The Last page...เรื่องของความ "โลภ" และ "งก"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าประเทศไทยไม่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อ 11 ปีก่อน วันนี้เราอาจได้เห็นระบบการเงินของประเทศไทยล่มสลายลงไปอย่างสิ้นเชิงเรียบร้อยแล้ว

เพราะอะไร?

เพราะวิธีคิดของของมนุษย์พันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า "นักการเงิน" นั้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด สัญชาติใด จะมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีความ "โลภ" และ "งก" เป็นที่ตั้ง

"โลภ" ตรงที่เมื่อเห็นว่าที่ใดที่เปิดช่องให้ทำกำไรได้ ก็มักจะกระโดดเข้าใส่

"งก" ก็ตรงที่แม้ว่าจะได้กำไรไปแล้ว ยังไม่หนำใจ ต้องใส่เงินเพิ่มเข้าไปอีก เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น มากขึ้น

ถ้าสถาบันการเงินไทยไม่ได้รับบทเรียนเมื่อครั้งที่ "โลภ" เอาเงินต้นทุนต่ำจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ต่อในประเทศ ซึ่งได้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงกว่า และ "งก" ตรงที่พยายามเพิ่มยัดเยียดเงินกู้ให้ผู้ประกอบการชาวไทยเป็นหนี้มากขึ้น มากขึ้น เพื่อที่จะให้ตนเองได้กำไรสูงขึ้น สูงขึ้น

แล้วกลับโดนมาตรการ "หักดิบ" ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยการลอยตัวค่าเงินบาทนั้น

เชื่อว่า กลิ่นกำไรอันหอมหวนในตลาดซัพไพรม์ที่เคยเป็นแหล่งทำเงิน ทำกำไรให้กับสถาบันการเงินแทบทุกแห่งในสหรัฐอเมริกากับยุโรป เมื่อไม่กี่ปีมานี้

สถาบันการเงินไทยคงอดใจไม่ไหว ต้องนำเงินของชาวบ้านเข้าไปร่วมเล่นเกมการเงินครั้งนี้ด้วยแน่ๆ

ถือเป็นบทเรียนที่ดีและมีราคาแพงยิ่ง ที่เราได้รับจากการลอยตัวค่าเงินเมื่อปี 2540

วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะทำให้มีสถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มหายตายจากไปนั้น

ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงินที่เหลือ

ไม่ใช่ความแข็งแกร่งในด้านฐานะการเงินเพียงอย่างเดียว

แต่ยังเป็นความแข็งแกร่งในวิธีคิด การดำเนินงานในการสร้างรายได้จากเงินฝากของชาวบ้าน ซึ่งก็คือประชาชนโดยทั่วไป

จริงอยู่ ที่ 10 ปีที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากนักธุรกิจ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็กมาตลอดว่า "ทุกวันนี้ จะกู้เงินจากแบงก์แต่ละที ยากเข็ญยิ่ง"

เพราะแบงก์กลัว ไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ เพราะภาพอันเลวร้ายในการติดตามหนี้เอ็นพีแอล เมื่อ 10 ปีก่อน ยังคงตามหลอกตามหลอนอยู่

แต่ความกลัวที่ว่า กลับเป็นเรื่องดี เพราะทำให้แบงก์ไม่กล้านำเงินของชาวบ้านไปปู้ยี่ปู้ยำเล่นโดยง่าย

จะปล่อยเงินออกไปแต่ละครั้ง ต้องวิเคราะห์แล้ว วิเคราะห์อีก ก่อนว่าต้องไม่ "เสี่ยง"

แล้วค่อยมาคิดคำนวณทีหลังว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้น "คุ้ม" หรือ "ไม่คุ้ม"

แน่นอน นักธุรกิจหลายคนอาจหงุดหงิดในความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินอยู่บ้าง ที่ไม่เหมือนกับสมัยก่อนเกิดวิกฤติ

แต่ในแง่ของคนฝากเงิน กลับมีความสบายใจมากกว่า ว่าสถาบันที่ใช้บริการอยู่นั้น มั่นคงพอที่จะเอาทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ไปฝากให้ดูแล

การล้มลงของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา และยุโรปในรอบนี้ เป็นภาพสะท้อนที่ดีว่าถึงที่สุด ไม่ว่าสถาบันการเงินนั้น จะ "ใหญ่" หรือมีประวัติศาสตร์ยาวนานเพียงใด

หาก "โลภ" หรือ "งก" ขึ้นมา ก็ต้องพบกับจุดจบที่เหมือนกัน

"นักการเงิน" ของไทยได้รู้จักจุดจบนั้นมาแล้ว ยิ่งได้มาเห็นจุดจบของเพื่อนร่วมอาชีพ ในซีกโลกที่เคยถูกมองว่ามีพัฒนาการและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าครั้งนี้

น่าจะเป็นการตอกย้ำบทเรียนได้เป็นอย่างดีว่าการ "โลภ" และ "งก" โดยที่มีเงินของชาวบ้านเป็นเครื่องมือนั้น

สุดท้ายแล้วจะไม่เหลืออะไรให้หยิบจับได้อีกเลย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.