นจึงมีกว่า 1 ล้านล้านบาทบาท แต่เมื่อไม่นับส่วนที่เป็นพันธมิตรทางการลงทุน ก็ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนที่อยู่ในตลาด คือ 9 แสนล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อเป็นนักลงทุนระยะยาว” นายไพบูลย์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|