ก่อนจะมาเป็นบัวหลวงประกันภัย

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครเลยจะรู้บ้างว่าบริษัทบัวหลวงประกันภัยที่เปรียบเสมือนคนไข้ในห้องไอซียูเวลานี้ จะอยู่หรือตายก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ "แพทย์" จากสำนักงานประกันภัยเท่านั้น ได้เคยเป็นคนไข้เก่าแก่ที่ผ่านเข้าออกห้องไอซียูมาแล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา แล้วก็รอดออกมาผัดหน้าทาแป้ง แต่งตัวเอี้ยมเฟี้ยมใหม่ทุกครั้งไป

อดีตอันยาวนานของบัวหลวงนั้นเริ่มมาจากบริษัทรวมรถยนต์ประกันภัย จำกัด ของเจาคุณพิพัฒน์ โปษยานนท์ ซึ่งจดทะเบียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2495 โดยมีใบอนุญาตทำประกันได้เพียงอย่างเดียวคือรถยนต์

ว่ากันว่าการทำรวมรถยนต์ในเวลานั้น เจ้าของไม่ได้มีเจตนาทำอย่างเต็มที่จริงจัง และโดยทั่วไปจะหาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัยอย่างถ่องแท้ก็แทบจะไม่มี

รวมรถยนต์จึงมีทั้งกำไรและขาดทุนตลอดมา แต่ออกจะเป็นการขาดทุนเสียค่อนข้างมาก

และหลังจากเปลี่ยนตัวประธานบริษัทมาหลายครั้ง ในที่สุดปี 2521 ก็มีการเปลี่ยนเจ้าของและคณะผู้บริหารรวมทั้งชื่อบริษัทใหม่โดยใช้ชื่อว่าบริษัทไทยเอเชียประกันภัย จำกัด

เจ้าของรายใหม่ซึ่งเป็นผู้ซื้อรวมรถยนต์ไปก็คือ วิชิต เทศรัตนวงศ์และเพื่อน ๆ ที่เข้าหุ้นกัน

วิชิตได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านประกันภัยดีคนหนึ่ง ทั้งนี้เขามีพื้นฐานจบการศึกษาทางด้านบัญชีจากวิทยาลัยกรุงเทพการบัญชีในยุคแรก ๆ แล้วเริ่มทำงานประกัยภที่นำสินประกันภัยเป็นแห่งแรกโดยทำอยู่นานถึง 20 ปี

ต่อมาย้ายมาทำประกันภัยสากลในเครือสยามกลการอยู่ประมาณ 6 ปี

หลังจากคร่ำหวอดมานาน 20 กว่าปีประกอบกับอายุอานามเริ่มมากขึ้น เขาจึงคิดจะละวงการออกไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่สำเร็จเพราะทนเสียงชักชวนจูงใจให้รับซื้อรวมรถยนต์ไม่ได้ ในที่สุดรวมรถยนต์ที่สวนมะลิก็สูญหายไป เกิดมีไทยเอเชียขึ้นในใหม่ที่สุรวงศ์

ในการซื้อรวมรถยนต์ครั้งนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันภัยแย้มให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเป็นการซื้อที่ถูกมาก แถมได้กำไรมากด้วยโดยในจำนวนเงิน 4 ล้านกว่าบาทที่จ่ายไปนั้นได้มาทั้งใบอนุญาตซึ่งมูลค่าในเวลานั้นประมาณเกือบ 2 ล้านบาทแล้ว กับทั้งได้อาคารที่สวนมะลิอีก 1 หลังด้วย

หลังจากเปลี่ยนโฉมและย้ายสำนักงานใหม่ วิชิตก็จัดแจงขอใบอนุญาตทำประกันภัยจนครบทุกประเภท ทั้งนี้เพราะความถนัดและความสามารถที่แท้จริงของวิชิตนั้นอยู่ที่งานประกันอัคคีภัยมากกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะขยายการรับประกันภัยออกไปหลายประเภทแต่เบี้ยประกันหลักของบริษัทก็ยังคงมาจากการรับประกันรถยนต์

วิชิตเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเขามีประสบการณ์ความถนัดทางด้านอัคคีภัยเป็นอย่างมาก และเขายังกล่าวเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจประกันอัคคีภัยกับรถยนต์ว่า "จริง ๆ แล้วบริษัทประกันภัยนี่อัคคีภัยยังพอทำได้ แต่รถยนต์นี่ทำยากทีเดียว อัคคีภัยถ้าไฟไหม้น้อยหน่อยเราจะกำไรพอสมควร อย่างรถยนต์นี่แน่นอนว่ามันต้องชน เราจะมีตัวเลขสถิติที่แน่นอน กำไรมหาศาลจะไม่มี"

ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบกันจริง ๆ แล้ว อาจจะต้องกล่าวว่าธุรกิจประกันภัยรถยนต์นั้นเป็นการค้าความเสี่ยงที่มากยิ่งกว่าในธุรกิจค้าขายความเสี่ยงภัยที่มีอยู่

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็อาจกลายเป็นการค้าความไม่เสี่ยง (เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิด) ก็ได้

วิชิตกล่าวถึงจุดอ่อนของเขาว่า "สมัยก่อนผมดูแลไม่ค่อยถึงคนเยอะ ดูแลเป็น 100 คน แล้วอย่างรถยนต์นี่บางทีผิดเป็นถูกและถูกเป็นผิดก็ได้ มันเปลี่ยนกันได้ มันอยู่ที่ว่าพนักงานแคลมรถซื่อสัตย์แค่ไหน"

และตัวเขานั้น "ส่วนมากพวกก็รู้นิสัยกันว่า ผมไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเวลาเกิดเหตุ เราก็ต้องจ่ายเขาไม่เคยเบี้ยว ในชีวิตนี้ทำประกันภัยมากไม่เคยเบี้ยวเลย"

ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่า งบดุลของไทยเอเซียประกันภัยมีตัวเลขการจ่ายค่าสินไหมสูงมาก

และในที่สุด 5 ปีให้หลัง ไทยเอเชียก็หวนกลับสู่วงจรเดิมอีกครั้งคือถูกหามเข้าห้องไอซียูด้วยอาการร่อแร่ปางตาย

ตัววิชิตเองนั้นถึงกับต้องบินไปพักรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่สหรัฐฯ

ส่วนบริษัทไทเอเซียประกันภัยก็ถูกเปลี่ยนมือเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่อีกครั้งเป็นคำรบสอง

ไทยเอซียประกันภัยบนถนนสุรวงศ์ถูกถอดป้ายทิ้งไป เกิดมามีบัวหลวงประกันภัยขึ้นแทนที่บนถนนราชดำริ ในปี 2526

อันที่จริงก่อนหน้าที่ไหนเอเซียจะเปลี่ยนมาเป็นบัวหลวงนั้นชาญชัย ตันกิติบุตร และพวกได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริษัทด้วยแล้วโดยวิชิตขายหุ้นให้เพียงส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้ขายทั้งหมด

แต่ถึงกระนั้น การเปลี่ยนตัวผู้บริหารบางคนก็ไม่สามารถช่วยกู้สถานะของบริษัทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเรื่องการคุมบริหารงานบุคคล

มานะ สุขบาง นักธุรกิจประกันภัยซึ่งหันเหไปทำด้านการประกันภัยสุขภาพ ที่บริษัทรัตนะประกันและเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับวิชิตเป็นอย่างดีเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าวิชิตได้มาขอความช่วยเหลือให้เขาไปตรวจสอบไทยเอเซีย และเขาได้พบว่าไทยเอเซียมีปัญหาค่าสินไหมค้างจ่าย บริษัทมีปัญหาการควบคุมพนักงานเคลม กับทั้งไม่รู้ด้วยว่าค่าสินไหมที่ค้างจ่ายนั้นมีจำนวนเท่าใดแน่

เมื่อเป็นดังนี้ มานะจึงให้คำแนะนำว่าวิชิตควรจะขายหุ้นเสียควรปล่อยมือให้คนอื่นขึ้นมาดำเนินงานแทน

วิชิตจึงขายหุ้นส่วนข้างมากให้กลุ่มชาญชัยและพวกไป โดยขายให้ในราคาไม่เกินหุ้นละ 140 บาท ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นการขาย "ตามราคาทุนหรือขาดทุนไม่รู้ แต่ไม่มีกำไร เพราะราคาพาร์ก็ 100 บาทแล้วและเมื่อผมซื้อมานั้นก็เพิ่มทุนเข้าไปอีก ผมทำไม่ได้หวังกำไรและก็ไม่ได้กำไรด้วย"

หลังจากที่วิชิตขายหุ้นแล้ว เขาเดินทางไปพักรักษาตัวที่สหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 2 ปี เมื่อกลับมานั้นเขายังมีหุ้นอยู่ในบัวหลวงประกันภัยอีกในนามของบริษัทไทยเอเซียลิสซิ่ง จำกัด จำนวน 7,640 หุ้น แต่เขาไม่เคยได้รับทราบข่าวอะไรจากบริษัทบัวหลวงเลย แม้แต่เรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เขาก็ไม่เคยทราบข่าว ส่วนเรื่องรายงานประจำปีนั้นเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีการส่งให้ผู้ถือหุ้นรับทราบแต่อย่างใดและในงบดุล/งบกำไรขาดทุน เท่าที่ "ผู้จัดการ" สอบค้นมาก็ปรากฎว่าไม่มีตัวเลขแสดงเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

จวบจนทุกวันนี้วิชิตตั้งความหวังว่าหากมีการเทคโอเวอร์บริษัทจริง เขาอาจจะยอมขายหุ้นบัวหลวง แต่จะราคาเท่าใดก็ต้องมีการเจรจากันก่อน

ความหวังของวิชิตจะเป็นจริงเพียงใด ในเมื่อเงื่อนไขการเจรจาซื้อบัวหลวงนั้น ไม่มกีารระบุว่าผู้ถือหุ้นเก่า ๆ จะได้รับอะไรบาง บางทีพวกเขาอาจต้องถือเอาไว้อย่างนั้น แล้วรอให้วัฏจักรการซื้อแล้ว เจ๊งแล้วซื้ออีกเจ๊งอีกผ่านไปไม่รู้กี่รอบก็เป็นได้ เหมือนอย่างผู้ถือหุ้นดั้งเดิมแต่สมัยเป็นรวมรถยนต์ที่ก็ถือไว้โดยไม่ได้รู้เลยว่าบริษัทเดิมนั้นเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว 2 ครั้งและกำลังจะเปลี่ยนอีกเป็นครั้งที่ 3



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.