|
ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้แปลงความพ่ายแพ้เป็นชัยชนะ
โดย
นันทวัฒน์ ช่วยส่ง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานการตลาดศูนย์ระดมทุน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI (Market for Alternative Investment) หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม "คุณช้าง" ให้นิยามกับตัวเองว่าเป็น "มนุษย์พันธุ์ประหลาด" ทั้งนี้เพราะอุตส่าห์ร่ำเรียนทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาเอาดีทางด้านการเงินและตลาดทุนแทนที่ จะเอาดีด้าน "วิศวกรไฟฟ้า" ที่อุตส่าห์บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียน
หากใครมีโอกาสสัมผัสกับชนิตร ชาญชัยณรงค์ เมื่อสมัยดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ยังคงซื้อขายกันที่ระดับ 1,700 จุดนั้น อาจจะสงสัยว่าเขามาเป็นผู้บริหารที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อย่างไร ด้วยวัยเพียง 45 ปี เพราะก่อนหน้านี้เขายังไม่ประสีประสากับเรื่องการเงิน และยังเคยเป็น "ผู้แพ้" สำหรับเรื่องการเงินด้วยซ้ำ แต่ความพ่ายแพ้ที่ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ได้กลับกลายเป็นพลังให้เขามุ่งมั่นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องการเงินให้เข้าใจให้ได้ และนั่นเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขาเบี่ยงเบนเป้าหมายการทำงานจากอาชีพวิศวกรมาเป็นนักการเงิน
"เริ่มต้นตอนที่ผมจบวิศวะมาจากอเมริกา ก็มาเป็นวิศวกรอยู่ในโรงงานที่ซีเกท (Seagate) และมาเป็นเซลส์ที่ HP แรงจูงใจก็คือว่า มีอยู่วันหนึ่งผมเป็นเซลส์ทำ Proposal สู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะว่าคู่แข่ง ใช้หลักลีสซิ่ง (Leasing) เราไม่รู้จักว่าอะไรคือลีสซิ่ง และทำลีสซิ่งโดยไม่เข้าใจต้นทุน บวกไปบวกมา แพ้คู่แข่ง 3-4 ดีล ติดๆ กัน ก็เป็นตัวบอกเลยว่าชีวิตนี้จะรุ่งไม่ได้ถ้าไม่รู้จักไฟแนนซ์ ไม่รู้จักเรื่องการเงิน ก็คงไม่เข้าใจว่าธุรกิจนี้เขารันกันอย่างไร การทำธุรกิจก็รู้เพียงแค่การทำการตลาด (Marketing) ไม่รู้จักไฟแนนซ์ก็แค่นั้น ลาออกมาของานคุณสุชาติ (สุชาติ หวั่งหลี เจ้าของบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์) ซึ่งผมโชคดี ผมเป็นหลาน ท่านเลยให้งานทำ ซึ่งผมก็ทำทุกอย่าง ตอนนั้นที่ปรับชีวิต คือ ไม่สนใจว่าจะต้องทำอะไร แต่ทำทุกเรื่องเพราะต้องการเรียนรู้ทุกเรื่องว่าอะไรคือปัจจัยของการลงทุน การวิเคราะห์ การ ตีมูลค่า โดยไม่สนใจต้องการทำงานทุกอย่างหลังจากนั้นผมก็สะสมประสบการณ์ เครื่องมือทุกอย่าง หลังจากเรียนรู้ด้านไฟแนนซ์สอบ CFA (Chatered Financial Analyst)"
"ผมทนทรมานสอบ CFA อยู่เป็นเวลานาน สอบเยอะจนเมื่อเขาตั้งสมาคม CFA แห่งประเทศไทย เขาก็ตั้งให้ผมเป็นประธานสมาคมที่ให้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่ใช่เพราะผมเก่ง แต่เพราะผมสอบตกเยอะเลยรู้จักคนที่สอบ CFA ทุกรุ่นจนกระทั่งผมสอบได้ครบ 3 ระดับ ผมใช้เวลากับ CFA ค่อนข้างนาน ประมาณ 6-7 ปี มันไม่เป็นอะไรที่ผิดเพราะผมไม่ได้เรียน MBA การเงินก็ไม่เคยเรียน เรียนจากประสบการณ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าผมเรียนทางด้านการเงินปริญญาโท ปริญญา เอกผมคงจบดอกเตอร์ไปแล้ว แต่เวลาที่เสียไปก็คุ้มเพราะการเรียน CFA สามารถนำมาประยุกต์ทางการเงินได้มากที่สุด เป็น เครื่องมือทางการเงินที่แปลกและทำให้ชีวิตผมพลิกผันมาอยู่ในแวดวงการเงินและตลาดหลักทรัพย์จนกระทั่งเดี๋ยวนี้"
เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ก่อนที่จะถูกคั่นจังหวะเมื่อตลาดหลักทรัพย์เรียกตัวให้การต้อนรับโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมงานส่งเสริมกิจกรรมการลงทุนในกองทุนรวม LTF RMF ก่อนจะกลับมาสนทนากับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งเกี่ยวกับภารกิจและเป้าหมายด้านการงานของเขาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย
ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชนิตรผ่านงานมาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งด้านฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ฝ่ายวาณิชธนกิจ งานสื่อสารมวลชน และงานด้านวิศวกร ทั้งนี้เพื่อหาประสบการณ์ก่อนที่จะก้าวมาสู่อาชีพทางด้านการเงิน
"ก่อนหน้าจะมาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์ ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของบอร์ด MAI และรู้จักกับคุณวิเชษฐ (ตันติวานิช) ก่อนหน้านี้เหตุผลที่มาดำรงตำแหน่งด้านตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากความท้าทายของ ตำแหน่งนี้เพราะมีวาระในการดำเนินงาน ประมาณ 4 ปี เดี๋ยวก็จบและสามารถกลับ ไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ได้เป็นงานที่ต้องถูกบังคับ แต่เป็นงานที่ทำโดยมีวาระ เราต้อง ทำให้ดีที่สุดภายใน 4 ปีนี้ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบทำงานชนิดเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมาย แต่เข้ามาถึงภายใน 100 วันแรกก็ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร ภายในสองปีต้องทำอะไร ภายในสามปีต้องทำอะไร และงานก็เปลี่ยน ไปเรื่อยๆ เพราะว่าบางทีก็มีงานมาเพิ่ม ตอนที่เข้ามาก็คิดว่าดูแค่งาน MAI กับ SME แต่ตอนนี้ต้องมาดู SET ด้วย ดูบริษัทเข้าใหม่และบริษัทจดทะเบียนปัจจุบันประมาณ 500 กว่าบริษัท ตอนนี้ผมรับผิดชอบหมดเลย"
ภารกิจสำคัญของชนิตรที่ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือดูแลบริษัทเข้าใหม่ บวกกับบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่แล้วและบริษัทใน MAI รวมกันก็ประมาณ 550 บริษัท ปีนี้เขามีเป้าหมายเดินสายเยี่ยม บริษัทจดทะเบียน ด้วยเหตุผลว่า "เพราะเราไม่เคยทำมานานแล้ว ผมก็เดินสายเยี่ยมบริษัทจดทะเบียนประมาณกว่า 80 บริษัท เฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่รวม MAI ต้องใช้เวลาในการไปเยี่ยมจนกว่าจะครบ เพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเขา ถ้าเราไม่รู้จักเขา เราจะดูแลเขาได้อย่างไร ดังนั้นแนวคิดก็คือ ต้องรู้จักลูกค้าของเรา หรือ Know Your Customer (KYC) สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ที่ชนิตรวางไว้เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลบริษัทจดทะเบียน
เขาบอกถึงประโยชน์ที่เขาเริ่มเข้า ไปเยี่ยมบริษัทจดทะเบียนว่า "คือการที่เราจะโปรโมตใครในการทำกิจกรรมต่างๆ นั้น เราจะช่วยเขาขยายเครือข่ายหรือทำธุรกิจเพิ่มเติมได้อย่างไร เพราะความสำเร็จ ของเขา คือความสำเร็จของเรา บางครั้งคนนี้ต้องการติดต่อคนนี้เราก็เป็นตัวกลางติดต่อให้ อย่าลืมว่าสินทรัพย์ของผมคืออะไร สินทรัพย์ของเราไม่ใช่ระบบ ไม่ใช่อย่างอื่น มันคือบริษัทจดทะเบียน เราต้องเป็นหัวหอก ในการช่วยเขาให้เดินได้ในทางธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเพียง Regulators แต่ต้องพยายามสร้างเครือข่าย ซึ่งหากทำได้ตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องทำ แต่ก่อนจะทำก็ต้องรู้ว่าเขาทำอะไรกัน เพราะหากเราไม่รู้ก็เสียหมด เราต้องไปคุยกับภาครัฐและทุกอย่างทั้งภายใน และภายนอกประเทศ"
"คำถามก็คือว่า เรื่องนี้ก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เขาชวนมาก็มาเพราะคิดว่ามันท้าทายและน่าจะทำได้ เพราะการว่า change ตีความได้เยอะ หมายความว่า การเป็น change agent นั้นคนที่จะ Change นั้นสามารถ execute หรือทำให้ เกิดผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงคนเราอาจจะมีแผนอยู่เต็มหัว แต่หากไม่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้ ก็ไม่เกิดอยู่ดี ถ้าเราต้องการให้มีการเปลี่ยน แปลง เราต้องนำแผนเอามาใช้ในทางปฏิบัติได้ ไม่ใช่เป็นการพูดเพียงอย่างเดียว แต่ความยากคือการปฏิบัติ เพราะเวลาลงปฏิบัติ มันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผน เราต้องเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา มุดดิน ดำดิน กระโดดข้าม สุดท้ายตอนจบได้เป็นไปตาม ที่เราต้องการ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด"
"สำหรับพวกสัตว์ประหลาดอย่างผมที่แปลงมาจากอาชีพหนึ่งมาอีกอาชีพหนึ่ง ผมไม่ใช่นักวางแผนเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจวางแผนตัวเลข ผมเป็นนักปฏิบัติ เพราะผมไม่ใช่นักวางแผน แต่ผมมีคนเก่งๆ ตั้งเยอะที่เขาตั้งใจและวางแผนมาให้ เรามามีหน้าที่กระทำ มันจะผิดหรือจะถูกก็ต้องทำ (ก็ทำไปเถอะ) ดีกว่าอยู่แล้วกลัวและไม่ทำ เพราะชีวิตนี้สุดยอด ทุกอย่างก็คือการเสี่ยง (take risk) แต่อยู่ที่ว่าความเสี่ยงที่เสี่ยงเข้าไปนั้นคุ้มหรือไม่ ถ้ามันคุ้มก็แสดงว่าเราวิเคราะห์เรียบร้อยแล้วว่า "น่าทำ" ถ้าหากว่ากลัวว่าต้องการทำให้ปลอดภัยที่สุด ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสเกิด แต่ไม่ใช่เป็นการกล้าได้กล้าเสีย ต่างกันนะ แต่เป็นการรู้จักคำนวณ ผลได้ผลเสียและเปรียบเทียบว่าได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก่อนนำไปปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ว่ากลัวไปหมด"
"วงการธุรกิจก็เหมือนกัน กำไรเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณเสี่ยง อย่าลืมว่างานของผมที่ MAI เป็นงานที่ต้องทำให้ได้ Impact คำว่าได้ Impact มันตีความยาก เพราะเป็นความรู้สึก KPI ผมก็คือต้องทำให้ MAI เกิดขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและนักลงทุน อย่าไปนับถึงหุ้นที่ตกช่วงนี้ (สถานการณ์วิกฤติทางการเงินที่อเมริกา ซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกเกินปัจจัยพื้นฐาน) นักลงทุนต้องมีความมั่นใจว่า ตลาดทุนช่วยคุณได้ เพียงแต่ว่าเราอยู่ในวิกฤติทางเศรษฐกิจก็ต้องสูดหายใจกันลึกๆ แล้วมามองดูว่า จริงๆ แล้วเราเป็นวิกฤติเช่นเดียวกับเขาหรือไม่ ถ้าเราเปรียบ เทียบวิกฤติปี 1997 ในไทย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) Debt to Equity Ratio ของบริษัทจดทะเบียนที่เรียกว่า D/E Ratio รวมเงินทุนและธนาคารแล้ว มากกว่า 10 เท่า แต่เมื่อเดือน 6/2551 นั้น D/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 2.9 เท่า แต่หากไม่รวมธนาคาร เหลือแต่บริษัทธรรมดา D/E Ratio เหลือแค่ 1.06 เท่า แต่ทุกวันนี้ข้อมูลพื้นฐานนักลงทุนไม่มอง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร"
"เคยคุยกันในระหว่างผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนสรุปได้ว่าเกิดจากการ 'Panic' หรือตื่นตกใจ เพราะสาเหตุลามมาจากต่างประเทศ ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่า เราจะให้ความมั่นใจกับพวกนักธุรกิจและบริษัทแค่ไหน และสิ่งเหล่านี้ก็มาจากพื้นฐานสมัยที่เราเรียน เราก็เคยอยู่มาตอนปี 1996-1997 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,600-1,700 จุด ผมลาออกตอนดัชนี 1,400 จุด และเคยเห็นเหตุการณ์เหล่านี้มาหมด ดังนั้นก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเราต้องเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาผสมกับการที่เราเรียนรู้ทางด้านการวิเคราะห์มาผสม เพราะหน้าที่เราก็คือ วิเคราะห์"
"พื้นฐานของคนที่จะเปลี่ยนอาชีพเป็นสัตว์ประหลาดอย่างผม ถ้าคุณจะเอาตัวรอดได้คุณต้องวิเคราะห์และประยุกต์ได้ ผมต้องเสียเวลานั่งอ่านงบการเงินทุกเย็น หรือคุณต้องเขียนรายงานทุกเย็น ยิ่งทำมาก ยิ่งเก๋าเยอะ เพราะได้ประสบการณ์ในการทำงาน เพราะสัดส่วนและกุญแจสำคัญของแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน บริษัท บางแห่งเป็นอย่างนั้น บางแห่งเป็นอย่างนี้ บริษัทอุตสาหกรรมดูตัวเลขนั้น บริษัทไฟแนนซ์ดูตัวเลขนี้ซึ่งไม่เหมือนกัน"
"ผมมองในมุมมองของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการอยู่รอดในสถานการณ์การเงินโลกของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในปี 2008 เทียบกับเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 1997 ผมพูดในมุมมองของผู้ประกอบการ ไม่ใช่มุมมองของนักลงทุน ผู้ประกอบการต้องกำจัด Waste หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นในองค์กร คือกำจัดอะไรที่ไม่ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้น ทำให้เสียหายหรือกำจัดไขมันส่วนเกินให้ออกไป ประเภทกวาดบ้านหรือกำจัดไขมันให้สะอาดเรียบร้อย เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต แต่เรารู้ว่าถ้าการเมืองเราดี ถ้าการจัดการในประเทศดี รัฐบาลออกมาชูธงว่าจะทำเรื่องอะไรอย่างไร เศรษฐกิจเราสามารถพลิกได้ เพราะตัวเลขต่างๆ เราดี อัตราเงินเฟ้อเรายังต่ำ เราหวังเรื่องการเมืองที่ดีขึ้น แม้ว่า เป็นการหวังที่ "เลือนรางมาก" แต่ก็ต้องหวัง เพราะว่าการลงทุนจากต่างประเทศ จะตามมาหลังจากที่การลงทุนภายในประเทศมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศนั้นเหลือ เพียงพวกของเก่า ส่วนของใหม่นั้นไม่มาแล้ว เพราะ 1. เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย 2. การเมืองที่ไม่นิ่ง ดังนั้นในสายตาของผู้ประกอบการ ก็คือต้องลดไขมัน แต่ไม่ต้องเลยเถิดถึงเลิกจ้างและลูกจ้างเองก็ต้อง เข้าใจว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาของการมานั่งต่อรอง แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับมาช่วยกันให้ธุรกิจอยู่รอดและดีขึ้น"
"ดังนั้นผมมองจากด้านล่างขึ้นมา พื้นฐานของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านนั้น ของเรายังดีกว่าเยอะ เพราะระบบสถาบันการเงินของเรามีความเข้มแข็ง เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรายุ่งกันกับเรื่องการเมืองในประเทศ เรามั่วๆ กันกับเรื่องการเมืองทำให้ไม่มีเวลาไปยุ่งกับเรื่องอื่น แบงก์ก็ไม่ได้ปล่อยกู้เยอะ และกลายเป็นข้อดีในปัจจุบัน ทำให้เราไม่ค่อยกลัวเรื่องผลกระทบมากนัก ตัวที่เป็นไขมันจริงๆ ในธุรกิจนั้นคงต้องรีดออกมา 1. เช่นค่าใช้จ่ายเรื่องโลจิสติกส์และทรานสปอร์ต เป็นตัวใหญ่ น้ำมันและพลังงาน หากต้องรีบ ก็ต้องรีบดูแลโดยเร็ว ที่สุดเพราะว่าเป็นตัวที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการขยายกิจการ ผมคิดว่าพวกอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องเพิ่มเติม ต้องเริ่มมองเพราะทั่วโลกนั้นขายไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มมอง และไม่อยู่กับที่ ต้องเริ่มมองว่าหากจะขยายกิจการนั้นอะไรจะเป็นต้นทุนที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทจดทะเบียน"
"ส่วนการหารายได้ต้องพยายามและผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้ดีอยู่แล้ว ช่วง นี้มีอะไรที่จะลดได้ก็ต้องลด เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้บอกให้ทุกคนลดค่าใช้จ่าย เราให้ลดไขมัน เพราะทุกไขมันที่ลดมันคือกำไร เป้าหมายของการดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้นมีหลายอย่างทั้งเพิ่มทุน หรือนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนซึ่งปีหนึ่งๆ มีบริษัทระดมทุนเป็นหมื่นล้านๆ บาท ตลาดทุนปี 42-43 มีการเพิ่มทุนช่วยให้บริษัทระดมทุนได้ แต่รอบนี้ภาวะเศรษฐกิจรอบนี้ความเชื่อมั่นไม่มีเราต้องรอให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนกลับมาก่อน แต่ความต้องการเข้า มาระดมทุนในตลาดทุนมีอยู่ และมีบริษัทรอจดทะเบียนอยู่หลายสิบบริษัท ประเด็นคือจังหวะที่จะเข้ามาจดทะเบียนระดมทุน ดังนั้นต้องทำไป แต่ต้องทำไปอย่าง cautious หรือทำไปอย่างระมัดระวัง"
เมื่อถูกถามว่าการเป็นผู้บริหารนั้นจะต้องมีเรื่องราวต่างๆ เข้ามาให้ตัดสินใจ และพิจารณาค่อนข้างมาก ทำให้อาจจะมีปัญหาเรื่องการบริหารเวลาและดูแลครอบครัว ชนิตรกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเพียงว่า "Just Do It" หรือทำทันที เพราะการทำงานให้สำเร็จนั้น สุขภาพร่างกายต้องแข็งแรงก่อน ดังนั้นเขาจึงเน้นการออก กำลังกายมากๆ อย่างสม่ำเสมอ "การ บริหารเวลาระหว่างครอบครัว งานและสังคม ออกกำลังกายเยอะๆ ให้ร่างกายแข็งแรงหัวสมองโปร่งใส ร่างกายฟิต ที่เหลือสามารถแมนเนจ (Manage) ได้ด้วย ตัวเอง หากสุขภาพแข็งแรง Mentally fit เรื่องการแมนเนจเป็นเรื่องปกติ หากเมนทอลลี่ไม่ไบรท์ทำอะไรก็ผิดหมด กินไม่ดี ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ล้วนไม่ดี แต่การกิน โยเกิร์ตเยอะๆ ทำให้สุขภาพดี ทุกอย่างมาจากสุขภาพก่อน ส่วนที่เหลือตามมาเอง ทุกวันผมวิ่งทุกเช้าที่โปโลคลับมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว แม้ว่าบ้านอยู่บางนาแต่ก็เดินทางมาวิ่งที่โปโลคลับ ตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า ดังนั้นต้องเข้าใจว่าสุขภาพต้องสำคัญที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องบาลานซ์และทำอะไรให้ดีที่สุด ถึงเวลาต้องให้กับครอบครัวเขาก็เข้าใจ ไม่ต้องไปยึดติดว่า อะไรจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หรือ JUST DO IT"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|