ริค วา 38 ปี ในสโกเทียแบงก์

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ริค วา ยอมรับว่าวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จนส่งผลให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่มีอายุเกินกว่า 100 ปีหลายแห่งล้มละลาย เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต

ด้วยประสบการณ์ทำงานร่วมกับสโกเทียแบงก์ 38 ปี เขาทำงานค่อนข้างหลากหลาย เขาเริ่มต้นทำงานกับธนาคารในมณฑลวินนิเพก ประเทศแคนาดาเมื่อปี พ.ศ.2513 มีหน้าที่รับผิดชอบด้านต่างๆ อาทิ ด้านการบริหารการลงทุนกลุ่มธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่ การธนาคารระหว่างประเทศ และการธนาคารลูกค้ารายย่อย

ในปี 2528 เขาได้ย้ายไปประจำที่นครนิวยอร์กและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสในประเทศสหรัฐอเมริกา

วาเดินทางกลับไปเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ.2536 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานธนาคารรับผิดชอบดูแลสายงานกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ.2538 และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานธนาคารรับผิดชอบดูแลสายงานการธนาคารระหว่างประเทศและธนบดีธนกิจ ในปี พ.ศ.2541

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการของสโกเทียแบงก์ และเป็นกรรมการอยู่ในกิจการในเครือของธนาคารหลายแห่งที่อยู่ในต่างประเทศ เขาเป็นคณะกรรมการบริหารของบรรษัทคาทาลิสต์ (Catalyst Inc.) และของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF)

เขามีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลหลักการความมั่นคงของเม็ดเงินลงทุนเคลื่อนย้ายและการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเป็นธรรมในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Principles for Stable Capital Flows and Fair Debt Restructuring in Emerging Markets) ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

เป็นสมาชิกของคณะกรรมการแห่งทวีปอเมริกา (Council of the Americas) และสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาสากลแก่ประธานของสมาคมทวีปอเมริกา (Chairman's International Advisory Council for the Americas Society)

ด้านการศึกษา วาจบปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยมานิโตบา ประเทศแคนาดา ปริญญาโทการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยยอร์ค และได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยยอร์ค และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เขายังเป็นภาคีสมาชิกของสถาบันนักการธนาคารแห่งแคนาดา (Fellow of the Institute of Canadian Bankers)

ประสบการณ์การทำงานของเขาได้เพียงแต่หวังไว้ว่าจะนำพาให้สโกเทียแบงก์รอดพ้นจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ไปได้ด้วยดี เพราะบทเรียนสถาบันการเงินที่ล้มอยู่ ณ ตอนนี้ ไม่ได้พึ่งพาความเก่งของผู้บริหารเพียงอย่างเดียวแต่สิ่งที่คนกำลังโหยหาคือผู้บริหารที่ต้องมีธรรมาภิบาลโดยเฉพาะสภาวะวิกฤติเช่นนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.