|
Marketing Click...Network Effect...ปรากฏการณ์กินรวบตลาด
โดย
ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำไมคุณตะบี้ตะบันใช้ระบบปฏิบัติการของ Microsoft ทั้งๆ ที่มันไม่ค่อยเสถียร วันดีคืนดีก็แฮงค์จนน่ารำคาญ ทำไมเวลาประมูลสินค้าก็คิดถึงแต่ eBay ไม่เหลือบแลมองเว็บไซต์ประมูลอื่นๆ แล้วพอจะชำระเงินจากการซื้อขายสินค้าที่มีมูลค่าไม่มากนัก ทำไมถึงเอาแต่ใช้บริการของ PayPal ทั้งที่คุณก็รู้ว่าผู้ให้บริการการชำระเงินแบบนี้มีอีกเยอะแยะ ทำไมเราจึงเอาแต่เข้าไปที่ Wikipedia เพื่อไปหาความรู้จากสารานุกรมออนไลน์ขนาดมหึมาที่มีแทบทุกเรื่องสารพัดที่ผู้คนจำนวนมากร่วมด้วยช่วยเขียน และทำไมเมื่อเราสร้างบล็อกขึ้นมาแล้ว จึงต้องอาศัยแต่การผูกขาดหารายได้จาก Google Adsense แต่เพียงอย่างเดียว สำหรับคนใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ทำไมเวลาคุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะใช้แต่โปรแกรม MSN หรือเวลาอยากจะสร้างเว็บไซต์ประเภท Social Network ของตัวเองเพื่อให้อินเทรนด์จึงใช้บริการของ Hi5 ตะพึดตะพือ
คำตอบคือว่า สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ ที่เราเรียกว่า Network Effect นั่นเอง
Lee and O'Connor ได้ให้นิยาม Network Effect ไว้ในบทความเรื่อง New Product Launch Strategy for Network Effects Products ใน Journal of the Academy of Marketing Science ฉบับ Volume 31 ปี 2003 ว่า "ปรากฏการณ์ที่มูลค่าของสินค้าหรือ บริการต่อผู้ใช้คนหนึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากการที่มีคน ใช้สินค้าหรือบริการนั้นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับมวลวิกฤติ (Critical Mass)" หรือจะสรุปได้ใจความสั้นๆ ว่า ยิ่งมีคนใช้สินค้าหรือบริการนั้นมากๆ คุณค่าของสินค้าหรือบริการนั้นก็ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ นักวิชา การบางคนเรียก Network Effect ในอีกชื่อหนึ่งว่า Demand-Side Economies of Scale
ตัวอย่างของ Network Effect ที่มัก ถูกยกมาอธิบายเสมอนั้นก็คือ กรณีของโทรศัพท์ ลองคิดดูสิครับว่า หากมีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวจะไปมีประโยชน์อะไร พอมีสองเครื่องก็เริ่มมีประโยชน์ขึ้นมาบ้าง แต่คุณค่าของโทรศัพท์จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่อจำนวนเครื่องโทรศัพท์เพิ่มขึ้นๆ เพราะสามารถเชื่อมโยง พูดคุยกันได้ทั่วโลก
ด้วยความคิดดังกล่าว แนวทางสำหรับความสำเร็จของสินค้าหรือบริการในกรณีของ Network Effect ก็คือว่า จะสนใจในการขยายจำนวน ผู้ใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มากกว่าที่จะคิดถึงเรื่องของกำไรในระยะสั้น ครั้นเมื่อสินค้าหรือบริการนั้นได้กินรวบตลาดเรียบร้อย แล้ว มันก็เป็นการยากที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าหรือบริการของคู่แข่งรายอื่นเพราะ ว่าจะมีต้นทุนในการเปลี่ยนสูง (Switching Cost) ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ล่ะครับที่ขีดขวางผู้บริโภคในการยอมรับทางเลือกอื่นๆ ถึงแม้ว่าทางเลือกอื่นนั้นอาจจะให้สินค้าหรือบริการที่ดีกว่าก็ตาม
ชัดเจนไหมครับจากคำอธิบายและนั้นคือคำตอบของการที่เราใช้ระบบปฏิบัติการของ Microsoft ก็เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนใช้ อีกทั้งซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้น มาต่างมุ่งที่จะให้ใช้บนระบบปฏิบัติการของ Microsoft เพราะมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ แม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกว่า Linux นั้นมีความเสถียรมาก กว่า แต่ด้วยจำนวนคนใช้น้อยกว่ามาก คุณค่าของมันเลยต่ำกว่าอย่างที่เทียบกันไม่ได้ และด้วยเหตุผลของ Network Effect ที่เกิดขึ้นนี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บิล เกตต์ กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับโลกอย่างยากที่ใครจะหาญมาล้ม ตั้งแต่คราวออกระบบปฏิบัติการ ตัวแรกอย่าง MS-DOS เลยทีเดียว
มาถึงกรณี eBay เว็บไซต์ประมูลรุ่นเดอะก็ได้รับผลพวงจาก Network Effect ก็ด้วยความที่ฐานลูกค้าจำนวนมาก ทำให้คนขายสินค้าก็ต้องการเอาของมาประมูลบน eBay เพราะว่ามีผู้ซื้อที่พร้อมรอแข่งขันเสนอสินค้าจำนวนมาก ทำให้ราคาที่ได้นั้นดีกว่าเว็บไซต์อื่นๆ ในส่วนของผู้ซื้อเองก็ชอบเข้าเพราะว่ามีสินค้าหรือบริการต่างๆ ให้เลือกเป็นจำนวนมาก ลองคิดดูสิครับว่าหากเข้าไป ยังเว็บไซต์ประมูลแห่งหนึ่งที่มีลูกค้าน้อยๆ การสู้ราคาก็ไม่เกิด ใครเขาอยากจะเข้ามา และถึงแม้ว่าทาง eBay จะคิดค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมที่เกิดจากการประมูล คนที่เข้ามา ก็ไม่หลีกลี้หนีหน้าไปไหน เพราะรับได้ว่าส่วน ที่จ่ายไปนั้นมันคุ้มค่า คู่แข่งรายอื่นๆ อย่าง Yahoo! หรือ Amazon ที่ให้บริการด้านประมูลเช่นเดียวกัน ก็เพียรพยายามแข่งขันทุกรูปแบบรวมถึงการไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ถึงทุ่มเทอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ได้เลย จนกระทั่ง Yahoo! และ Amazon ก็ทนไม่ไหวล้มเลิกกิจการในส่วนของการประมูลไป เรียกว่าทั้งสองรายแพ้พ่ายเพราะโดนพิษ Network Effect นี้แหละครับ
แต่ตัว eBay เองก็แพ้ภัย Network Effect เหมือนกันนะครับ คือในส่วนของระบบ การชำระเงิน คืออันที่จริงก่อนที่ eBay จะไป ซื้อหุ้นของ PayPal ในปี 2002 นั้น eBay มีบริการชำระเงินของตนเองคือ Billpoint แต่ด้วยความที่ PayPal เกิดขึ้นมาในปี 1999 และสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องของการชำระเงินในแบบ Person-to-Person ซึ่งตรงกับความต้องการของลูกค้าของ eBay พอดี ทำให้ PayPal มีฐานลูกค้าจาก eBay เป็นจำนวน มาก จนเกิด Network Effect กล่าวคือผู้ขายยินดีรับการชำระเงิน ผ่าน PayPal เพราะผู้ซื้อจำนวนมากต้องการใช้และที่ผู้ซื้อต้องการ เช่นนั้น ก็เพราะผู้ขายจำนวนมากเลือกรับชำระเงินผ่านบริการนี้ และแม้ว่า eBay ไปซื้อ Billpoint มาในปี 1999 แต่กว่าจะได้ใช้ก็ล่วงเข้าปี 2000 ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่หันมาใช้ Billpoint ตามที่คาดหวังจากข้อมูลก่อนที่ eBay จะทำการซื้อ PayPal ปรากฏว่า 70% ของลูกค้าใช้บริการของ PayPal ขณะที่มีเพียง 27% เท่านั้นที่ใช้บริการ จาก Billpoint
มาถึง Wikipedia ซึ่งถือเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ไม่เสียค่าบริการ อันเป็นผลพวงของการร่วมด้วยช่วยกันของนักเขียนที่เป็นอาสาสมัครจากทั่วโลก ซึ่งก่อตั้งในปี 2001 และปัจจุบันมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมถึง 684 ล้าน คนต่อปี มีบทความกว่า 10,000,000 บทความ ในรูปแบบ 250 ภาษา ถือเป็นตัวอย่างของเว็บไซต์ยุค 2.0 ที่ผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมในการ เขียน (User-Generated Content) และด้วยความมโหฬารของข้อมูลและจำนวนผู้ใช้ ทำให้เกิด Network Effect ที่ไม่มีใครอยากหันไปใช้บริการจากสารานุกรมรายอื่นๆ
หากพูดถึงเรื่องของยุค 2.0 คงต้องพูดถึงบล็อกที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่สนใจอยากจะเขียนได้เขียน แต่เมื่อเขียนไปเรื่อยๆ มีคน นิยมอ่านมากๆ ก็สนอกสนใจจะมีรายได้ขึ้นมาก็สามารถใช้บริการของ Google Adsense ที่มีเทคโนโลยีในการเลือกข้อความโฆษณาตรงกับเนื้อหาหลักที่มีอยู่ภายในบล็อก ส่วนทาง Google มองออกครับว่า เมื่อจำนวนบล็อกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือเสมือนหนึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับการโฆษณามากขึ้นไปด้วย เช่นกัน เมื่อบล็อกต่างๆ หาเงินจาก Google Adsense กันมากๆ เข้า ย่อมมีผู้สนใจลงโฆษณามากเช่นเดียวกัน Network Effect เกิดขึ้นตรงนี้ ทำให้เว็บไซต์รายอื่นๆ ที่มีบริการคล้าย Google Adsense ไม่ได้รับความสนใจในการใช้บริการ
คราวนี้มาพูดถึง Network Effect ใน ประเทศไทยบ้าง ถึงแม้ว่า MSN Messenger ซึ่งเป็นโปรแกรมประเภทพูดคุยทันใจจะไม่ได้เป็นเจ้าตลาดในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรม AIM) แต่ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้มากเป็นอันดับหนึ่ง คือจากข้อมูล พบว่ามีผู้ใช้ MSN Messenger ประมาณ 80% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศเลยทีเดียว ถือเป็นประเทศผู้ใช้ MSN Messenger เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีการส่งข้อความประมาณ 75 ล้านข้อความในแต่ละวัน จากข้อมูลดังกล่าวนี้สมมุติว่าคุณยังไม่เคยใช้โปรแกรมพูดคุยทันใจนี้ คงไม่ต้องคิดมากว่าจะเลือกบริการของใคร เพราะหากคุณใช้โปรแกรมอื่นๆ อาจจะหาคนไทยมาพูดคุยกับคุณได้น้อยมากๆ เว้นแต่คุณจะใช้ในการพูด คุยกับชาวต่างประเทศนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เป็นโอกาสของการแสวงหารายได้ของทางไมโครซอฟท์โดยเปิดให้สินค้าหรือบริการต่างๆ มาลงโฆษณา เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นจำนวนมากและสามารถเพิ่มมูลค่าของโปรแกรมโดยเปิดให้บริการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ด้วยเหตุผลเดียวกับ MSN Messenger คนไทยส่วนใหญ่จะใช้ Hi5 ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ให้บริการ Social Networking ใช้มากจนขนาด ที่ว่าทาง www.alexa.com แสดงตัวเลขให้เห็นว่าเว็บไซต์อย่าง Hi5 มีคนไทยเข้ามากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าคนเข้า www.google. com เสียอีก ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีคนใช้ Hi5 ประมาณ 1 ล้านคน เว็บไซต์จำพวก Social Networking ที่ดังๆ อย่าง www. myspace.com หรือ www.facebook.com ไม่อาจกล้ำกลายมาหาญสู้ Hi5 ได้ เพราะ Hi5 สร้าง Network Effect คือสร้างฐานผู้ใช้จำนวนมากจนถึงระดับมวลวิกฤติ ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เคยลองใช้บริการของ www.face book.com ปรากฏว่าแทบจะไม่มีใครมาขอเพิ่มรายชื่อเป็นเพื่อนด้วยเลย ขณะที่ Hi5 กลับมีคนมาขอเพิ่มชื่อเป็นเพื่อนด้วยอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าแทบจะมีทุกวัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่าเมื่อสินค้า หรือบริการใดขยายฐานลูกค้าจำนวนมากจนถึงระดับมวลวิกฤติ จนเกิด Network Effect แล้ว ก็จะสามารถกินรวบตลาดนั้นได้ จนเสมือนเป็นกำแพงป้องกันคู่แข่ง (Barrier to Entry) ไม่สามารถกระโจน เข้ามาสู่สนามการแข่งขัน หรือที่เรียกกันว่า Winner-Take-All
กลยุทธ์ในการสร้าง Network Effect
Lee and O'Connor ยังได้แนะนำถึงกลยุทธ์ในการสร้าง Network Effect ผู้เขียนจะอธิบายตามคำแนะนำดังกล่าวและยกตัวอย่างประกอบ อีกทั้งบางส่วนจะเป็น การวิเคราะห์ด้วยความเห็นส่วนตัว โดยแยกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
(1) การเจาะตลาดโดยใช้กลยุทธ์ราคา
ในกรณีที่ต้องการให้เกิด Network Effect เป้าหมายหลักคือการขยายฐานลูกค้าให้มากที่สุด โดยหวังว่าเมื่อลูกค้ามีจำนวน มากขึ้นแล้ว จะไม่หันไปใช้สินค้าหรือบริการจากเจ้าอื่น ตรงนี้แหละครับที่เราสามารถกำหนดราคาได้ เพื่อกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วิธีที่คลาสสิกที่สุดของการสร้างฐานลูกค้าให้มากเข้าไว้คือ การให้ใช้สินค้าหรือบริการนั้นฟรีๆ ครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีโปรแกรม Browser รุ่นเก๋าอย่าง Netscape ช่วงแรกของการเจาะตลาดก็ใช้วิธีการแจกฟรีโดยหวังว่าจะกลายเป็นมาตรฐานในการใช้เพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ แต่ตอนหลังมาเจอฤทธิ์ของ Microsoft ทำให้ ถึงกับหายสาบสูญไปเลย (จะอธิบายส่วนนี้ในกลยุทธ์การควบรวมสินค้าหรือบริการเป็นชุด) หรืออีกกรณีหนึ่งคือ การที่ American Online (AOL) ให้บริการด้านการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตฟรี ทำให้มีจำนวนผู้ใช้เป็นจำนวนมากจนสามารถครอบครองตลาดได้ทั้งหมด และสามารถหารายได้จากบริการเสริมต่างๆ จากฐานลูกค้าที่ตนเองมีอยู่
แต่ไม่ใช่ว่าแจกสินค้าหรือให้บริการฟรีแล้วประสบความสำเร็จเสมอไปหรอกนะครับ ดูอย่าง eBay สิครับที่คิดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม แม้ว่า Yahoo! และ Amazon พยายามใช้กลยุทธ์ไม่คิดค่าธรรมเนียมแต่ก็ยังเอาชนะ eBay ไม่ได้เพราะความที่มาทีหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่ eBay สร้าง Network Effect ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว
ขอยกตัวอย่างในประเทศไทยบ้าง เว็บไซต์ประมูลอันดับหนึ่งของประเทศคือ www.pramool.com ใช้กลยุทธ์ให้บริการในเรื่องของการเป็นตลาดประมูลฟรีๆ โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมแต่อย่างไร จนมีฐานลูกค้าจำนวนมากประมาณแสนคนต่อวัน ติดอันดับที่ 14 ในด้านของ จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม (ณ วันที่ 29 กันยายน 2551) Network Effect ที่ทาง Pramool สร้างขึ้นก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของหน้าใหม่ ถึงขนาดอย่าง Sanook ที่จับมือกับทาง eBay จัดทำเว็บไซต์ประมูลอย่าง shopping. sanook.com ขึ้นมาก็ยังไม่สามารถคิดค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมได้ เพียงแต่อาศัยรายได้จากการทำให้สินค้าของผู้ลงประมูลเด่นขึ้นเท่านั้นเอง
(2) กลยุทธ์การควบรวมสินค้าหรือบริการเป็นชุด
เป็นการขายสินค้าหรือบริการโดยรวมหลายๆ ชิ้นหรือหลายๆ บริการควบรวมเป็นชุดเดียว เหมือนอย่างที่ Microsoft ขายโปรแกรมชุด Office โดยมีหลายๆโปรแกรมอย่าง Excel, Word, Access, และ Power Point เป็นชุดเดียวกัน ด้วยความที่มีผู้ใช้โปรแกรม Office จำนวนมาก ประกอบกับความสามารถในการโอนถ่ายเทข้อมูลข้ามโปรแกรมกันได้ ทำให้ผู้ใช้เลือกโปรแกรมชุด Office นี้อย่างสบายใจ จนกระทั่งเกิด Network Effect ขึ้น ในอีกส่วนชุด Office เองได้มีการรวมโปรแกรม Internet Explorer เข้าไปด้วย ทำให้ทุกเครื่องที่ใช้โปรแกรมของ Microsoft มี Internet Explorer ไม่ต้องไปหาโปรแกรมอื่นใดมาใช้ให้เสียเวลา ด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้จำนวนผู้ใช้ Internet Explorer เพิ่มขึ้นทวีคูณ จนสุดที่ Netscape จะต้านทานได้
(3) กลยุทธ์การบอกต่อ (Viral Marketing)
Kent Wartime and Ian Fenwick ได้ให้คำนิยามของ Viral Marketing ในหนังสือ DigiMarketing หมายถึง การชักชวนให้ลูกค้าส่งข่าวสาร สินค้าหรืออื่นๆไปยังผู้อื่นเพื่อทำการแนะนำด้วยความเต็มใจ โดยเห็นว่าสินค้าหรือบริการมีคุณค่าต่อผู้ถูกแนะนำ และหากมีการแนะนำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วราวกับเชื้อไวรัสนั้นเอง ตัวอย่างกลยุทธ์การบอกต่อที่มักถูกหยิบยกมาแสดงก็คือ กรณีของ Hotmail ซึ่งเริ่มให้บริการอีเมลในปี 1996 ถึงแม้ช่วงนั้นจะมีคู่แข่งหลายราย Hotmail สามารถขยายฐานลูกค้าของตนได้เป็นจำนวนมาก โดยใช้เงินลงทุนเพียง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่กลับได้ลูกค้าเข้ามากว่า 12 ล้านคนภายในเวลาเพียง 18 เดือน ขณะที่คู่แข่งในเวลานั้นอย่าง Juno ที่ใช้เงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการโฆษณาและประชา สัมพันธ์อย่างหนักกลับมีฐานลูกค้าเพียงเศษเสี้ยวของ Hotmail เท่านั้น
วิธีการของ Hotmail ก็คือว่า ทุกๆครั้งที่มีอีเมลถูกส่งไปจากทาง Hotmail จะมีคำสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับบริการของ Hotmail อยู่ในตอนท้ายของตัวอีเมลนั้น เมื่อผู้รับอีเมล นั้นได้รับและอยากใช้บริการของทาง Hotmail บ้าง ก็สามารถคลิกที่ลิงค์นั้นแล้วทำการสมัคร เป็นสมาชิกได้ทันที แน่นอนครับว่าเมื่อลูกค้า เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็เกิด Network Effect ที่คู่แข่งรายใหม่ยากเข้ามา ทำให้บริการ Hotmail เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่ง Microsoft เข้าซื้อกิจการด้วยเงินจำนวนถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในภายหลัง
อย่างกรณีของ Youtube ที่โด่งดังมาจากบริการแลกเปลี่ยนคลิปวิดีโอให้กันดูผ่านเว็บไซต์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 โดยผู้ที่ เคยเป็นพนักงานของ PayPal ก่อนหน้าที่จะมี Youtube การแลกเปลี่ยนไฟล์วิดีโอทำได้ยากมาก แต่ Youtube ช่วยแก้ปัญหาตรงส่วนนี้ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถแสดงไฟล์วิดีโอได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการร่วมด้วยช่วยกัน (User-Generated Content) แสดงไฟล์วิดีโอในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นคลิปหนัง รายการทีวี มิวสิกวิดีโอ รวมไปถึงโฆษณา หรือแม้กระทั่งคลิปของมือสมัครเล่นที่ถ่ายกันเองระหว่างเพื่อนฝูง จากวันแรก Youtube ก็ฮิตติดลม โดยผลจากการที่คนที่นำไฟล์วิดีโอไปแสดงใน Youtube ย่อมจะแนะนำให้เพื่อนๆ เข้าไปเยี่ยมชมหรือ แม้แต่นักการตลาดก็มองว่า Youtube เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือที่สามารถตีฆ้องร้องป่าวสินค้าหรือบริการของตนได้โดยการนำคลิปวิดีโอโฆษณาสินค้าขึ้นไว้ที่ Youtube หากโฆษณานั้นเป็นที่นิยมชมชอบก็จะมีการบอกต่อๆ กันไปยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง นอกจากนี้เรายังสามารถนำคลิปวิดีโอจาก Youtube ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ บล็อก หรือแม้กระทั่งบนโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย ทำให้ Youtube ได้รับอานิสงส์ที่จะมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น จนมีจำนวน มากกว่า 3 พันล้านครั้งต่อเดือน การขยายตัวอย่างทวีคูณเช่นนี้ ทำให้ Google อดรน ทนไม่ได้ เข้าไปซื้อกิจการในราคา 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2007
ด้วยอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ Youtube ที่เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้เกิด Network Effect ขึ้นอย่างรวดเร็ว ใครๆ ก็มุ่งนำวิดีโอขึ้นมาแสดงที่นี่ เพราะโอกาสที่จะมีผู้ชมนั้นมหาศาลกว่าเว็บไซต์ประเภทเดียวกันอื่นๆ ทั้งนี้คู่แข่งที่สำคัญคือ Myspace TV และ Yahoo Video เป็นต้น ที่มีผู้ชมตามมาห่างๆ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงมองภาพออกแล้วนะครับถึงความสำคัญของ Network Effect ที่แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะกับสภาพของ E-commerce ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูงมาก แต่หาก ว่าคุณทำได้ นั่นหมายถึงตลาดทั้งหมดถูกคุณกินรวบโดยไม่ต้องแบ่งใคร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|