|

สโกเทียแบงก์พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่ามกลางปัญหาที่กำลังปั่นป่วนอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่กำลังหาทางออกเพื่อประคับประคองให้สถาบันการเงินอยู่รอด ทว่าสถาบันการเงินบางแห่งนอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังใช้วิกฤติพลิกสถานการณ์ให้เป็นโอกาสด้วยการขยายธุรกิจให้เติบโตมากกว่าเดิม
สโกเทียแบงก์ สถาบันการเงินทวีปอเมริกาเหนือจากแคนาดาที่มีอายุ 176 ปีแทบจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวหลังจาก ริค วา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (สโกเทียแบงก์) กล่าวคำยืนยันครั้งล่าสุดหลังจากที่เดินทางมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของริค วา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรธนาคารธนชาตให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางด้านการเงินเพราะหลังจากที่สถาบันการเงินเลห์แมน บราเธอร์ ประกาศ ล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกายังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยุโรปและเอเชีย
สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ร่วมลงทุนกับกลุ่มสถาบันการเงินที่อยู่ในสหรัฐ อเมริกาและยุโรปต่างไม่เชื่อถือในกันและกัน
ธนาคารธนชาตเป็นสถาบันการเงิน พาณิชย์ไทยที่เปิดทางให้สโกเทียแบงก์เข้าร่วมถือหุ้น 24.99% เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา
แต่ดูเหมือนว่าสโกเทียแบงก์ได้ตระหนักถึงข้อวิตกกังวลของธนาคารธนชาต ทำให้ริค วา ในฐานะผู้บริหารสูงสุดได้เดินทางมาพบผู้บริหารธนชาตด้วยตัวเอง
วายืนยันว่าสโกเทียแบงก์ไม่ได้เข้า ไปลงทุนในตราสารหนี้ด้อยคุณภาพ CDO ที่เป็นชนวนของปัญหาซับไพร์มในปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นว่าสโกเทียแบงก์มีสถานภาพมั่นคง ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม 462 พันล้าน เหรียญสหรัฐ (ข้อมูล 31 กรกฎาคม 2551) เป็นธนาคารที่มีรายได้ติด 1 ใน 5 ของโลก
กลุ่มสโกเทียแบงก์และบริษัทในเครือให้บริการลูกค้าประมาณ 12.5 ล้านคนใน 50 ประเทศทั่วโลก สโกเทียแบงก์มีบริการทางด้านการเงินที่หลากหลาย อาทิ บริการทางการเงินส่วนบุคคล บริการทาง การเงินสำหรับธุรกิจและการลงทุน และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์โตรอนโต (BNS) และตลาดหลักทรัพย์ นิวยอร์ก (BNS)
ยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของสโกเทียแบงก์ คือการสร้างเครือข่ายและสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจต่างประเทศโดยใช้รูปแบบการเติบโตจากภายใน (organic growth) และเติบโตด้วยการควบรวม (acquisition)
ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตแบบควบรวมมุ่งให้บริการพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้วและรวมไปถึงตลาดใหม่ๆ อย่างประเทศไทย และจีน เป็นต้น
ใบหน้าที่มีรอยยิ้มและท่าทางที่เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจของริค วา ที่แสดงความไร้กังวลกับวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นและเขาเองยืนยันว่าหากเขาไม่มั่นใจในสถานภาพการเงินของธนาคารเขาคงไม่มานั่งอยู่ในเมืองไทยในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ก่อนที่จะมาเยือนเมืองไทยเขายังได้เดินทางไปเยี่ยมพันธมิตรร่วมทุนที่ประเทศจีนอีกด้วย
การมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยของริค วา มีนัยสำคัญนอกเหนือจากการสร้าง ความเชื่อมั่นกับธนาคารธนชาตแล้ว เขาต้องการเร่งให้สรุปผลการถือหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารธนชาตเป็น 49% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 24.99% เพราะก่อนหน้านี้ ธนชาตแถลงการณ์ไว้ว่าสโกเทียแบงก์จะเพิ่มหุ้นภายในกลางปีที่ผ่านมา
ซึ่งริค วา ให้เหตุผลถึงการเข้าไปถือหุ้นล่าช้าเป็นเพราะว่าติดขัดด้านเอกสาร แต่การเดินทางมาครั้งนี้ของเขาส่วนหนึ่งเพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเป็นหน่วย งานกำกับดูแลซึ่งต้องระมัดระวังการอนุญาต ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมทุนกับต่างชาติในภาวะวิกฤติเช่นนี้
การถือหุ้นเพิ่ม 49% ในครั้งนี้ สโกเทียแบงก์จะต้องเพิ่มเงินลงทุนอีก 250 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ลงทุน 240 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.1 พันล้านบาทกับหุ้นที่ถืออยู่ในปัจจุบัน 24.99%
สโกเทียแบงก์ได้พยายามแสดงให้ทั้งพันธมิตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ว่าการมาของธนาคารแห่งนี้ไม่ได้มาเพียงไม่กี่ปี แต่แบงก์ได้เข้ามาเริ่มทำธุรกิจในประเทศตั้งแต่ 27 ปีที่ผ่านมา หรือเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2524
สโกเทียแบงก์มาในฐานะธนาคารต่างชาติดำเนินธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ ด้านการเงินแก่องค์กรและธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น บริการสินเชื่อ บริการการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ การบริหารการ เงิน ธุรกิจค้าโลหะมีค่า การให้กู้ยืมโครงการ ธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อสำหรับธุรกิจรายย่อย
ที่สำคัญสโกเทียแบงก์พยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือต้มยำกุ้งในประเทศไทย ธนาคารแห่งนี้ ได้นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
สายสัมพันธ์ระหว่างธนาคารธนชาต กับสโกเทียแบงก์ผูกพันกันมายาวนานกว่า 20 ปี เริ่มตั้งแต่ธนาคารยังมีชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ธนชาติ จำกัด จนกระทั่งเกิดการร่วมทุนยิ่งทำให้ธนาคารทั้งสองแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น
สโกเทียแบงก์เป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ร่วมในกรณีการปล่อยกู้ให้กับศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์และบงล.ธนชาติเป็นแกนนำ และวงเงินกู้ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีการติดตามหนี้ที่ฮือฮามากเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน (รายละเอียดกรณีมาบุญครอง สามารถหาอ่านได้ใน www. gotomanager.com)
จุดแข็งของธนาคารธนชาตคือบริการเช่าซื้อรถยนต์ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจ ของธนาคารให้อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ส่วนสโกเทียงแบงก์มีจุดแข็งเงินทุนและประสบการณ์ด้านการเงิน รวมถึงมีเครือข่ายใน 50 ประเทศทั่วโลก และเมื่อต้นปีที่ผ่านธนาคารธนชาต ประกาศนโยบายชัดเจนเพื่อจะเป็น Universal Banking ธนาคารที่ให้บริการครบวงจรภายใน 3 ปี นั่นหมายความว่าจะต้องเร่งสร้างสาขาและบริการตู้เอทีเอ็มให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การไต่ระดับของธนาคารธนชาตในสถานภาพที่เป็นธนาคารขนาดเล็กในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโตให้รวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งธนาคารตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเริ่มตั้งเป้าหมายไปเป็นธนาคารขนาดกลางก่อนพร้อมกับเร่งขยายสาขาให้ครบ 400 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2553 จากปัจจุบันที่ 177 สาขา และเพิ่มตู้เอทีเอ็มเป็น 525 ตู้ จากปัจจุบันมี 300 ตู้
การเร่งเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อต้องการให้เข้าถึงลูกค้ารายย่อยให้เร็วที่สุด เพราะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะเป็นลูกค้าในอนาคตที่จะสร้างฐานรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้น จากเดิมที่มีจุดแข็งให้บริการเช่าซื้อรถยนต์
กลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เงินฝาก สินเชื่อ เอทีเอ็ม บริการประกันชีวิต บริการกองทุน หรือบริการหลักทรัพย์ ซึ่งบริการเหล่านี้บริษัทในเครือของธนชาตให้บริการอยู่ในปัจจุบันแต่ด้วยฐานลูกค้ามีไม่มากการทำตลาดจึงไม่เด่นชัด
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นจังหวะและโอกาสของสโกเทียแบงก์ที่มุ่งหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จึงเป็นตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
บรรยากาศที่คุกรุ่นของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกแต่สโกเทียแบงก์กำลังวิ่งสวนทางวิกฤติและฉวยโอกาสที่เห็นอยู่ข้างหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|