|
ศิลปะความเป็นอยู่
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
คริสตัล พอร์ซเลน และเครื่องเงิน ล้วนเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ใฝ่ฝัน หากในชีวิตจริงใช่ว่าทุกคนสามารถเอื้อมถึง เชื่อว่าชนชั้นกลางทุกครัวเรือนในฝรั่งเศสจะมีของใช้เหล่านี้อย่างน้อยคนละหนึ่งชุดเพื่อรับรองแขก ทว่าในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องโก้หรูขนาดนั้น
ถ้วยชามพอร์ซเลนที่มีอยู่เป็นยี่ห้อ Pierre Frey ผลิตที่เมืองลิโมจส์ (Limoges) อันเป็นเมืองพอร์ซเลนของฝรั่งเศส แม่บ้านใหม่ทำแตกอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งชิ้น เมื่อได้จานชามชุดใหม่เป็นพอร์ซเลนยี่ห้อ Thomas ที่ราคาไม่สูงนัก เหมาะกับการใช้ทุกวัน จึงเก็บ Pierre Frey เข้าตู้เป็นสมบัติที่รักและหวงแหน ในทำนองเดียวกัน เก็บแก้วคริสตัลไว้รับแขกเท่านั้น
คริสตัลขาวทำด้วยซิลิเซียมและออกไซด์ของตะกั่ว 24 เปอร์เซ็นต์ หากคริสตัลสีนั้นต้องเพิ่มออกไซด์ของโลหะมีค่า เช่น โคบอลต์สำหรับสีน้ำเงิน ทองแดงสำหรับสีเทอร์คอยซ์ โครเมียมสำหรับสีเขียว นิกเกิลสำหรับสีม่วง ยูเรเนียมสำหรับสีเหลือง หากสีม่วงเข้มแบบพลอยอเมทิสต์จะผสมเงินหรือทองแท้ สีแดงผสมผงทองด้วย เป็นต้น คริสตัลสีจึงมีราคาแพงกว่าคริสตัลขาว
คริสตัลสีกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีดำ และคริสตัลสีดำนี่เองที่ทำยากมาก การเผาแทบทุกครั้งจะไม่ได้งานที่สมบูรณ์แม้จะใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,600 องศาก็ตาม มักมีฟองอากาศแทรกอยู่
เครื่องแก้วบนโต๊ะอาหารของชาวฝรั่งเศสยุ่งยากเป็นที่สุด นอกจากแก้วสำหรับน้ำดื่มแล้ว ยังมีแก้วไวน์แดง เฉพาะไวน์แดงยังแยกขนาดสำหรับไวน์บอร์โดซ์และไวน์บูร์โกญ ไหนจะแก้วสำหรับไวน์ขาว ยังต้องมีแก้วสำหรับไวน์ขาวจากอัลซาส (Alsace) ซึ่งมักใช้แก้วไวน์สีเขียว ไหนจะแก้วสำหรับแชมเปญด้วย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าชุดกัน หากในปัจจุบันความพิถีพิถันน้อยลง ประกอบกับการเสิร์ฟแชมเปญมักจะก่อนอาหารในโอกาสพิเศษ จึงอาจใช้แก้วที่ไม่เข้าชุดกันก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่แก้วไวน์และแก้วน้ำ อย่างไรก็ตาม ที่พักอาศัยของผู้อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงปารีสจะมีขนาดเล็ก ไม่มีที่เก็บเครื่องแก้วคริสตัลเป็นชุดๆ อย่างชนรุ่นก่อน ผู้ผลิตคริสตัลจึงจำต้องปรับนโยบายให้เข้ากับวิถีชีวิต
ปัจจุบันจึงขายเป็นชิ้นด้วย เพื่อสะสมหรือเพื่อนำไปผสมผสานกับเครื่องแก้วอื่นๆ เพื่อค่อยๆ ซื้อเพิ่มเติม
บัคการาต์ (Baccarat) ยี่ห้อคริสตัลฝรั่งเศส ในปี 1764 กษัตริย์หลุยส์ 15 อนุญาตให้สังฆราชแห่งเมืองเมตซ์ (Eveque de Metz) ตั้งโรงงานแก้วในเมืองบัคการาต์ (Baccarat) ในแคว้นลอแรน (Lorraine) เพื่อผลิตกระจกและแก้ว ต่อมาในปี 1816 ผลิตคริสตัลชิ้นแรก ในปี 1823 กษัตริย์หลุยส์ 18 สั่งทำเครื่องแก้ว นับแต่นั้น Baccarat กลายเป็นผู้ผลิตให้ราชสำนักฝรั่งเศส อันมีชาร์ลส์ที่ 9 หลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) นโปเลองที่ 3 (Napoleon III) และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ล้วนแต่สั่งทำเครื่องแก้วกับ Baccarat
ในปี 1830 ตั้งบริษัท Launay, Hautinet et Cie รวมโรงงานคริสตัล Baccarat, Saint-Louis และ Choisy-le-Roi เข้าด้วยกัน สำนักงานอยู่ที่ 30 rue du Paradis-Poisonniere บริษัทนี้ยุบไปในปี 1837 แต่ Baccarat ยังใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสำนักงาน
Baccarat ได้รางวัลเหรียญจากงานเอ็กซ์โปนานาชาติในปี 1855, 1867 และ 1878 สินค้าของ Baccarat ส่งออกต่างประเทศอย่างอินเดีย อาร์เจนตินา เม็กซิโก คิวบา บราซิล สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์และเขมร Baccarat ผลิตขวดน้ำหอมในปี 1907 ให้แก่ Coty, Jean Patou, Houbigant, Schiaparelli, Elizabeth Arden, Guerlain, Dior, Claude Montana, Versace และ Lancome เป็นต้น และเริ่มผลิตเครื่องประดับในปี 1993 ด้วยคริสตัล มุก และพลอยสี ในปี 1997 ออกน้ำหอม และผลิตกระเป๋า นาฬิกา ผ้าพันคอเฟอร์ หมวกในปี 2002
Harcourt เป็นชื่อไลน์เครื่องแก้วคริสตัลที่สร้างชื่อให้ Baccarat
คริสตอฟล์ (Christofle) ผลิตคริสตัล พอร์ซเลน และของใช้บนโต๊ะอาหาร ชาร์ลส์ คริสตอฟล์ (Charles Christofle) ซื้อโรงงานผลิตเครื่องเงินในปี 1830 และกลายเป็นช่างเงินประจำราชสำนัก หลุยส์-ฟิลิป (Louis Philippe) และนโปเลองที่ 3 (Napoleon III) เข้าร่วมงานเอ็กซ์โปที่กรุงลอนดอน
ในปี 1851 เมื่อชาร์ลส์ คริสตอฟล์เสียชีวิต อองรี บุยเลต์ (Henri Bouilhet) ลูกชายของโรซีน คริสตอฟล์ (Rosine Christofle) และโจเซฟ บุยเลต์ (Joseph Bouilhet) รับภาระต่อ เขาเป็นนักเคมีและชอบศิลปะ Christofle เป็นผู้ผลิตรูปปั้นพระแม่มารี Notre Dame de la Garde ที่เมืองมาร์แซย (Marseille) ทำรูปปั้นประดับบนยอดอาคารโอเปรา ผลิตของใช้สำหรับโรงแรมริตซ์ (Ritz) และรถไฟสาย Orient Express
คริสตอฟล์จ้างดีไซเนอร์ชั้นนำมาออกแบบสินค้า เช่น ซิลแวง ดูบุยซง (Sylvain Dubouisson) อองเดร พุตมาน (Andre Putman) เป็นต้น ผลงานของคริสตอฟล์กว่า 2,000 ชิ้นแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บุยเลต์-คริสตอฟล์ (Musee Bouilhet-Christofle) ที่แซงต์-เดอนีส์ (Saint-Denis)
โดม (Daum) ในปี 1875 ฌอง โดม (Jean Daum) ซื้อโรงงานแก้วที่เมืองนองซี (Nancy) ในแคว้นลอแรน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องแก้ว ตั้งชื่อเป็น Daum & fils เริ่มสไตล์อาร์ตนูโว (art nouveau) ในปี 1895 ที่มีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและได้รับรางวัลกรองด์พรีซ์ (grand prix) จากงานเอ็กซ์โปนานาชาติกรุงปารีสในปี 1900 ในภายหลังผลิตเครื่องประดับด้วย
เฟรต (Frette) แรกทีเดียวเป็นยี่ห้อฝรั่งเศส ก่อตั้งโดยเอ็ดมงด์ เฟรต (Edmond Frette) ในเมืองเกรอะโนบล์ (Grenoble) ในปี 1860 ผลิตผ้าที่ใช้ในบ้าน ต่อมาในปี 1865 ย้ายไปอิตาลี เปิดร้านที่มิลานในปี 1878 Frette เติบโตภายใต้การบริหารของหุ้นส่วนชาวอิตาเลียนสองคนคือ จูเซปเป มัจจี (Giuseppe Maggi) และการ์โล อันโตนีเอตตี (Carlo Antonietti) และเป็นผู้ผลิตให้ราชสำนักอิตาลีในปี 1881 ทำให้บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางของอิตาลีตามมาซื้อสินค้าของ Frette ด้วย
โรงแรมหรูอย่าง Georges V และ Ritz ในปารีส Claridge และ Savoy ในลอนดอน Cipriani ในเวนิส Grand Hotel ในโรม Mayfair Regent และ Plaza Athenee ในนิวยอร์กล้วนใช้สินค้าของ Frette รวมทั้งรถไฟและเรือสำราญด้วย
เจียง (Gien) เครื่องถ้วยชามกระเบื้องเคลือบซึ่งก่อตั้งในปี 1821 โดยโธมัส ฮอล (Thomas Hall) ชาวอังกฤษต้องการให้ชาวฝรั่งเศสรู้จักเครื่องกระเบื้องเคลือบของอังกฤษ แรกทีเดียวผลิตเครื่องใช้ประจำวัน ตามมาด้วยชุดเครื่องถ้วยชาม เครื่องแต่งบ้านและเครื่องกระเบื้องเคลือบสำหรับตระกูลใหญ่ๆ เครื่องเซรามิกของ Gien มีลวดลายและสีสะดุดตา สะท้อนรูปแบบของเซรามิกศตวรรษ 17, 18 และ 19 ของฝรั่งเศสและยุโรป
ลาลิค (Lalique) เรอเน ลาลิค (Rene Lalique) เกิดในปี 1860 ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ อาย (Ay) ในแคว้นชองปาญ (Champagne) พออายุ 2 ขวบ พ่ออพยพครอบครัวไปยังชานกรุงปารีส ทว่าโรงงานผลิตเครื่องแก้วอยู่ในแคว้นอัลซาส (Alsace) ผลิตแก้วมากว่า 100 ปี ในทศวรรษ 20 เรอเน ลาลิค เริ่มผลิตคริสตัลสี แรกทีเดียวผลิตสีน้ำเงิน ต่อมาผลิตสีแดง
ปิแอร์ เฟรย์ (Pierre Frey) ก่อตั้งโดยปิแอร์ เฟรย์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ออกแบบและผู้ผลิตผ้าคุณภาพสูงสำหรับหุ้มเครื่องเรือน และยังเชิญอาร์ติสต์ดังมาออกแบบลายให้ด้วย ปาทริค เฟรย์ (Patrick Frey) ผู้เป็นลูกชายเป็นผู้บริหารบริษัท กว้านซื้อโรงงานทอผ้า Braquenie ซึ่งก่อตั้งในปี 1824 เชี่ยวชาญการทอลายศตวรรษ 18 และ 19 โรงงาน Lauer ซึ่งดังด้านลายผ้าและการทอพรม Pierre Frey เริ่มผลิตเครื่องเรือนประเภทโซฟา เก้าอี้ ม้านั่ง หลังจากนั้นซื้อกิจการบริษัท Boussac-Fadini Borghi สินค้าของ Pierre Frey หลากหลายขึ้น ล้วนเป็นของใช้ในบ้าน
แซงต์-หลุยส์ (Saint-Louis) เป็นคริสตัลยี่ห้อเก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส ก่อตั้งในปี 1586 ในลอแรน (Lorraine) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องแก้วและคริสตัลยี่ห้อต่างๆ เช่น Baccarat, Gallie, Daum และ Lalique เป็นต้น ในปี 1767 กษัตริย์หลุยส์ 15 แต่งตั้งให้ Saint-Louis เป็น Verrerie royale de Saint-Louis ช่างผลิตเครื่องแก้วหลวง ในปี 1779 มีการค้นพบวิธีการผลิตคริสตัลด้วยการผสมตะกั่ว
อีฟส์ เดอลอร์ม (Yves Delorme) ยี่ห้อผ้าที่ใช้ในบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอก หมอน ผ้าเช็ดตัว เสื้อคลุมอาบน้ำ เป็นต้น Yves Delorme เป็นสินค้าของบริษัท Fremaux Delorme ก่อตั้งในปี 1845 เป็นโรงงานทอผ้าเก่าแก่ของฝรั่งเศสที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ มักใช้เส้นใยธรรมชาติในแต่ละปี Yves Delorme จะออกสองคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง แต่ละคอลเลกชั่นมีสีต่างกันตามฤดูกาล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|