|
Take-a-nap ห้องงีบของนักเที่ยวแบกเป้
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ว่ากันว่า คนแบบเดียวกันย่อมเข้าใจกัน คนที่ชอบเหมือนกันก็น่าจะสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองให้คนกลุ่มเดียวกันได้ดีกว่า "Take-a-nap" โรงแรมเพื่อ backpacker โดย backpacker กำลังทำหน้าที่พิสูจน์คำพูดนี้ ท่ามกลางภาวะยากลำบากของท่องเที่ยวไทย
ถัดจากถนนแห่งแสงสียามราตรีของสีลม ผ่านย่านพัฒนพงษ์ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่า มีความหลากหลายของนักท่องเที่ยวมากที่สุด แห่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพฯ เดินเพียง ไม่ไกลกระทั่งเลี้ยวตรงหัวมุมที่แยกสุรวงศ์ ทันใดนั้นความเงียบสงบอันเป็นปกติในยามวิกาลก็เข้ามาปกคลุม ท่ามกลางตึกแถวร้านค้าบนถนน พระรามสี่ มีโรงแรมเล็กๆ แทรกตัวอยู่อย่างเจียมตัว
หญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มในวัยเพียง 28 ปี กำลังขะมักเขม้นแนะนำ แบ็กแพ็กเกอร์สาวผมทองวัยไล่เลี่ยกันให้ทดลองไปใช้บริการนวดแผนไทยที่วัดโพธิ์ นอกจากจะเป็นต้นตำรับการนวดแผนไทย วัดโพธิ์ยังเป็น แลนมาร์คการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่สำคัญยังสบายกระเป๋าสตางค์ใบน้อยของนักท่องเที่ยวแบกเป้อีกด้วย
การพูดคุยและแนะนำข้อมูลการท่องเที่ยวแก่ลูกค้าถือเป็นหน้าที่ที่ "ชลลดา ตติยพงศ์พินิจ" ยินดีเข้ามาทำเป็นประจำจนกลายเป็นภาพคุ้นชินของเหล่าพนักงานและแขกที่เข้าพัก เธอไม่ได้ทำกิจวัตรนี้เพียงเพราะสาเหตุที่เธอเป็นเจ้าของโรงแรม แต่เป็นเพราะเธอชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น กับผู้คน โดยเฉพาะผู้คนจากต่างวัฒนธรรม ...อันเป็นวัตถุประสงค์เดียวกับการแบกเป้เที่ยวของเธอ
หลังเรียนจบ ชลลดาเข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทรับออกแบบชื่อดังอย่าง RMJM Thailand และ Design 103 International พร้อมดำรงตำแหน่ง "แบ็กแพ็กเกอร์ตัวยง"ควบไปด้วย จนกระทั่งเธอบินไปเรียนต่อที่ประเทศเดนมาร์ก เพื่อซึมซับบรรยากาศบ้านเมืองและงานดีไซน์เฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียนที่กำลังมาแรงในช่วงนั้น จากนั้นเส้นทางชีวิตของเธอก็หักเห
ชลลดาและเพื่อนแบกเป้เที่ยวลุยยุโรปฝั่งตะวันตกจนครบทุกประเทศ จากการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนั้นทำให้เธอมีภาพจำแบบโหดมันส์ฮาที่น่าประทับใจเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ตามหากระเป๋าสตางค์ที่ถูกขโมย จนต้องพลาดไฟลต์ เมื่อไม่มีเงินกลับเข้าเมือง ไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก เธอและเพื่อนก็เลยต้องหลบตำรวจสนามบินเข้าไปนอนในห้องน้ำสนามบิน ร่วมกับแบ็กแพ็กเกอร์อีกหลายเชื้อชาติที่ต้องการประหยัดเงิน หรือแม้แต่ประสบการณ์นอนข้างถนนก็ทำมาแล้ว
ส่วนทริปที่เธอประทับใจมากที่สุด คือการเดินทางในประเทศเยอรมนี ด้วยความผสมผสานอย่างกลมกลืนและลงตัวระหว่างประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิมกับ "ของใหม่" ที่เข้ามา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนเยอรมันสามารถ จัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหน
การตะลอนเที่ยวยุโรปครั้งนี้ ชลลดาได้แรงบันดาลใจ สำคัญจาก "ระหว่างทาง" ที่กลายเป็นแรงขับดันให้เธออยากกลับมาเปิดโรงแรมประหยัดงบสำหรับนักแบกเป้เที่ยว หรือที่นักเดินทางรุ่นเยาว์รู้จักกันดีในนาม "Hostel"
"นักท่องเที่ยวที่นั่นให้ความสำคัญกับการเที่ยวกันอย่างจริงจัง หลายคนลาออกจากงานขายบ้านขายรถ "ทุบหม้อข้าว" แล้วเอาเงินมาเที่ยวอย่างเดียวเป็นปีๆ เลย เที่ยวเสร็จแล้วค่อยกลับไปเริ่มต้นทำงานหาเงิน แต่ที่ฟังแล้วตกใจที่สุดคือ บางคนท่องเที่ยวมา 5 ปีแล้วยังไม่ยอมเลิก เราก็เลย คิดว่าราคาที่พักคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนพวกนี้ เพราะเขาไม่ได้พกเงินมาเที่ยวอย่างฟุ้งเฟ้อแต่มีงบจำกัดเพื่อให้ได้เที่ยวไปเรื่อยๆ" ชลลดาเล่าถึงแรงดลใจ
ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากครอบครัว ชลลดาในวัย 25 ปี ตัดสินใจลาออกจากอาชีพสถาปนิกอย่างเด็ดเดี่ยว เพื่อ มาชิมลางธุรกิจโรงแรมร่วมกับเพื่อน ด้วยการเปิด "Urban Age" โฮสเทลสไตล์หอพักรวมขนาดเพียง 1 คูหา ตั้งอยู่บน ถนนสีลม ซอย 8 สนนราคาที่พักเพียงคืนละ 800 บาท เทียบกับชื่อชั้นของ "สีลม" ย่านธุรกิจที่เคยขึ้นชื่อว่ามีราคาที่ดินแพงที่สุดในประเทศไทย
ถัดมา 2 ปี ชลลดาชวนน้องชายในวัยเพียงไม่ถึง 22 ปี เพื่อมาร่วมลงทุนเปิดโรงแรมสไตล์โฮสเทลอีกแห่งไม่ไกลจาก แห่งแรกนัก ครั้งนี้นอกจากพ่อแม่จะไม่ปราม ทั้งคู่ยังร่วมลงทุน กับเธออีกด้วย ห้องแถว 2 คูหาถูกปรับปรุงตกแต่งให้มีอารมณ์ สนุกสนานขี้เล่นและดูน่ารักกิ๊บเก๋ สมกับชื่อ "Take-a-nap"
ทั้ง 30 ห้องถูกตกแต่งอย่างแตกต่างถึง 30 ธีม ห้องส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์กราฟิกขนาดใหญ่บนผนัง ห้องธีม ป็อบอาร์ตสีเขียวสะท้อนแสงเข้ากับกราฟิกหญิงสาวในอาการตกใจให้อารมณ์ตื่นเต้นตื่นตาถูกใจสาวน้อยที่ชอบเดินทางคนเดียว ห้องเล็ทสร็อค (Let's Rock) เป็นกราฟิกผู้คนกำลังเริงรื่นอยู่ในคอนเสิร์ตร็อก บนพื้นสีส้มแป๊ดดูสนุกสนานเร่าร้อนเป็นที่ชื่นชอบ ของนักเที่ยวหนุ่มร็อควัยอ่อน ส่วนใครที่หลงใหลความลึกลับ ห้อง 303 ที่ทาทึบด้วยสีดำ กิมมิคที่เล่นสนุกกับหมายเลขห้อง ซึ่งบางประเทศถือว่า 303 เป็นเลขอันตราย ก็มีไว้ท้าทายความกล้าของนักเที่ยวฝรั่งหลายคน
ไม่เพียงห้องเดี่ยว ที่โรงแรมแห่งนี้ยังมีห้องคู่สำหรับนักแบกเป้ที่มากันเป็นคู่ และยังมีห้องแบบ dormitory หรือหอนอนสำหรับแขกที่มากันเป็นกลุ่มก้อน หรือแขกที่ต้องการพักรวม เพื่อประหยัดงบการเดินทางและหาเพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน โดยมีตู้นิรภัยขนาดเล็กไว้ให้เป็นส่วนตัวสำหรับทุกเตียง
นอกจากสไตล์การตกแต่งห้องพักด้วยสีสันฉูดฉาด บางส่วนอาจมีสีเข้มแต่เน้นภาพวาดการ์ตูนน่ารักๆ ของนักเที่ยวในผับบาร์ บางภาพรถตุ๊กตุ๊กและพระปรางค์วัดอรุณฯ สีสด เกือบทุกห้องมีธีมที่ให้ความรู้สึกถึงความร้อนแรงดูแตกต่างจากโรงแรมส่วนใหญ่ที่มักเรียบสงบเพื่อให้แขกเข้าถึงห้วงแห่งการพักผ่อนขั้นสูงสุด
"ที่อื่นคงอยากให้แขกหลับสบาย แต่เราอยากให้แขกอยู่แล้วตื่นเต้นร้อนรนกับทำเล อยากให้แขกมีไฟในการเที่ยวสนุก ไม่อยากให้มาที่โรงแรมเพื่อเอาแต่นอนอย่างเดียว เพราะย่าน สีลมไม่เคยหลับ มีสีสัน และมีชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง เราอยากให้แขกเข้ามาโรงแรมแค่นอนสักงีบให้พอมีแรงเที่ยวต่อก็พอ เราถึงตั้งชื่อโรงแรมนี้ว่า take-a-nap" ชลลดาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
อาจฟังดูน่าขันแต่นักเที่ยวหลายคนซื้อไอเดียของเธอ โดยเฉพาะ "ชาวสีม่วง" เนื่อง จากทำเลแถบนี้ถือเป็นโซนใหม่ของเกย์ที่กำลังค่อยๆ เติบโตต่อจากพัฒนพงษ์และธนิยะ
แม้จะตั้งใจให้เป็นแค่ "ห้องงีบ" แต่นอกจากเตียง ภายในห้องพักก็ยังมีทีวี และ wi-fi ให้แขกได้ใช้ฟรี สนนราคา ค่าที่พักแบบห้องพักมีตั้งแต่ 800-1,500 บาท และแบบหอนอน เพียงเตียงละ 350 บาทต่อคืน
"เวลาไปเที่ยวเอง มักจะเจอปัญหาเดิมๆ คือหาที่ใช้อินเทอร์เน็ตลำบาก ซึ่งเราเข้าใจดีว่า คนที่เที่ยวนานๆ บางที เขาก็อยากสื่อสารกับแฟนบ้าง ครอบครัวบ้าง บางคนก็อยากโหลดรูปอวดให้เพื่อนฝูงดูบ้าง เราก็เลยมี wi-fi ให้แขกใช้ได้ทุกห้อง และมีคอมพิวเตอร์ส่วนกลางให้แขกใช้ฟรีเลย" ชลลดาเล่าปัญหาที่แบ็กแพ็กเกอร์มักเจอ
ชลลดาเข้าใจดีด้วยว่า มีอีกสิ่งสำคัญที่นักเที่ยวแบกเป้ ส่วนใหญ่ล้วนแสวงหา นั่นคือ "มิตรภาพระหว่างทาง" เธอจึงจัดพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดเป็น "public area" หน้าล็อบบี้มีโซฟานั่งเล่นและอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี หลังเคาน์เตอร์ต้อนรับ เป็นห้องอาหารเช้าที่มองหาโต๊ะอาหารแบบทั่วไปไม่เจอ แต่เป็นที่นั่งเรียงติดกันเป็นแถวและโซฟานั่งเล่น รวมทั้งโต๊ะพูลกลางห้อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้แขกได้พบปะสบตาและพูดคุยกัน
จากอาชีพสถาปนิกที่หลายคนมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มี "ego" สูง แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งบริการถือเป็นหัวใจสำคัญ ชลลดามีคติสั้นๆ ในการสร้างจิตวิญญาณแห่งงานบริการให้ตัวเองและพนักงาน นั่นคือ ไม่ว่าจะแขกจะมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะทำ ได้หรือไม่ อย่างไรก็ต้องยิ้มและพยายามแก้ไขให้ได้...
"ตอนเป็นสถาปนิก เราถือว่าเราขายความคิด แน่นอน! เวลาขายความคิด เราก็ต้อง มี ego ไม่อย่างนั้นเราจะชวนเชื่อหรือจูงใจลูกค้าได้ยังไง แต่พอมาทำโรงแรม ตรงนี้เราขายบริการ ดังนั้นลูกค้าต้องมาก่อน" เธอย้ำ
Take-a-nap เปิดดำเนินงานมาปีกว่า ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของโรงแรมสร้างกระแส ตอบรับเป็นอัตราจองห้องสูงสุดกว่า 80% ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะลดลงเรื่อยมาในช่วงโลว์ซีซั่น แต่ถึงกระนั้น ณ วันธรรมดา (weekday) ที่ "ผู้จัดการ" เข้าไปเก็บรูป ก็มีห้องว่างเหลือให้ถ่ายทำเพียง 2 ห้อง ขณะที่อีกห้องเพิ่งเช็กเอาต์
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยอดจองเกือบครึ่งถูกยกเลิก เนื่องจาก สถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ซึ่งก็ทำให้เธอเครียดขึ้นมาอีกนิดแต่ไม่ถึงกับท้อ นับตั้งแต่ผันชีวิตมาเป็นเจ้าของโรงแรม ชลลดาเองก็ไม่เคยคิดว่า หน้าที่ตรงนี้จะทำให้เธอต้องห่างหายจากการแบกเป้ท่องเที่ยวมานานร่วม 4 ปีมาแล้ว แม้จะโหยหาเพียงใด แต่เธอก็รู้ว่าเธอยังมีภาระต้องประคบประหงม Take-a-nap ให้เข้าที่เข้าทางมากกว่านี้ โดยเฉพาะในยามนี้ด้วยแล้ว
อย่างไรก็ดี อย่างน้อยชลลดาก็ยังได้มิตรภาพมากมายจากแขกต่างวัฒนธรรมที่นิยมสไตล์การเที่ยวแบบเดียวกันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง โดยหวังว่าอีกไม่ถึง 2 ปี เธอน่าจะว่างพอวางภาระที่แบกไว้เปลี่ยนไปแบกเป้ใบใหญ่ออกท่องโลกอีกครั้ง และแน่นอนว่าเธอก็คงกลับไปใช้บริการโฮสเทลอีกเช่นเคย
"เพราะเราเที่ยวแบบนี้ เราชอบแบบนี้ และเราก็เข้าใจคนกลุ่มนี้" เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดเธอจึงเลือกเปิดโฮสเทลแทนโรงแรมบูติก ซึ่งน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรที่เธอมีได้มากกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|