บัวหลวงประกันภัย "สุดยอดของการเจ๊ง"

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจประกันภัยกำลังไปได้สวยด้วยอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่แล้วบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด กลับประสบปัญหาวิกฤติค้างจ้างค่าสินไหมผู้เอาประกันและหนี้อยู่ในเครือหลายสิบล้าน นอกจากนี้ยังจะมีบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่มีอาการร่อแร่ไม่แพ้บัวหลวงอีกหลายราย

สำนักงานประกันภัยตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการหาคนมาเทคโอเวอร์มาตรการที่คิดว่าดีที่สุดแล้วเพื่อรักษาภาพโดยรวมของธุรกิจเอาไว้

ประมาณต้นปี 2526 ชาญชัย ตันกิติบุตร และพวกได้รับซื้อหุ้นส่วนข้างมาก ของบริษัทไทยเอเซียประกันภัย จำกัด จาก วิชิต เทศรัตนวงศ์ และเพื่อน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัด

ผู้คนในวงการประกันภัยเวลานั้นอาจจะยังไม่รู้จักชาญชัยและพวกดีนัก หลายคนมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักธุรกิจหน้าใหม่ในวงการ แต่อีกหลาย ๆ คนรู้ดีทีเดียว่าฝีมือการบริหารและพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไรเมื่อบริษัทวิงออน เครดิต แอนด์อินเวสเม้นท์ จำกัด ที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายในต้นปี 2527

มูลเหตุที่ทำให้บริษัทวิงออน เครดิตฯ ถูกฟ้องล้มละลาย ก็เนื่องมาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน นัยหนึ่งคือบริษัทไม่มีเงินจ่ายให้ลูกค้าที่ตั๋วสัญาใช้เงินครบกำหนดทั้งนั้น เพราะบริษัทได้นำเงินไปลงทุนด้านที่ดินและคอนโดมิเนียมเพื่อการเก็งกำไรทั้งในประเทศและที่ฮ่องกงจำนวนหลายร้อยล้านบาท

การล้มละลายของวิงออน เครดิตฯ เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ธุรกิจอยู่หลายฉบับ ซึ่งแน่นอนว่าชื่อของชาญชัยและพวกต้องผ่านเข้าหูผู้คนทั่วไป แม้ในเนื้อข่าวไม่ไดระบุว่าชาญชัยและพวกต้องรับผิดชอบต่อการล้มละลายของบริษัท แต่ข่าวนี้ก็ทำให้ภาพพจน์ของพวกเขาอกมาในทางที่ไม่ใคร่จะดีนัก

เมื่อเป็นดังนี้ ผู้คนในวงการประกันภัยย่อมจะคาดหมายไปในทำนองเดียวกันว่าไม่ช้าไม่นานอนาคตของบัวหลวงประกันภัยคงจะหลีกไม่พ้นจากวิถีทางเดียวกับวิงออนเครดิตฯ ภายใต้ฝีมือการบริหารของคนกลุ่มนี้

ความเป็นจริงก็คือบัวหลวงประกันภัยประสบภาวะการขาดทุนตั้งแต่ปี 2527 และเพิ่มพูนขาดทุนเป็นทับเท่าทวีคูณนับจาก 2529 เรื่อยมา

สำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อกิจการประกันทั้งปวงของประเทศ ได้กำหนมาตรการแก้ไขปัญหาบัวหลวงประกันภัยอกมาแล้วว่าจะทำกาเรคลียร์หนี้สินบัญชีของบัวหลวง ขณะเดียวกับที่พยายามทาบทามติดต่อหาคนมารับซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์บริษัทไปดำเนินต่อไป และที่สำคัญคือ ชะลอ เฟื่องอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยได้ประกาศออกมาในสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึกของคนหลายคนแล้วว่า มาตรการถอนใบอนุญาตบัวหลวงประกันภัยจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาสุดท้ายที่จะนำมาใช้ หากไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการอื่น ๆ ได้สำเร็จ

ปัญหาของบัวหลวงที่ทำท่าลุกลามใหญ่โตจนอาจจะก่อผลสะเทือนต่อวงการธุรกิจประกันภัยก็คือการค้างจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันเป็นจำนวนมาก การค้างชำระหนี้อู่ซ่อมรถในเครือประกันของบริษัทและที่สำคัยคือการจ่ายเช็คล่วงหน้เาป็นปี ๆ ซึ่งเมื่อกำหนดเอาไปขึ้นเงินแล้วปรากฏว่าเช็คเด้ง

ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือธนาคารผู้ออกเช็กได้ระบุเหตุผลปฏิเสธการจ่ายเงินว่าเป็นเพราะบริษัทปิดบัญชีแล้ว

ความโกลาหลวุ่นวายจึงเกิดขึ้นไปทั่วรู้ในหมู่เจ้าของอู่ซ่อมรถในเครือประกันซึ่งมีอยู่ประมาณ 34 อู่ มียอดมูลหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 26 ล้านบาท

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยมีอัตราการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปอย่างชนิดรั้งไม่หยุด โดยเมื่อปี 2526 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 4,822 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจกาปีก่อนหน้านี้ 15.9% ครั้นในปี 2530 ก็มีเบื้อประกันรับโดยตรงเพิ่มขึ้นเป็น 7,515 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากปี 2529 คิดเป็น 22.16%

ตัวเลขการเติบโตเหล่านี้มีอิทธิพลชักจูงใจนักลงทุนให้หันเหเขามาประกอบธุรกิจด้านนี้ได้มากทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าธนาคารแทบทั้งระบบล้วนแต่มีบริษัทประกันในเครือ บางแห่งมีถึง 2-3 บริษัท ส่วนบางธนาคารที่ยังไม่มีก็กำลังจ้องเสาะหาอยู่

ประเภทของการประกันภัยที่ทำรายได้ให้กับบริษัทปรกันภัยที่ทำรายได้ให้กับบริษัทประกันภัยมากที่สุดคือรถยนต์เป็นอันดับหนึ่งและรองลงมาคืออัคคีภัยและเบ็ดเตล็ด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2531 มีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 4,636.11 ล้านบาท ในจำนวนนี้แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์รวม 2,079.75 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 772.05 ล้านบาท หรือ 59.04% จากช่วงเดียวกันของปี 2530

ส่วนการจ่ายสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2531 มีเพียง 1.070.01 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 39.01% จากช่วงเดียวกันของปี 2530

ชะลอ เฟื่องอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยกล่าวถึงการประกันรถยนต์ว่า "มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาตลอดเนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่เอาประกันภัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และราคารถยนต์มีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา"

ตัวเลขเบี้ยประกันที่พุ่งลิ่วขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้เย้ายวนใจนักลงทุนอย่างยิ่ง และตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีการเพิ่มทุนการซื้อกิจการและการขยายตัวของบริษัทประกันภัยอย่างมาก

ความเย้ายวนใจของธุรกิจประกันภัยนั้นนอกจากเรื่องอัตราการเติบโตที่สูงอย่างมากแล้ว โดยตัวของธุรกิจเองยังมีลักษณะที่ดึงดูดนักลงทุนได้ ทั้งในเรื่องของการเก็บเบี้ยประกัน ซึ่งถือว่าเป็นเงินออมอย่างหนึ่งในระบบการเงิน แต่มีระยะสั้นเพราะกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยจะมีอายุปีต่อปีเงินออมนี้ก็คือเงินคุ้มครองความเสี่ยงของผู้เอาประกันนั่นเอง และบริษัทประกันภัยยังได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้นำเงินเบี้ยประกันนั้น ไปลงทุนได้ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เช่น ซื้อพันธบัตรออกตั๋วสัญญาใช้เงิน - ตั๋วแลกเงิน ซื้อหุ้นเงินให้กู้ยืม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีขณะที่ธุรกิจประกันภัยขยายตัวอย่างมากนี้ กลับปรากฏว่ามีบริษัทประกันภัยที่มี "ปัญหา" ซุกซ่อนอยู่ แต่เนื่องจากภาพโดยรวมของวงการค่อนข้างดีอย่างมาก ๆ บริษัทที่มีปัญหาเหล่านั้นจึงรอดตัวไป

กรณีของบัวเหลงประกันภัยต่อไปนี้สามารถสะท้อนได้เห็นอย่างชัดเจนว่าขณะที่ภาพโดยรวมของธุรกิจประกันภัยออกมาดีมาก ๆ นั้น มีจุด "เละเทะ" ภายในบางจุดที่ไมได้รับการควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวดและวิธีการแก้ไขปัญหาของบัวหลวงก็จะสะท้อนด้วยว่า คนของสำนักงานประกันภัยคิดอย่างไรกับเรื่องนี้และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของบริษัทประกันภัยแค่ไหน

กลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ของบริษัทบัวหลวงประกันภัยนับแต่ปี 2526 เรื่อยมาคือตระกูลตันกิติบุตร โดยมีคนในตระกูลรวม 6 คนถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 404,819 หุ้นจากจำนวน 800,000 หุ้น (เมื่อ 29 เมษายน 2531) หรือคิดเป็น 50.06%

นอกจากนี้ชาญชัยได้ชักจูงให้เพื่อน ๆ สมัยที่ร่วมทำวิงวอน คอมมอดิตี้ส์เข้ามาร่วมถือหุ้นและบริหารงานด้วย คือ วสันต์ หาญวิชิตชัย และ เกษม กันถาวร รวมกับพี่ชายคือ วิชัย ตันกิติบุตร และผู้ถือหุ้นดั้งเดิม ซึ่งเคยเป็นกรรมการบริหารสมัยที่เป็นไทยเอเซียประกันภัยคือนางสาววราภรณ์ แก่นจันทร์ เป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัท

ในจำนวนผู้บริหารสูงสุดทั้ง 5 ของบริษัท อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีประสบการณ์บริหารธุรกิจประกันภัยมาแล้วมีเพียงคนเดียว คือ วราภรณ์ โดยดำรงตำแหน่งแคชเชียร์บริษัท

ชาญชัยในวัน 46 ปีวันนี้นับว่าเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบกับความล้มเหลวและข้องแวะอยู่แต่กับธุรกิจด้วยเล่ห์กลและความรับผิดชอบที่น้อยนิด

วินัย ชาญชัย และบุญส่ง 3 คนพี่น้องอายุไล่กันไม่เกิน 30 ปี ได้ร่วมหุ้นกันทำธุรกิจล้างอัดขยายรูปด้วยทุนจดทะเบียน 7 แสนบาทถ้วนเมื่อปี 2510 เปิดเป็นห้างชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดวิวไฟน์เดอร์โฟโต้ ตั้งอยู่แถวราชดำริ กรุงเทพมหานคร

ต่อมาวินัยได้ขายหุ้นไปและในปี 2523 ก็เปิดร้านสยามมาร์เก็ตติ้งแถบสุขุมวิท ขายเครื่องเขียน ก่อนหน้านั้นวินัยและชาญชัยได้มาร่วมกันก่อตั้งบริษัทวิงวอน คอมมอดิตี้ส์ (ประเทศไทย) ขึ้นเมื่อปี 2522 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยวินัย (อายุ 40 ปี) และชาญชัย (37 ปี) ร่วมลงทุนคนละครึ่งจำนวนรวม 5 ล้านบาท ส่วนบุญส่งยังคุมห้องภาพวิวไฟน์เดอร์ ซึ่งในปี 2518 เปลี่ยนชื่อเป็น หจก.วิวคัลเลอร์แลบ

บริษัทวิงวอน คอมมอดิตี้ส์เริ่มต้นด้วยการดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าและผู้ค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาประกอบกิจการเล่นแชร์ เปียหวย เป็นเจ้ามือและลูกวงรักษาและพิทักษ์ทรัพย์แก่บุคคลและนิติบุคคลทั่วไป

ครั้นต่อมา วสันต์ หาญวิชิตชัย และบุญส่ง ตันกิติบุตรก็มาเข้าร่วมด้วย เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นวิงวอน เครดิต แอนด์ อินเวสเม้นท์ ในปี 2523 พร้อมกับขยายวัตถุประสงค์เพื่อให้ประกอบกิจการซื้อขาย เช่าซื้อบ้านรถยนต์ ฯลฯ และในปี 2524 ก็เพิ่มลงไปอีกว่าประกอบกิจการซื้อขายอาวุธกระสุนปืนรวมทั้งอาวุธยุทธโปกรณ์ที่ใช้ในการสงครามด้วย

ดังนั้น ประสบการณ์ที่วินัย ชาญชัย บุญส่ง และวสันต์มีร่วมกันจึงเป็นประสบการ์ในธุรกิจที่ต่อมาได้ชื่อว่าผิดกฎหมายหลอกลวงประชาชนและเป็นกิจการที่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายในที่สุด

นอกจากนี้แหล่งข่าวในวงการประกันภัยผู้คร่ำหวอดมานานผู้หนึ่งได้กล่าวให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า นอกไปจากเรื่องคอมมอดิตี้ส์แล้ว ชาญชัยยังทำธุรกิจประเภท "เจาไซ" หรือการค้าของหนีภาษีและผิดกฎหมายอีกด้วย

ว่ากันว่าเงินทุนที่ลงไปกับธุรกิจคอมมอดิตี้ส์มาจากผลกำไรในการจัดสรรที่ดินที่เชียงใหม่และพัทยา

ชาญชัยเริ่มเข้ามาร่วมงานในไทยเอเชียประกันภัยระยะหนึ่ง ก่อนที่จะพาพรรคพวกมาซื้อหุ้นส่วนข้างมากจากไทยเอเชีย เนื่องจากเวลานั้นไทยเอเซียมีฐานะดำเนินงานย่ำแย่

ไทยเอเซียถูกจับตามองและอยู่ภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของสำนักงานประกันภัย ซึ่งในเวลานั้นมีโพธิ์ จรรย์โกมล เป็นผู้อำนวยการ

โพธิ์ย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าปี 2524 ไทยเอเซียกำลังทรุด เขาจึไงด้ออกคำสั่งให้ลดการรับประกันภัยจนกว่าจะสามารถลดการขาดดุลได้ คำสั่งนี้ออกมาในปี 2524 ซึ่งไทยเอเซียมีเบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมาคือ 68.17 ล้านบาท และมีตัวเลขขาดทุนสุทธิประจำปีถึง 7.16 ล้านบาทหรือขาดทุนเพิ่มจากปี 2523 ถึง 12.3 เท่า

ต่อมาในปี 2525 ไทยเอเซียก็เริ่มลดเบี้ยประกันลงกับทั้งลดการขาดทุนลงด้วยและเมื่อเปลี่ยนมือมาที่ชาญชัย (บัวหลวง) ในปี 2526 เขาก็สามารถทำกำไรได้ 138,000 บาท ทว่าหลังจากนั้นแล้วอาการกลับทรุดหนักลงไป

เบี้ยประกันรับเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการขาดทุนพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับชาญชัยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ชาญชัยเป็นคนที่มีบุคลิกดีมีมนุษย์สัมพันธ์ดีมาก ๆ บางคนถึงกับกล่าวว่าเขาเป็นคนประเภท "สาลิกาลิ้นทอง" ใครเข้าใกล้ก็อดที่จะชื่นชมและหลงเชื่อไม่ได้

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อชาญชัยและพวกเข้ามาบริหารงานในบัวหลวงนั้น เขาสามารถทำให้บริษัทเก็บเบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 4 ปีนับแต่ 2526-2529

ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่าตัวแทนขายประกันของบัวหลวงฯทำงานได้ผลดีเยี่ยม ผลงนของพวกเขาก็คือเที่ยวหาประกันจากบรรดาอู่แท็กซี่ทั้งหลาย และรถบรรทุก

เจ้าของอู่รถแท็กซี่รายหนึ่งซึ่งนำรถไปประกันภัยกับบัวหลวงถึง 40 กว่าคันในช่วงปี 2527 เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าแท็กซี่โดยทั่วไปเริ่มเปลี่ยนรถรุ่นใหม่กันในปี 2527 และเขาเองแต่เดิมทำประกันแท็กซี่รุ่นให้ไว้กับบริษัทสรรพภัย แต่สรรพภัยเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับรถแท็กซี่ที่ถูกปล้นจี้มาก เฉลี่ยหายไป 5-7 คันในช่วงเวลาเพียง 10 วัน ดังนั้นสรรพภัยจึงมีจดหมายเวียนมาขอยกเลิกการประกัน พอสรรพภัยเลิก็พอดีกับบัวหลวงเริ่มส่งตัวแทนออกมาหาประกัน

ตัวแทนของบัวหลวงใช้วิธีเจาะเข้าไปตามอู่แท็กซี่ สร้างความคุ้นเคยสนิทสนม และขอให้แนะนำกันต่อ ๆ ไป โดยตัวแทนเหล่านี้คุยว่าบัวหลวงมีการให้บริการความสะดวกในด้านต่าง ๆ ดีมากกว่าที่อื่น ๆ

ตัวแทนประกันที่เด่นมากและเจ้าของอู่รู้จักเป็นอย่างดีมีชื่อว่า "ศุภชัย" เขาสามารถหาประกันแท็กซี่เข้าบัวหลวงได้เป็นจำนวนมาก

โพธิ์ให้ความเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตว่าการทำประกันรถยนต์นั้นมีความยากกว่าประกันประเภทอื่น ๆ เพราะทำการควบคุมได้ลำบาก เนื่องจากมีการกระจายทั่วประเทศและตัวรถที่เอาประกันภัยนั้นไม่ได้อยู่กับที่ฉะนั้นการตรวจสอบจะทำได้ลำบาก จำเป็นที่จะต้องมีตัวแทน มีสาขาหรือผู้ตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

ช่องทางรั่วไหลที่สำคัญของการทำประกันภัยรถยนต์ก็คือขั้นตอนการเคลมรถทั้งนี้ผู้รู้หลายท่านในวงการประกันภัยต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ พนักงานเคลมสามารถที่จะบอกให้ถูกเป็นผิด หรือผิดเป็นถูกได้ทีเดียว

นอกจากนี้เรื่องการกินหัวคิวก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง กล่าวคือบริษัทประกันภัยจะมอบหมายให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นนายหน้าประกันภัยหารถยนต์มาหใ โดยมีการชักเบี้ยประกันให้ 5-10% นายหน้าเหล่านี้อาจจะเบี้ยวบริษัทประกันได้ถ้าหากบริษัมไม่มีวิธีการที่รัดกุมพอ

ช่องที่นายหน้าจะเบี้ยวบริษัทประกันได้คือ 1) ไม่เก็บเงินสำรองไว้กับบริษัทแต่ขอเก็บเอง 2) ไม่ให้บริษัทมีส่วนพิจารณาค่าสินไหมทดแทน แต่ไปงุบเงินทำเองโดยเฉพาะพวกนายหน้าในต่างจังหวัด ซึ่งบริษัทประกันไม่สามารถดูแลควบคุมได้ถึง และ 3) นายหน้าอาจไปก่อหนี้สินในนามของบริษัทได้โดยบริษัทไม่มีทางรู้

แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันภัยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าในช่วงที่บัวหลวงบูมมาก ๆ จากการรับประกันรถแท็กซี่นั้นบัวหลวงได้มีข้อตกลงกับสินสวัสดิ์ประกันภัย ซึ่งเป็นนายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาขาดเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ ข้อตกลงนั้นก็คือบัวหลวงจะให้สินสวัสดิ์กินหัวคิวจากการหารถมาประกันผู้รู้กล่าวว่าเรื่องนี้มันเข้าล็อกกันพอดีในแง่ที่ว่าเมื่อผู้บิรหารไม่มีความรู้ มาลองสักพักเจอขาดทุนเข้า ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะหาลูกค้าอย่างไร ก็พอดีมาเจอคนรับอาสาเขี้ยวลากดินเข้า

โปรดสังเกตว่าระหว่างปี 2527-2529 บัวหลวงมีรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างหรือค่าบำเหน็จ (นายหน้า) เพิ่มขึ้นปีละเท่าตัว คือจาก 6.496 ล้านบาทในปี 2527 เป็น 13.807 ล้านบาทในปี 2528 และเป็น 28.464 ล้านบาทในปี 2529

รายจ่ายรวมในช่วงระหว่างปี 2527-29 ก็พุ่งสูงขึ้นจาก 49 ล้านบาทเป็น 69 ล้านบาทและ 135 ล้านบาท

รายจ่ายเหล่านี้มันไหลออกจากบริษัทขณะที่เบี้ยรับมันไม่ไหลเข้าในจำนวนมากเท่าที่ควรจะเป็นเพราะการยักยอกของนายหน้าสาเหตุหนึ่ง

เบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้ของบัวหลวงในปี 2527 มี 46.527 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อปี 2526 ซึ่งยังเก็บได้ 48.182 ล้านบาท

ปี 2528 เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 61.940 ล้านบาท และปี 2529 ก็พุ่งเป็น 101.753 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปี ดังกล่าวก็มีเบี้ยประกันค้างรับมากเป็นพิเศษคือ 20.621 ล้านบาทและ 33.646 ล้านบาทตามลำดับ

เปรียบเทียบรายได้-รายจ่าย มันขาดทุนชัด ๆ

นอกจากเรื่องการเคลมรถ การกินหัวคิวแล้ว ช่องที่จะรั่วไหลอีกก็คือการตีราคาซ่อมรถ อะไหล่และการซ่อม แต่ดูเหมือนว่าช่องทางนี้บัวหลวงค่อนข้างจะปิดไว้ได้สนิทหรือย่างน้อยก็เปิดทงรั่วไหลไว้ไม่มากักจากการกำหนดให้อู่ซ่อมเพียงแห่งเดียวเป็นผู้ประเมินราคาซ่อม

และจะว่าไปแล้วบัวหลวงค่อนข้างได้เปรียบบรรดาอู่รถในเครือประกันของตนอยู่มาก เพราะไม่ว่าจะเจรจาต่อรองกี่ครั้ง ๆ ลูกหนี้รายนี้ก็สามารถผัดผ่อนและมีชอ่งได้เปรียบอู่เจ้าหนี้ทุกครั้งไป

สมัยที่โพธิ์ จรรย์โกมล เป็นผู้ถืออาญาสิทธิ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยนั้น เขาได้สั่งปิดสินสวัสดิ์ประกันภัยของชวาลย์ สินสวัสดิ์เหตุเพราะบริษัทไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหม ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่คล้ายคลึงกับบัวหลวงประกันภัยในเวลานี้

โพธิ์เล่าว่า "ในชั้นแรกคุณชวาลย์รับปากว่าจะหาเงินมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนเราก็ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมเบี้ยประกันภัยรับเราไม่ให้บริษัทนำไปจ่ายไม่ให้นำไปใช้ในระยะหนึ่ง จนเห็นว่ามันไปไม่ไหว เราเจรจากับเจ้าหนี้หลายรายเพื่อให้เขายกเลิกหนี้ แล้วเอาหนี้พวกนั้นมาตีเป็นหุ้น แต่ตกลงกันไม่ได้ก็จำเป็นที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาต เพราะว่าถ้าอยู่ต่อไปอย่างเดียวไม่มีจ่ายก็เท่ากับว่าต้มประชาชน"

อดีตผู้ชนาญการประจำกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเพิ่งเกษียณเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาทบทวนการตัดสินใจในครั้งนั้นของเขาแล้วกล่าวออกมาอย่างหนักแน่นว่า "เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในขณะนั้น…..เราดูแล้วไม่มีทางเลือก ควรจะให้บริษัทอยู่ให้ได้ถึงที่สุด แต่ถ้าหากว่ามันจำเป็นคนจะตายมันก็ต้องตาย แต่ตายนี่โดยวิธีกระทบกระเทือนประชาชนน้อยที่สุด"

แม้กรณีสินสวัสดิ์จะดูคล้ายคลึงกับกรณีบัวหลวงในขณะนี้ ซึ่งหมายความว่าอาจจะต้องใช้มาตรการเดียวกับที่ทำกับสินสวัสดิ์ได้ แต่ปรากฎว่าสำนักงานประกันภัยหลับประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้มาตรการนั้นเป็นทางสุดท้าย หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น ๆ

สำนักงานประกันภัยในเวลานี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีจากหลาย ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะชลอ เฟื่องอารมณ์ ซึ่งบังเอิญได้มานั่งเก้าอี้ที่มีหลายคนก็อยากจะนั่งเหมือนกัน

การที่จะตัดสินใจในกรณีบัวหลวง และกรณีสินสวัสดิ์นั้นไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกันได้ แม้ทั้งสองจะเป็นบริษัทประกันภัยที่เน้นการประกันรถยนต์เหมือน ๆ กัน อีกทั้งยังกล้าเสี่ยงพอ ๆ กันในการเข้ารับประกันรถแท็กซี่ รถบรรทุก รถเมล์ที่ได้ชื่อว่ามีความเสี่ยงภัยสูงที่สุดก็ตาม

ทั้งนี้การตัดสินใจกรณีบัวหลวงมีข้อแตกต่างออกไป และมีผลทำให้การพิจารณาเรื่องนี้ยากยิ่งกว่า เพราะมันเกี่ยวข้องกับภาพพจน์ของธุรกิจประกันภัยโดยรวม

ระยะเวลาไม่ถึงทสวรรษที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดก้าวกระโดด ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามากเพียงใด อีกทั้งหากจะนำไปเทียบกับระยะ 5 หรือ 10 ปีก่อนหน้านั้นก็คงจะยิ่งเห็นอัตราการขยายตัวว่ามากและรวดเร็วเพียงใด

อัตราการเติบโตเช่นนี้เป็นเรื่องน่ายินดีไม่ว่าสำหรับภาครัฐบาล หรือเอกชน เพราะการเติบโตของธุรกิจประกันภัยก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ประการหนึ่ง

ในความเติบโตที่เป็นที่ยินดีกันนี้ บรรดาบริษัทประกันภัยทั้ง 64 แห่งบริษัทนายหน้าประกันภัย และตัวแทนประกันภัยอีกเป็นจำนวนมากล้วนมีบทบาทสร้างทำให้เกิดขึ้น โดยมีหน่วยงานของรัฐคือสำนักงานประกันภัยควบคุมอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นการที่สำนักงานประกันภัยจะตัดสินใจในเรื่องบัวหลวงออกมาอย่างไร จึงต้องคิดคำนวณในเรื่องปัจจัยของบรรยากาศและทิศทางการเติบโตของธุรกิจประกันภัยดังที่กล่าวมาอย่างมากด้วย

ชลอสามารถสั่งปิดและเพิกถอนใบอนุญาตบัวหลวงได้ทุกเมื่อ แต่มาตรการเช่นนี้จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ได้อย่างไรบ้าง และมาตรการนั้นจะไปเข้าล็อกของใครหรือไม่

หากบัวหลวงถูกสั่งปิด จะเกิดอะไรขึ้น ประการแรกต้องมีคนตกงานจำนวนหนึ่ง โดยในจำนวนนี้คนที่มีใบอนุญาตตัวแทนประกันคงจะไม่เดือดร้อนเท่าใด เพราะมีช่องทางทำงานได้ไม่ยากนัก แต่ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งกว่านั้นก็คือบรรดาผู้เอาประกันทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรายย่อยและที่เป็นอู่ในเครือประกัน

สำนักงานประกันภัยรายงานว่าผู้เอาประกันรายบุคคลที่ได้มาร้องเรียนกับสำนักงานเรื่องการไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบัวหลวง ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันมีเพียง 40 กว่ารายเท่านั้น แม้จนปัจจุบันซึ่งเรื่องบัวหลวงเป็นข่าวคึกโครมแล้วนั้น กลับปรากฏว่ามีผู้มาร้องเรียนในวันหนึ่ง ๆ เพียงรายเดียวบางวันไม่มีด้วย

นอกจากนี้ "ผู้จัดการ" ได้ออกสำรวจและก็มีข้อสังเกตที่สอดคล้องกับสำนักงานประกันภัยด้วยว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่ไม่มีการชุมนุมของผู้เอาประกันเพื่อเรียกร้องค่าสินไหม หากบริษัทเกิดยุบเลิกขึ้นมาจริง ๆ อาการตื่นตระหนกใจ (PANIC) ไม่มีวี่แววอยู่เลย ไม่ว่าจะจากผู้เอาประกัน (ซึ่งจนปัจจุบันยังไม่ทราบตัวเลขชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด) หรือแม้กระทั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของบัวหลวงที่ยังคงนั่งทำงานพูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

จะมีสิ่งที่ผิดปกติก็คือ ตัวผู้บริหารระดับสูง ทั้งชาญชัยและเกษมได้อันตรธานหายไปแล้ว จะมาผลุบ ๆ โผล่ ๆ บ้างก็เมื่อปลอดคน ปลอดวี่แววนักข่าวแล้วนั่นแหละ

ส่วนวราภรณ์ผู้ควบคุมการเงินของบริษัทยังคงมานั่งทำงานอยู่ด้วยสีหน้าสีตาที่ไม่เบิกบานนัก แหล่งข่าวไม่ยืนยันกล่าวว่าเธอนำที่ดินของตัวเองไปจำนองจำเพื่อนำเงินมาช่วยค้ำจุนบริษัท จ่ายเป็นเงินเดือนของพนักงานในปัจจุบัน และทำให้พวกเขายังคงมานั่งทำงานกันเป็นปกติ

ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากการปิดบัวหลวงคือบรรดาเจ้าของอู่ในเครือประกัน ซึ่งหนี้สินประเมินในเวลานี้ที่บริษัทค้างจ่างมีราว 33 ล้านบาท ถ้าหากบริษัทปิดก็เท่ากับพวกเขาต้องไปฟ้องร้องมูลหนี้เอาเอง

ตัวเลขล่าสุดจากงบดุลปี 2529 แสดงไว้ว่าบริษัทมีสินทรัพย์รวม 46.542 ล้านบาทแต่ในจำนวนนั้นเป็นเบี้ยประกันค้างรับเสีย 33.646 ล้านบาท เป็นเงินค่างรับเกี่ยวกับการประกันภัยต่ออีก 3.208 ล้านบาท และเป็นเงินวางไว้ตามสัญญาประกันภัยต่ออีก 1.499 ล้านบาท หักกลบลบกันแล้วปรากฏว่าเป็นตัวสินทรัพย์จริง ๆ เพียง 8.189 ล้านบาทเท่านั้น

ในส่วนหนี้สินของบัวหลวงนั้น ปรากฏว่าปี 2529 บัวหลวงมีตัวเลขเงินสำรองที่เป็นค่าสินไหมค้างจ้างมีสูงมากเป็นพิเศษ คือ 28.949 ล้านบาท และตัวเลขเงินกองทุนก็ติดลบมาหลายปี โดยปี 2529 ก็ติดลบสูงมากเป็นพิเศษอีกเช่นกันคือ 88.482 ล้านบาท

ควรจะกล่าวว่าบริษัทล้มละลายมาตั้งแต่ปี 2529 แล้ว และแน่นอนว่าหากปิดบริษัทในตอนนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง คือเจ้าหนี้ทั้งหลายจะไม่มีทางได้เงินคืนไม่ว่ามากหรือน้อย

ส่วนผู้บริหาร ซึ่งไม่รู้ว่าทำการโอนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ออกไปหรือไม่อย่างไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความผิดทางกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุว่าการบริหารงานผิดพลาดล้มเหลวโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่สามารถพิสูจน์เจตนาความตั้งใจได้ จะต้องมีการนำตัวผู้บริหารมาขึ้นศาลพิพากษา

คำลือที่ว่าปิดบัวหลวง ก็จะทำให้ผู้บริหาร "ล้มนอนบนฟูก" อย่างสบายใจก็มีความหมายตามที่กล่าวมานี่เอง

แต่ชลอยังไม่สั่งปิดบัวหลวง กับทั้งเลือกเอาการปิดบัวหลวงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาวิธีสุดท้าย โดยให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ" ว่าสำนักงานฯทราบเรื่องการขาดทุนของบัวหลวงมาตลอด และก็สั่งการแก้ไขปัญหาตลอดมา มีหนังสือไปเตือนและเรียกผู้บริหารมาเตือน

"การที่ไม่สั่งปิดบัวหลวงเพราะไม่ต้องการให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีขณะที่ภาพโดยรวมของธุรกิจประกันภัยกำลังไปได้สวยคือมีอัตราเติบโตที่สูงเช่นนี้ มาตรการที่ใช้แก้ไขอยู่ในเวลานี้ก็คือเรียกบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้ทั้งหลาย โดยในขั้นแรกเป็นพวกบริษัทประกันภัยด้วยกันก่อน มาร่วมนั่งเจรจาเคลียร์หนี้สินที่มีอยู่กับบัวหลวง ซึ่งเวลานี้ก็ทำไปได้เป็นจำนวนมากแล้ว" ชลอกล่าว

ประการต่อมาคือการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ที่เป็นอู่ในเครือและบริษัทเพื่อดูยอดมูลหนี้ทั้งหมด รวมทั้งยอดที่บริษัทติดค้างกับผู้เอาประกันรายบุคคลด้วย ทั้งนี้คู่ในเครือและผู้เอาประกันจะได้รับชำระหนี้คืนอย่างน้อย 70-80% และ 100% ตามลำดับแต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับมาตรการที่สามคือเมื่อมีคนมารับซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์บัวหลวงไป

แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันภัยยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าครั้งหนึ่งชาตรี โสภณพนิช เคยทาบทามสอบถามตัวเลขหนี้สินที่แท้จริงของบัวหลวง ซึ่งในเวลานั้นสำนักงานประกันภัยก็ได้ส่งคนออกไปตรวจสอบหนี้สินตามอู่ในเครืออยู่พักหนึ่ง แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบเชียบไป ไม่มีการติดต่อจากชาตรีอีกและชาตรีเองก็หนไปสนใจบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่ไม่ "เน่ามาก" เท่ากับบัวหลวงแทน

จากนั้นก็มีข่าวออกมาเสมอว่าจะมีกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มโน้นนี้ติดต่อใคร่ซื้อกิจการบัวหลวง ซึ่งบางกลุ่มก็เป็นเรื่องที่มีมูลเช่นกลุ่มนักธุรกิจโรงแรม ซึ่งใช้ชื่อฝรั่งแต่ตัวเป็นไทย แต่รายนี้เงียบหายไปอีกเช่นกัน

รายหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันนั่นคือธนาคารกรุงไทย โดย ดร.ปัญญา ตันติยวรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด และรักษาการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจและฝ่ายปรับปรุงหนี้เป็นผู้ดำเนินการ

บรรดาผู้รู้หลายคนคงอดอุทานไม่ได้ว่างานนี้กรุงไทย "รับเละ" อีกครั้ง แต่ผู้ที่รู้เรื่องประกันภัยดี กลับมองออกว่าหากธนาคารรับเข้ามาเทคโอเวอร์ ก็เป็นได้ที่จะจัดการแก้ไขปัญหาของบัวหลวงได้

สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ รองอธิบดีกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ อดีตผู้เชี่ยวชาญสำนักงานประกันภัยกล่าวแสดงความเห็นว่า "ถ้าหากมีการขายในราคา 30-40 ล้านคนก็อาจจะลงทุน โดยหวังว่าธุรกิจนี้จะดี หากมีการลงเงินแล้วชำระล้างเปลี่ยนใหม่ก็อาจจะดีได้ แต่ต้องเอากลุ่มผู้บริหารกลุ่มเก่านี่ออกทุกคน แต่คนที่เข้ามานี้ไม่ใช่ว่าใครเข้ามา เสี่ยบานนอกเข้ามาจะทำได้นะ โอเคอย่างกรุงไทยจะเข้าไปอย่างนั้นน่ะทำได้ แต่คนที่มีคุณสมบัติน้อยกวานี้ก็ทำไม่ได้ เพราะมันจะเข้ามาสูบต่อ เอาคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในสังคมเข้ามาซิ แต่คงไม่มีใครเข้ามาแบกรับหนี้สินบ้า ๆ ซึ่งเห็นอยู่ชัด ๆ ว่าเป็นหนี้ที่เกิดมาอย่างไร"

ชลอได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า "ทุนที่จะต้องใช้เคลีย์ปัญหาของบัวหลวงนี่ ผมคิดเอาว่าประมาณ 50-60 ล้านบาท" แต่ที่ "ผู้จัดการ" ทราบมานั้น ตัวเลขการซื้อขายในครั้งนี้กำลังต่อรองกันที่ 35-40 ล้านบาท ซึ่งหากตกลงกันในราคานี้จริงก็นับว่าเป็นการซื้อขายใบอนุญาตบริษัทประกันภัยที่ทำกิจการประกันภัยได้ทุกประเภทในราคาที่ถูกเอามาก ๆ ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่ชลอหาทางออกด้วยการทาบทามกรุงไทยมาซื้อก็นับเป็นทางออกที่ไม่เลวนัก บัวหลวงประกันภัยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน แม้จะขาดช่วงตอนและดูเหมือนกับเป็นบริษัท 3 บริษัทที่ร่วมใช้ใบอนุญาตอันเดียวกันก็ตาม หากจะมีการเปลี่ยนมือ เปลี่ยนโฉมกันใหม่อีกสักครั้งก็คงไม่กระไรนัก และคนที่ทำธุรกิจประกันภัยเป็นรู้ดีทีเดียวว่าเป็นเรื่องที่ทำได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบัวหลวงประกันภัยน่าจะเป็นอุทาหรณ์สะท้อนวัตรปฏิบัติของหน่วยงานรัฐฯอย่างสำนักงานประกันภัยได้ดีอย่างหนึ่งว่า ทำไมถึงเพิ่งคิดจะมาแก้ไขปัญหาเอาตอนนี้ที่ดูเหมือนว่าหมดหนทางที่จะช่วยเหลือ "ลูก" คนนี้ได้แล้ว

นอกจากนี้ผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันรายย่อยและบรรดาเจ้าของอู่ซ่อมรถที่มีหนี้สินมูลค่านับสิบล้านบาท คนเหล่านี้พวกเขามีหลักประกันมั่นใจเพียงไรว่าจะได้รับการชดใช้หนี้สินครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่

และควรรวมถึงประชาชนทั่วไปที่นำรถไปประกันกับบริษัทประกันภัยทั้งหลายด้วยว่า รถทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองตามลักษณะสัญญาประกันภัยโดยสมบูรณ์หรือไม่ โดยที่ไม่ต้องมานั่งรอความหวังที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อยอย่างกรณีบัวหลวง

เรื่องที่ผู้เอาประกันและเจ้าของอู่ในเครือใคร่อยากจะถามสำนักงานประกันภัยมาก ๆ อีกเรื่องก็คือว่า ในบรรดากฎหมายที่สำนักงานฯมีอำนาจใช้นั้น มีฉบับใดบ้างที่ระบุความผิดในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับบัวหลวงฯ ของผู้บริหารเอาไว้บ้าง และต่อ ๆ ไปสำนักงานมีมาตรการป้องกันที่จะมิให้เกิดปัญหาทำนองนี้ขึ้นมาอีกได้อย่างไร

อย่างน้อยที่สุดที่เป็นเรื่องเสียวหัวใจเล่น ๆ ที่แม้แต่ตัวผู้อำนวยการอย่างชลอ เฟื่องอารมณ์ ยังยอมรับตรงไปตรงมาว่าในอนาคตนั้นยังจะมีบริษัทที่อาจจะประสบปัญหารุนแรงถึงขั้นวิกฤติอย่างบัวหลวงฯได้อีก 4 ราย

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นเรื่องที่จะมามัวเล่นเอาเถิดกันอีกต่อไปไม่ได้……

"เราเองไม่ใช่เทวดาที่ไหน บทเรียนของบัวหลวงฯสอนให้สำนักงานประกันภัยกระตือรือร้นเรื่องการแก้ พรบ.ประกันวินาศภัย โดยเฉพาะในข้อที่ว่าเพิ่มอำนาจให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสอดส่องบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอกงารค้นเอกสาร การสั่งถอดถอนกรรมการหรือบุคคลในบริษัทฯได้หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนรวมทั้งมาตรการควบคุมอื่น ๆ อีกมาก"

ความกล้าหาญชาญชัยของ "ชลอ" ที่ยอมรับความผิดพลาดข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ "ผู้จัดการ" เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นในจิตสำนักที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมของผู้บริหารไทยทั้งหลาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องหนักหนาพอควรที่จะต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาโดยจะต้องรักษาภาพรวมที่ดีของธุรกิจไว้ รักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันและเจ้าของอู่ในเครือโดยไร้มาตรการผ่อนปรนแก่ผู้บริหารและบริษัทประกันที่ก่อปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างประมาทและไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

งานนี้จึงเป็นการพิสูจน์คุณภาพผู้นำของ "ชลอ" โดยตรงวาจะ "บาน" หรือ "หุบ" ตลอดกาล…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.